โครงการเพลงคลาสสิก ที่มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่๙ ได้ดำริและดำเนินการขึ้นจากกลุ่มนักดนตรีคลาสสิกไฟแรงกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาอยากมีคอนเสิร์ตที่มีคุณภาพ ได้เสนอโครงการที่เรียกได้ว่ายากเอาเรื่อง
เพียงเพราะต้องการให้เพลงคลาสสิกที่เคยเก็บไว้บนหิ้งสูง ลงมาให้เป็น ทางเลือกหนึ่งของสังคมไทย และได้ใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น
มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙
ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพสูงสุด และเจตนามุ่งมั่นของ นักดนตรีหนุ่มรุ่นใหม่ กลุ่มนี้ และไม่อยากจะปล่อยให้ผ่านเลย จึงอาสามาเป็นพ่อสื่อ แม่ชัก ให้เพลงคลาสสิก และชาวกรุงได้มาพบกัน และให้เขาได้แนะนำตัวและได้ใช้ความสามารถที่มี บรรเลงดนตรีแสนไพเราะเป็นเพลงจับใจ หมายให้สาวเจ้ามาสนใจรับรัก ..หรือเหลียวมองก็ยังดี พบกับปรากฏการณ์ทางดนตรีคลาสสิกแสนน่ารักที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธันวาคม ปีนี้ ผ่านกิจกรรมมากมาย อาทิ โร้ดโชว์ (Roadshow) ไปยังโรงเรียนต่างและมหาวิทยาลัยต่างๆ (Road show & Masterclass) ,การแสดงดนตรีในสถานที่สำคัญของกรุงเทพ (Music is everywhere) สถานสงเคราะห์ (Outreach) และมูลนิธิต่างๆ ทั้งนี้ จะมีการแสดงคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (วันที่ ๑๗ ธ.ค.) และหอศิลป์กรุงเทพฯ (วันที่ ๒๒ ธ.ค.) ด้วยเพลง “รัก” ที่คัดสรรจากทั่วโลก
C H A M B E R M U S I C
เรียกได้ว่าลึกซึ้งที่สุดในศิลปะการแสดง คือกลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วยนักดนตรีที่เยี่ยมที่สุด หนึ่งคนต่อหนึ่งแนวสื่อสารกัน อย่างใกล้ชิด บรรเลงอย่างได้รสชาติ ข้อดีของ Chamber music คือ ประหยัด ใช้ผู้เล่นน้อยคน และบรรเลงได้ทุกที่ หากจะเปรียบง่ายๆ วงออร์เคสตรา ก็เหมือนเราดูฟุตบอล ๒๒ คนในสนาม กับเซปักตระก้อซึ่งมีแค่ข้างละ ๓ คน ส า บ า น ไ ด้ เ ล ย ว่ าส นุ ก ไ ม่ แ พ้ กั น !!!
เกี่ยวกับนักดนตรี
สิบกว่าปีที่ผ่านมา เด็กไทยผู้มีพรสวรรค์ทางดนตรีเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันดนตรีระดับโลกให้เดินทางไปเรียนวิชากับยอดฝีมือระดับเวิลด์ คลาส ในประเทศต่างๆ เมื่อจบการศึกษาแล้วยังต้องผ่านการพิสูจน์ฝีมืออย่างเข้มข้นในมาตรฐานสากลมาแล้วทั้งสิ้นในฐานะนักดนตรีอาชีพทั้งในยุโรป และอเมริกา วันนี้… พวกเขา ๗ คน กลับมาพร้อมกันและตั้งใจที่จะทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกันให้กับบ้านเรา
ทฤษฎี ณ พัทลุง (พิซซ่า) : เปียโน, ฮาร์พซิคอร์ด, คอมโพสิชั่น
ทฤษฎี ณ พัทลุง เป็นนักประพันธ์ดนตรีและวาทยกรไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นวาทยกรไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรติไปอำนวยเพลงให้กับวง Royal Scottish National Orchestra, Orchestra SinfonicaNazionaledella RAI วงออร์เคสตราแห่งชาติอิตาลี)และวงออร์เคสตราชั้นนำของโลกอื่นๆอีกมากมาย ทั้งยังได้รับกล่าวถึงโดยนิตยสาร Class Filosofia ประเทศอิตาลี เป็นหนึ่งในวาทยกรอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีที่มีความสามารถที่สุดในโลก จากการอำนวยเพลงของทฤษฎี นิตยสาร ‘OPERA’แห่งกรุงลอนดอนได้กล่าวว่า “If the word ‘genius’ still has any meaning in this age of rampant hyperbole, Trisdee … is truly a living example.”
มิติ วิสุทธิ์อัมพร (เมฆ) : วิโอล่า
มิติ วิสุทธิ์อัมพร เป็นนักวิโอล่าชาวไทย ผู้สร้างเกียรติประวัติครั้งสำคัญยิ่งในการแสดงดนตรีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ ๒ ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนทุนของ National University of Singapore มิติได้รับทุนต่อจนสำเร็จปริญญาโทจาก Carnegie Mellon University และได้ร่วมแสดงกับวงออร์เคสตราระดับโลกมาแล้ว ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา,รวมทั้งที่ Carnegie Hall สหรัฐอเมริกานอกจากนี้ มิติยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม วิโอล่า วง Carnegie Mellon Philharmonic จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มิติได้ก้าวเป็นมือวิโอล่าแถวหน้าคน หนึ่งของไทยที่หาตัวจับได้ยาก
คณิน อุดมมะนะ (แดน) : ไวโอลิน
คณิน อุดมมะนะ เป็นนักไวโอลินที่ได้รับการศึกษาอยู่ที่กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นนครแห่งเสียงดนตรีที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ด้วยสิ่งแวดล้อมอันน่าประทับใจ ของสาธารณรัฐออสเตรียหล่อหลอมให้คณินมีความสุนทรีย์ในจิตใจและซาบซึ้งในดนตรี จนเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งก็ว่าได้ จึงทำให้คณินได้รับเลือกให้แสดงในมาสเตอร์คลาสของ นักไวโอลินระดับโลกหลายท่าน เช่น Alberto Lysy, Roman Nodel และ Midori Goto เป็นต้นนอกจากนั้นยังได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันไวโอลินของ Austrian Music Examination Board ล่าสุดคณินได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศออสเตรีย แสดงในงานรำลึก ๑๐๐ ปีแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ดร.ทวีเวท ศรีณรงค์ (เป้) : ไวโอลิน
ความสำเร็จของ ดร.ทวีเวท ศรีณรงค์ หนุ่มรุ่นใหม่ที่ช่วยทำให้วงการดนตรีคลาสสิกเปิดกว้าง และเป็นที่ยอม รับและรู้จักในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นทวีเวทเป็นนักเรียนทุน คนแรกของทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านไวโอลินจาก Stony Brook University, New York นับเป็นนักไวโอลินชาวไทยคนแรกและคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาสูง สุดทางด้านนี้ นอกจากนั้นยังเคยเป็น Concert Masterให้กับ New York Asian Symphony Orchestra Inc. และเดินทางไปแสดงในสถานที่สำคัญของโลกหลายแห่ง เช่น สำนักงานองค์การสหประชาชาติ Carnegie Hall เป็นต้น
ณัฐพล เลิศมนัสวงศ์ (ยู) : ดับเบิ้ล เบส
ประสบการณ์ 5 เดือน จากการไปแลกเปลี่ยนที่ Peabody Institute of The Johns Hopkins University
สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ณัฐพลพร้อมมุ่งหน้าเป็น “ดาวรุ่ง”ของมือดับเบิลเบสแห่งเมืองไทย เพราะได้เก็บ เกี่ยวประสบการณ์แต่เดิมที่ได้ร่วมแสดงกับวงดุริยางค์มืออาชีพเกือบทุกวงในประเทศไทย อาทิ วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ (BSO),วงดุริยางค์สยามฟิลฮาร์โมนิค(SPO)และ Bangkok Opera เป็นต้น ผนวกกับโลกทัศน์ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และต่อยอดจากการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Yong Siew Toh Conservatory of
Music จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และ Guennadi Mouzyka อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ดัมเบิลเบสของวง Singapore Symphony Orchestra
เอกชัย มาสกุลรัตน์ (ปาล์ม) : เชลโล่
หากไล่เรียงชื่อของนักเชลโลที่มีความสามารถในประเทศไทย ชื่อของ เอกชัย มาสกุลรัตน์ จะเป็นที่กล่าวถึง และนับได้ว่าเป็นผู้มีฝีมือดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เอกชัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Yong Siew Toh Conservatory of Music จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เอกชัยบรรเลงเชลโลมาแล้วทั่วโลก ทั้งที่เป็นการแสดงเดี่ยวหรือร่วมวงออร์เคสตราระดับโลก เช่น Sinfonieorchestra Basel,Tokyo City Philharmonic Orchestra,The Central Aichi Symphony Orchestra เป็นต้น โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเสมอมา
คริสโตเฟอร์ แมคคิกแกน (คริส) : เปียโน
รางวัลการแข่งขันเปียโนระดับโลกเป็นเครื่องยืนยันความสามารถของ คริสโตเฟอร์ แมคคิแกน ว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย พร้อมนำทางให้เกิดความก้าวหน้าและเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนเจริญรอยตามไปยืนบนเวทีโลก คริสโตเฟอร์ เป็นนักเปียโนที่มีความเชี่ยวชาญการเล่นดนตรีแนวใหม่ จึงได้ไปแสดงในระดับนานาชาติหลายครั้ง นอกจากนั้นยังมีงานอัดเสียงที่ได้รวมงานกับนักประพันธ์ เพลงชาวไทยและต่างชาติมากมาย คริสโตเฟอร์ กับเพื่อนๆ เป็นผู้ก่อตั้ง Bangkok Piano Trio และ Eon Piano Trio ขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Rice University
มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙
อาคารฮั่วเซ่งเฮง ๒ ชั้น ๗ เลขที่ ๒๕๕-๒๕๗ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์
กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐โทร: ๐๒-๖๒๓-๒๙๙๑ โทรสาร: ๐๒-๖๒๓-๒๙๙๒
เว็บไซต์ : www.rama9art.org
เว็บไซต์ : www.jeebbangkok.com, www.bangkokloveclassics.org
เฟซบุ๊ค : www.facebook.com / JEEB.Bangkok (เพลงคลาสสิก จีบ คนกรุงเทพ-jeebbangkok)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (กิจกรรมพิเศษ) : คุณภาวรินท์ (แสงวิเชียร) โพธิ์พิทักษ์กุล โทร: ๐๙๐-๐๐๗-๓๔๗๔