โต๊ะโตะจังเล่าเรื่องจริงของโรงเรียนประถมศึกษา ในกรุงโตเกียว ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสงบไม่นานนัก เป็นเรื่องที่น่ารัก อ่านเพลิน และพูดถึงการศึกษาและโรงเรียนได้ดีมาก
โต๊ะโตะจังถูกไล่ออกจากโรงเรียนเก่าขณะเรียนชั้นประถมหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า “จะเป็นการรบกวนเด็กคนอื่นในชั้นเรียน” โรงเรียนใหม่ของโต๊ะโตะจังชื่อโรงเรียนโทโมเอ “โรงเรียนนี้ช่างไม่มีอะไรเหมือนโรงเรียนเก่าของเธอเลย” ห้องเรียนเป็นตู้รถไฟซึ่งไม่ได้ใช้แล้ว โต๊ะโตะจังคิดว่าโรงเรียนนี้แปลกดี อีกไม่กี่วันต่อมา เธอสัญญากับตัวเองว่า “โรงเรียนดีๆ อย่างนี้ จะไม่ยอมขาดเรียนเลยสักวันเดียว”
ต่อมา เธอได้รู้ว่าได้มาอยู่ในโรงเรียนแสนพิเศษที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีครูที่รักและเชื่อมั่นในตัวเด็กอย่างครูโคบายาชิ ใครที่อ่านเรื่องนี้แล้วจะลืมโรงเรียนและคุณครูผู้นี้ไม่ลง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ได้รับเลือกเป็นหนังสิออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาภาษาไทยบังคับ ตามประกาศของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ (ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐)
* * *
เป็นหนังสือที่ทำลายสถิติการจำหน่ายหนังสือเล่มในญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่การสร้างชาติญี่ปุ่นมาทีเดียว คือในระยะเวลาเพียง ๓ ปีเศษ สามารถจำหน่ายได้ถึง ๖ ล้าน ๕ แสนเล่มเฉพาะภาษาญี่ปุ่นและได้แปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกนับสิบภาษา สำหรับภาษาไทยนั้นต้องพิมพ์ซ้ำถึง ๔ ครั้ง ภายในเวลาไม่ถึงปี
จาก ความนำสำนักพิมพ์
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕)
* * *
แม้ว่าเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ผ่านไปนานถึง ๑๐ ปี นับจากการพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นครั้งแรก แต่ก็มีผู้สนใจอ่านอย่างกว้างขวาง ฉบับภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษต้องพิมพ์ซ้ำสม่ำเสมอทุกปี เช่นเดียวกับภาษาไทย ซึ่งน่ายินดีที่ได้ทราบว่า สถาบันการศึกษาหลายแห่งใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนนักศึกษา และใช้เป็นคู่มือการศึกษา การแปลภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง
‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ฅนนั้นเคยบอกว่า เธอดีใจที่ประสบความสำเร็จในงานการแสดง และชีวิตปัจจุบันของเธอมีพร้อมทุกอย่าง แต่ความสุขของชีวิตซึ่งไม่อาจเทียบได้กับสิ่งใดก็คือการได้รู้ว่า มีฅนหลายสิบล้านฅนทั่วโลกชื่นชมเรื่องที่เธอเขียน เพราะเรื่องเหล่านั้นเป็นตัวแทนความดีงามของมนุษยชาติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ปัจจุบันและทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ส่วนใดของโลก
เด็กหญิงที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่หนึ่ง เคยอยากเป็นสายลับ อยากเป็นพนักงานเก็บตั๋วรถไฟ อยากเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ และอะไรอื่นอีกมากมาย ในที่สุดเธอกลายเป็นนักแสดงที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่นติดต่อกันมาหลายปี คือทำเงินรายได้จาการแสดงเพียงอย่างเดียวปีละกว่า ๕๐ ล้านบาท ได้รับเลือกเป็นฑูตพิเศษของยูนิเซฟแห่งสหประชาชาติ
จากคอลัมน์ : หนังสือ โดย ปลายปากกา
หนังสือหลักไท ฉบับวันที่ ๒๐-๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
* * *
โต๊ะโตะจังเปิดหน้าต่าง
หน้าต่างบานแรก
ห้องเรียนของโต๊ะโตะจังอยู่ชั้นล่าง หน้าต่างติดกับถนน กลุ่มนักดนตรีร้องเพลงโฆษณาสินค้าครึกครื้น ที่ชายคาเหนือหน้าต่างมีนกนางแอ่นทำรัง
“ทำอะไรอยู่น่ะ?” โต๊ะโตะจังเงยถามเสียงลั่น ภายในห้องเรียนของโต๊ะโตะจังมีวิชาวาดรูปที่เด็กๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้วาดหรือระบายเลยกรอบกระดาษ โต๊ะโตะจังในวัยผู้ใหญ่จำได้เพียงเลือนลางว่าเหตุใดเธอจึงยืนนิ่งมองหน้าต่างนานนับชั่วโมงทั้งที่กำลังอยู่ในวิชาเรียน โต๊ะโตะจังกำลังจะย้ายไปสู่โรงเรียนที่ดีกว่านี้
“บอกหน่อยสิ ทำอะไรอยู่?”
……………………
โต๊ะโตะจังเคยมีลูกไก่ตัวหนึ่ง เธอรบเร้าจะเลี้ยงให้ได้อยู่นาน แม้พ่อแม่เตือนแล้วว่าลูกสัตว์อ่อนแอและจะตายภายในไม่กี่วัน และแล้วความตายก็พรากสัตว์เลี้ยงของเธอจากไปจริงๆ ในเวลาแสนสั้น โต๊ะโตะจังเชื่อว่าเธอจะเลี้ยงลูกไก่อย่างดีได้ ชีวิตเล็กน้อยนั้นผ่านไปอย่างคุ้มค่า และเด็กหญิงคนหนึ่งไม่ได้ตัดโอกาสบำรุงเลี้ยงชีวิตที่ใครต่อใครรู้ว่ากำลังจะสูญเสียไป
อีกครั้งหนึ่งโต๊ะโตะจังทำให้ยาสึอากิจังปีนต้นไม้ได้สำเร็จ เด็กชายแขนขาพิการปีนต้นไม้ไม่ได้เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนชีวิตที่ยังไม่รู้จักการโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ของเด็กชายจบลง โต๊ะโตะจังใช้ความกล้า ความหวัง และกำลังทั้งหมดที่มีพาเพื่อนปีนขึ้นไปให้ถึง แดดฤดูร้อนเจิดจ้า เด็กทั้งสองมองทิวทัศน์จากบนต้นไม้
วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นมีเนื้อหาหลากหลาย การศึกษาและความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกในครอบครัวมักเป็นเรื่องหลักที่เน้นย้ำไว้ภายในเสมอ สงครามเป็นเงาดำที่พาดผ่านจินตนาการไร้จำกัดของวรรณกรรมญี่ปุ่น กระนั้นเนื้อหาสงครามที่โหดร้ายไม่ได้มีมากมายพอแก่การทำให้หนังสือสำหรับเด็กแปดเปื้อน โต๊ะโตะจังผ่านพ้นสงครามมาได้
ทุกครั้งที่มองออกไปนอกหน้าต่างในวัยแตกต่างกันจะเห็นภาพใหม่ ภาพซึ่งไม่ว่าจะงดงามหรือมืดดำอย่างไร ผู้ถูกมองก็ยังโดดเดี่ยวถูกทอดทิ้งอยู่เช่นเดิม ทว่าในความแปลกแยกนั้นโต๊ะโตะจังได้ปีนป่ายขึ้นมาสู่จุดที่ตนเองมีเสียงดังและร่างกายสูงใหญ่ เธอได้พูดถึงหลายสิ่งหลายอย่างไว้ในชีวิตที่ยังดำเนินอยู่ มีคนมากมายฟังเธอ ขณะที่โลกต้องการการเปลี่ยนแปลง
หน้าต่างบานที่สอง
โรงเรียนใหม่ของโต๊ะโตะจังมีรถไฟเป็นห้องเรียน ระบบการศึกษาแนวใหม่ถูกบันทึกไว้ที่นี่ เด็กได้เรียนรู้ตามใจปรารถนา และไม่มีตัวตนด้านใดถูกมองข้ามหรือทำลาย นับเป็นการเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered) อย่างแท้จริง
โต๊ะโตะจังมองออกไปนอกหน้าต่างรถไฟ ต้นไม้ไกวเล่นลมเหมือนมีชีวิต เด็กน้อยรู้สึกเหมือนว่ารถไฟกำลังวิ่งอยู่
“โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” (Totto-chan : The Little Girl at the Window) หนังสือซึ่งสร้างปรากฏการณ์การตื่นตัวครั้งใหญ่ในตลาดหนังสือเยาวชนญี่ปุ่น เขียนขึ้นในปี ๑๙๘๑ และขายได้ถึง ๗ ล้านเล่มใน ๔ ปีแรกที่พิมพ์ออกจำหน่าย
คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (Kuroyanagi Tetsuko) ผู้เขียน “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” จากชีวิตจริงเป็นนักแสดงและนักจัดรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น นอกจากนี้เธอยังเป็นทูตพิเศษ (Good Will Ambassador) ขององค์การยูนิเซฟแห่งสหประชาชาติ คุโรยานางิสารภาพว่าการเขียนเป็นงานอดิเรกของเธอเท่านั้น เธอเรียกตนเองว่านักแสดง ผลงานของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ จึงมีไม่มากมาย
หนังสือของโต๊ะโตะจังชนะใจผู้อ่านด้วยดวงตาบริสุทธิ์แจ่มใจของเด็ก ขณะที่ระบบการศึกษาอันเป็นที่รักของครูโคบายาชิ ครูใหญ่ของโรงเรียนโทโมเอในเรื่อง กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนปรัชญาทางการศึกษาในวงกว้างขวาง เธออุทิศหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” แก่คุณครูโคบายาชิผู้ล่วงลับ
กีฬาโรงเรียนมีรางวัลเป็นผักชนิดต่างๆ เด็กที่ได้รางวัลมากที่สุดคือเด็กที่เคลื่อนไหวช้าและร่างกายจะไม่โตกว่าเด็กประถมอีกต่อไป ครูโคบายาชิทำให้เด็กคนนี้ชนะกีฬาทุกประเภท และเขาชนะไปตลอดชีวิต แม้หลังจากโรงเรียนโทโมเอไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว โต๊ะโตะจังอยากเติบโตขึ้นเป็นครูเพื่อกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม
โรงเรียนโทโมเอในฝันถูกเผาจากการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะจบลง ครูโคบายาชิไม่ได้สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ พื้นที่นั้นกลายเป็นห้างสรรพสินค้าในวันนี้ โต๊ะโตะจังอยู่บนขบวนรถไฟที่หนีและละทิ้งโรงเรียนไว้เบื้องหลัง
หน้าต่างบานสุดท้าย
คนข้างหน้าต่างในความหมายยุคนั้นคือ คนผู้ไม่มีความสลักสำคัญ และถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยว
ไม่มีโรงเรียนอีกแล้ว โต๊ะโตะจังมองหน้าต่างรถไฟ ภายนอกมืดสนิท
……………….
โต๊ะโตะจังเติบโตขึ้นเป็นนักเรียนขับร้อง จากนั้นผันตัวเข้าสู่วงการโทรทัศน์จากการเป็นนักแสดงรุ่นแรกของเอ็นเอชเค ได้รับเลือกเป็นดาราโทรทัศน์ยอดนิยม ๔ ปีซ้อน มีรายการโทรทัศน์ของตนเองชื่อ “ห้องของเท็ตสึโกะ” ได้รับรางวัล รายการวิทยุโทรทัศน์ยอดเยี่ยม และรางวัลผู้แสดงยอดเยี่ยมของสมาคมนักประพันธ์บทละครวิทยุ
คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ หรือ โต๊ะโตะจังใช้ชีวิตสร้างสรรค์ด้วยสายตาที่มองโลกในแง่ดีเสมอ ความฝันสุดท้ายของเธอก่อนที่ชีวิตจะพบทางของตัวเองคือ การเป็นแม่ที่เล่าเรื่องเก่ง เพื่อว่าลูกๆ จะได้เคารพเธอ ๔ ปีหลังจากหนังสือเล่มแรก คุโรยานางิได้เขียนตอนต่อของโต๊ะโตะจังในวัยรุ่นลงใน “โทรทัศน์ของโต๊ะโตะจัง” หรือ “นางสาวโต๊ะโตะ” ซึ่งเล่าชีวิตในวงการมายาที่สอนให้เธอฟันฝ่าต่อสู้ และเรียนรู้จากชีวิตและโอกาสอย่างคุ้มค่า
โลกทัศน์อันงามในโต๊ะโตะจัง ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งในทูตพิเศษขององค์กรยูนิเซฟ ๕ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ Sir Peter Ustimov, Liv Ullmann, Harry Belafonte และ Lord Attenborough ซึ่งมีชื่อเสียงในสาขาอาชีพแตกต่างกัน
กว่า ๕๐ ปีมาแล้วที่องค์กรยูนิเซฟขอความช่วยเหลือจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่นนักร้อง นักแสดง ศิลปิน และนักกีฬาในการเรี่ยไรเงินบริจาค ช่วยเหลือเด็กทั่วโลกในรูปของทูตพิเศษ (Good will Ambassador) และตัวแทนพิเศษ (Special Representative) เลขาธิการยูนิเซฟได้อ่านหนังสือโต๊ะโตะจังของเธอ และปรารภว่าเธอมีทัศนะเกี่ยวกับเด็กที่ตรงกับขององค์การตราบปัจจุบัน นับเป็นเวลาย่าง ๑๘ ปีแล้วที่คุโรยานางิ เท็ตสึโกะประสบความสำเร็จในการปลุกกระแสมวลชนให้ตื่นตัวในประเด็นเกี่ยวกับเด็ก และเรี่ยไรเงินบริจาคเข้าองค์กรได้ถึง ๓.๐๗๔ พันล้านเยนเมื่อบรรลุปี ๒๐๐๐
หน้าต่างแห่งอนาคต
ภาพของโลกที่โต๊ะโตะจังเห็นต่อไปจากการเป็นทูตพิเศษคือภาพเลวร้ายที่สุดของเด็กๆ ในความเป็นจริง คุโรยานางิ เท็ตสึโกะเดินทางทั่วโลกเพื่อประจักษ์ความโหดร้ายที่เด็กจำนวนมหาศาลได้รับ
“จำเป็นมากที่คนหนุ่มคนสาวต้องออกนอกประเทศไปดูหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ไปชมวิวทิวทัศน์นะคะ ถ้าพวกเธอได้เป็นพยานรับรู้ปัญหาทั้งหลายในโลกนี้ วิธีมองโลกของเธอจะเปลี่ยนไป เธอจะรู้ว่าเธอโชคดีและร่ำรวยแค่ไหนแม้ว่าเธออาจจะได้รับความขุ่นเคืองรำคาญ เธอจะเข้าใจว่าเธอปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศและกับระเบิดแค่ไหน” คุโรยานางิ รณรงค์ผ่านการสัมภาษณ์ในนิตยสาร The Japan Times ในเดือนกันยายน ปี ๒๐๐๐
ไม่นานก่อนวันสัมภาษณ์เธออยู่ในไลบีเรีย ที่นั้นเธอได้พบเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบถือปืนอยู่ เด็กน้อยเชื่อว่าการฆ่าคนคือเกมสนุก ต่อมาเธอได้พบเด็กหญิงอายุ ๑๒ ปีขายตัวเป็นโสเภณีเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวในไฮติ เด็กที่ประสบชะตาร้ายทำให้หัวใจของโต๊ะโตะจังแตกสลาย เด็กหญิงขายตัวทำให้เธอไร้คำพูด
เธอตั้งปณิธานว่าจะเขียนงานซึ่งปลุกเร้าประเด็นปัญหาของเด็ก และให้ความรู้แก่ประชาชนในญี่ปุ่นซึ่งอาชญากรรมในหมู่ผู้เยาว์กำลังแปรเป็นปัญหาระดับชาติ
โต๊ะโตะจังเขียนหนังสือเล่มใหม่สำเร็จลงไม่นานมานี้ Totto-chan’s Children : A Good Will Journey to the Children of the World บอกกล่าวเรื่องจริงโลดโผนจากการไปเยือนแทนซาเนีย ไนเจอร์ กัมพูชา และรวันดา ด้วยตนเองตามประสงค์ขององค์การยูนิเซฟ
โต๊ะโตะจังไม่ใช่เด็กที่รับรู้ความโหดร้ายของโลกผ่านวิธีอ่อนโยนของพ่อแม่และโรงเรียนโทโมเออีกต่อไป หากแต่รับรู้ความจริงในสภาพเที่ยงตรงและแข็งกระด้าง
ที่สุด เธอประณามการที่เด็กตกเป็นเหยื่ออย่างแข็งกร้าว เหมือนเด็กหญิงโต๊ะโตะคนเดิมที่ต่อสู้และแก้แค้นแทนเพื่อนเมื่อถูกรังแก
จาก : นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (โลกวรรณกรรม โดยวิวรณ์ หน้า ๖๓)
ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๓๗ วันศุกร์ที่ ๙ – วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔
ผู้เขียน : เท็ตสึโกะ คุโรยานางิ
ผู้แปล : ผุสดี นาวาวิจิต
ภาพปก : อภิชัย วิจิตรปิยกุล
ภาพประกอบ : อิวาซากิ ชิฮิโร
ISBN : 9789741402076
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ปก : ปกอ่อน
ราคา : 149 บาท
ติดต่อ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ 4/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-4366-602
อีเมล์ : bflybook@bflybook.com
เว็บไซต์ : http://www.bflybook.com