“อาจินต์ ปัญจพรรค์” คือนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่รังสรรค์ผลงานจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเป็นผู้แปรเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นพลัง “เขียนชีวิตด้วยชีวิต” จุดประกายทางปัญญา มีคุณูปการและให้โอกาสแก่นักเขียนรุ่นหลัง
ผลงานของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ถือเป็นรากลึกแห่งผลรวมทางความคิด อันเนื่องมาจากประสบการณ์แห่งการใช้ชีวิต ทั้งในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการที่ได้รับความเคารพและการยอมรับนับถืออย่างยิ่งมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการนิตยสารที่รับใช้และยกย่องชีวิตอย่าง ฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี และฟ้าอาชีพ
ผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกที่มีชื่อเสียง เช่น รวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ปรัชยาไส้ นวนิยายเรื่อง เจ้าพ่อ เจ้าเมือง ล้วนสะท้อนสังคมและชีวิตของคนทุกชนชั้น ก่อให้เกิดความคิด ความหวังและแรงบันดาลใจต่อการหยัดยืนดำรงตนให้สมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ดังคำกล่าวของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่ว่า “ยิ่งกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความหมายอันเป็นต้นรากของสาเหตุต่างๆ ชีวิตก็ยิ่งจะค้นพบทางสว่างแห่งการยึดถือของตัวตนเพิ่มมากขึ้น” ด้วยคุณสมบัติและผลงานอันทรงคุณค่ายิ่ง มูลนิธิอมตะจึงพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้แก่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”
ประกาศ ณ วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘
รางวัลแห่งเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”
เป็นรางวัลที่มูลนิธิอมตะริเริ่มขึ้นจากแนวความคิดของ นายประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำเสนอต่อ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำงานร่วมกันในการจัดทำหนังสือชีวประวัติเชิง นวนิยาย “ผมจะเป็นคนดี” ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำเสนอเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล
มูลนิธิอมตะได้เรียนเชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณามอบรางวัลให้แก่นักเขียนอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบรางวัลนักเขียนอมตะมาแล้ว ๗ ท่าน ได้แก่
๑. นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๑
๒. นายโรจ งามแม้น หรือนามปากกา “เปลว สีเงิน” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๒
๓. นายโกวิท อเนกชัย หรือนามปากกา “เขมานันทะ” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๓
๔. นายสมบัติ พลายน้อย หรือนามปากกา “ส.พลายน้อย” นักเขียนอมตะ คนที่ ๔
๕. พระไพศาล วิสาโล นักเขียนอมตะ คนที่ ๕
๖. นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือนามปากกา “ลาว คำหอม”นักเขียนอมตะ คนที่ ๖
๗. นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือนามปากกา “พนมเทียน” นักเขียนอมตะ คนที่ ๗
การพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ดำเนินมาจนถึงคนที่ ๘ โดยรางวัล “นักเขียนอมตะ” ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ทุ่มเทสร้างผลงาน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดสรรคือ
๑. เป็นนักเขียนสัญชาติไทย ยังมีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ
๒. มีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่องเป็นภาษาไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี
๓. ผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ
ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” จะได้รับเงินสนับสนุน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศเกียรติคุณ
มูลนิธิอมตะจะจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมนิทรรศการเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ “นักเขียนอมตะ” หลังจาก ประกาศผลให้แก่สาธารณชนทราบแล้ว โดยแต่ละปีที่ผ่านมาได้รับเกียรติจาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี ๒๕๕๗
๑. ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานกรรมการ
๒. นายประภัสสร เสวิกุล กรรมการ
๓. รองศาสตราจารย์ สกุล บุณยทัต กรรมการ
๔. ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กรรมการ
๕. รองศาสตราจารย์ ดร. สุปาณี พัดทอง กรรมการ
๖. นายจรัญ หอมเทียนทอง กรรมการ
๗. นายอานันท์ นาคคง กรรมการ
๘. นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กรรมการและเลขานุการ
ประวัติ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นักเขียนอมตะ ประจำพุทธศักราช 2557
อาจินต์ ปัญจพรรค์ เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนที่ 3 ของขุนปัญจพรรคพิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) และนางกระแส (โกมารทัต) ปัญจพรรค์ บิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย ย้ายไปเป็นนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง พี่สาวคนโตชื่อ
ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมาก
พ.ศ. 2475 – 2479 เรียนชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 1 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม
พ.ศ. 2480 – 2484 เรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2485 – 2486 สงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2487 เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนถึงชั้นปีที่ 2 พ.ศ. 2488 มหาวิทยาลัยปิดเพื่อให้นักศึกษาอบพยพหนีสงคราม
พ.ศ. 2489 กลับมาเรียนแต่เรียนไม่จบ เพราะสนใจในงานเขียนต้องออกตอนอยู่ชั้นปีที่ 2 อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นคนที่รักการอ่านหนังสือ และสนใจข่าวสารจากสื่อต่างๆ จนทำให้เกิดความสนใจในงานประพันธ์ เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ได้เขียนเล่าเรื่องโรงโขนหลวงที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ส่งไปลงหนังสือ “สุวัณณภูมิ” ช่วงหลังสงครามเริ่มเขียนเรื่องงานง่ายๆ ลงในหนังสือ “ฉุยฉาย” รายสัปดาห์ และ “ชวนชื่น” รายสัปดาห์
พ.ศ. 2489 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคำขวัญสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติ ด้วยข้อความว่า “สงครามคือบาป สันติภาพคือบุญ” ได้เงินมา 500 บาท
พ.ศ. 2490 เข้าทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ในหน่วยเฉพาะกิจสำรวจสำมะโนประชากร แต่ทำได้ไม่นานก็ออก และไปเรียนกฎหมายต่อแต่ไม่ได้จริงจัง ต่อมาได้ไปทำงานที่เหมืองแร่ที่จังหวัดพังงา ช่วงระหว่างเดินทางไปจังหวัดพังงา ได้เขียนเรื่องสั้น “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” เมื่อถึงจังหวัดพังงาได้เขียนสารคดีชื่อ “จดหมายจากเมืองใต้” ใช้นามปากกา “จินตเทพ” ลงในหนังสือ “โฆษณาสาร” รายเดือน อาจินต์ ปัญจพรรค์ เริ่มทำงานที่เหมืองเรือขุดแร่ดีบุก “กัมมุนติง” (Kammunting Tin Dredging) ในตำแหน่งเด็กฝึกงาน ทำงานตีเหล็ก ได้ค่าจ้างวันละ 6 บาท ตอนที่ทำงานอยู่นั้นได้เขียนเรื่องสั้น “สีชมพูยังไม่จาง” ส่งให้น้องสาวคือ วัฒนา ปัญจพรรค์ ที่กำลังเรียนคณะเภสัชกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงในหนังสือ “มหาวิทยาลัย” 23 ตุลาคม พ.ศ. 2492 แต่ทำงานได้ไม่นานถึงเดือน มีอาการไอเป็นเลือด เกิดจากการทำงานหนักจนเกินไปจนเส้นเลือดฝอยแตก
พ.ศ. 2492 ไปทำงานที่เหมืองใหม่ที่เหมืองกระโสม (Krasom Tin Dredging) ทำงานเขียนแบบประจำเหมืองเงินเดือน 500 บาทต่อเดือน และเป็นช่างทำแผนที่เงินเดือน 800 บาท
พ.ศ. 2494 ระหว่างที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ทำงานอยู่ที่เหมืองนั้น ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ผู้เป็นพี่สาวได้เจอนิยายของน้องชายที่ห้อง จึงนำไปให้ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของนามปากกา “อิงอร” ช่วยพิจารณาและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” แล้วส่งไปให้ ประหยัด ศ.นาคะนาท ลงพิมพ์ใน “พิมพ์ไทย” วันจันทร์ มีผู้สนใจมาก จึงได้ส่งอีกเรื่องคือ “ผู้กล้าหาญ” แต่ได้รับการตอบรับไม่ดี
พ.ศ. 2496 เหมืองแร่เลิกกิจการ อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงเดินทางกลับมาที่กรุงเทพฯ และได้ตั้งใจเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง เรื่อง “บ้านแร่” หลายตอนจบลงใน “โฆษณาสาร” เรื่อง “ในเหมืองแร่มีนิยาย” 4 ตอนจบลงในนิตยสาร “จ.ส.ช.” ทั้งยังได้แปลเรื่องเฮนรี่ เจ.ไกเซอร์ และค่ายโคบาล แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนัก นอกจากนี้ยังมีผลงานกลอนลงพิมพ์ใน “สตรีสาร” อีกด้วย
พ.ศ. 2497 เขียนเรื่องสั้น “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ในนามปากกา “จินตเทพ” ได้ลงใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ฉบับปฐมฤกษ์ มี ประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ ทำให้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้น ชุดเหมืองแร่ ในนิตยสาร “ชาวกรุง”
พ.ศ. 2498 ทำงานที่ไทยทีวิช่อง 4 จอมพลป.พิบูลสงครามได้เปิดสถานีในวันชาติ 24 มิถุนายน
พ.ศ.2498 มีหน้าที่เขียนบทของสถานีได้เงินเดือนเริ่มต้น 800 บาท
พ.ศ. 2499 เป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ไทยโทรทัศน์” รายเดือน ของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม
พ.ศ. 2502 ได้รับเลือกให้ไปดูงานโทรทัศน์และชีวิตชาวอเมริกัน ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 เดือน
พ.ศ. 2508 ตั้งสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์เรื่องสั้นของตนเอง โดยเริ่มระบบเขียนเอง – พิมพ์เอง – ขายเอง ในราคาเล่มละ 5 บาท เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า โอเลี้ยง 5 แก้ว ขณะที่รวมเรื่องสั้นชุดแรก “ตะลุยเหมืองแร่” ได้รับเลือกให้ไปร่วมประชุมนักเขียนเรื่องสั้น “แอฟโฟร – อาเซียน” ที่สหภาพโซเวียต เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ปรากฏว่ารวมเรื่องสั้นชุดแรกได้จำหน่ายหมดแล้วจึงได้พิมพ์ “ธุรกิจบนเขาอ่อน” และเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่ก็ยังคงทยอยออกมาเป็นระยะ คือ “เหมืองน้ำหมึก” “เสียงเรียกจากเหมืองแร่” และ “สวัสดีเหมืองแร่” ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังตั้งคณะละครโทรทัศน์ของตัวเอง
พ.ศ. 2511 ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผนผังรายการและหัวหน้าแผนกบริการธุรกิจเงินเดือน 2,800 บาท และตำแหน่งบรรณาธิการ “ไทยโทรทัศน์” อีกเดือนละ 800 บาท
พ.ศ. 2512 ร่วมหุ้นตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และทำนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” รายสัปดาห์ ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ.2512 ในราคาเล่มละ 3 บาท เป็นที่นิยมมาก จึงได้คิดหนังสือเล่มใหม่ โดยสุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นผู้ลงทุน เกิด “ฟ้าเมืองทอง” รายเดือน เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ประสบผลสำเร็จ จึงออก “ฟ้านารี” รายเดือนให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกฉบับหนึ่ง มีคุณศรีเฉลิม สุขประยูรเป็นบรรณาธิการ ภายหลังทำ “ฟ้าอาชีพ” รายเดือนอีกระยะหนึ่ง ก็หยุดทำ “ฟ้าเมืองทอง” ส่วน “ฟ้าเมืองไทย” มาสิ้นสุดตอน ตุลาคม พ.ศ. 2531 ผู้อ่านแสดงความเสียดาย จึงได้ตัดสินใจทำนิตยสาร “ฟ้า” รายเดือนอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 แต่ทำต่อมาได้เพียง 3 ปี จึงได้ยุติลงเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตามอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างนักเขียนใหม่ให้มีชื่อเสียงในระยะต่อมาเป็นจำนวนมาก
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ยังสนใจแต่งเพลงเป็นงานอดิเรก และเพลงที่ได้รับการนิยม เช่น เพลงประกอบละคร “สวัสดีบางกอก” “อย่าเกลียดบางกอก” เนื้อเพลง “มาร์ชลูกหนี้” ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน เพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” หรือเนื้อเพลงในชุด “ปริญญาชาวนา” ที่ ธานินทร์ อินทรเทพขับร้อง
อาจินต์ ปัญจพรรค์ สมรสกับแน่งน้อย พงษ์สามารถ อดีตสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2520 แต่ไม่มีบุตร
นามปากกา
จินตเทพ แพร
งานเขียนครั้งแรก
– เรื่องสั้น “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” ใช้นามปากกา จินตเทพ แพร
ผลงานรวมเล่ม
รวมเรืองสั้น
– ตะลุยเหมืองแร่
– เหมืองน้ำหมึก
– เสียงเรียกจากเหมืองแร่
– สวัสดีเหมืองแร่
– ลุยทะเลคน
– เดี่ยวเหมืองแร่
– เหมืองมนุษย์
– หมึกกระจาย
– เจ้านกขมิ้นจากเหมืองแร่
– ไกลเตียง
– จุฬาฯ ปฏิเสธข้าพเจ้า
– กลับไปสู่เหมืองแร่
– นิสิตเถื่อน
– เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์ ฯลฯ
นวนิยาย
– ใต้แผ่นดิน
– ในเหมืองแร่มีนิยาย
– เลือดในดิน
– เจ้าพ่อ – เจ้าเมือง
– เหมืองทองแดง ฯลฯ
สารคดี
– ธุรกิจบนขาอ่อน
– ตะลุยอเมริกา – ผ่าตัดรัสเซีย
– เจ้าหนู
– แม่น้ำยามศึก ฯลฯ
บทความ
– ปรัชยาไส้
– ยักษ์ปากเหลี่ยม
– บอมบ์กรุงเทพฯ
– การหลงทางอันแสนสุข ฯลฯ
เรื่องแปล
– ลูกฝรั่งช่างพูด ฯลฯ
เกียรติยศที่ได้รับ
– สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อพ.ศ. 2534
– ได้รับยกย่องเป็นนักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” ปี พ.ศ. 2535
ปัจจุบัน
ทำงานประพันธ์เป็นอาชีพ โดยมีผลงานเผยแพร่อยู่และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
ขอขอบคุณข้อมูลบ้างส่วนที่ได้จากหนังสือนักประพันธ์ไทยของสำนักพิมพ์ สุวีริยาสาส์น