นักเขียนรางวัล (ดับเบิล) ซีไรต์ ปี 2540 และ 2542 วินทร์ เลียววาริณ “ผมคิดว่านักเขียนเป็นนักสังเกตชีวิต มีคุณสมบัติที่เป็นคนสังเกตชีวิต ถ้าไม่สังเกตชีวิตผมก็นึกไม่ออกว่าเขาจะเขียนออกมาได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยายหัวใจของมันก็คือความขัดแย้งทางจิตใจหรือเรื่องต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันจะมองไม่เห็นถ้านักเขียนไม่ได้เป็นคนที่สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม หรือว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร ”
และจากการที่วินทร์ เลียววาริณ ปฏิบัติตนเป็นนักสังเกตดังกล่าวนี้เอง ความเป็นไปของสังคมและบุคคลสำคัญในสังคมจึงอยู่ในสารบบของนักเขียน เสมือนหนึ่งเครื่องบันทึกความทรงจำ ถ่ายทอดออกเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่าฝากไว้ให้สังคมได้ขบคิด
“ ความขัดแย้งทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจคนมากขึ้น และรวมกับที่เราเรียนรู้คนตั้งแต่กำเนิดของมนุษย์ขึ้นมาก็ทำให้เราเข้าใจในเรื่องคน มนุษย์กับโลกและจักรวาลได้มากขึ้น ในเชิงกว้าง ซึ่งทำให้เรามองทุกอย่างและก็จะปล่อยวางมากขึ้น เพราะเรารู้ว่าสงครามเกิดขึ้นมาเพราะอะไร บางคนทำไมถึง(อารมณ์)รุนแรงกว่าบางคน ถ้าเรามองกว้างในเชิงจักรวาลวิทยา ในเชิงภาพกว้าง ในเชิงวิทยาศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ชีววิทยาหลายๆ อย่างมารวมกันทำให้เราคิดว่าเข้าใจสภาพของคนมากขึ้นกว่าเดิม ”
“ เหตุผลหนึ่งที่ผมเขียนหนังสืออาจเป็นเพราะว่าตัวเองมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก คือมีเรื่องต่างๆ ที่เราตั้งคำถามไปแล้วเราไม่เข้าใจ ส่วนมากก็จะแนวชีวิต ปรัชญา ศาสนา หรือเรื่องในมุมมองที่เราตอบไม่ได้อภิปรัชญาต่างๆ เหล่านี้ พอมานั่งเขียนหนังสือเป็นเหมือนการนั่งคิดกับตัวเอง นั่งถาม และคิดไปเรื่อยๆ ดูซิว่ามันมีคำตอบหรือเปล่าในแต่ละเรื่องที่ถาม มันก็ช่วยทำให้เราลบหลายๆ คำถามในสิ่งที่เราตั้งในอดีตมากขึ้น หรือเรียกว่าปล่อยวางมากขึ้นก็ได้
“ สมัยก่อนนี้มีบางช่วงรู้สึกไม่รู้จะอยู่ในโลกนี้ทำไม เพราะว่ามันดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไร้สาระสิ้นดี มันมองทุกอย่างเป็นเรื่องไร้สาระไปหมด ผมไม่ได้ขอให้ใครสั่งให้ผมมาเกิดในโลกนี้ มีคนทำให้ผมเกิดขึ้นมาต่างหาก ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากผมด้วยซ้ำไปว่าให้ผมเกิดหรือเปล่า แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้สึกในช่วงแรกจะรู้สึกเหมือนกับว่าแย่ๆ ยังไงไม่รู้ ทำไมล่ะ มันเหมือนกับไม่แฟร์เลยที่เราเกิดขึ้นมา “
“ ความขัดแย้งในเชิงสังคมหรือในเชิงชาติอาจจะเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความวิบัติ อาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าผมมองในมุมมองของศิลปะหรือว่าในมุมมองของคนที่สร้างสรรค์งานก็คือ ผมเห็นว่าที่โลกเราก้าวเข้ามาถึงทุกวันนี้มันก็เกิดมาจากความขัดแย้ง คือความเห็นที่แตกต่างมาจากความเห็นเดิม ไอ้ความขัดแย้งทางความคิดแบบนี้ทำให้เราพัฒนาไปได้กว่าความเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะมีงานศิลปะแบบเดิมๆ ตลอดเวลา สร้างสรรค์มายังไงเมื่อ 400 ปีที่แล้วตอนนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมอยู่ วาดรูปยังไงเมื่อ 400 ปีที่แล้วตอนนี้ก็คงจะวาดเหมือนเดิมอยู่ถ้าไม่มีความรู้สึกขัดแย้งหรือว่าความรู้สึกไม่เห็นด้วย หรือว่าความรู้สึกที่อาจจะฉีกออกไป ไม่รู้สึกจำเจกับของเดิม ”
“ ผมมองว่ามนุษย์ก็คือความขัดแย้งในตัวของมันเองอยู่แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเรา มันอาจจะถูกฝังอยู่ในยีนของเราตั้งแต่แรกเกิดแล้วก็ได้ที่เกิดมาเป็นอย่างนี้ ร้อยพ่อพันธุ์แม่ก็ไม่มีทางเหมือนกันอยู่แล้ว ความรู้สึกต่างๆ ย่อมไม่เหมือนกัน ความชอบก็ไม่เหมือนกัน เราชอบอาหารก็ไม่เหมือนกัน รสชาติก็แตกต่างกัน คนหนึ่งชิมอาหารจานหนึ่งจะรู้สึกมันหวานอีกคนหนึ่งรู้สึกว่าเค็มไปหน่อย มันมีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา แต่ทีนี้ถ้าเราใช้ความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ แน่นอนเราสามารถที่จะใช้ความสามารถที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
“ ถ้าพูดกันในด้านอาหารก็คือถ้าเราเห็นต่างก็สามารถที่จะสร้างอาหารจานใหม่ๆ ออกมาได้ตลอดเวลา ถ้าดูงานศิลปะแน่นอนตัวอย่างมากมายที่เราสามารถใช้ความขัดแย้งให้เป็นประโยชน์ได้จากความเห็นต่างในเรื่องนี้ แต่ในทางกลับกันถ้าเราจะใช้มันในเชิงลบก็ได้เหมือนกัน เช่น ความขัดแย้งในระหว่างชนชั้น หรือว่าปัญหาระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา ที่แตกต่างกัน และใช้ความขัดแย้งหรือว่าเดินไปในทิศทางด้านลบก็แน่นอนก็คือการเกิดสงคราม หรือว่าการทำร้ายซึ่งกันและกัน หรือว่าการไม่ยอมรับวาทกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ”
“ เท่าที่เขียนมาเรื่องทั้งหมด มันก็คือความขัดแย้ง มันไม่มีความขัดแย้งในแง่ที่ว่าต้องนำไปสู่การต่อสู้หรือว่าสงคราม แต่มันเป็นความขัดแย้งทางเรื่องจิตใจซึ่งมีรัก มีเกลียด มีความรู้สึกต่างๆ ผมว่าความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้มันทำให้เรื่องมีสีสันมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าเราจะบรรยายเรื่องๆ หนึ่งขึ้นมาว่า ท้องฟ้ามีสีฟ้าแล้วก็จบแค่นั้น มันก็จะไม่มีอะไรในเรื่องที่น่าสนใจพอที่เราจะมาอ่าน แต่ถ้าเราสร้างอะไรที่มันมีความแตกต่างจากทีเราเล่าเรื่องแบบเรียบๆ บางทีอาจจะทำให้เป็นที่จดจำได้มากกว่า
“ ความขัดแย้งที่เราใช้ในงานหนังสือ ถ้าพูดกันแล้วมันก็คือความขัดแย้งในทางจิตใจของคนมากกว่า มากกว่าทางกายภาพก็คือความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง หรือว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เรานำมาใช้ และเราก็ใช้ความขัดแย้งในอีกเชิงนี้มาทำให้เป็นเรื่อง ถ้ามองอย่างนี้จะเห็นว่าเรื่องต่างๆ ในโลกก็ไม่ได้แตกต่างกันโดยตัวเรื่องของมัน อารมณ์มนุษย์ก็คืออารมณ์มนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดเชื้อชาติศาสนาไหนมันก็เหมือนกัน อารมณ์ก็คืออารมณ์เดียวกัน ต่างกันที่สถานการณ์ภายนอก ตัวแปรภายนอก สิ่งแวดล้อมภายนอกที่ทำให้เรื่องมันต่างกัน ”
“ ธรรมชาติที่จะต้องรบรา ต้องทำลายล้าง ต้องแก่งแย่งเอาเปรียบ ผมคิดว่ามนุษย์มีสันชาตญาณนั้นอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าพูดง่ายๆ คือฝังอยู่ในพันธุกรรมอยู่แล้วที่จะทำลาย หรือว่าจะล่า หรือใช้ความรุนแรงในการก่อความรุนแรง ”
“ ผมไม่คิดว่าสัญชาตญาณที่ถูกฝังในรากลึกของเราหายไป แต่ว่าผมคิดว่ามันถูกกลบด้วยเครื่องมือที่เราเรียกว่าศีลธรรมหรือว่าศาสนา แต่มันไม่ได้ถูกลบหายไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีศีลธรรมแค่ไหนเรายังมีสัญชาตญาณดิบอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าระยะเวลาไม่เพียงกี่ล้านปีสามารถลบยีนตัวนี้ออกไปจากตัวเราเองได้ เพราะเราคิดว่าความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของยีน ”
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย