ไร้เลือด

“หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย แต่เขียนถึงยาก” ผู้เขียนรำพึงกับตัวเองเมื่ออ่าน Senza sangue หรือในชื่อภาษาไทยว่า ไร้เลือด ของ อเลซซานโดร บาริกโก (Alessandro Baricco) นักเขียนชาวอิตาเลี่ยนจบลง ที่เขียนถึงยาก ไม่ใช่เพราะนวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้อัดแน่นด้วยอภิปรัชญาที่ยากแก่การตีความ หากแต่ภายในหน้ากระดาษร่วมร้อยกว่าหน้านี้ บรรจุถ้อยคำอย่างจำกัดจำเขี่ย และเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างบรรทัดที่รอให้ผู้อ่านจินตนาการนึกคิดต่อเติมเสริมแต่งเอง


จึงกล่าวได้ว่า ไร้เลือด เป็นดั่งภาพจิตรกรรมที่ลงสีเพียงส่วนเสี้ยว แน่นอนว่าปลายพู่กันของบาริกโกนั้นตวัดได้งดงาม แต่เขาก็หาได้ลงหมด กลับเปิดพื้นที่ว่างให้ผู้อ่านได้แต่งเพิ่มเติมสีในส่วนที่ขาดตามแต่ใจปรารถนาเอง เป็นจิตรกรรมเพื่อสาธารณะโดยแท้
ไร้เลือด มีตัวละครเอกคือหญิงชื่อนีนา เนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเล่าถึงเหตุการณ์ในวัยเด็กของนีนา ที่พ่อและพี่ชายของเธอถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ก่อนจะมาถึงช่วงที่ 2 ซึ่งเล่าถึงการกลับมาพบกันอีกครั้งของนีนาในวัยสูงอายุ กับชายชราผู้เป็น 1 ใน 3 คนที่ร่วมกันฆ่าพ่อและพี่ชายของเธอ

อ่าน ไร้เลือด จบแล้ว สัมผัสได้ถึงคำสำคัญ 3 คำที่บาริกโกใส่ไว้ในเนื้อหา คือ สงคราม นรก และโลกใหม่ ซึ่งสะท้อนแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ

สงคราม
คำนี้เป็นคำที่ถูกเอ่ยถึงมากครั้งที่สุดในเรื่อง อาจเป็นเพราะเรื่องราวการฆาตกรรมในตัวบทมีต้นกำเนิดมาจากสงคราม (ที่แม้บาริกโกจะไม่ได้ระบุว่าเป็นสงครามที่ไหนหรือเมื่อไหร่ กระนั้น เขาก็ให้ภาพคล้ายคลึงกับฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ฝ่ายเยอรมันจับเชลยไปใช้เป็นหนูทดลองทางการแพทย์) กระนั้นแล้ว หากพิจารณาจากบริบท สงครามที่บาริกโกกล่าวถึงนั้น ลึกล้ำและยาวนานกว่าสงครามครั้งไหนๆ ดังเช่นตัวบทการโต้ตอบกันระหว่างนีนากับชายชราที่ร่วมกับเพื่อนฆ่าพ่อและพี่ชายของเธอ ที่ว่า
“…พวกคุณเข้ามาในบ้าน คุณยิงใส่พ่อ แล้วซาลินาสยิงใส่พ่อ สุดท้ายเอล กูร๎เร สอดปากกระบอกปืนเข้าปากและระเบิดสมองพ่อด้วยเสียงปืนสั้นๆ ทึบๆ เพียงนัดเดียว ฉันรู้ได้อย่างไรหรือคะ เขาเล่าให้ฉันฟัง เขาชอบเล่าเรื่องนี้ เขาเป็นสัตว์ ทุกฅนเป็นสัตว์ พวกคุณเป็นฅนที่อยู่ในสงครามตลอดเวลา พระเจ้าจะให้อภัยคุณได้อย่างไร”
“พวกเราเป็นทหาร”
“พวกเรากำลังต่อสู้อยู่ในสงคราม”
ต่อคำตอบโต้นี้ของชายชรา หากพิจารณาร่วมกับการที่พวกเขาฆาตกรรมพ่อของนีนาในอดีต เพราะพ่อของนีนาเป็นหนึ่งในบรรดาหมอผู้ทำการทดลองทางการแพทย์อันวิปริตกับเชลยศึก ซึ่งหนึ่งในเชลยนั้น คือน้องชายของซาลินาส สงครามในเรื่องนี้ จึงคือความอาฆาตแค้นของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์

นรก
มีวลีหนึ่งปรากฏในกระแสสำนึกของนีนาในตอนท้ายเรื่อง วลีนั้นกล่าวว่า “…นรกซึ่งเราถือกำเนิดมา…” ซึ่งอาจฟังยากแก่การทำความเข้าใจ กระนั้น หากพิจารณาจากบริบท มิติที่ 1 นรกนี้คือนรกของนีนา นรกอันเกิดจากการที่พ่อและพี่ชายถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม จนเธอต้องระหกระเหินอย่างโดดเดี่ยวในโลกกว้าง นรกแห่งความสูญเสียนี้เกาะกินหัวใจเธออยู่ตลอด มันคือความทรมานแห่งจิตใจ ซึ่งหากลงลึกลงไป นรกของนีนาก็เกิดขึ้นจากชาย 3 คนที่ร่วมกันฆ่าพ่อและพี่ชายของเธอ ยิ่งผนวกกับตัวบทที่ว่า
“ไม่ว่าฅนเราจะพยายามมีชีวิตเพียงชีวิตเดียวมากแค่ไหน ฅนอื่นๆ ก็จะมองลงไปเห็นชีวิตอีกนับพัน แล้วนี่คือเหตุผลที่ฅนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะทำร้ายซึ่งกันและกัน”
เราก็จะเห็นภาพของนรกในมิติที่ 2 อันเป็นนรกที่กว้างใหญ่ ลึกล้ำ และน่าหวั่นเกรงยิ่งกว่า
เพราะเมื่อมนุษย์ทุกคนยากแก่การหลีกเลี่ยงที่จะทำร้ายซึ่งกันและกัน
โลกใบนี้จึงคือนรก…
หรือชีวิตของเรานี้เองคือนรก…

โลกใหม่
ด้วยความตระหนักได้ถึงสภาพความเป็นนรกบนโลกใบนี้ หลายต่อหลายคนจึงพยายามจะเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขนรกบนโลก เพื่อให้กำเนิดโลกใหม่ที่ดีกว่า กระนั้น โลกใหม่จะเกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อหลายต่อหลายคนที่ปรารถนาจะปรับเปลี่ยนนรกให้เป็นโลกใหม่ กลับใช้นรกในตัวตนของตนเป็นเครื่องมือเพื่อการปรับเปลี่ยนนั้น ดังเช่นชายทั้ง 3 ในตัวบท
“พวกเราเชื่อเรื่องโลกที่ดีกว่านี้”
“โลกที่เป็นธรรม ที่ฅนอ่อนแอไม่ต้องทนทุกข์จากการกระทำชั่วของฅนอื่น ที่ฅนทุกฅนมีสิทธิจะมีความสุขได้”
“เราถอยหลังไม่ได้ เมื่อฅนเริ่มฆ่ากัน เราถอยหลังไม่ได้แล้ว เราไม่ต้องการให้ถึงจุดนั้น ฅนอื่นเริ่มไว้ แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้”
“มันก็เหมือนผืนดิน”
“เราจะหว่านอะไรลงไปก่อนไถดินไม่ได้ เราต้องไถดินให้แยกออกก่อน”
“ต้องผ่านความทรมานก่อน…”
“มีของมากมายที่เราต้องทำลายก่อน แล้วถึงจะสร้างสิ่งที่เราต้องการได้ ไม่มีวิธีอื่น เราต้องทนทุกข์ทรมานได้และสร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นได้ ใครทนรับความเจ็บปวดได้มากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ เราจะฝันถึงโลกที่ดีกว่านี้ แล้วคิดว่าจะได้มาเพียงเพราะร้องขอย่อมไม่ได้ พวกนั้นน่ะไม่มีวันยอมหรอกครับ เราต้องต่อสู้ แล้วถ้าเข้าใจสิ่งนี้ได้ ก็ไม่ต่างกันตรงไหนหากจะเป็นฅนแก่หรือเด็ก เป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรู เรากำลังไถเพื่อแยกผืนดินออก ทำอะไรอื่นไม่ได้ นี่เป็นวิธีที่ต้องทำ ไม่มีวิธีไหนหรอกที่ไม่ทำให้เจ็บปวด แล้วเวลาที่ทุกอย่างดูโหดร้ายเกินไป เราก็ยังมีความฝันที่ต้องปกป้องไว้ เรารู้ว่ายิ่งราคาที่จ่ายไปสูงเพียงไหน ของรางวัลที่ได้ก็จะยิ่งใหญ่เพียงนั้น เพราะเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อเงินเล็กน้อย หรือเพื่อที่ดินทำกิน หรือเพื่อธงชัย เราทำเพื่อโลกที่ดีกว่านี้…เรากำลังมอบชีวิตที่ควรค่าแก่ฅนนับล้าน มอบหนทางที่จะมีความสุขได้ มีชีวิตและตายอย่างมีศักดิ์ศรีได้โดยไม่ถูกย่ำยีหรือเย้ยหยัน เราไม่มีค่าอะไร พวกเขาสิเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ฅนนับล้านต่างหากที่เราต้องต่อสู้เพื่อพวกเขา เด็กฅนเดียวที่ตายคาผนังบ้านจะมีความหมายอะไร หรือต่อให้เป็นเด็กสิบฅน หรือร้อยฅน เราต้องไถแยกผืนดิน และเราได้ทำไปแล้ว เด็กอื่นหลายล้านฅนรอให้เราทำให้และเราก็ลงมือทำ…”

 

กระนั้นก็ตาม คำอธิบายที่ยาวยืดของชายชรา กลับกลายเป็นเพียงวลีที่เลื่อนลอยไร้รูป เมื่อนีนาถามขึ้นว่า “พวกคุณชนะสงคราม แล้วตอนนี้เหมือนเป็นโลกที่ดีกว่าเดิมสำหรับคุณไหมคะ”
แน่นอนว่า ไม่ เฉกเช่นประโยคอมตะที่ว่า สันติภาพไม่อาจได้มาด้วยสงครามและหยดเลือด
แม้คนโบราณจะสอนว่า หนามยอกให้เอาหนามบ่ง กระนั้น ต่อประเด็นการปรับเปลี่ยนนรกให้กลายเป็นโลกใหม่ที่ดีกว่า จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อเอานรกปะทะนรก
ผลที่ได้อาจคือนรกยกกำลัง 2 หรือลบล้างเสียจนทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า ไม่มีอะไรหลงเหลืออีกเลย
ยิ่งมนุษย์มีความอาฆาตแค้นเป็นที่ตั้งโดยธรรมชาติด้วยแล้ว การสร้างโลกใหม่จากเถ้าถ่านของนรกดูจะยิ่งห่างไกลความเป็นจริง และเหลือทิ้งสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังตัวบทที่ว่า
“เราพลิกผืนแผ่นดินรุนแรงเสียจนปลุกความโหดเหี้ยมของเด็กให้ตื่นขึ้นด้วย”
มากกว่านั้น ยิ่งเราใช้นรกในตัวปะทะนรกในโลกมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้แก่นรกในตัวเรายิ่งขึ้นเท่านั้น ดังตัวบทที่นีนาตอบโต้ชายชรา ที่ว่า
“…คุณถามตัวเองว่าต่อสู้อะไร ในเมื่อสงครามจบแล้ว ทำไมต้องลงมือฆ่าชายฅนหนึ่งที่คุณไม่เคยพบเลยอย่างเลือดเย็น ไม่ให้โอกาสเขาขึ้นศาล แต่กลับฆ่าเขาดื้อๆ ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นว่า เมื่อเริ่มลงมือฆ่าฅนไปแล้ว ก็เลยไม่อาจหยุดได้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คุณถามตัวเองนับพันครั้งว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามนี้ทำไม และอุดมคติเรื่องโลกที่ดีกว่าก็หมุนติ้วอยู่ในหัวของคุณตลอดเวลา…เพื่อไม่ต้องเห็นภาพฅนอื่นๆ ที่ถูกฆ่าตายที่เต็มล้นความทรงจำของคุณในเวลานั้น เช่นเดียวกันกับในเวลานี้ เป็นภาพอดีตที่คุณทนรับไม่ได้ เป็นเหตุผลเดียว เหตุผลแท้จริงที่คุณสู้ในสงครามก็เพราะคุณคิดแบบนี้อยู่ในหัวเท่านั้น นั่นคือล้างแค้น ถึงตอนนี้คุณควรต้องพูดคำนี้ออกมาได้แล้ว ล้างแค้น คุณลงมือฆ่าเพื่อล้างแค้น พวกคุณฆ่าเพื่อล้างแค้นทั้งนั้น ไม่มีอะไรต้องละอายแก่ใจหรอกค่ะ มันเป็นยาขนานเดียวที่ช่วยดับความเจ็บปวด เป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่ซึ่งช่วยให้ไม่เป็นบ้า เป็นยาที่ช่วยให้ต่อสู้ได้ แต่พวกคุณก็ไม่อาจเป็นอิสระได้ต่อไป มันเผาไหม้ทั้งชีวิตของพวกคุณ ทำให้ชีวิตมีแต่ผี การจะอยู่รอดจากสงครามนานสี่ปีได้นั้น พวกคุณก็ต้องเผาไหม้ชีวิตทั้งชีวิต…”
โลกใหม่ที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในมือของมนุษย์ที่มีนรกเผาไหม้อยู่ในวิญญาณ
โลกใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นจากความแค้น เลือดเนื้อ และซากปรักหักพังเปื่อยผุ
ดังนี้แล้ว นอกจากรสทางวรรณกรรมที่ได้ Senza sangue หรือ ไร้เลือด ยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นนรกอันเกิดจากสงครามที่อุบัติขึ้นจากความแค้นในใจของมนุษย์ ให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงนรกในใจตน รวมถึงเป็นคำเชื้อเชิญและวิงวอนเพื่อนมนุษย์ทุกผู้ทุกนามให้ยุติสงครามในใจตนนั้น แล้วร่วมสร้างโลกใหม่ด้วยความเมตตา โดยไร้เลือด…
ในตัวบท ชายชราได้ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและตระหนักแจ้งในกรรมของตน เขาพร้อมถ้าจะต้องถูกฆ่าโดยนีนา ขณะรำพึงกับตัวเองว่า “สงครามจบสิ้นแล้ว”
แล้วสงครามของเราเล่า…จบสิ้นแล้วหรือยัง?

 

ผู้เขียน : อเลซซานโดร บาริกโก
จำนวนหน้า : 128  หน้า
ขนาด : 13 x18.5×0.9ซ.ม.
น้ำหนัก : 150 กรัม
ISBN : 9741403208
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ปก : ปกอ่อน
ราคา :  119  บาท
ติดต่อ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ 4/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-4366-602
อีเมล์ : bflybook@bflybook.com
เว็บไซต์ : http://www.bflybook.com/

 

 

You may also like...