นักวิชาการระดับโลกเห็นศักยภาพของไทย เป็นประเทศศูนย์กลางด้านศิลปะและการออกแบบของภูมิภาค

ปิดฉากการประชุมสุดยอดวิชาการด้านศิลปะและการออกแบบ QS Totally Arts Summit ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกจัดโดย QS สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม โดยนักวิชาการทั่วโลกระบุไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางศิลปะและการออกแบบของภูมิภาค ในขณะที่มีข้อเสนอในการกระตุ้นการรักษ์โลก สุขภาวะผ่านงานวิจัย

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมว่าการมีพื้นที่เวทีระดับนานาชาติเพื่อให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญในปัจจุบัน ที่มหาวิทยาลัยเผชิญความท้าทายเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านศิลปะและการออกแบบจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่กรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับโลกต่อไป

นางสาวแมนดี้ ม็อก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Quacquarelli Symonds หรือ QSเอเชีย จากประเทศสิงคโปร์ แสดงความชื่นชมว่า ประเทศไทยมีความโดดเด่นในศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่งมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ได้แรงบันดาลใจมาจากความงดงามตามธรรมชาติ ที่ตั้งภูมิศาสตร์อันอยู่จุดเชื่อมต่อของเอเชีย และมีบรรยากาศของสังคมที่ประนีประนอมยอมรับความแตกต่างและเปิดกว้าง มีส่วนผสมที่ทำให้ประเทศไทยที่จะกลายเป็นศูนย์กลางส่งออกเชิงวัฒนธรรมได้ ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามโครงการไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นการให้สร้างความมั่นใจได้ว่าประเทศไทย จะสามารถบรรลุตามเป้าหมายเป็นประเทศที่สถานะรายได้สูงในอนาคตอันใกล้

ศาสตราจารย์ นอร์แมน แชร์รี่ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยลินคอร์น สหราชอาณาจักร นักออกแบบเครื่องประดับมีชื่อเสียง กล่าวว่าประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ร่ำรวย ทั้งทางด้านทัศนศิลป์และดนตรี ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ คนไทยมีความประณีตงดงาม ดำเนินวิถีชีวิตในแบบเฉพาะตัว ผมรู้สึกประทับใจในวิธีการทำงานด้านสุนทรียศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญของชาวตะวันตกในการทำงานร่วมกับผู้คนอีกส่วนหนึ่งของโลก ไม่จำเป็นที่คุณจะยึดถือวิถีวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยควรจะต้องช่วยเหลือในความเปลี่ยนแปลงสังคม และวัฒนธรรม

โดยนาย อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยชื่อดังในเวทีระดับนานาชาติชาติ ได้เน้นว่าการทำงานมนุษย์ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิต อะไรก็ตามที่เราเรียนรู้ในวันนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่คาดคิดในอนาคต ไม่มีกฎตายตัว

ด้านศาสตราจารย์ชิโระ มัตซุย ภาควิชาประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของผลงานอันโด่งดังคือการเก็บอากาศจากนอกโลกเพื่อมาประกอบงานศิลปะในชื่อ “ข้อความในขวดแก้ว” ได้ย้ำว่าการทำงานศิลปะต้องมีความอยากรู้อยากเห็นที่จะหาคำตอบเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติในอนาคต โดยยกตัวอย่างงานของเขาว่าการนำบรรยากาศจากนอกโลกเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความว่างเปล่าอันทรงพลังของอวกาศที่ล้อมรอบโลกอันเปราะบางของเราด้วยมือของมนุษย์เอง

ศาสตราจารย์คลาวดิโอ ร็อกก้า จากประเทศอิตาลี สถาบันวิจิตรศิลป์ แห่งฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี สถาบันเก่าแก่ด้านศิลปะที่เปิดสอนมากว่า 500 ปี ย้ำให้นักวิชาการยอมรับความหลากหลาย เพราะมีบทบาทสำคัญในงานออกแบบ เช่น ความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม มุมมองและความเชื่อของคน เพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ของเรากว้างขึ้นกว่าในอดีต โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างงานศิลปะข้ามแขนง บูรณาการที่ตอบสนองโลกยุคใหม่

ศาสตราจารย์กินไว๋ ไมเคิล ซิว ศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง เสนอแนะว่า รัฐบาล แหล่งทุนวิจัย และสถาบันวิชาการ ควรสนับสนุนนักวิจัยในด้านการเงิน การบริหารจัดการ รวมทั้งสนับสนุนความคิดที่มีศักยภาพเพื่อเปลี่ยนให้งานเหล่านั้นนำไปสู่การหาหนทางสร้างนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติได้จริง การเรียนการสอนในทุกสาขารวมทั้งการออกแบบต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่มีงานวิจัยส่งเสริมแนวคิดสร้างแรงบันดาลใจในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวเคมี ที่นำไปสู่การค้นพบสำคัญหลายเรื่องในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สถาบันการศึกษาต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และต้องตอบโจทย์ประเทศ โดยมหาวิทยาลัยไทยควรร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านศิลปะการออกแบบของอาเซียนให้ได้

มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยแรกของโลกในการเป็นพันธมิตรร่วมกับสำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (Quacquarelli Symonds หรือ QS) ภายใต้หัวข้อ การศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21: เติมไฟให้ศรัทธา มุ่งหน้าสู่ความฝัน (21st Century Art and Design Education: Nurturing Passion with Purpose) ซึ่งการประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2561 ณ Millennium Hilton Bangkok Hotel มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะจากหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 18 ชิ้น ที่ โดยหลังปิดประชุม ในวันที่ 26 ตุลคาม 2561 มหาวิทยาลัยศิลปากรยังมีการจัดกิจกรรมพาศิลปินระดับโลกเยี่ยมชมความสวยงามด้านศิลปกรรมของไทย ผ่านจิตรกรรมและประติมากรรมที่พระบรมมหาราชวังอีกด้วย

ณัฐวดี แก้วศักดานุรักษ์
ผู้ประสานงาน
088-346-0773
E-mail: nattawdee.k@gmail.com

You may also like...