ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที

การเป็นนักสร้างสรรค์หากป่าวประกาศร้องตะโกนให้คนอื่นนิยมยินดีในผลงานของตนจนเกินงามย่อมไม่ใช่วิสัยที่ดีนักสำหรับศิลปิน แต่ในด้านของงานศิลปกรรมซึ่งได้ฝากไว้ตลอดเส้นทางการทำงานกว่า 32 ปี การล้มลุกคลุกคลานไปพร้อมกับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียน้ำตา เป็นเบ้าหลอมให้เส้นทางเดินไปกับปลายพู่กันและดินสอร่างแบบที่มีคุณค่าเหนือการตีราคาค่างวด พิสูจน์ได้จากที่ผ่านมาชื่อของ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แทบจะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักในเบื้องหน้า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบุคลิกสันโดษและรักสงบ รวมถึงผลงานที่สร้างนั้นเรียกได้ว่าทำให้เขาเป็นคนเบื้องหลังอย่างเต็มตัว แต่หากเอ่ยถึงฉากอันวิจิตรตระการตาของโรงละคร อาทิ สยามนิรมิต คิงคองไอส์แลนด์ ภูเก็ตแฟนตาซี ฯลฯ คือเสี้ยวหนึ่งของงานอันการันตีประสิทธิภาพและอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลป์ของเขาได้เป็นอย่างดี

 

 

แม้ถือกำเนิดเป็นลูกชายคนเล็กในจำนวน 6 คน ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ หลวงพรหมทัตตเวที (ไหมพรม ศรีสวัสดิ์) อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ ด.ช.ฉัตรวิชัย ในวันนั้นกลับเลือกเส้นทางเดินที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ ในครอบครัวแพทย์ แต่เจ้าตัวอดภูมิใจไม่ได้ที่อย่างน้อยแม้ไม่ได้จับมีดหมอ แต่พรสวรรค์ที่อยู่กับมือของเขานั้นพลิ้วไหวดั่งเช่นฝีมือการทำคลอด-ผ่าตัดเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ

“โชคดีอย่างหนึ่งที่มีพี่เยอะแล้ว พอถึงผมคนสุดท้องเขาไม่ค่อยสนว่าเราทำอะไร เราก็วิ่งเล่นได้ตามสบาย ด้วยความที่มันชัดเจนตั้งแต่เด็กก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วล่ะครับไม่เคยสงสัย (หัวเราะ) พี่ๆ อาจจะถูกบังคับให้เป็นหมอเพราะคุณพ่อเป็นเจเนอเรชั่นที่ 5 ที่เป็นหมอ ตั้งแต่หมอโบราณมาจนถึงหมอสมัยใหม่ ในการเดินตามพี่ก็เห็นได้ว่าเขาวาดเขียนกันเป็น แม่ก็มีฝีมือในทางการฝีมือเมื่อตอนก่อนที่ผมจะเกิดแม่มีร้านตัดเสื้อให้กับบรรดาคนในสังคมชั้นสูงรู้สึกว่าชื่อ…เฟมิน่า แถวสี่กั๊กพระยาศรี ขณะที่คุณพ่อนั้นในการทำงานเมื่อต้องทำคลอดเรียกได้ว่ามีมือที่นิ่งมากเลย ผมคงจะได้มาจากทั้งพ่อและแม่ สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนกันของคนในบ้านคือชอบดนตรีคลาสสิคผมก็ได้ซึมซับมาเช่นกัน”

“ผมเรียนวชิราวุธฯ จนกระทั่งอายุ 12 แล้วไปเรียนที่อังกฤษเติบโตที่นั่น และก็อีกแหละผมไปอยู่กับเพื่อนคุณพ่อเพราะว่าเดิมทีคุณพ่อเคยไปเรียนที่บริสตอล (Bristol) เป็นโชคดีที่ผมได้ไปอยู่กับครอบครัวที่สนใจศิลปะ ภรรยาของเพื่อนคุณพ่อมี Art Collection เราเป็นเด็กเขาได้พาไปแกลลอรีบ่อยครั้ง บางทีก็พาไปดูละคร เป็นโชคดีมากที่ได้ไปอยู่กับครอบครัวนั้น หลังจากจบมัธยมศึกษาที่ Bryanston ผมจึงเข้าเรียนทางด้านดีไซน์ที่ Leicester ได้ไปฝึกงานในโรงละคร และงานพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจทั้งหมดที่ Bristol  ด้วย”

การได้ฝึกประสบการณ์ในสถานที่รวบรวมทั้งศาสตร์แห่งการแสดงและที่รวบรวมศิลปกรรมอย่างใกล้ชิดเป็นความทรงจำที่ได้สัมผัสใกล้ยิ่งกว่าการเป็นผู้ชมทั่วไป บัณฑิตหนุ่มได้เรียนรู้การทำงานข้างหลังฉาก กระทั่งปี 2518 โบยบินกลับมาเตะฝุ่นที่เมืองไทยก่อนเข้าทำงานเป็นล่ามให้กับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program : UNDP) 6 เดือน แล้วไปทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายตกแต่งภายในของบริษัทดีไซน์ 103 จนปีรุ่งขึ้นถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี คลุกคลีอยู่นานถึง 12 ปี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องการออกแบบเสียทีเดียวเขายังเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมทางด้านศิลปะที่ตนเองไม่ได้ทำ ขณะเดียวกันหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานออกแบบควบคู่มาโดยตลอด

“มีงานออกแบบฝากไว้กับโรงแรมดุสิตธานีก็มี และดุสิตลากูน่า รวมถึงตามออฟฟิศต่างๆ แต่ความรักละครยังมีอยู่ ได้ทำงานกับคุณภัทราวดี มีชูธน คุณมัทนี รัตนิน โดยได้ทำละครทีวีกับคุณภัทราวดีด้วยนะ เช่น บุญเติมร้านเดิมเจ้าเก่า (นำแสดงโดย มนตรี เจนอักษร อุทุมพร ศิลาพันธ์ ชูศรี มีสมมนต์  ธงชัย ประสงค์สันติ) ผู้พิทักษ์ความสะอาด (ละครสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม รางวัลเมขลาปี 2525) มาทำฉากเวทีที่หอศิลป์ในเรื่องลอดิกราช รวมถึงเคยได้ร่วมทำฉากโอเปร่าให้กับคุณสมเถา สุจริตกุล

 

“ส่วนด้านดนตรีผมคิดว่าตัวเองไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนนัก ด้วยความที่เมื่อตอนอยู่หอศิลป พีระศรีเมื่อทำนิทรรศการแล้วยังมีห้องประชุมที่จุได้อีก 250 คน เป็นที่มาที่ไปของการเกิด Bangkok Symphony Orchestra ซึ่งขณะนี้ผมก็ยังเป็นกรรมการให้กับ BSO เคยเล่นเป็นแบ๊คกราวให้กับคุณสวลี ผกาพันธ์ โดยเครื่องดนตรีที่เล่นบ่อยคือ ฟลุต แม้จะไม่ได้เล่นแล้วจนเรียกว่าถอยหลังเข้าคลองแต่ก็ยังฟังยังจำท่วงทำนองได้เสมอ ว่าไปแล้วผมก็มีส่วนผสมในหลายวงการ”

“หอศิลป พีระศรี ตั้งอยู่ในตรอก ในสมัยนั้นเราจึงต้องมีการทำละคร ทำดนตรีเพื่อดึงดูดคน อย่างตอนกลางคืนมีคอนเสิร์ตเราก็เปิดนิทรรศการให้คนดูได้อีก เลยได้มุขว่าที่จริงแล้วพอทำขึ้นมาคนในวงการดนตรีกับวงการศิลปะก็คุยกันได้ สมัยนั้นจึงเกิดรายการชื่อ “เวทีสมั่ย” (สมัย+ใหม่) ขึ้นมา เป็นการผสมผสานคนดนตรีกับคนศิลปะและคนที่อยู่ในแวดวง Performance Art ตอนนั้นเริ่มมีการ Break-down ลดช่องว่างระหว่างรูปแบบของศิลปะเพราะมีงานศิลปะจัดวางแล้ว เราจึงตอบสนองความต้องการว่าที่จริงแล้วการทำศิลปะไม่ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะการเขียนรูปอีกต่อไปแล้ว”

“เมื่อหอศิลป พีระศรีปิดไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็เห็นว่า มันควรจะต้องมีหอศิลป์ คำว่าพวกเราก็มีหลายคน ผู้ริเริ่มจริงๆ ก็คือคุณโต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณพิจิตต รัตตกุล (ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น) หลังจากทำนิทรรศการในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีกลุ่มหนึ่งแยกไปทำ Virtual Museum ของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ส่วนคุณโต้งก็ยังต่อสู้เพื่อให้มีหอศิลป์ฯ จริง ซึ่งมีรายละเอียดยาวนานต่อเนื่อง แต่อุดมการณ์ของพวกเรายังคงอยู่ ในสังคมมันน่าจะมีหอศิลป์ฯ แต่พวกเราในตอนแรกเป็นแบบฝรั่งๆ ร่วมสมัยก็คือร่วมสมัยน่ะ แต่ผลสุดท้ายต้องมาดีบทให้แตกว่าในสังคมเราที่ไม่รู้จักคำว่าร่วมสมัยมันคืออะไร

 

“เราสู้มาจนกระทั่งคำว่า ‘ร่วมสมัย’ มันติดตลาดแล้ว แต่เราก็ยังต้องย้อนกลับไปมองว่าในสังคมกระแสหลักความเข้าใจทางด้านศิลปะยังน้อย ดังนั้นมุขที่จะต้องทำให้มัน user-friendly ยังต้องมีอยู่ และหอศิลป์จะต้องสร้างบนสถานที่ใจกลางเมือง ซึ่งตอนนั้นคุณไกรศักดิ์บอกว่าตรงนี้เป็นที่ของกทม. เราก็เอาตรงนี้ ถึงได้กัดไม่ปล่อยมาตลอด เราจะได้ไม่ต้องไปทำงานศิลปะให้ตั๊กแตนดูแถวชานเมือง แล้วเผอิญเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็สะดวกกว่าที่คิด คือลานบีทีเอสตรงสี่แยกปทุมวันก็จ่อเชื่อมเข้ามาที่ชั้น 3 ของหอศิลป์ เพราะฉะนั้นชัยชนะ 50% ของการทำศิลปะ คือพื้นที่ ที่เหลือคือการวางยุทธศาสตร์ อย่างเช่นในสมัยก่อน หอศิลป พีระศรี ไม่มีแม้แต่ร้านกาแฟ ตอนนี้เราต้องมองว่าการทำงานแบบนี้ถ้าจะให้อยู่ในครรลองของสังคมจะต้องมีส่วนของการนันทนาการ อย่าให้มาเดินดูศิลปะแล้วคอแห้ง ต้องมีร้านอาหารเครื่องดื่ม นิสัยคนเราชอบช้อปปิ้งก็มีสักหน่อยสิเช่น ร้านหนังสือ ร้านเพลง แกลลอรีศิลปะและออกแบบ ผสมผสานกันไป ฉะนั้นคนทั่วไปจะได้มาดูงานศิลปะ รวมถึงเด็กด้วย เพราะเราเจาะไปที่เยาวชนเป็นสำคัญ”

 

“เราต้องคิดว่าจุดประสงค์หลักคือการนำเสนองานของศิลปิน แต่องค์ประกอบที่ทำให้พร้อม…ย้อมใจให้คนมาดู และยอมปีนกระไดดู ปืนกระไดขั้นแรกก่อนแล้วไปถึงขั้นสุดท้าย เราจะมีวิธีมียุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง แต่ก็อีกล่ะ ยุทธศาสตร์นั้นจะทำให้คนสนใจเรื่องร่วมสมัยทันทีเลยหรือไม่ เราจะทำให้คนที่ชอบศิลปะประเพณีหันมาดูร่วมสมัย หรือเอาศิลปะประเพณีมาเขย่าๆ กันใหม่ให้มีความหมายต่อสังคมปัจจุบัน ปรัชญาดั้งเดิมมรดกเดิมของเรามาขัดเกลาหรือมาสร้างความต่อเนื่องให้แก่สังคมปัจจุบันได้ไหม สิ่งเหล่านี้มันเป็นยุทธศาสตร์”

 

แน่นอนว่าการต่อสู้อันยาวนานของกลุ่มเครือข่ายศิลปินระหว่างที่รอเข้าสู่ ‘เส้นชัย’ ต่างก็ต้องทำงานเพื่อต่อลมหายใจ คุณฉัตรวิชัยย้อนรำลึกถึงการยืนหยัดกว่า 13 ปี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อครั้งโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2538 ฝ่าฟันคลื่นลมมาจนกระทั่งยานนาวาแห่งศิลปะเดินทางมาถึงสี่แยกปทุมวัน แต่ก็มิวายเกือบถูก ‘โจรสลัด’ ทำให้อับปาง

 

“ระหว่างที่เราอดรนทนรอกันอยู่ ก็ต้องบอกว่าต้องทำมาหากินต่อไป ก็ทำงานดีไซน์ (บริษัท Aspekte และ Prospace) อาจจะบอกว่า…เรารักศิลปะหรือไม่ มันแน่นอนอยู่แล้ว แต่บางทีการทำงานศิลปะมันต้องแฉลบเฉลียว ถ้าทำแต่งานศิลปะโดยตรงแล้วมันไม่สำเร็จสักที ป่านนี้อกแตกตายไปนานแล้ว ระหว่างที่มันยังทำไม่สำเร็จก็ไปทำอย่างอื่นก่อน วางเอาไว้แล้วค่อยมาทำตรงนี้ ถึงแม้ว่าทางสร้างสรรค์ผมจะไม่ได้ทำงานศิลปะโดยตรง เรื่องการดีไซน์เป็นสิ่งที่ผมรักในการทำงาน แต่ผมก็อยากเห็นว่างานศิลปะที่เราชอบมันต้องมี เป็นคนที่ทนไม่ได้ว่าถ้ามันไม่มีอยู่ เราก็ต้องทำให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุผลวิธีใดก็ตาม

 

“สิบกว่าปีที่ช่วยๆ ทำกันมา พวกเราเกาะกลุ่มกันมาหลวมๆ เช่น จุมพล อภิสุข, ปรีชา เถาทอง, วสันต์ สิทธิเขตต์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุรชัย จันทิมาทร, พิพัฒน์ พงศ์รพีพร, มานิต ศรีวานิชภูมิ, สรรเสริญ มิลินทสูต และอีกหลายๆ คน พวกเรานั้นคือใคร แน่นอนก็คือศิลปินที่ด่าเก่ง ตะโกนเก่ง ร้องเย้วๆ ได้ เป็นเสียงสำคัญ ผู้ที่มีความรับผิดชอบ ผู้ที่รู้ศิลปะ รู้เรื่องของวัฒนธรรมว่ามีความหมายต่อสังคมอย่างไร มีอุดมการณ์ร่วมกัน แล้วก็มีฝ่ายการเมืองที่ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมแก่บ้านเมือง เช่น คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และคุณยุทธพันธ์ มีชัย รวมทั้ง สว.ในอดีต หลายๆ คนที่ช่วยผลักดันกันมาเป็นตัวแกนที่จะผลักดันทำให้เรื่องมันผ่านไปได้ในระดับบริหารของชาติ และถ้าไม่มีคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ไม่มีหอศิลป์ กทม. เพราะเป็นคนอนุมัติให้สร้าง แม้แต่พวกนักกฎหมายก็มาช่วยกัน นักหนังสือพิมพ์ก็ช่วยกันรุม (หัวเราะ) แล้วก็มีอย่างเช่นผมและคนที่มาช่วยสวมหมวกจัดการ เพื่ออย่างน้อยพอถูกตีแตกทัพไปแล้วกลับมารวมกันใหม่ ดังนั้นหน้าที่ของผมก็คือเป็นการทำงานประสานกันมาเรื่อยๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือผมทำงานอยู่หอศิลป พีระศรี นานมาก รู้จักอยู่หลายเครือข่าย พอถึงเวลารวมตัวก็ช่วยติดต่อให้เฮโลเข้ามากัน จำได้ว่าเมื่อครั้งเซ็นปฏิญญาร่วมกันระหว่างกทม.กับเครือข่ายศิลปินฯ ก็ต้องมีการเรียกร้องความสนใจจากคนในหลายๆ วงการ ผลสุดท้ายมันเป็นแค่การเริ่มต้น

 

“ผมมองว่าถ้าเราไม่มีโจทย์ของการใช้ชีวิตในสังคม เรามีแต่ฮาร์ทแวร์ มีแต่เรื่องของอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของวัตถุ แต่นามธรรมเป็นเรื่องโจทย์ของซอฟท์แวร์ การมุ่งพัฒนาแค่วัตถุมันไม่ยั่งยืน ผลสุดท้ายเราต้องมีการสร้างสรรค์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะเลย  อุตสาหกรรมก็ต้องจุดประกายด้วยการสร้างสรรค์”

 

“ผมมองว่าศิลปะเป็นสมมติฐานของชีวิต เช่น การดูหนังดูละคร เป็นการละเล่นซักซ้อมให้แก่ชีวิต ที่ผมพูดเสมอว่าเราไม่ต้องไปตีรันฟันแทงใคร หรือไปฆ่าใครถึงเรารู้ว่าความรุนแรงและสงครามมันไม่ดี แต่เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้เมื่อเด็กลอกเลียนความรุนแรงจากเกมด้วยการฆ่าแท็กซี่ จิตสำนึกคนตกต่ำไปถึงขนาดนั้น คือการขาด แสดงให้เห็นชัดเลยว่าการฝึกซ้อม หรือโจทย์ทางปัญญา ความคิด ความรู้สึก มันไม่มีเลยหรือ เด็กจึงต้องไปฝึกกับสิ่งเหล่านั้นและลงมือทำจริงๆ แค่แก้ปัญหาสังคมด้านที่ไม่มีความสมบูรณ์ ผมมองว่าเรื่องของศิลปะ การละคร ภาพยนตร์ น่าจะสื่อให้ได้ ในสมัยก่อนสังคมเราอยู่ร่วมกันด้วยการสั่งสอนให้มีความเชื่อในหลักธรรม แต่สมัยนี้ผมคิดว่าการที่จะสอนให้คนเรารู้เรื่องและเข้าใจนั้น ต้องเป็นความเข้าใจและสัมผัสได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการท่องจำและความเชื่อ เราต้องตระหนักถึงสิ่งที่ แฝงอยู่รอบๆ ตัว ที่สื่อสารความหมายต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ และหนังสือ จุดนี้แหละที่เราจะต้องทำงานหนักกับมัน นี่คือจุดที่ต้องสร้างวัฒนธรรม ไม่ใช่จุดที่สร้างวัฒนธรรมแบบที่ทำกันมาโดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งผมคิดว่านี่คือจุดเกิดของหอศิลป์ ที่จะเปิดโอกาสให้มีการสร้างวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง”

 

“เราฝ่าพันกันมาในการสร้างความเข้าใจกันระหว่างราชการ กทม. การหยุดยั้งไม่ให้คนอื่นนำไปทำ Car Park การบอกว่าวัฒนธรรมเป็นเหมือนหัวแหวนอยู่ใจกลางเมือง สิ่งเหล่านี้อยากจะบอกว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้ ถ้าไม่มีหลายๆ คนที่คอยร่วมมือโยนลูกให้กันได้ ก็ไม่สำเร็จ นี่คือสิ่งที่ดีอันหนึ่งสำหรับสังคมซึ่งจะต้องต่อสู้สำหรับเรื่องบางอย่างให้สำเร็จขึ้นมาได้”

 

“มันไม่เบื่อนะครับ ต้องไปทำอย่างอื่นก่อน ถามว่าเราได้อะไรบ้างจากศิลปะ ผมบอกได้ว่าคนทำงานศิลปะนั้นโชคดีนะ เพราะว่าสิ่งที่เราได้จากศิลปะมันสุดแสนสารพัดเลย การมองว่า เราสามารถให้คนอื่นได้ในเรื่องที่เรามี เราได้ ก็เป็นอะไรที่เราพอใจแล้ว”

 

 

______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...