ไพฑูรย์ ธัญญา

นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2530 ไพฑูรย์ ธัญญา-เป็นนามปากกาของธัญญา สังขพันธานนท์ นักเขียนใหญ่ชาวพัทลุง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา เคยเป็นครูสอนชั้นประถมในโรงเรียนแถวบ้านเกิดที่พัทลุงและสุโขทัย ก่อนมาสอนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เริ่มต้นงานเขียนทั้งบทกวีและเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกา “ไพฑูรย์ ธัญญา” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของกลุ่มนาคร กลุ่มศิลปะ-วรรณกรรมสำคัญแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้

มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายเล่ม แต่ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นรวมเรื่องสั้น “ก่อกองทราย” ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2530  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

คำตอบก็คงเหมือนกับที่เคยตอบมาแล้วหลายๆ หน ถ้าผมแยกเหตุผลและที่มาที่ไป น่าจะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกอาจเป็นเพราะผมมีนิสัยชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเรื่องอ่านเล่น นิทานและเรื่องเล่าต่างๆ เรื่องชอบอ่านนี่เป็นมาแต่เด็กๆแล้ว คือพออ่านหนังสือออกก็เที่ยวหาอะไรต่อมิอะไรมาอ่าน จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยเจอหนังสือการ์ตูนสี่สีที่เขาเอาห่อกะปิ แม่ไปตลาดซื้อกะปิมาแกง ผมไปเห็นเข้าเลยเอามาอ่าน ชอบมากเพราะเป็นเรื่องของพันท้ายนรสิงห์ แต่ว่าไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะมันมีแผ่นเดียว จากนั้นผมก็อ่านมาโดยตลอด อาจเป็นเพราะที่บ้านมีหนังสือให้อ่าน พ่อผมเป็นครู รับนิตยสารเล่มหนึ่งชื่อว่า “มิตรครู” ในหนังสือนี้มีนิทานธรรมะสั้นๆ ทุกฉบับ และมีเรื่องเล่าประสบการณ์คล้ายๆ เรื่องสั้นที่ครูทั้งหลายซึ่งเป็นคนอ่านเขียนส่งมา ชื่อคอลัมน์ว่า “ถิ่นไทย” ผมชอบมาก อ่านทุกฉบับ เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนปิด ผมจะแอบเปิดหน้าต่างโรงเรียนเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด เที่ยวค้นโต๊ะครูบ้าง เพื่อหาหนังสืออ่าน อันที่จริงก็เหมือนไปขโมยอ่านนั่นแหละ ความที่อ่านหนังสือมากกระมัง ผมจึงเขียนหนังสือได้ดี ผมจำได้ว่าวิชาแต่งความนี่ผมคะแนนสูงกว่าเพื่อนเสมอ เรื่องเรียงความ แต่งความผมชอบมาก พอโตขึ้นมาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสอ่านหนังสือมาก ช่วงนี้ผมทุ่มเทกับการอ่านเยอะจริงๆ อ่านหนังสือทุกอย่างที่ชอบ รวมทั้งวรรณกรรม แต่ที่เอาผมอยู่และทำให้นึกอยากเขียนหนังสือก็คืองานของ “ศรีบูรพา” เรื่อง “สงครามชีวิต” กับ “ข้างหลังภาพ” ตอนนั้นมันเหมือนพบหนทางใหม่ คืออ่านนวนิยายและเรื่องสั้นที่ไม่ใช่เรื่องอ่านเล่นแบบในนิตยสารบางกอก ที่สำคัญคือผมเรียนทางภาษาไทย ผมเลยมีโอกาสอ่านทั้งวรรณกรรมใหม่ๆ และได้อ่านวรรณคดีเยอะแยะไปหมด ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ

ส่วนที่สองน่าจะมาจากแรงกดดันบางอย่าง มันเหมือนมีปมอะไรสักปมหนึ่ง ที่ต้องการหาทางออก ตอนเด็กๆ ผมค่อนข้างเป็นเด็กเก็บกด เงียบ ไม่ค่อยพูด แต่ชอบคิดมากกว่า ผมชอบฝันเฟื่อง ชอบสมมุติตัวเองว่าเป็นโน่นเป็นนี่อยู่เรื่อย และมักจินตนาการให้ตัวเองเจ็บปวด ผิดหวัง อันนี้ผมไม่รู้หรอกว่ามันเพราะอะไร อาจเป็นเพราะตอนนั้นครอบครัวผมมีปัญหาเรื่องฐานะเศรษฐกิจ พ่อแม่มีลูกหลายคน ตอนเด็กชีวิตผมไม่สะดวกสบายเหมือนครอบครัวอื่นๆ พอผมเรียนจบมัธยม เพื่อนบ้านบางคนก็พูดปรามาสว่าพ่อแม่ไม่มีทางส่งผมเรียนต่อหรอก แต่ผมก็ทำได้ อันนี้มันเลยทำให้ผมนึกเสมอว่าเราลำบากนะ ถึงเราจะลำบากสักวันหนึ่งเราต้องเอาดีให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วผมก็พยายาม นี่เป็นแรงกดดันอันหนึ่งที่ทำให้ผมมาเขียนหนังสือ เพื่อระบายความรู้สึกเก็บกดเหล่านี้ มันอยู่ลึกๆ ในถังขยะในใจผม แต่มันมีพลังมากที่ทำให้ผมหันมาเขียนหนังสือได้

ส่วนที่ถามว่าทุกวันนี้ยังเป็นนักเขียนหรือไม่ ผมก็ยืนยันว่าผมยังเป็นอยู่ แม้ผมจะเขียนน้อยลงมากในรอบห้าปีนี้ เพราะผมมีเหตุผลที่ต้องไปทำอย่างอื่น คืองานทางวิชาการ แต่ถามว่ายังคิดจะเขียนหนังสืออยู่หรือไม่ ผมตอบได้เลยว่ายังเป็นอยู่ สำหรับผมการเป็นนักเขียนมันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่ชีวิตประจำวัน หรือการสร้างอัตลักษณ์บางอย่าง ตอนหนุ่มๆ เราคิดว่าถ้าเป็นนักเขียนก็ต้องเขียนทุกวัน ต้องไปงานสมาคมนักเขียน ต้องเดินทาง ต้องวางมาด อะไรทำนองนั้น แต่พออายุมากขึ้น เราไม่เขียนสักวันก็ไม่เป็นไร แต่ถึงไม่เขียนก็ยังพูดเรื่องวรรณกรรม ยังคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียนและยังอ่านหนังสืออยู่ ที่สำคัญยังมีความคิดมากมายที่จะเขียน แต่รอเวลา ผมขอเวลาอีกสักหน่อย แล้วผมจะกลับมาเขียนอย่างจริงจังอีก ตอนนี้เลยได้แต่ดูคนอื่นเขียน อ่านงานฝึกหัดของลูกศิษย์ ให้กำลังใจกันและกัน แต่อีกปีสองปีผมจะเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นอีก ผมกำลังเขียนนวนิยายค้างอยู่เรื่องหนึ่ง ความจริงมันเดินไปได้ แต่ผมหยุดไว้ก่อน ไม่อยากทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เพราะผลก็คือ มันจะไม่ดีทั้งสองอย่าง เขียนวนิยายหรือเรื่องสั้นมันต้องใช้พลังมาก มีพิธีรีตองเยอะ แต่เขียนงานวิชาการต้องศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิธีคิดมันคนละแบบ เลยไม่อยากเอามาปนกัน

คุณลักษณะของนักเขียน และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ

อะไรคือแบบของนักเขียน ผมว่ามันมีสูตรสำเร็จหรือรูปแบบตายตัวเหมือนกัน อย่างแรกต้องอ่านและศึกษาเยอะๆ ศึกษางานเขียนในแนวที่เราถนัด อ่านงานดีๆ และต้องอ่านงานด้านอื่นด้วย นักเขียนจะมัวแต่ขังตัวเองไว้ในโลกแห่งความคิดฝันไม่ได้หรอก นักเขียนไม่เหมือนกวี กวีอาจคล้ายฤๅษีหรือพระวัดป่า ต้องไปอยู่กับธรรมชาติ ความเงียบและสนทนากับตัวเอง แต่นักเขียนต้องคุยกับโลก เดินในตลาดสดของชีวิต และศึกษาศาสตร์อื่นๆ ด้วย นักเขียนต้องทันสมัย และต้องเป็นแบบที่เรียกว่า “สหวิทยาการ” ถ้านักเขียนไม่อ่าน คนอ่านก็จะหนีนักเขียน เพราะเขาจะยังพูดเรื่องเดิมๆ ในวิธีเดิมๆ แต่คนอ่านเขาเลยไปแล้ว สังคมเดินไปเร็วมาก เขาพูดเรื่องโพส์ต์โมเดิร์น เราก็ต้องตามให้ทัน รู้ให้แจ้ง ส่วนจะโพส์ตจะเดิร์นหรือไม่ก็แล้วแต่เรา แต่ต้องรู้ไว้ อีกอย่างนักเขียนต้องเขียนมากๆ เพราะไม่งั้นก็ไม่มีงาน อย่างผมตอนนี้ บางทีก็รู้สึกกระดากกับคำว่านักเขียน เถอะ! วันนี้ผมเขียนน้อย แต่ก่อนหน้านี้ผมเขียนอย่างหนักมาแล้ว เขียนทุกวัน เขียนจนเก้าอี้ยุบเป็นตัวๆ คีย์บอร์ดพังเป็นอันๆ นักเขียนต้องมีวินัย ผมชอบชาติ กอบจิตติ ในแง่นี้ เขาเคยให้ข้อคิดผมในเรื่องวินัยในการเขียน เพราะนักเขียนไม่ต้องลงเวลา ตอกบัตร หรือสแกนนิ้วมือเวลาทำงาน แต่ต้องสแกนตัวเอง กนกพงศ์ก็อีกคน เขาเคร่งครัดมาก การเขียนหนังสือคืองานประจำของเขา เขาจะมีตารางของตัวเองและก็เคร่งครัดมาก จัดสิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อจะมีสมาธิในการเขียน นักเขียนไม่ได้นั่งอยู่ในวงเหล้าตลอดเวลา แต่ที่เห็นนั่นเป็นเพียงการผ่อนคลาย นักเขียนไม่เที่ยวกลางคืน หากเขากำลังอยู่ในช่วงเขียนหนังสือหนัก เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่ามาก สำหรับผมก็เหมือนกัน เวลาผมเขียนหนังสือ ผมไม่อยากไปทำงานที่มหาวิทยาลัย ผมไม่อยากรับแขก ไม่อยากไปไหน ไม่อยากแม้จะอาบน้ำกินข้าว นี่ไม่ใช่ดัดจริต แต่มันเป็นอย่างนี้จริงๆ บางทีนักเขียนก็เหมือนพวกติดเกมคอมพิวเตอร์นั่นแหละ หมกมุ่นจนเกินพอดี

สำหรับนักเขียนต้นแบบของผมไม่ชัดเจน ผมพอจะรู้ประวัตินักเขียนดังๆ บ้าง แต่คิดกว่านั่นเป็นวิธีของเขา เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ผมก็มีวิธีของผม เราต่างมีวิธีของเราเอง โดยวิธีของเราเอง แต่การที่เราอ่านประวัติการทำงานของคนอื่น มันก็ช่วยเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้คึกคัก กระปรี้กระเปร่า แต่เราคงไปลอกเลียนแบบไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดของตัวเอง

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน

ก็คงเหมือนนักเขียนอื่นๆ อยากมีงานเขียนที่ดีที่สุด ที่คนอ่าน วิจารณ์เยอะๆ ฝากผลงานไว้ในวงวรรณกรรมแม้เราจะล่วงลับไปแล้ว แต่จะทำได้ไหมล่ะ?

การทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน

คำถามนี้หมายถึงกระบวนการหรือสถานที่ ถ้าเป็นกระบวนการ มันก็เริ่มที่ความคิด แรงกระตุ้นหรือความบันดาลใจก่อน เรื่องบางเรื่องได้แรงบันดาลใจมาเร็วมาก แต่คิดนานมาก พอความคิดเริ่มชัด ก็ค่อยลงมือเขียน เขียนไปคิดไป ไม่มีพล็อตที่แน่นอน ปล่อยให้เรื่องมันเดินไปกับเรา บางทีเรานำมัน บางทีมันนำเรา ตัวละครของเราถ้ามันดีจริง มันก็จะมีชีวิต บางทีขณะเขียนเราก็ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร แต่มันก็ไปของมันได้ มันเป็นเรื่องอัศจรรย์ คนที่ไม่เคยเขียนจะไม่รู้ แต่คนเป็นนักเขียนจะรู้ มันอธิบายให้เป็นคอนเซ็ปต์ไม่ถูก แต่มันมีอยู่ จุดจบของมันอยู่ที่เราเขียนได้ลงเอย คือปิดเรื่องได้ตามที่เราต้องการ จากนั้นทิ้งไว้เพื่อมาอ่านขัดเกลา ทิ้งไว้สักระยะ แล้วมาดูใหม่ ไม่เร่งรีบ เพราะเราไม่ได้เขียนลงรายสัปดาห์ แต่เขียนทีเดียวจบเลย

ถ้าหมายถึงสถานที่ในการทำงาน ส่วนมากผมทำงานที่บ้าน ในห้องส่วนตัว มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีคอมพิวเตอร์ ผมไม่ปฏิเสธมันเพราะมันจำเป็นมากสำหรับผม ผมใช้เวลากลางวันอยู่ที่มหาวิทยาลัย สอนหนังสือ ถ้าจะเขียนหนังสือก็เป็นกลางคืน กลับมานอนพักสักสามสี่ชั่วโมง แล้วลุกขึ้นมาเขียน ทำอย่างนี้ประจำจนเป็นกิจวัตร ผมไม่ค่อยออกเดินทางไปเขียนนอกสถานที่ เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า งานเขียนที่ดีไม่ได้อยู่ที่กระบวนการ ขั้นตอนหรือพิธีรีตอง แต่อยู่ที่ฝีมือของคนเขียนมากกว่า งานยุคแรกๆ ของผมเขียนด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดให้แสงสว่าง เขียนนานๆ รูจมูกดำปี๋เพราะควันตะเกียง ผมไม่เคยเดินทางไปเขียนตามรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศ หรือที่ไร่อะไรสักอย่าง แต่เขียนอยู่ที่ห้องทำงานมากกว่า

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

คือความคิด คือสิ่งที่มันสนทนากับผู้อ่าน และเนื้อเรื่องที่มันตรึงใจคนอ่าน เพราะความคิดก็คือเนื้อหา สิ่งนี้มันเป็นสารัตถะ เราเสียเวลาอ่านหนังสือทำไม? สำหรับผม ผมไม่สนใจเรื่องพิธีรีตองหรือรูปแบบ เทคนิคมากนัก ลองย้อนถามว่าทำไมเราจึงยังจำนิทานอีสปได้ เราจำวิธีการเล่าหรือเราจำเนื้อเรื่องและสิ่งที่นิทานมันบอกเราว่า สอนให้รู้อะไร ผมคิดว่านิทานอีสปเป็นเรื่องเล่าที่มีเทคนิคเดียว ตายตัว ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีย้อนหน้าย้อนหลัง เล่าไปตามลำดับเหตุการณ์ แต่เราจำได้กว่าจำเรื่องสั้นที่ตัวเองเขียนเสียอีก ฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่าเนื้อเรื่องที่ตรึงใจกับแนวคิดที่มันบอกเรา ให้ปัญญากับเราต่างหากที่ทำให้มันอยู่ได้ ไม่ใช่การพลิกแพลงวิธีการหรือการตกแต่งทางเทคนิค เพราะเทคนิคเปลี่ยนได้เสมอถ้าคุณเป็นช่าง แต่สิ่งที่ช่างไม่อาจทำได้ดีทุกครั้งคือ แนวความคิดต่างหาก พูดง่ายๆ ระหว่างสาระกับวิธีการ ผมเลือกเอาอย่างแรก

ในฐานะนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”

พรสวรรค์น่าจะหมายถึงความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นคุณสมบัติพิเศษสำหรับคนบางคน ผมเชื่อว่ามันน่าจะมีจริง ส่วนพรแสวงเป็นคำพูดปลอบใจสำหรับคนที่ใจรักแต่ไม่มีความสามารถ ขยันแต่โง่ เลยบอกให้ไปแสวง พูดอีกอย่างคือขยันให้มากเข้า อันที่จริงคนที่ทำงานเขียนต้องเป็น “นักแสวง” อยู่แล้ว หากไม่ค้นหา แสวงหา รอกินบุญเก่าอีกไม่นานมันก็หมด ผมเชื่อในทฤษฎีพรสวรรค์ เชื่อได้เลยว่าแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน มันเป็นโบนัสพิเศษจากพระเจ้า ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่อาจเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนมีโบนัสพิเศษ เพียงแต่เราต้องหาให้เจอ คือหาศักยภาพตัวเองให้เจอ ถ้าคุณมีพรสวรรค์ด้านร้องเพลง แต่คุณไม่ร้องเพลง คุณอยากเป็นนักเขียน มันก็ลำบาก เช่นเดียวกับคุณมีพรสวรรค์ด้านการเขียน แต่คุณดันไปร้องเพลง มันก็ไม่รุ่ง สำหรับผมการเขียนได้คือพรสวรรค์ และมันสำคัญมากกว่าพรแสวง

มองวงการวรรณกรรมไทย

มันเป็นคำถามที่กว้างมาก ถ้าพูดถึงวงวรรณกรรม มันไม่ได้มีนักเขียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบด้วยคนอ่าน คนจัดพิมพ์ และคนจำหน่าย รวมถึงนักวิจารณ์ด้วย ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกัน ผมจะมองเป็นส่วนๆ อันแรกคือนักเขียน ซึ่งก็มีมากมายหลายประเภท มีทั้งนักเขียนที่เขียนวรรณกรรมประเภทอ่านเอาจริง นักเขียนเรื่องอ่านเล่น นักเขียนเรื่องตัวเอง นักเขียนรับจ้างเขียน นักเขียนเรื่องกามารมณ์ ฯลฯ วรรณกรรมก็เหมือนงานพืชสวนโลก มีพรรณไม้หลากหลายชนิด คนอ่านก็หลากหลายเหมือนกัน ใครชอบอ่านเรื่องแนวไหนก็เชิญตามอัธยาศัย ทำนองเดียวกับคนจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็มีเป้าหมายการตลาดต่างกัน ฉะนั้น นี่คือความหลากหลาย เราจะไปผูกขาดเฉพาะแนวที่เราชอบเขียน ชอบอ่านไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของวงการวรรณกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมในการอ่าน การเขียน ที่บ้านเราไม่ค่อยจะเข้มแข็งนัก

แต่ถ้าจะให้พูดเฉพาะวงวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ หรือวรรณกรรมที่เอาจริงเอาจัง ก็ต้องบอกว่า ยังเป็นวงแคบๆ ที่มีคนอ่าน คนเขียน คนจำหน่ายไม่มากนัก แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และแวดวงวรรณกรรมศึกษา วงนี้ถือว่าเป็นงานเชิงคุณภาพ ไม่ตามกระแส ไม่ใช่งานตลาดหรือประเภทประชานิยม สำหรับผมก็มองว่านักเขียนบ้านเรา ถือว่าไม่น้อยหน้ากว่าต่างประเทศนะ นี่พูดเรื่องฝีมือ เรามีนักเขียนเก่งๆ หลายคน เพียงแต่น่าเสียดายที่งานของเราไม่เป็นสากลในแง่ของการเผยแพร่ คือขาดการแปลและถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นๆ ทำให้ต่างประเทศไม่ค่อยรู้จักนักเขียนไทย เพราะเรามีข้อจำกัดที่เขียนในภาษาของเรา เวลาเราอ่านเรื่องแปล บางเรื่องมันก็ไม่ได้ดีกว่าของเรานัก ผมคิดว่าหากเรามีการแก้ปัญหาตรงนี้ มีหน่วยงานสักหน่วยงานที่ลุกมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นระบบ วรรณกรรมของเราก็จะกว้างขึ้น งานอาจขายได้มากขึ้น นักเขียนก็จะมีรายได้มากขึ้น สามารถทำงานเขียนเป็นอาชีพได้ ไม่ต้องมาสอนหนังสือหาเงินเหมือนผม หรือไปขายข้าวหน้าเป็ด ไปทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อให้มีเงินเลี้ยงชีพ ตอนนี้วรรณกรรมไทยมันติดเพดาน ผมหมายถึงคนที่เขียนดีจริงๆ เราทำได้สูงสุดหรือดีที่สุดก็คือได้รางวัลซีไรต์ ทุกวันนี้ใครได้ซีไรต์ก็ถือว่าสำเร็จภารกิจในการเขียนแล้ว ถึงจุดสุดยอดแล้ว เหมือนประกอบกามกิจ (ขอโทษถ้ามันแรง) เปรียบให้เบากว่านี้ก็เหมือนลูกโป่งอัดแก็สที่อยู่ในบ้าน ลอยสูงสุดไม่ได้ เพราะติดเพดาน ไม่มีทางทะลุ ลอยอยู่นานๆ พอแก็สหมดมันก็ฝ่อ แค่นี้เอง ทำไมอินโดฯ เขามีนักเขียนอินเตอร์ มาเลย์ก็มี แม้แต่เวียดนาม เพราะนักเขียนในประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งเขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ งานเขาเลยขายได้ในตลาดอื่นด้วย ผมไปต่างประเทศไปดูร้านหนังสือใหญ่ๆ มีแต่งานเขียนของนักเขียนประเทศอื่นๆ นักเขียนไทยหาไม่เจอเลย ที่เจอประจำก็มีของคุณพีระ เพราะแกเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ของคุณปองพล งานของแกขายที่แอร์พอร์ตได้ ฝรั่งซื้อ เพราะอ่านได้ อย่างน้อยฝรั่งที่สนใจเมืองไทยก็คงอยากอ่านงานเขียนบ้างแหละ เพราะวรรณกรรมมันบอกอะไรได้เยอะ แต่เราขาดโอกาสตรงนี้ ผมอยากเรียกร้องรัฐบาลให้หันมาทำเรื่องนี้บ้าง ทำอย่างจริงจัง เสียดายนักเขียนของเราไม่ได้เป็น สนช. สสร. กันเลย ไม่รู้จะให้ใครผลักดัน ถ้าทำได้ผมจะอนุโมทนา และคิดว่ามันจะมีคุณูปการมากๆ สำหรับประเทศนี้ ทุกวันนี้วงวรรณกรรมของเราเหมือนทำกับข้าวกินกันในงานเลี้ยงสังสรรค์ ทำกันเอง ข้าวหม้อแกงหม้อ คนชิมก็คุ้นๆ กันอยู่ ทำไปทำมางานประกวดวรรณกรรมก็เหมือนงานประกวดอาหาร ประกวดส้มตำ ชิมกันไป บ่นกันไป ให้รางวัลไป จบ

ผมคิดว่าตอนนี้วงวรรณกรรมไทยมีทุกอย่าง เรามีนักเขียนดีๆ มีนักวิจารณ์ฝีมือยอดเยี่ยม มีสำนักพิมพ์มาตรฐาน แต่เราไม่มีการเผยแพร่ไปสู่วงกว้าง ถ้าคุณทุ่มเทอยากเป็นนักเขียน คุณพอใจแค่ได้รางวัลซีไรต์หรือ เป็นศิลปินแห่งชาติเท่านั้นเองหรือ?

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน มันสื่อถึงอะไร

รางวัลมันก็จำเป็นครับ มันเป็นกลไกหนึ่งของวงวรรณกรรม เป็นตัวกระตุ้นส่งเสริม แม้แต่เลี้ยงไก่แจ้ เลี้ยงหมาบางแก้วเขายังประกวดให้รางวัล เพราะรางวัลมันกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ในวงวรรณกรรมก็เหมือนกัน รางวัลให้คุณมากกว่าให้โทษ อย่างน้อยที่สุดทำให้นักเขียนมีกำลังใจ มีความหวัง สำหรับคนเขียนหนังสือแล้วมองไม่เห็นทางออก หรือโอกาส ผมว่ามันเศร้ามากเลย เพื่อนผมบางคนเคยมารำพึงให้ฟังว่า เขารักงานเขียน อยากเขียนมาก แต่พอเขียนไปแล้วไม่เห็นอนาคต ไม่ได้รวมเล่ม ไม่เคยชนะได้รางวัล เวลาก็ผ่านเลยไปวันแล้ววันเล่า อายุก็มากขึ้น หากมัวมาเสียเวลากับการเขียนอีกเขาคงลำบากแน่ เลยรามือไปเลย มันเศร้านะครับ ฉะนั้นผมเชื่อว่ารางวัลมันทำให้คนกลายมาเขียนหนังสือจริงจังได้

ทุกวันนี้ผมก็เห็นด้วยว่ามีรางวัลให้เยอะ มองในแง่ดีนี่คือโอกาสของคนใหม่ๆ มีพื้นที่มากขึ้น เหมือนนักมวย มีเวทีให้ชกหลายที่ มีงานโน่นงานนี่ ดีกว่าฟิตซ้อมแล้วไม่ได้ขึ้นเวที ถามว่าการให้รางวัลมันสื่อความหมายอะไรบ้าง ผมก็อยากมองในแง่ดีไว้ก่อนว่า มันเป็นตัวบ่งชี้ว่า ยังมีคนให้ความสำคัญกับวรรณกรรมอยู่ ยังมีคนพยายามเข้ามาสนับสนุน นี่มันคือองค์ประกอบหนึ่งของวงวรรณกรรม สมัยก่อนการอุปถัมภ์นักเขียน กวี เป็นหน้าที่ของราชสำนัก ทุกวันนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน องค์กรและเอกชน นี่สะท้อนว่า วัฒนธรรมของเรายังไม่ขาดตอน เพียงแต่รูปแบบวิธีการมันเปลี่ยนไป ส่วนเนื้อหาเป้าหมายยังเหมือนเดิม คือหางานดีๆ ส่งเสริมนักเขียน พัฒนาวงการประพันธ์ ผมว่ารางวัลทุกรางวัลมีความตั้งใจและเป้าหมายที่ดีและสร้างสรรค์ ส่วนวิธีการจัดการอาจมีปัญหาบ้าง เวลาเขาวิจารณ์ซีไรต์ ผมเห็นมีคนวิจารณ์ตัวงานที่ได้รางวัลน้อยมาก วิจารณ์นักเขียนน้อย แต่ไปพุ่งเป้าที่คณะกรรมการ ซึ่งจริงๆ ก็คือเขาไม่มั่นใจกระบวนการและวิธีการต่างหาก เขาไม่ได้ต่อต้านรางวัลซีไรต์ แต่เขาท้วงติง โต้แย้งเรื่องกระบวนการตัดสิน เราต้องแยกให้ออก อย่างไรก็ดี ผมอยากฝากเตือนสตินักเขียนใหม่ๆ ว่า อย่าทำงานโดยมีธงนำอยู่ที่รางวัล ธงนำของเราควรเป็นเรื่องคุณภาพ ฝีมือ ผมเชื่อมั่นว่า งานเขียนที่ดีจริงๆ มันมีปากเสียงของมันเอง มันหาคนอ่านได้และมันทำให้รางวัลมาหามันได้ ฉะนั้นเราอย่าหลงทิศผิดทาง

ที่ทางและทิศทางของวรรณกรรมสร้างสรรค์ไทย

ที่ผมพูดมาข้างต้นมันก็ให้คำตอบไปบ้างแล้ว วรรณกรรมสร้างสรรค์ของเรามีสถานภาพที่ดีมาก มากกว่างานเขียนประเภทอื่นๆ ด้วยซ้ำ มันดีตรงไหน ดีตรงที่หนึ่งมันได้รับการยอมรับในเชิงศิลปะ ระดับของมันอยู่ที่ระดับของ “งานศิลปะ” ไม่ใช่งานตลาด มันออกจะเป็นชั้นสูงด้วยซ้ำไป ดีประการที่สองก็คือ ได้รับการยอมรับให้ไปอยู่ในระบบการเรียนการสอน ผมสอนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ในมหาวิทยาลัย หลักสูตรส่วนใหญ่ให้อ่านให้เรียนงานเขียนประเภทนี้ ในตำราวรรณกรรมปัจจุบันของเราที่มีมากมาย ไม่มีเล่มไหนแบ่งพื้นที่ให้วรรณกรรมประเภทป๊อบปูลาร์เลย ให้อ่านกันแต่เรื่องที่ได้รางวัลนักเขียนดีเด่น รางวัลซีไรต์ รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แต่ไม่เห็นมีใครเขียนถึงงานนิยายเริงรมย์มากนัก ดังนั้นมองในแง่นี้มันมีเครดิตมากๆ ทั้งที่บางเรื่องก็น่าเบื่อ เด็กไม่อยากอ่าน แต่กลายเป็นหนังสือนอกเวลา ดีอย่างที่สามก็คือ มันได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์วรรณกรรม คุณลองไปเปิดคอลัมน์วิจารณ์หนังสือดู เคยมีไหมที่เขาหยิบเอาวรรณกรรมเริงรมย์มาวิจารณ์ เคยมีไหมที่เขาเอาเรื่องผีมาวิจารณ์ ไม่มีหรอกครับ เขาวิจารณ์แต่วรรณกรรมของนักเขียนแนวสร้างสรรค์ (ซึ่งบางทีก็ไม่ได้สร้างสรรค์) มันเป็นจารีตไปแล้ว วรรณกรรมสร้างสรรค์มันเป็นวาทกรรม มันกีดกันวรรณกรรมชนิดอื่นให้ตกขอบเวทีไปเลย แต่ด้วยที่มันเป็นวาทกรรมมันก็เลยปิดกั้น หมักดองและแช่แข็งตัวมันเองด้วย แล้วมาดูการให้รางวัลกันอีก ที่พูดมาก่อนหน้านี้ เคยมีรางวัลเรื่องสั้นแนวระทึกขวัญ แนวบู๊ล้างผลาญหรือแนวรักพาฝันบ้างไหม หรือไม่ก็เรื่องทำนองนี้เคยได้ซีไรต์มั่งไหม นี่แสดงว่างานเขียนเชิงสร้างสรรค์มันมีฐานะดีจนน่าอิจฉา ยกเว้นฐานะคนเขียนเท่านั้นเอง

คำแนะนำถึงคนอยากเป็นนักเขียน เขาต้องเริ่มที่จุดไหน และควรพัฒนาตนเองอย่างไร

เอาเป็นว่า คนที่อยากเขียนหรือนักอยากเขียน แค่คิดก็วิเศษแล้ว ในฐานะคนที่เคยมาก่อน ผมว่าเรามีความฝันพื้นฐานคล้ายๆ กัน แต่อยากให้ข้อคิดเล็กน้อยว่า นักเขียนนั้นไม่มีเส้นนะครับ ใช้เส้นไม่ได้ อาจจะใช้ได้สักหนสองหน แต่ก็ไปไม่รอดหรอก งานเขียนใช้เส้นไม่ได้ และไม่จำเป็น ถ้าคุณเขียนงานดีจริงๆ คุณได้เกิดแน่ เพราะหน้าที่ของบรรณาธิการคือเลือกเฟ้นเสาะหา ส่งเสริมงานเขียนดีๆ นักเขียนที่มีคุณภาพ ฉะนั้น ถ้างานดี ไม่ต้องกลัว

สำหรับคนเขียนหนังสือหน้าใหม่ เมื่อเทียบกับคนรุ่นผม ผมว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ สมัยก่อนการที่จะมีงานเขียนได้ตีพิมพ์ กว่าจะถึงคนอ่านมันเป็นพิธีการมาก ต้องผ่านการพิจารณาของบก.เท่านั้น ต้องในหน้าหนังสือเท่านั้น นี่คือที่มาของ “ตำนานตะกร้าสร้างนักเขียน” แต่ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของลุงอาจินต์ใน “ฟ้าเมืองไทย” ทุกวันนี้นักเขียนใหม่มีช่องทางมากมาย ที่ผมอยากพูดมากคือในอินเตอร์เน็ต เด็กทุกวันนี้ไม่รู้จักตะกร้า แต่เขารู้จักบล็อค เขาแค่เปิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา เขาก็สามารถส่งงานเขียนของเขาไปสู่คนอ่านได้ และมีเยอะด้วย นี่คือโลกสมัยใหม่ หนทางใหม่ นักเขียนไม่จำเป็นต้องมีบก.แล้ว แต่บก.ของเขาคือคนอ่านในชมรม ในไซเบอร์สเปซด้วยกัน เขียนไปก็มีคนมาคอมเมนต์ มาสับ มาจิกกัด มันเป็นวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ และน่าสนใจมาก เพราะอย่างน้อยคุณไม่ต้องรอโอกาส คุณสร้างพื้นที่ได้ นักเขียนสร้างงาน สร้างพื้นที่ สร้างคนอ่านได้เอง วิเศษมากเลย มันครบถ้วนกระบวนความ เพียงแต่ไม่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ทุกวันนี้มีนักเขียนแบบนี้เป็นแสนๆ คนอ่านเป็นแสนๆ วันหนึ่งลูกศิษย์ผมมาบอกว่า นวนิยายแนวระทึกขวัญของเธอที่อยู่ในบล็อคกำลังได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเร็วๆ นี้ เธอควรจะได้ค่าเรื่องเท่าไหร่ดี ห้าหกหมื่นน้อยไปไหม เพราะเพื่อนชั้นเดียวกับเธอที่เขียนเหมือนกัน ได้รับการตีพิมพ์ไปแล้ว เขาได้ครั้งแรกหนึ่งแสน โอย! ผมจะบ้า หนังสือผมเขียนเกือบตาย ได้ตีพิมพ์สองพันเล่ม ได้ค่าเรื่องอย่างมากสองหมื่น แต่นี่เธอเขียนเล่นๆ ในเว็บของเธอได้มาเป็นแสน นี่มันอะไรกัน นักเขียนรุ่นเก่าต้องหันมาดูนะครับ เรื่องแบบนี้มันมีกันแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่

มันเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม งานเขียนที่ดีมันต้องมาจากความคิดดีๆ สร้างสรรค์ครับ เราเขียนในอินเตอร์เน็ตได้ แต่เราต้องไม่เขียนมั่ว นึกอยากเขียนอะไรก็เขียน มันไม่ใช่เขียนลงกระดานข่าวนะครับ ถึงจะอย่างไรคนเขียนก็ต้องมีความคิดดีงาม สร้างสรรค์และจรรโลงสังคม ไม่ใช่สบถอะไรลงไปก็ได้ ต้องแยกให้ออก เพราะการเขียนไม่ใช่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวหนังสือ
——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...