นักเขียนผู้สถาปนา Thai-writer.com นิวัต พุทธประสาท เป็นชื่อจริง-นามสกุลจริงของนักเขียนหนุ่มใหญ่ชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ อันเป็นสถานบ่มเพาะนักเขียนชื่อดังมาหลายต่อหลายคน จึงไม่แปลกที่เขาจะหลงใหลในกลิ่นน้ำหมึก ก่อนตัดสินใจเดินสู่เส้นทางวรรณกรรมอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2534 และได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมจากผลงานเรื่องสั้น “ภาพสุดท้าย”
มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม และเป็นผู้ก่อตั้ง Thai-writer.com เว็บไซต์วรรณกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนทัศนะในแวดวงวรรณกรรมที่ใหญ่และครึกครื้นเฮฮาที่สุดในประเทศ
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
เริ่มจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านมาก อ่านทุกวัน และเราเป็นคนชอบคิดและอยากนำเสนอความคิดของเราออกไปในแง่ที่เป็นศิลปะด้วย จึงมองว่าการเขียนบทกวี เรื่องสั้น และนิยาย เป็นเหมือนตัวแทนของการทำงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ทุกวันนี้ยังเขียนอยู่ เพราะการเขียนเหมือนลมหายใจ จะหยุดเขียนเมื่อปราศจากลมหายใจเช่นกัน
คุณลักษณะของนักเขียนที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
นักเขียนที่ดีต้องมีวินัย ขยัน สืบค้นข้อมูลในการเขียนตลอดเวลา ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา ส่วนต้นแบบนักเขียนที่ทำให้เราอยากเป็นนักเขียนคือ ศรีบูรพา
วิธีการทำงาน
วิธีการเขียนของผมคือ 1.ตั้งประเด็นขึ้นมาก่อน 2.ตัวละครที่จะดำเนินเรื่อง ความขัดแย้งของตัวละครกับเหตุการณ์ ก่อนจะนำไปสู่จุดจบ
ในความเป็นนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างพรสวรรค์กับพรแสวง
พรแสวงสิครับ ผมเกิดในโลกวรรณกรรมด้วยพรแสวง ผมไม่เคยมีพรสวรรค์จากพระเจ้า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากระเบียบวินัย และความตั้งใจจริงทั้งนั้น ช่วงที่เขียนหนังสือแรกๆ ผมเขียนเรื่องสั้นเดือนละสามสี่เรื่อง และทุกครั้งที่เขียนต้องการพัฒนาให้เขียนดีขึ้นด้วย
ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน
เขียนงานที่มีพลังสักหนึ่งเล่ม
สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
คือการได้นำเสนอความคิด ความรู้สึก ต่อผู้อ่านอย่างมีศิลปะและสร้างสรรค์
ทัศนะต่อรางวัลทางวรรณกรรมในปัจจุบันที่มียิบย่อยมากมายเหลือเกิน มันสะท้อนถึงอะไร
รางวัลวรรณกรรมเป็นเพียงหมุดหมายหนึ่งของนักเขียน แต่ละรางวัลก็มีจุดหมายของตน แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาในปัจจุบัน รางวัลวรรณกรรมนับตั้งแต่ซีไรต์ที่ใหญ่ที่สุด คนให้ความสำคัญมากที่สุด ก็อ่อนแรงลงไป เพราะตัวรางวัลนับวันจะพร่าเลือนไม่ชัดเจน การเป็นรางวัลสร้างสรรค์ไม่ใช่รางวัลส่งเสริมการอ่าน แต่ปัจจุบันรางวัลซีไรต์เหมือนรางวัลส่งเสริมการอ่านมากกว่า ส่วนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดกับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีรางวัลยิบย่อยไปหมด ส่วนเป้าหมายของรางวัลก็อ่อนด้อยจนไม่รู้ว่าให้รางวัลเล่มนี้เล่มนั้นเพราะดีเด่นอย่างไร คือภาพรางวัลไม่สะท้อนความหมาย
มองวงการวรรณกรรมไทย
คนไทยไม่มีรากของการอ่านหนังสือมาก่อน ลองกลับไปดูประวัติศาสตร์แล้วต้องบอกว่าไม่น่าจะถึง 100 ปีสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งมันน้อยมาก ผิดจากคนยุโรปที่เขาอ่านหนังสือกันมานานนับตั้งแต่มีระบบการพิมพ์หนังสือ จึงไม่แปลกที่งานวรรณกรรมจะอ่อนแรงลง เมื่อมีสื่อบันเทิงอื่นๆ ที่สนุกกว่า เข้าถึงง่ายกว่า มาให้ประชาชนได้เสพ ถ้าจะบอกว่าเมื่อก่อนหนังสือขายได้ดีกว่านี้ ก็ต้องบอกว่ากลุ่มหนังสือที่ขายดีก็คือกลุ่มหนังสือบันเทิงนั่นเอง
“ที่ทาง” และ “ทิศทาง” ของวรรณกรรมสร้างสรรค์
มันต้องเดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้ากลุ่มเล็กแต่เน้นคุณภาพให้มาก น่าจะดีกว่ากลุ่มใหญ่แต่ขาดคุณภาพ ซึ่งผมมองว่าน่าจะมีอนาคตต่อไปแบบเล็กๆ
นักเขียนคนโปรด
นักเขียนคนโปรดของผมมักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่ได้อ่านงานนั้น แต่ถ้าจะตอบก็มีศรีบูรพา นักเขียนไทยที่เต็มเปี่ยมอุดมการณ์, อัลแบร์ กามู ผู้ทำให้ความไร้สาระเป็นเรื่องน่าถกเถียง, กาเบียล กาเซีย มาร์เกซ นักเขียนมหัศจรรย์, เคนซาบุโร่ โอเอะ ผู้เรียบนิ่งและต่อสู้กับตัวเอง, ฟีโอดอร์ ดอสโตยเยฟสกี้ ผู้แปรความอ่อนแอเป็นพลัง, แดนอรัญ แสงทอง ปอกเปลือกตัวตนให้โลกได้แลเห็น, ฮารุกิ มูราคามิ โรแมนติก วิญญาณ และความน่าเบื่อหน่าย, จอห์น สไตลเบค แปรเปลี่ยนความยากไร้เป็นเสียงหัวเราะ
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย