ประกาย ปรัชญา

กวี “หนุ่ม” สามทศวรรษ  ประกาย ปรัชญา นามปากกาของกวีภาคตะวันออก ผู้ได้แรงดาลใจในการเขียนบทกวีจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนกลายเป็นต้นแบบให้กับกวีรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง ตราบวันนั้นจนวันนี้ แม้สังขารทางกายจะอ่อนล้าลงตามวัย แต่ความรักความศรัทธาที่หัวใจของเขามีต่อบทกวี ไม่เคยเสื่อมถอยด้อยลง

แม้บนเส้นทางกว่าสามทศวรรษจะร้างไร้รางวัลใหญ่มาประดับเกียรติ แต่ในวงกวีและนักเขียนหาได้อนาทรร้อนรน หากยกให้เขาเป็น “ราชันย์ไร้มงกุฎ”

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

ผมเริ่มเป็นนักเขียนเพราะในวัยเด็กชมชอบการอ่าน โดยเฉพาะหัสนิยายชุดสามเกลอ ของ ป.อินทรปลิต นับเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในโลกพิเศษใบหนึ่ง…โลกแห่งการอ่าน จากนั้นค่อยๆ เติบโตมากับนวนิยายเริงรมย์ในนิตยสารบางกอก นิยายและเรื่องสั้นในนิตยสารฟ้าเมืองไทย พ็อกเก็ตบุ๊คของสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว บรรณกิจ และประพันธ์สาส์น ตะลุยอ่านด้วยความลุ่มหลง แทบลืมการไปโรงเรียนไปเลย ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคนั้น รู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่ รู้สึกว่าโลกภายในเปลี่ยนไปแล้ว จากวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทยซึ่งเป็นวรรณกรรมกระแสหลักในขณะนั้น ผมก็เริ่มทำความรู้จักกับวรรณกรรมจากต่างประเทศ เรื่อยมาจนทุกวันนี้
ส่วนการเขียนนั้นก็เริ่มควบคู่มากับการอ่าน หัดเขียนเรื่องตลก เรื่องผี เรื่องบู๊…ก็ตามประสาเด็กเล็กๆ น่ะครับ มาเขียนอย่างเอาจริงเอาจังก็คือบทกวีแนวการเมืองและสังคม ตอนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกวันนี้ เนื้องานของผมก็คลี่คลายไปจากจุดเดิมมากแล้ว…

ด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นกัน…ผมยังเป็นนักเขียน เพราะผมชมชอบการเขียน

 

คุณลักษณะของ “กวี” และ “ต้นแบบ” ในการเขียนกวี

ความจริงใจที่มากด้วยฝีมือ…แต่แม้ไม่อาจมีคุณลักษณ์ทั้งสองอย่างพร้อมกัน ก็ขอให้เป็นความจริงใจก่อน ฝีมือเป็นสิ่งซึ่งตามมาภายหลังได้ ส่วน “ต้นแบบของการเขียน” นั้น ผมอยากจะใช้คำว่า “แรงบันดาลใจ” น่าจะถูกตรงกว่า ผมมีกวีและนักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจอยู่หลายคนครับ ที่ประทับอยู่ในใจไม่รู้ลืมก็เช่น คมทวน คันธนู, พนม นันทพฤกษ์, กรณ์ ไกรลาศ, มกุฏ อรฤดี, พิบูลศักดิ์ ละครพล

 

ปณิธานสูงสุดในฐานะ “กวี”

ครั้งเป็นเด็กหนุ่มผมคงเคยมีปณิธานสูงสุดสักอย่างหนึ่งกระมัง อาจเป็นว่าต้องการมีส่วนผลักดันสังคมอุดมคติให้เป็นจริง…แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าปณิธานระดับไหนก็ฝ่อไปหมดแล้วครับ ขอแค่ว่า ถ้าบทกวีของผม ไม่ว่าโดยรูปแบบหรือเนื้อหา จะสามารถไปจุดประกายในจิตใจของผู้ที่ได้อ่านมันเข้า เท่านี้ก็นับว่าผมทำได้อย่างที่ตั้งใจแล้ว

บทกวีของผมถูกอ่านโดยกลุ่มผู้อ่านที่เล็กมากกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีโอกาสได้พบปะผู้อ่านที่ให้ความใส่ใจต่องานของผม เป็นสิ่งซึ่งให้กำลังใจผมอย่างมากมาย

 

หลักในการทำงาน

บทกวีแต่ละชิ้นอาจมีคุณภาพมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น ประเด็นที่นำเสนอ, ความรู้สึกนึกคิดตกผลึกจริงแท้แล้วหรือไม่, ความไหลลื่นที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวะเวลา และอื่นๆ…

คุณภาพอาจไม่เสมอกัน แต่สิ่งที่ผมทำอย่างเสมอภาคคือความประณีต…ผมตั้งใจให้ความประณีตที่เพียงพอต่องานทุกชิ้น

ในความเป็นกวี อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”
พรสวรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ทุกคนสามารถสร้างพรแสวงให้กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในทางศิลปะ พรแสวงช่วยให้เราไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พาเราค้นพบทักษะและระดับความเข้าใจใหม่ๆ ได้

สำหรับผม พรสวรรค์ก็เหมือนราก และพรแสวงคือการต่อยอด

 

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

เนื้อหาที่สร้างสรรค์สติปัญญา มุ่งยกระดับอารมณ์ความรู้สึกและวิจารณญาณของผู้คน กับรูปแบบที่มีคุณค่าทางศิลปะ เนื้อหาคือ “หัวใจ” รูปแบบคือ “ร่างกาย” ขาดสิ่งหนึ่งอีกสิ่งก็ตาย ดังนั้น ต้องพึ่งพาและขึ้นตรงต่อกัน

 

มอง “วงการวรรณกรรมไทย”

ผมเป็นคนนอกวงการนะ แม้จะเขียนหนังสือมานานแต่ก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ข้างนอก…คบหาใครเท่าใดก็คบหาอยู่เท่านั้น แทบไม่ได้รู้จักคบหาใครใหม่ๆ เลย นานๆ ถึงจะเข้ามาสัมผัสแวดวงสักที

สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้จากระยะไกลก็คือ รางวัลวรรณกรรมยิบย่อยน้อยใหญ่มากมายได้กลายเป็นลมหายใจของแวดวง ได้กลายเป็นชีพจรของนักเขียนและกวีไปแล้ว จึงไม่แปลกที่เราได้เห็น “นักเขียนสายพันธุ์ล่ารางวัล” เกิดขึ้นในยุคนี้

เป็นการดิ้นรนหาทางออก หาทางรอด หรือเป็นทางที่ต้องเดินของนักเขียนไทย หรืออย่างไรผมก็ไม่ทราบ

 

ที่ทางและทิศทางของ “วรรณกรรมสร้างสรรค์”

โดยภาพรวม ดูแล้วที่ทางน่าจะตีบตัน ส่วนทิศทางข้างหน้าก็คงมีพัฒนาการไปเป็นลำดับ จากนักเขียนตัวความหวังหลายๆ คน แต่ “ทิศทาง” ที่มีความหวังนี้จะสามารถช่วยขยายความตีบตันของ “ที่ทาง” ได้บ้างหรือเปล่า ยังเป็นปริศนาอยู่

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...