กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เพื่อเป็นการยกระดับไทยสู่เมืองแฟชั่นแห่งอาเซียน ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การสร้างปัจจัยเอื้อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมด้านการตลาด และการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ สำหรับปี 2557 ตั้งเป้าผลักดันการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาคน การพัฒนาธุรกิจ และ การพัฒนาการรวมกลุ่ม โดยในด้านการพัฒนาคนคาดว่าจะมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,200 คน เป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติกับนักออกแบบ ช่างทำแพทเทิร์น และผู้บริหารระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่านกิจกรรมที่สำคัญ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. การประยุกต์ใช้แนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend) เพื่อเชื่อมโยงกับการออกแบบสินค้าแฟชั่น 2. การพัฒนานักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น การเพิ่มทักษะให้กับช่างทำแพทเทิร์น การพัฒนาผู้บริหารระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น 3. ด้านการพัฒนาธุรกิจจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพใน 2 ด้านคือ ประสิทธิภาพด้านการผลิตและประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ โดยปีนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาจำนวน 225 กิจการ และ 4. การพัฒนาย่านการค้าสินค้าแฟชั่น อาทิ สยามสแควร์ จตุจักร ประตูน้ำ และบางลำพู ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความป็นพลวัตสูง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง จะเห็นได้ว่าวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบของสินค้าแฟชั่นไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก แต่สินค้าแฟชั่นเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (End Products) ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีต่อวัตถุดิบนั้น ๆ ได้หลายเท่า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยประกอบด้วยอุตสาหกรรม 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถานการณ์การส่งออก ในปี 2556 พบว่ามูลค่าส่งออกรวมจำนวน 19,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม 7,584.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องหนังและรองเท้า 1,741.1 ล้านเหรียญสหรัฐ อัญมณีและเครื่องประดับ 10,193 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยการส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 7,584.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.66 ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 4,744.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.00 ทำให้ในปีที่ผ่านมาเกินดุลการค้า 2,840.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เดือนมกราคม-เมษายน 2557 มีมูลค่า 2,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับช่วงเวลาดังกล่าวในปี 2556 ตลาดส่งออกหลัก ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย คือ อาเซียน (1,655 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา (1,250 ล้านเหรียญ) ยุโรป (1,083 ล้านเหรียญ) และญี่ปุ่น (761 ล้านเหรียญ) ตามลำดับ
การส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,741.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.25 ประเภทสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก และหนังอัด และเครื่องใช้สำหรับเดินทางโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.89 และ 3.42 ส่วนรองเท้าและชิ้นส่วน ลดลง ร้อยละ 3.34 สินค้ารองเท้าและเครื่องหนังประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้คือ รองเท้าและชิ้นส่วน มีมูลค่าการส่งออก 713.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่าการส่งออก 724.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.89 ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง เวียดนาม จีน และ กลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง มีมูลค่าการส่งออก 303.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 10,193 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออก 3 อันดับแรกได้แก่ เครื่องประดับแท้ 3,757 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำ กึ่งสำเร็จรูป 3,321 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพชร 1,689 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการนำเข้าก็สูงเช่นกันคืออยู่ที่ 18,493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
เป้าหมายของประเทศไทยคือ การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าแฟชั่นในอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าได้นั้นสามารถวิเคราะห์ได้ใน 2 มุมมอง คือ Outside In กับ Inside Out โดยหากมองในมุม Outside In คือ การจูงใจและเอื้ออำนวยให้ Traders สนใจเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสซื้อสินค้าแฟชั่นของไทยมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้ประเทศไทยเป็น Fashion Shopping Paradise สำหรับทั้ง Trader และ Tourist รวมทั้งจำเป็นต้องสร้างระบบ logistic ที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าแฟชั่น การสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งในและนักท่องเที่ยวให้รับทราบว่าเมืองไทยนอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแล้ว สินค้าที่มีชื่อเสียงของไทยคือสินค้าแฟชั่นที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องซื้อกลับไป (PPP : Piece per person) ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดแหล่งช้อปปิ้ง ทั้ง Shopping Street / Shopping Area / Shopping Building ที่หลากหลายทั้งในมิติของพื้นที่และสินค้าเฉพาะอย่าง รวมทั้งต้องกระจายออกไปในจังหวัดที่มีศักยภาพนอกจากกรุงเทพฯ ด้วย หากจะมองในมุม Inside Out คือ การทำให้นักออกแบบไทยและตราสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศ โดยการเสริมสร้างความสามารถให้กับนักออกแบบที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้าง Brands ให้แข็งแกร่ง สร้างโอกาสในการนำเสนอสินค้าแฟชั่นไทยในรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ กสอ. โชว์ศักยภาพผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อแสดงความสำเร็จอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ในการเป็นฐานการผลิตชุดฟุตบอลบอลบราซิล 2014 โดยไทยได้รับความไว้วางใจให้ผลิตกว่า 10 ทีม ส่งผลให้แฟชั่นชุดกีฬากลับมาตื่นตัวอีกครั้ง โดยปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และกีฬาในประเทศเริ่มมีกระแสมากขึ้นเนื่องจากได้แรงบันดาลใจจากนักกีฬาไทยที่สร้างผลงานระดับโลก ส่งผลให้ชุดกีฬาของทีมต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น จึงนับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชุดกีฬาเป็นสินค้าแฟชั่นที่ติดตลาด ถึงแม้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะอยู่ในระดับล่างหากเทียบกับแฟชั่นยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงรูปแบบธุรกิจเป็นลักษณะรับจ้างผลิต แต่อุตสาหกรรมประเภทชุดกีฬา โดยเฉพาะแบรนด์กีฬาระดับโลกกลับได้รับความไว้วางใจว่าจ้างผู้ผลิตไทยให้ผลิตเสื้อกีฬาฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็น ชุดฝึกซ้อมของนักกีฬา และเสื้อทีม เพื่อขายให้กับแฟนบอลทั่วโลก ส่งผลให้ยอดการส่งออกเสื้อผ้าของไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด กล่าวว่า รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ที่การส่งออกเป็นหลัก ประมาณ 4.2 พันล้านบาท โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ร้อยละ 40 (ประมาณ 1.5 พันล้านบาท) ยุโรป ร้อยละ 55 (ประมาณ 2 พันล้านบาท) และอื่นๆ อีกร้อยละ 5 ส่วนประเทศในภูมิภาคอาเซียนเน้นส่งไปผลิตในโรงงานในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และจีน สำหรับในช่วงฟุตบอลโลก บริษัทผลิตเสื้อฟุตบอลโลกประมาณ 750,000 ตัว ส่งผลให้ยอดการผลิตเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 20 จากช่วงเวลาปกติ ซึ่งผลิตและส่งมอบไปแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ส่วนในช่วงอื่นๆ ก็จะผลิตชุดฟุตบอลให้สโมสรลีกต่าง ๆ ตามปกติ ทั้งนี้ สำหรับการบริหารจัดการภายในบริษัท บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากประเทศไทย มีจุดด้อยที่ต้นทุนค่าแรงงานสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ เพื่อเราจะได้มีโอกาสในการเติบโตได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่ที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ครบวงจร นอกจากนี้ประเทศไทยยังตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีความพร้อมด้านการคมนาคมและการสื่อสาร สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพดี มีแหล่งวัตถุดิบในประเทศ และราคามีความสมเหตุสมผล นักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับประเทศไทยหากต้องการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสหากรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (TGMA) กล่าวว่า สถานการณ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2557 ไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 29.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) แบ่งเป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่ทำจากผ้าถัก มูลค่าการส่งออก 19.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 และที่ทำจากผ้าทอ ส่งออก 10.48 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.91 ตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส โดยสัดส่วนการส่งออกมากเป็นอันดับ 20 ของโลก อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่ผลิตเสื้อผ้าและชุดกีฬา รายเล็กทยอยปิดกิจการลง เนื่องจากลูกค้าได้ปรับลดหรือยกเลิกคำสั่งซื้อ และหันไปว่าจ้างโรงงานขนาดใหญ่ผลิตแทน เพราะว่าผู้ผลิตรายใหญ่สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพมากกว่าและมีนวัตกรรม ทั้งเนื้อผ้า การออกแบบตัดเย็บ และความเรียบร้อย ด้านต่าง ๆ แม้ว่าราคาสินค้าจะแพงกว่าก็ตาม สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุดกีฬานั้น ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโต อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และกีฬาในประเทศเริ่มมีกระแสมากขึ้นเนื่องจากได้แรงบันดาลใจจากนักกีฬาไทยที่สร้างผลงานระดับโลก เช่น แบดมินตัน วอลเลย์บอล และฟุตบอล ฯลฯ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของไทย ส่งผลให้ชุดกีฬา ของทีมต่าง ๆ ได้รับความนิยม ประกอบการแบรนด์ชุดกีฬาระดับโลก ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียง และเป็นไอดอลของประชาชนทั่วไป จึงเพิ่มมูลค่าให้ชุดกีฬาเป็นสินค้าแฟชั่นติดตลาด คนทั่วไปนอกจากเลือก ชุดกีฬาที่เหมาะกับประเภทกีฬาที่เล่น และความสะดวกสบายในการสวมใส่แล้ว กระแสแฟชั่นเลือกใส่ตาม พรีเซนเตอร์ก็เป็นเหตุผลสำคัญในการเลือกชุดกีฬา
ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮงเส็งการทอ จำกัด กล่าวว่า ลักษณะการทำธุรกิจเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และรับผลิตเสื้อฟุตบอลให้สโมสรฟุตบอลลีกต่าง ๆ ระดับโลกอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว สำหรับในช่วงฟุตบอลโลกฟีเวอร์นี้ ยอดการผลิตเติบโตร้อยละ 10-15 จากช่วงเวลาปกติ แต่เมื่อรวมกันทั้ง 4 บริษัทที่รับผลิตชุดกีฬาฟุตบอลโลกประมาณ 10 ทีม (ไนซ์กรุ๊ป ไฮ-เทคกรุ๊ป ลิเบอร์ตี้กรุ๊ป และฮงเส็งกรุ๊ป) มียอดการสั่งซื้อเพิ่มรวมกันประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 พันล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่ดำเนินธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม อยากให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้มากกว่าผู้ซื้อ ควรใส่นวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความแตกต่าง เน้นที่ความสะดวกสบายเมื่อสวมใส่ ตัวอย่างเช่น บริษัท มีนวัตกรรมออกแบบตัดเย็บด้วยเลเซอร์ ชุดกีฬาที่ผลิตจึงไม่มีรอยตะเข็บ ไม่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง เมื่อเหงื่อออก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก ดังนั้นนวัตกรรมการผลิตจึงมีความสำคัญมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากคู่แข่ง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้เป็นอย่างดี สำหรับแนวโน้ม การเติบโตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬาของไทยนั้น ตนมองว่ายังไม่แข็งแรงพอที่จะสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง และขยายการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านการจัดการแรงงาน และมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูง เป็นเหตุให้ต้องใช้แรงงานต่างด้าว อีกทั้ง ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ Comfort Zone ไม่เคยประสบกับปัญหาวิกฤตใหญ่ ๆ และยืดเยื้อ จึงทำให้มีภูมิคุ้มกันในการแก้ปัญหาน้อยและไม่อดทนต่อปัญหา
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่หก กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2202-4546 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร 02-202-4414 – 18
เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์- JC&CO PUBLIC RELATIONS
ณภัทร กาญจนะจัย
เบอร์โทร : 087-477-0707
อีเมล : napatk@jcpr.co.th