ศรีดาวเรือง

3 ทศวรรษ แง่งามแห่งวงศ์วรรณกรรม  ศรีดาวเรือง  เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ปลายปากกาของ “ศรีดาวเรือง” จรดกระดาษถ่ายทอดความเจ็บร้าวของผู้คนในสังคม ด้วยคมคิดอันลึกซึ้งใช่เพียงเปลือกแห่งทุกข์ยาก แต่มุ่งกะเทาะแก่นแกนอันเป็นเหตุแห่งสำนึกภายใน เชิงชั้นภาษาที่เรียบง่ายแต่งดงาม บอกเล่าเรื่องราวจากใต้ถุนสลัมถึงยอดตึกระฟ้า…ไฮ-คลาสหยิบบางส่วนของชีวิต “ศรีดาวเรือง” ซึ่งเป็นแง่งามแห่งวงศ์วรรณกรรมมานำเสนอ

 “ศรีดาวเรือง” คือนามปากกาของ วรรณา ทรรปนานนท์ เกิด 14 ธ.ค. 2486 ที่ จ.พิษณุโลก พ่อทำงานการรถไฟ ส่วนแม่มีอาชีพค้าขาย แต่ด้วยนิสัยรักการอ่านที่ได้อิทธิพลมาจากคนพ่อคุณแม่ เธอจึงชอบอ่านหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่ วรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทำให้ศรีดาวเรืองเป็นนักอ่านตัวยงและหลงใหลโลกแห่งอักษร แต่เด็กหญิงวรรณาในตอนนั้นไม่เคยคิดว่าในอนาคตชีวิตเธอทั้งชีวิตจะก้าวเดินไปบนถนนคนอักษร

ด้วยเธอมีพี่น้องที่มากถึง 9 คน ลูกสาวคนที่ 3 อย่างเธอจึงเรียนได้แค่ชั้นประถมฯ 4 ก่อนตัดสินใจออกจากโรงเรียนเดินทางมาหางานทำที่กรุงเทพฯ ด้วยการเป็นคนรับใช้ในบ้าน เป็นพนักงานร้านอาหาร แม้แต่กรรมกรโรงงาน แต่เหล่านี้คือต้นทุนชีวิตและเป็นประสบการณ์สำคัญที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนของศรีดาวเรือง

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุคสมัยที่ประชาธิปไตยเบ่งบานการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความชอบธรรมในสังคมเกิดขึ้นมากมาย ปัญหาการคอรัปชั่น กดขี่ขูดรีด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขุดคุ้ยอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าถนนทุกสายมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล สาวโรงงานอย่าง ‘ศรีดาวเรือง’ ก็คือดอกผลคนเดือนตุลา แม้จะไม่ได้เป็นกงล้อใหญ่นำการขับเคลื่อน แต่ก็เป็นหนึ่งฟันเฟืองแห่งประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ความจริงแล้วตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯยังไม่เข้าไปร่วมอะไรกับเขาหรอกรู้สึกเกลียดนักศึกษาด้วยซ้ำ เห็นเขาเอาไม้ไปทุบตู้โทรศัพท์แล้วไม่ชอบ เป็นนักศึกษาทำไมทำตัวแบบนี้ เราไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้รู้ได้ฟังมากขึ้นช่วงที่ทำงานโรงงานก็เริ่มเข้าใจและเข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ”

การร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการชนชั้นกรรมาชีพของศรีดาวเรืองทำให้ต้องตระเวนไปตามเวทีอภิปรายทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จึงนำพาเธอมาให้พบกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อทั้งคู่ก็ตกลงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน นั่นถือเป็นจุดที่นำเธอก้าวเข้าจับปากกาสู่แวดวงนักเขียน ช่วงแรก ศรีดาวเรืองทำหน้าที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับให้แก่สุชาติ การได้รู้จักนักคิด นักเขียน และคนที่มีบทบาททางความคิดในสังคมหลายต่อหลายท่าน เป็นเหมือนวิธีเรียนลัดในเรื่องการคิดการเขียนของศรีดาวเรือง เธอเริ่มอ่านงานวรรณกรรมมากขึ้น และพยายามที่จะเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม เช่นการไปเรียนพิมพ์ดีด เรียนภาษาอังกฤษ เมื่อศรีดาวเรือง เริ่มต้นเขียนงานส่งไปตีพิมพ์ตามหนังสือต่างๆ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็คือผู้ที่คอยให้คำแนะนำอยู่ไม่ห่าง

และแล้วผลงานเรื่อง “แก้วหยดเดียว” เรื่องสั้นสะท้อนชีวิตของกรรมกรโรงงาน ประสบการณ์จริงที่เธอถ่ายเทออกมาเป็นตัวหนังสือ ก็ทำให้นามปากกา “ศรีดาวเรือง” โดดเด่นเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนเพื่อชีวิตอีกคนหนึ่งในแวดวงวรรณกรรม และต่อมามีผลงานบทกวีชิ้นแรกชื่อ “กล้วย” งานบทความชื่อ ‘คุณเป็นลิเก’ บทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่อง “คนขี่เสือ”  เรื่องสั้น “คนดายหญ้า” เรื่อง “มันกับการเลือกตั้ง” เรือง “บัตรประชาชน” หรืออย่าง “มัทรี” และ “สีดาดับไฟ” อีกทั้งยังมีผลงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศอีกหลายเล่ม และทุกชิ้นคือประสบการณ์ มุมมองระดับปัญญาชนที่หนักแน่นลึกซึ้ง

เมล็ดพันธุ์ที่งอกงามขึ้นจากผู้ทุกข์ยาก ถูกรดด้วยกระแสธารประชาธิปไตย ส่งผลให้งานเขียนของ “ศรีดาวเรือง” เบ่งบานเป็นแง่งามแห่งวงศ์วรรณกรรมตลอดรายทางที่ผ่านมา ถึงงานเขียนของศรีดาวเรืองจะหนักแน่นสะท้อนความทุกข์ยากของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ได้ตรงจุด แต่งานเขียนก็ไม่ได้ชี้นำแบบซ้ายจัดเหมือนกรระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตหลายๆเล่ม

“มันก็แล้วแต่บางเรื่อง ช่วงแรกๆศรีดาวเรืองเองก็เคยชูธง ยุให้คนเข้าป่า จับปืนลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐก็มี แต่ก็เริ่มคลี่คลายไป เราเห็นใจเข้าใจคนทุกข์คนยาก เห็นการเอารัดเอาเปรียบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนจนถูกเสมอ นายทุนต้องเป็น คนเอาเปรียบตลอด มันจะกลายเป็นสูตรสำเร็จเกินไป เราเขียนในสิ่งที่รู้ สิ่งที่มาจากประสบการณ์ แต่ที่สำคัญอย่างมองโลกแคบเพียงแค่นั้น”

สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตในปัจจุบันนับวันยิ่งเหือดแห้ง ท่ามกลางความร้อนแรงของวรรณกรรม ฮาวทู ในโลกทุนนิยม กระแสที่เบียดขับทำให้สังคมมัวซัวไม่เห็นเนื้อแท้ของการเอาเปรียบ ชนชั้นล่างไม่สนใจอ่านเรื่องที่พูดถึงตัวเอง ไม่ต้องการเรียนรู้เรื่อง ชีวิตจิตวิญาณ หรือการตั้งคำถามต่อสังคมที่ไม่เท่าเทียม กลับสลัดดิ้นทุกทางเพื่อพ้นจากตัวตนอันแท้จริง พุ่งสู่โครงคลอบที่มีวัตถุนำจิตใจ

“เห็นคนแถวนี้คนหนึ่งเขาทำงานโรงงาน เข้าไปซื้อหนังสือที่ร้าน เป็นหนังสือชีวประวัติของเศรษฐีคนหนึ่ง เลยเข้าไปถามเขาว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงไหน คนงานโรงงานก็ตอบว่าแต่ก่อนเศรษฐีคนนี้เคยเป็นคนจนมาก่อนแต่ปัจจุบันเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับเลยอยากรู้ว่าเขารวยได้อย่างไร แล้วทำอย่างไรเราถึงจะรวยอย่างเขา สิ่งนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มตาย พิมพ์มา 1,500-2,000 เล่มขายหมดก็ดีแล้ว แต่หนังสือประเภทฮาวทูพิมพ์แล้วพิมพ์อีกเป็นแสนเล่ม”

จากวันนั้นถึงวันนี้แม้จะล่วงผ่านกาลเวลามายาวนานถึง 30 ปีแล้วก็ตาม แต่หมุดหมายที่ปักลงบนถนนสายนี้ยังมั่นคง ถึงจะรู้อยู่ว่าสังคมไทยโดยเฉพาะอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ยากไร้ไส้แห้ง ก็ไม่มีผลหรือเปลี่ยนเจตนาที่จะเดินบนเส้นทางสายวรรณกรรมของศรีดาวเรืองได้ เธอไม่ใช่นักเขียนที่เพียงผ่านมา แต่เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่คนในวงศ์วรรณกรรมต่างให้การยอมรับ 
 
 ——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...