วิภาส ศรีทอง

ตัวตนฅนซีไรต์ วิภาส ศรีทอง เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2555

อะไรที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่

ตอนอยู่ประถมต้นผมชนะเลิศได้รางวัลเขียนเรียงความ โตขึ้นฉันอยากเป็นอะไร เลยคิดว่าน่าจะเขียนหนังสือได้ ผมเขียนจดหมายจีบผู้หญิง  พอจดหมายที่ส่งไปให้ผู้หญิงเพื่อนเอาไปอ่านแล้วสนุกดี เลยรู้สึกว่าเราเล่าเรื่องเป็น เรามีทักษะทางนี้อยู่ แต่ประเภทตัดสินใจทันทีทันใดจะเป็นนักเขียนนั้นคงไม่ใช่ มันสั่งสมมาเรื่อยๆเป็นการบ่มเพาะตัวเอง

เด็กๆอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ อ่านเรื่องสยองขวัญ พอจากการเรียนแพทย์ ผมรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรใหม่ มันเป็นงานเทคนิคอลมากกว่า มันไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์เพียวๆเราไปห้องแลปไปหาสเตรมใหม่ของเซลล์ตัวนั้นตัวนี้ แต่พอเข้าไปผมรู้สึกมันเป็นงานลูทีน ผมอยู่กับมันจนรู้สึกว่าเสน่ห์มันหมดไปเรื่อยๆขณะที่งานวรรณกรรมหรือศิลปะมันดูลี้ลับน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นมีวรรรณกรรมฝ่ายซ้ายเข้ามา พวกวรรณกรรมรัสเซีย วรรณกรรมเพื่อชีวิต เฮมิ่งเวย์ ผมก็อ่านตามกระแสที่เขาอ่านกัน

ถ้าเริ่มเขียนหนังสือจริงๆประมาณปี 2537 เป็นเรื่องสั้น ช่วงนั้นอยู่ระหว่างเรียนๆดรอปๆผมเรียนคณะแพทย์ที่โรงพยาบาลรามา เรียนปีต่อปี หาตัวเองไม่เจอ ช่วงดรอปเมื่อไหร่ก็เดินทางเขียนงาน ส่งงานไปเรื่อยๆจนใกล้จะจบ ผมจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไม่ไปทางแพทย์ เลยลาออกมาเป็นนักเขียน นักหลงทาง เดินทางไปเรื่อยๆยังไม่ตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี ช่วงนั้นดราม่าเหมือนกัน ผมมาจากชนชั้นกลางระดับล่าง ที่บ้านฝากความหวังเอาไว้เยอะ ผมดินทางไปเรื่อยๆแล้วก็มีแฟนที่คอยให้กำลังใจ

การเขียนของผมมันมาจากการฝึก แน่นอนคุณต้องอ่านหนังสือเยอะ คุณต้องเสพงานศิลปะ คุณต้องฝึกมือด้วยการหัดเขียน ตั้งแต่เด็กผมบันทึกไดอารี่มาตลอด การบันทึกไดอารี่มันฝึกให้เราสังเกตโลกภายนอก ขณะเดียวกันก็สำรวจความรู้สึกภายใน ผมเขียนออกมาประมาณเกือบยี่สิบเล่มหนาๆจนถึงระดับนึงก็เริ่มมั่นใจในการนำเสนอของเรามากขึ้น

ตอนแรกๆก็เขียนเรื่องสั้นตามนิตยสาร ค่อยๆส่ง เมื่อก่อนผมส่งหนังสือพวกหวานแหวว วัยหวาน แล้วก็ค่อยๆเขยิบเข้ามาเรื่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นแฟชั่น รายสัปดาห์บ้าง ตอนหลังก็มาถึงช่อการะเกด อันนี้ก็เป็นอีกระดับนึง เพราะคุณสุชาติ ตอนนั้นถือว่าเป็นมือหนึ่งของการคัดเลือกเรื่องที่จะตีพิมพ์ ทำให้เรามั่นใจในระดับนึง

ตอนนั้นพอเรื่องสั้นได้ตีพิมพ์มีฟีดแบคกลับมาดีพอสมควร น่าพึงพอใจ เรารู้แล้วว่าเราผูกเรื่องเป็นสร้างเรื่องเป็น เรามีศิลปะในการเล่าระดับนึงแล้ว ถึงเริ่มเขียนนิยาย หนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือทำมือ เกือบสิบปีที่แล้ว จะมีเทศกาลหนังสือทำมือ ตอนนั้นผมเขียนบทกวีเป็นภาษาอังกฤษ เป็นหนังสือทำมือ ต่อมาก็รวมเรื่องสั้นพร้อมกับบทกวีภาษาอังกฤษ แล้วก็รวมเรื่องสั้นมาสองเล่มเรื่องบทกวีมาสองเล่ม ทำงานศิลปะนิดหน่อย

อย่างที่บอก ช่วงที่ดรอปเรียนผมก็ลองผิดลองถูกในแง่ว่าเรามีทักษะในแง่ไหนมั่งไหมนอกจากงานเขียน ผมก็ทำนิทรรศการวรรณรูป ซึ่งต่อยอดมาจากอาจารย์จ่าง แซ่ตั้ง แต่เทียบกันไม่ได้หรอก แสดงงานครั้งแรก 14 ตุลา ที่คอกวัว

พอผ่านไป 6-7 ปี เรื่องสั้นผมก็รวมเล่มออกมา ผมตัดสินใจเริ่มเขียนนิยาย ไม่ส่งเรื่องสั้นเลย ทำแต่นิยายสองสามเรื่อง เรื่องนึงก็คนแคระ อีกเรื่องก็หมาหัวคน งานของผมคลุมเครือ ค่อนข้างจะตีความยาก ตีความได้หลายแบบ ซึ่งเป็นในอุดมคติของผมนะ ผมชอบงานที่อ่านจบรอบนึงแล้ว คุณสามารถกลับมาอ่านได้อีกรอบ งานส่วนที่คลุมเครือมันจะทำให้จูงใจในการอ่านรอบสองได้ ถ้าอ่านแล้วดราม่าจบแล้วจบเลยอย่างไททานิค คงไม่ค่อยมีใครอยากดูรอบสอง รอบแรกคือร้องไห้ไปเลยไม่มีใครอยากดูต่อ แต่ถ้าเป็นอย่างพี่น้องโคเอน รอบแรกดูจบแล้ว แต่พอกลับไปดูอีกครั้งจะได้ข้อคิดบางอย่างเพิ่มขึ้น การที่ผมเป็นนักเขียนทุกวันนี้ อาจจะเป็นเพราะถูกสาป เพราะจริงๆการเป็นนักเขียนมันไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะมายังไง แต่เหมือนกับว่าเรามีอะไรจะบอก เรามีเรื่องที่จะเล่า มันก็แล้วแต่คนๆนั้นว่าเราจะมีเรื่องเล่าที่สามารถบอกได้หลายๆแบบไหม บางคนทำหนังสั้น บางคนเป็นจิตรกร บางคนทำภาพยนตร์ บางคนถ่ายภาพ ผมลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว ก็รู้ว่าภาชนะที่รองรับเรื่องเล่าที่ดีที่สุดคือภาษา เลยกลายเป็นรูปแบบงานเขียน มันไม่ได้มาแบบตัดสินใจข้ามคืนแล้วอยากเป็นนักเขียน มันค่อยๆตะล่อมเข้ามาทีละนิด เล็กๆน้อยๆ มาถึงจุดนึงเราล้นทะลักแล้วจึงต้องเขียน

ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน

ดีขึ้นกว่าเดิมในแง่ของความหลากหลาย หลายๆคนสามารถดำรงอาชีพเป็นนักเขียนได้ ซึ่งเมื่อก่อนแทบเป็นไปไม่ได้เลย มีหลักสูตร มีการเปิดการเรียนการสอนในการเป็นนักเขียนมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดี วงการนักเขียนถ้าจะให้แคบหน่อยซึ่งคือเรื่องวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์หรือฮารด์คอร์ อัตราการเพิ่มขึ้นมันน้อยเมื่อเทียบกับวงการอื่น อย่างเช่นนักเขียนประเภทคอมเมดี้ หรือโรแมนซ์ แต่ผมถือว่าวงการนักเขียนมันหลากหลายมากขึ้น มีจำนวนมากขึ้นในแง่ปริมาณ คุณภาพผมก็ถือว่าดีขึ้น แต่ในวงการตอนนี้ที่ผมค่อนข้างจะแปลกใจคือความขัดแย้งทางการเมือง ที่แบ่งนักเขียนแดงเหลือง มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เป็นช่วงฝุ่นตลบ ไม่สามารถจะเจาะว่าจะไปทิศทางไหนได้แน่นอน แต่เป็นภาวะการณ์ที่น่าสนใจ

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน

ผมว่าทุกวันนี้คนอ่านหนังสือมากขึ้น ยอดขายดีขึ้น ดูงานสัปดาห์หนังสือสิ  ปีๆนึงคนไทยอ่านหนังสือแปดบรรทัดมันไม่จริง มันมากกว่านั้นเยอะ แต่วรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์หรือวรรณกรรมเชิงซีเรียสในเมืองไทยอัตราการเติบโตมันน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนนักอ่าน จำนวนนักอ่านแต่ละปีมากขึ้นๆแต่เค้าไปอ่านงานสไตล์อื่น งานวรรณกรรมซีเรียสในบ้านเราเค้าตีตัวเลขมาจำนวนทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 5-8 พันคน ง่ายๆอย่างซีไรต์ 7 เล่มที่เข้ารอบสุดท้าย 6 เล่มที่เหลือพอหลังจากประกาศแล้วยอดตกเลยนะ เท่าที่ผมสังเกตที่ถามๆกันมาตัวเลขไม่แน่นอนนะ แต่ว่ายอดพิมพ์ แม้กระทั่งเข้ารอบซีไรต์ ไม่น่าจะเกินพันเล่มเต็มที่เลย

การอ่านของแต่ละคนมันเป็นเรื่องรสนิยมนะ อันนี้ไม่ว่ากัน จริงๆแล้วการทำงานวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ นักเขียนแต่ละคนเค้าไปนั่งคิดประเด็นปัญหาสำคัญๆในสังคมเป็นปีๆ พอเขียนออกมาเสร็จแล้วมันเหมือนกับว่าเค้าโยนปัญหาหรือประเด็นนั้นมาถกกับคนอ่าน ชวนคนอ่านมาคุย ผมว่าเค้าทำงานหนักนะ เป็นปีหลายๆปี บางคนสองสามปี คิดปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วโยนให้คนมาอ่าน มาคุยกับเค้าหน่อย ผมอยากให้คุณมาคุยกับผมหน่อย นักอ่านน่าจะมาสนใจตรงนี้บ้าง มันมีปัญหาน่าสนใจ มาร่วมสมนทนากับนักเขียนหน่อย หมายถึงในการอ่าน การอ่านคือการสนทนา นี่คือความต่างระหว่างวรรณกรรมทั่วไปกับวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ วรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์คือมีประเด็นชัดเจน

ปริมาณการอ่านของคนไทยมากขึ้นแน่นอน แต่คุณภาพในการอ่านยังเทียบไม่ได้กับต่างประเทศ ยุค 20-30 สมัยก่อนพวกวัยรุ่นนักแสวงหาเค้าจะเริ่มจากการเขียนบทกวี แล้วมาเขียนเรื่องสั้น เดี๋ยวนี้เด็กยุคแสวงหาก็กลายเป็นมาทำหนังสั้น ไม่ค่อยอ่านหนังสือแล้ว วงการภาพยนตร์มันได้รับความนิยมมากขึ้น อีกอย่างมันไม่มีกำแพงทางภาษาเทียบกับวรรณกรรม ภาษาไทยบางทียังต้องมานั่งแปลอีก เมืองไทยก็มีคนแปลไม่กี่คน แล้วจะถ่ายทอดไปเมืองนอกได้ไง ถ้าเทียบกับดนตรี ภาพยนตร์ งานวิจิตรศิลป์ ถือว่าวรรณกรรมค่อนข้างจะเสียเปรียบ

ส่วนปริมาณการขายต่อปีมันมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทซีเอ็ด นายอินทร์ก็ขยายตัวแบบมโหราฬ แต่ปัญหาคือวรรณกรรมแบบที่ผมเขียนวรรณกรรมซีเรียส อัตราการโตมันยังน้อยอยู่ งานฮาวทู งานส่งเสริมสุขภาพ งานวรรณกรรมเยาวชน อัตราการขยายตัวสูงเทียบกับงานวรรณกรรมซีเรียสน้อยมาก ผมยังเรียกร้องเรื่องพวกนี้อยู่ว่า อยากให้มีการหันมาอ่านงานแบบนี้กันมากขึ้น

 

สิ่งสำคัญที่วรรณกรรมชิ้นนึงพึงมี

วรรณกรรรมชิ้นนึงมันก็คืองานศิลปะชิ้นนึง สิ่งที่ควรจะมีคือสุนทรียะ ความงาม แต่แค่สองสิ่งนี้อาจจะไม่พอ ถ้าเป็นวรรณกรรมที่ซีเรียส อย่างน้อยมันต้องมีสารที่น่าสนใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ไม่ใช่แค่ห่อกระดาษสวยๆคำสวยๆมีแต่สุนทรียภาพแต่ไม่มีเนื้อหา วรรณกรรมที่ดีควรมีสุนทรียภาพ มีสารที่ดี

รางวัลจำเป็นไหมสำหรับวงการวรรณกรรม

ผมว่าทั่วโลกแต่ละประเทศมันต้องมี รางวัลนอกจากเป็นการให้รางวัลนักเขียนแล้ว มันเป็นดัชนีวัดหมุดหมาย วัดทิศทางว่าตอนนี้วรรณกรรมมันไปทิศทางไหน เพราะวรรณกรรมที่ชนะเลิศที่ได้รางวัลนับเป็นตัวแทนของวรรณกรรมได้ในระดับนึง ได้เห็นว่าหมุดหมายมันไปทางไหน ผมว่ามันจำเป็น สำคัญ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่าจะอยู่ตรงจุดไหน แต่บางครั้งรางวัลมันก็สามารถฆ่าเราได้เหมือนกัน บางทีมันทำให้นักเขียนบางคนผ่อน ผ่อนการเขียนงานไปเลย เพราะเค้าคิดว่าได้ปีนถึงจุดยอดเขาแล้ว เต้นแร้งเต้นกาอยู่ตรงนั้นละกัน ไม่ต้องไปปีนลูกต่อไปแล้ว สบายอยู่ตรงนั้นดีกว่า บางทีมันผ่อนตัวเอง เหมือนดาราออสการ์ พอได้รางวัลออสการ์ทีไรตกอับทุกคน หนังเรื่องต่อไปจะแย่หมด

อย่างรางวัลซีไรต์ก็มีข้อเสีย คือเล่มหน้าเราจะเกร็ง จะขาดความอิสระในการทำงาน เพราะเราเขียนเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนเราเขียนเพราะเราสนใจว่าจะมีใครอ่านหรือไม่ เราเขียนเหมือนไม่มีคนอ่าน เราไม่นึกหน้านักวิจารณ์ เราไม่นึกหน้านักเขียนคนอื่นด้วยกัน ไม่มีใครคาดหวัง พอไม่มีใครคาดหวังเราก็สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล เป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น ไม่อยากเขียนงานแล้วนึกถึงหน้านักวิจารณ์ เพื่อจะเอาใจ

สำหรับนิยายเรื่องคนแคระ ผมว่าเนื้อหาไม่ใช่จริตซีไรต์ มันไม่ได้เน้นคุณธรรมซักเท่าไหร่ ภาษามันค่อนข้างจะแปลก เพราะการดำเนินเรื่องมันไม่ได้ดำเนินเรื่องโดยการใช้บทสนทนา มันดำเนินเรื่องผ่านการบรรยาย การบรรยายมันทำให้คนอ่านเหนื่อย แต่นิยายเรื่องนี้มันเด่นตรงการบรรยาย  การสนุกกับการได้อ่านมันคือสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ

วรรณกรรมสมัยนี้มีอิทธิพลกับหนุ่มสาวมากเท่ากับในยุคแสวงหาหรือไม่

ทุกวันนี้วรรณกรรมมันไม่มีอิทธิพลมากขนาดนั้นแล้วนะ สื่ออย่างภาพยนตร์ยังมากกว่า คนที่เสพงานคุณภาพอัตราการเพิ่มไม่ได้มากอย่างที่คิด ถ้ามันจะมีความหวังอยู่บ้าง ยังมีอิทธพลอยู่บ้าง การเขียนงานประเภทนี้คนเขียนต้องไปหาประเด็นใหม่ๆสร้างปัญหาใหม่ๆต่อสังคม วรรณกรรมมันไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป มันโยนคำถามเด่นๆใหักับสังคม อันนั้นมันจะมีอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นแบบสมัยจิตร หรือสมัยวรรณกรรมพินิจ ที่มีผลกระทบต่อสังคมต่อหนุ่มสาวนี่ผมว่าไม่มีแล้วทุกวันนี้

ครั้งแรกกับการถูกโยนต้นฉบับทิ้ง

เป็นเรื่องปกติมาก เป็นเรื่องธรมดา แน่นอนมันต้องมีการเสียเซลฟ์ แม้กระทั่งนิยายเรื่องนี้ตอนที่ผมเขียนจบแล้วก็ให้คนรอบข้างอ่าน นักวิจารณ์ บ.ก ที่พอจะรู้จักอ่าน แล้วก็นักอ่านระดับคุณภาพ ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ทิ้งตะกร้าไปเลย แนะนำว่าคุณเลิกเขียนไปเลย คุณไม่ต้องเป็นนักเขียน ผมว่าไม่เหมาะ เขียนมาประมาณ 16-17เดือนมาได้แค่นี้ก็เกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเอง อย่างคนแคระงานของผมชิ้นนี้โดนเปรียบเทียบว่าเป็นวรรณกรรมขยะ คนที่ได้อ่านไม่เกลียดก็ชอบไปเลย ไม่มีตรงกลาง

ทำไมถึงยังไม่เลิกเขียนหนังสือ

ผมเรียนนอกระบบมาตลอด ค่อนข้างแปลกแยกกับอะไรที่เป็นองค์กรหรือสถาบัน แม้กระทั่งการเรียนมัธยมต้น ผมก็ไม่สามารถจะเรียนในห้องเรียนได้ ต้องลาออกมาก่อน มัธยมปลายก็ต้องลาออก ผมลาออกมาเรียนด้วยตัวเอง แล้วการที่เราสามารถที่จะสอบเข้าคณะดีๆได้ ผมจึงเชื่อในศักยภาพของตัวเองว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไร เราคงทำได้ อีกอย่างผมไม่ค่อยมีความทะเยอทะยานในการยอมรับ แต่ลึกๆแล้วผมเชื่อในอาการกัดไม่ปล่อยของผม ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ได้ ผมรักงานเขียนถึงระดับที่มันเป็นลมหายใจเป็นแขนขาของผมไปแล้ว ยังไงก็ต้องทำ ถึงแม้เล่มนี้โดนทิ้งตะกร้าแต่ในที่สุดผมก็ต้องเขียนอยู่ดี ผมไม่มีทางเลิก

นักเขียนต้นแบบ วรรณกรรมเล่มโปรด

เป็นนักเขียนต่างประเทศ  เบคเคท ดอสโตเยฟสกี คาฟคา หนังสือเล่มโปรดก็อ่านของนักเขียนทั้งสามคน ชอบงานเขียนของทุกคน

ปณิธานของการเป็นนักเขียน

ผมไม่เชื่อว่ามันมีธงให้ผมไปถึงจุดนั้นได้แล้วจบแล้ว  มันไม่เหมือนนักกีฬาที่วิ่งทำลายสถิติโลกก็จบ ผมอยากจะเขียนงานที่ดี ที่สามารถอ่านแล้วกลับมาอ่านซ้ำได้ ไม่อยากให้มีการตายทุกพารากราฟ อยากให้ทุกๆครั้งที่กลับมาอ่านมันมีความหมายใหม่ขึ้นมา อ่านแล้วไม่ได้จบไปเลย ตายไปเลย ตัวหนังสือตาย ภาษาตายหมด คือกลับไปอ่านแล้วมันมีแง่มุมชีวิตให้เราเห็น นั่นคือปณิธาน และจะทำให้ได้

TEXT : ตุลย

PHOTO : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ

 

 

You may also like...