วัน แบงค็อก (One Bangkok) แลนด์มาร์คครบวงจรระดับโลกแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย จัดนิทรรศการศิลปะครั้งแรกภายใต้ชื่อ In-Betweenness เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ “พื้นที่” และ “ความทรงจำ” ในบริเวณย่านวิทยุ ลุมพินี และพระรามสี่ ร่วมกับศิลปินไทยชื่อดัง 3 ท่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร รัฐ เปลี่ยนสุข และ นักรบ มูลมานัส ที่มาร่วมกันแสดงผลงานศิลปะเป็นครั้งแรก
โดยรังสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นใหม่ซึ่งเป็นการนำความทรงจำส่วนบุคคลที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้มาตีความใหม่ พร้อมจัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่เป็นเสมือนบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพื้นที่ ตลอดจนภาพสะท้อนของความทรงจำที่อาจกระจัดกระจายหรือสูญหายไปตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างให้กลายเป็นความทรงจำร่วมชุดใหม่ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปผ่านผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่นับจากนี้ เพื่อจำลองความหลังขึ้นมาอีกครั้ง ในส่วนแรกของนิทรรศการ ทีมภัณฑารักษ์ของโครงการจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำที่หาชมได้ยากจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งฟิล์มกระจกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นภาพฟิล์มกระจก 35,427 รายการ และภาพต้นฉบับ 50,000 รายการ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” ในปี พ.ศ. 2560
ภาพถ่ายขาวดำจากฟิล์มกระจกดังกล่าว ไล่เรียงไปตั้งแต่ภาพสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงในการดูแลของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศ และตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ อันเป็นที่มาของชื่อถนนวิทยุ ภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาแห่งทหารเรือไทยผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้เกิดบุคลากรด้านกิจการโทรเลขทหารเรือ ภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้วางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในกิจการวิทยุกระจายเสียง และภาพหอนาฬิกาในสวนลุมพินี ซึ่งเป็นหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันเพื่อแสดงว่า สวนลุมพินีเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในการสร้างพื้นที่สำหรับจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่เรียกว่า สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และเป็นสวนสาธารณะสำหรับชาวเมือง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่กรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2453 ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ย่านลุมพินี-วิทยุ-พระรามสี่ เป็นเพียงไร่ผักและทุ่งนาที่ยังคงห่างไกลจากเขตศูนย์กลางของเมือง แต่ก็เริ่มมีความสำคัญจากการเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุโทรเลข รวมไปถึงมีหนังสือที่ระลึกจากงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2470 ให้ได้ชมกันด้วย เรียกได้ว่า ภาพถ่ายขาวดำจากฟิล์มกระจกและวัตถุจัดแสดงเหล่านี้ จะนำช่วงเวลาอันเปี่ยมเสน่ห์กลับมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอีกครั้ง
ในส่วนที่สองของนิทรรศการนั้นจัดแสดงผลงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นใหม่โดยศิลปินไทยชื่อดัง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร รัฐ เปลี่ยนสุข และ นักรบ มูลมานัส ซึ่งเป็นการนำความทรงจำส่วนบุคคลที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้มาตีความใหม่เป็นงานศิลปะอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ และเฉลิมฉลองมรดกเชิงศิลปะและวัฒนธรรมไทยในบริบทที่ร่วมสมัย
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร
ผลงานศิลปะขนาด 4×2 เมตร ชิ้นนี้ผสมผสานเทคนิคการลงสี ภาพพิมพ์ และการสลัก เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสวนลุมพินีจากความทรงจำของตัวศิลปินเอง
“จิตรกรรมนี้แสดงตำนานบนพื้นที่สวนลุมพินีซึ่งกลายเป็นพื้นที่ของอดีตอันทรงคุณค่า ข้าพเจ้าจึงสร้างให้เป็นหนังสือเล่มใหญ่เสมือนคัมภีร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสวนแห่งนี้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร กล่าว
ผลงานศิลปะเทคนิคผสมของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร: พื้นที่แห่งตำนานสวนลุมพินี
2. รัฐ เปลี่ยนสุข
ศิลปินและนักออกแบบร่วมสมัย ผู้คว้ารางวัลนักออกแบบแห่งปี พ.ศ. 2563 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ประกอบเชิงจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของหรือสถานที่ ได้นำเสนอประติมากรรมสมัยใหม่ที่สะท้อนถึงสายลมอันอ่อนโยนในฤดูหนาวที่พัดยอดรวงข้าวในทุ่งนาให้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองอร่าม ถักทอจนเกิดเป็นตึกระฟ้าและบ้านเมืองสมัยใหม่ รัฐมุ่งถ่ายทอดความรู้สึกของเขาผ่านจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนี้
ประติมากรรมเทคนิคผสมของรัฐ เปลี่ยนสุข : Zephyr
3. นักรบ มูลมานัส
ศิลปินคอลลาจที่กำลังมาแรง เพิ่มความท้าทายด้วยการก้าวออกจากรูปแบบงานสองมิติที่คุ้นเคย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอคอลลาจชิ้นแรกของตนเอง ด้วยการจำลองชาติ (การเกิด) และภพ (พื้นที่) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่แต่มักจะถูกละเลย นักรบหวังว่าการจำลองภาพของพวกเขา จะช่วยให้เกิดการจดจำถึงผู้คนที่มักจะไม่ได้อยู่ในความทรงจำ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำชุดใหม่ต่อไป
ภาพจากวิดีโอคอลลาจของ นักรบ มูลมานัส : Reincarnation
และเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ของผู้ชมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นิทรรศการในครั้งนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลชุดพิเศษด้านประวัติศาสตร์ แนวคิดของแต่ละชิ้นงาน และประวัติของศิลปินด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้เข้าชมยังจะได้ชมภาพเบื้องหลังและสัมผัสฟีเจอร์เออาร์เสมือนจริงอีกด้วย (Augmented Reality)
นิทรรศการ In-Betweenness นี้ ถือเป็นนิทรรศการแรกในซีรีส์นิทรรศการศิลปะของฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวัน แบงค็อก ที่แสดงให้เห็นตัวอย่างของกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ที่โครงการวัน แบงค็อกจะนำเสนอต่อไปในอนาคตเมื่อโครงการเปิดอย่างเป็นทางการ ดังเช่นที่มาของชื่อ “เดอะ พรีลูด” ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ ที่่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความหมายในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าการกระทำหรือเหตุการณ์ที่นำไปสู่เรื่องราวสำคัญต่อๆ มา ส่วนในภาษาดนตรีจะหมายถึงบทเพลงสั้นๆ ที่ถูกบรรเลงก่อนการแสดงดนตรีรายการอื่นๆ สถานที่แห่งนี้จึงเป็น เดอะ พรีลูด ที่จะนำไปสู่ วัน แบงค็อก ที่มีเป้าหมายในการเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก
นิทรรศการศิลปะ In-Betweenness ณ เดอะ พรีลูด โครงการวัน แบงค็อก (The Prelude One Bangkok)
เปิดแสดงตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคมถึง 30 พฤศจิกายน 2562 ปิดทุกวันอาทิตย์ (ไม่เสียค่าเข้าชม)
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 02-080-5777
อีเมล: enquiry@onebangkok.com
เว็บไซต์: www.onebangkok.com
สอบถามข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย):
ชนิดาภา ปัญญาพลเสรี
โทร. 0-65724-3246
อีเมล chanidapa.p@frasersproperty.com
บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
นลินุตม์ ศิริสมบัติ (0-86977-7881) / สุธาทิพย์ บุญแสง (0-87685-1695)
โทร. 0-2627-3501 ต่อ 155, 102
อีเมล FrasersPropertyHK@hkstrategies.com