ประภัสสร เสวิกุล

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 14 นักเขียนที่เป็นนักการทูต และนักการทูตที่เป็นนักเขียน  ประภัสสร เสวิกุล-นักเขียนใหญ่ชื่อก้องชาวกรุงเทพฯ คนนี้ได้แรงดาลใจในการเป็นนักเขียนจากการเป็นนักอ่านตัวฉกาจ ในฐานะนักเขียน ประภัสสรมีสำนวนภาษาที่งดงามตามพื้นฐานความเป็นนักกลอน อีกทั้งเนื้อหางานเขียนของเขาก็ลึกซึ้งเข้าถึงคนอ่าน บ้างกระชากใจ และบ้างโอบกอดหัวใจคนอ่านไว้อย่างนุ่มนวลอ่อนโยน

ซึ่งความสามารถตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากภาระหน้าที่ในฐานะนักการทูตที่ต้องเดินทางไปพำนักอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

บ่อยครั้ง ทำให้ประภัสสรได้ผ่านพบเรื่องราวต่างๆ มากมายจนกลายมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนหนังสือ ประภัสสรมีผลงานวรรณกรรมระดับรางวัลมากมายหลายเรื่อง แต่ที่คุ้นหูคุ้นตาและเป็นงานชิ้นเอกในดวงใจใครหลายคน ก็เช่น อำนาจ, เวลาในขวดแก้ว, ขอหมอนใบนั้น…ที่เธอฝันยามหนุน, ลอดลายมังกร ฯลฯ ประภัสสรเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 14 โดยดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัยระหว่างปี พ.ศ. 2544-2548 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี และยังมีผลงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ แม้กายจะอยู่ไกล แต่แฟนๆ ของประภัสสรคงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวในชื่อwww.psevikul.com ไว้เป็นที่สนทนาประสามิตรกับแฟนๆ นักอ่านและนักอยากเขียนทั้งหลายด้วยความเป็นกันเอง

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

ความซาบซึ้งและติดตรึงใจในรสชาติที่ไพเราะอ่อนหวานของบทกลอนต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สอนให้ท่องจำตั้งแต่ยังไม่ทันได้เข้าโรงเรียน ซึ่งมีทั้งสามัคคีเภทคำฉันท์ โคลงโลกนิติ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น ครั้นเมื่อเริ่มเรียนหนังสือผมก็ชอบท่องอาขยาน หรือบทกลอนในหนังสือเรียนสมัยก่อนนั้น แล้วก็เริ่มชอบการอ่านหนังสือมาก แต่หนังสือที่ผมอ่านค่อนข้างจะเป็นอะไรที่สูงเกินวัย อย่างสามก๊ก หิโตปเทศ ราชาธิราช หรือมิลินทปัญหา พวกนี้ผมอ่านมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออ่านมากก็เลยเกิดความรู้สึกอยากเขียนบ้าง เพราะความประทับใจมีมาก ผมจึงเริ่มการเขียนด้วยการเขียนกลอนเป็นบทๆ ส่งไปลงพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ หลังจากนั้นผมก็หันมาเขียนเป็นพวกลำนำประกอบเพลง ด้วยการนำเนื้อเพลงสากลที่เพราะๆ และกำลังฮิตมาแต่งเป็นกลอน โดยถอดความหมายตามเนื้อเพลง ผมหลงใหลได้ปลื้มกับการเขียนกลอนอยู่ถึง 6 ปี จึงได้เริ่มหันมาเขียนเรื่องสั้น และก็เขียนเรื่องสั้นมาถึง ๑๒ ปีกว่าจะลงมือเขียนนวนิยาย แต่ไม่ว่าจะเขียนอะไร ผมเขียนด้วยความรักและพลังความตั้งใจเต็มที่ และสิ่งที่ทำให้ผมยังเป็นนักเขียนอยู่ในทุกวันนี้ ก็คือ ความรัก ความผูกพัน และความปรารถนาดีที่ผู้อ่านมอบให้ผม ไม่ว่าจะเป็นคำบอกกล่าว เล่าว่าชอบอ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ของผม คำขอบคุณ และรอคอยที่จะอ่านเรื่องต่อๆ ไปที่ผมจะเขียนออกมา รวมทั้งขอให้ผมเขียนเรื่องดีๆ มีคุณค่าออกมาอีก สายสัมพันธ์ทางใจเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่าที่ผู้อ่านมอบให้กับผมตลอดมา ทำให้ผมมีพลังและกำลังใจในการที่จะสร้างงานดีๆ ออกมา และเป็นเสมือนสัญญาใจที่ผู้อ่านและผมมีให้ต่อกัน

คุณลักษณะของนักเขียนที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ

นักเขียนที่ดีในทัศนะของผมต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง…คงไม่มีอะไรมาก ขอแค่ให้มีความรับผิดชอบ มีความจริงใจ มีความตั้งใจจริง และเคารพในตัวของคุณเองและเคารพผู้อ่าน เท่านี้เองครับ เพราะนักเขียนสร้างโลกด้วยปากกา (ยุคนี้ต้องคอมพิวเตอร์) นักเขียนสามารถทำให้โลกยิ้มหัวเราะด้วยความสุขเบิกบาน หรือเศร้าสร้อยหม่นหมอง ทำให้โลกบริสุทธิ์ งดงาม หรือสกปรกแปดเปื้อน เอ่ยเอื้อนด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน หรือหยาบคาย ดังนั้น ผมคิดว่า ความรับผิดชอบของนักเขียนจึงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่ผมอยากให้มี ความจริงใจและตั้งใจในการทำงานและนำเสนอเรื่องราวออกสู่สาธารณชน การมอบแต่สิ่งที่ดีงามให้กับคนอ่าน ไม่มอมเมา หรือฉุดคนอ่านให้ตกต่ำ นักเขียนที่ดีต้องยกระดับคนอ่านหรือแฟนหนังสือของตัวเองให้ก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายคือการเคารพตัวของตัวเอง และเคารพผู้อ่าน นั่นคือ เขียนในสิ่งที่สมเหตุสมผล ให้สาระและแง่คิดต่อผู้อ่าน

ในส่วนของบุคคลผู้เป็นต้นแบบ ก็คงต้องบอกว่าผมก็คงจะไม่ต่างจากนักเขียนคนอื่นๆ ซึ่งย่อมจะมีนักเขียนในดวงใจสักคนหรือหลายคน แต่เมื่อถึงเวลาที่สร้างงาน นักเขียนจะต้องสร้างแนวทางของตนที่เป็นเอกลักษณ์หรือรูปแบบเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด การวางโครงเรื่อง สำนวนภาษา กลวิธีการนำเสนอ จะต้องเป็นต้นแบบของตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่สำเนาของคนอื่น

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน

ทำงานทุกชิ้นให้ดีที่สุด และให้ผู้อ่านได้รับสิ่งดีๆ มากที่สุด

การทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน

เริ่มจากการวางโครงเรื่อง การหาข้อมูล การบ่มเพาะความคิดจนได้ที่ จากนั้นก็ลงมือเขียน และเมื่อเรื่องเดินมาถึงจุดสุดท้าย นั่นคือภาพรวมอย่างกว้างๆ แต่จุดเริ่มต้นของนิยายหรือเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็แตกต่างกันไป เช่นบางครั้งอาจจะเกิดจากอาการที่มีอะไรบางอย่างมาโดนใจอย่างจัง ทำให้อยากจะเขียนถึงหรือลงรายละเอียด บางครั้งก็เกิดจากได้ชื่อเรื่องหรือมุขเด็ดๆ มา จนบอกกับตัวเองว่าเรื่องนี้ไม่เขียนไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อลงมือทำจริงๆ แล้ว หลายเรื่องก็ไม่ได้ลื่นหรือเป็นไปตามที่คิด บางเรื่องต้องใช้เวลาหาข้อมูลหรือปรับเรื่องอีกพักใหญ่ทีเดียวครับ

ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ หากมีใครถามคุณว่าทำอาชีพอะไร คุณตอบว่า

ผมคิดว่าทุกคนตอบแทนผมได้ว่า ผมเป็นนักเขียนที่เป็นนักการทูต และเป็นนักการทูตที่เป็นนักเขียน

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

วรรณกรรมคือกระจกเงาที่สะท้อนภาพความเป็นไปทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทัศนคติ ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในแต่ละช่วงสมัย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมีนอกจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ก็คือ การให้ความคิด ความหวัง และกำลังใจ รวมทั้งวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอันเหมาะควร วรรณกรรมที่ดีมักจะไม่ใช่คำตอบที่รวบยอดหรือสมบูรณ์ในตัวของมันเอง หากแต่เติมเต็มด้วยภูมิหลัง ประสบการณ์ และการแตกโตทางความคิดที่แตกต่างกันออกไปของผู้อ่าน เพราะนั่นคือการทำงานร่วมกันของนักเขียนกับนักอ่านและทำให้วรรณกรรมชิ้นนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและยืนยง

ในฐานะนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”

พรสวรรค์ให้พลังบรรเจิด พรแสวงให้พลังบรรจง ถ้าคุณไม่มีพรสวรรค์ คุณก็ต้องบรรจงหาสิ่งต่างๆ มาเสริมแต่ง

มองวงการวรรณกรรมไทย

วงการวรรณกรรมไทยในยุคนี้ยังไม่ถึงกับตีบตันหรือล้มหายตายจากอย่างที่ใครต่อใครพูดกัน เพราะมีคนอยากเป็นนักเขียนอยู่อีกมาก และก็เขียนกันออกมาดีๆ ก็เยอะ แต่ที่ยังอยู่ในขั้นต้นก็แยะ สำหรับผมคิดว่าการที่จะทำให้วงการวรรณกรรมเข้มแข็ง จำเป็นที่จะต้องสร้างนักอ่านที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างนักเขียน และวัฒนธรรมในการวิจารณ์

ผมเห็นว่าวรรณกรรมไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายขึ้น ทั้งในด้านของรูปแบบและเนื้อหา แต่ยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งคงต้องการเวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองจนกว่าจะตกผลึก

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน คุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร

จริงๆ แล้วผมว่าสำหรับคนที่มุ่งทำงานวรรณกรรมจริงๆ นั้น รางวัลเป็นเรื่องรอง ไม่มีความสำคัญเท่ากับเนื้องาน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนหนึ่งรางวัลถือเป็นเรื่องของกำลังใจหรือการยอมรับนับถือในระดับหนึ่ง การมีรางวัลต่างๆ เพิ่มขึ้นในปัจจุบันนั้น ผมในฐานะผู้ริเริ่มและมีส่วนร่วมในการก่อตั้งรางวัลหลายรางวัล เช่น รางวัลนราธิป รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด รางวัลอมตะ รางวัลอนุสรณ์อ.ไชยวรศิลป์ ฯ ยืนยันได้ว่าทุกรางวัลมีเจตนารมณ์ในอันที่จะส่งเสริมวรรณกรรมบ้านเรา และก่อให้เกิดโอกาสหรือทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ไม่ติดยึดอยู่กับรางวัลหนึ่งรางวัลใดจนเกินไป นักเขียนสามารถค้นพบความสามารถของตนเองในแนวทางการเขียนที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของรางวัล แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็อยากเห็นนักเขียนทำงานของตนอย่างเต็มที่และดีที่สุดก่อน ให้ผลงานประกาศความสามารถของตัวคุณเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จริงแท้และยั่งยืนกว่ารางวัลใดๆ ทั้งสิ้น

คำแนะนำถึงนักอยากเขียน ว่าต้องเริ่มที่จุดไหน และควรพัฒนาตนเองอย่างไร

ต้องเป็นคนชอบอ่าน ช่างสังเกต เป็นนักคิด นักเขียน และนักวิจารณ์

– การอ่านเป็นการย่นระยะเวลาของการหาความรู้ เพราะเท่ากับได้เรียนรู้กระบวนทัศน์ของนักเขียนซึ่งบางคนอาจจะใช้เวลาหลายสิบปีและประสบการณ์อันมากมายในการสร้างงานชิ้นหนึ่ง ดังนั้น ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งทำให้รู้จักโลก รู้จักคน หรือรู้จักชีวิตมากตามไปด้วย

– โลกเรามีอยู่หลายมุม และแต่ละคนก็มองโลกในมุมมองที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเป็นคนช่างสังเกต ตลอดจนแสวงหามุมมองใหม่ๆ แปลกๆ ที่แตกต่างไปจากคนอื่น

– ความเป็นนักคิดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเขียน ทั้งคิดค้นหาข้อเท็จจริง และค้นคิดในสิ่งใหม่ๆ

– และการจะบรรลุความเป็นนักเขียนโดยสมบูรณ์ก็คือต้องลงมือเขียน โดยนำวัตถุดิบที่ได้จากการอ่าน การพบเห็นมากลั่นกรอง แล้วสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

– ท้ายสุดก็คือการเป็นนักวิจารณ์เพื่อพิจารณางานเขียนของตนเอง หาข้อบกพร่อง และแก้ไขให้ดีขึ้นก่อนออกสู่สายตาของผู้อ่าน รวมทั้งยอมรับคำวิจารณ์ที่เป็นธรรมของคนอื่นด้วยใจที่เปิดกว้าง

รายนามนักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด นักเขียนคนโปรด

1. ยาสึนาริ คาวาบาตะ
2. กาเบรียล กาเซียร์ มาเควซ
3. พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
4. จอห์น สไตน์เบ็ก
5. พาโบล เนรูด้า

หนังสือเล่มโปรด

1. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
2. South of the Border, West of the Sun ของ ฮารูกิ มูราคามิ / โตมร ศุขปรีชา แปล
3. โลกียชน ของ จอห์น สไตน์เบ็ก / อุษณา เพลิงธรรม แปล
4. เล่ห์เสน่หา ของ รพินทรนาถ ตะกอร์ / พงษ์เทพ แปล
5. แผ่นดินอื่น ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
 

You may also like...