Miramar หรือในชื่อภาษาไทยว่า แดนคนเดน ผลงานของ นากิบ มาห์ฟูซ (Naguib MahfouZ : ค.ศ. 1911-2006) นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1988 ชาวอียิปต์
อ่านแล้วก็ต้องรู้สึกแปลกใจเล็กๆ ที่ตัวเองเลือกหยิบเอานวนิยายที่พูดถึงสังคมอียิปต์หลังการปฏิวัติมาอ่าน ในช่วงเวลาที่การเมืองการปกครองของบ้านเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
หนังสือเล่มนี้มีการพูดถึงการปฏิวัติ แต่ก็ไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วมหรืออวลกลิ่นอายปฏิวัติจนผู้เขียนเคลิ้มคล้อยไปได้มากนัก คงเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่อยู่ห่างจนเกือบจะคนละซีกโลก ทำให้การปฏิวัติของอียิปต์กับการปฏิวัติในไทยมีหลายๆอย่างที่แตกต่างกัน กอปรทั้งมาห์ฟูซเองก็ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอการปฏิวัติจ๋าvหากแต่พูดถึงชีวิตของตัวละครหลังจากที่การปฏิวัติจบลงแล้ว ผู้เขียนจึงมองการปฏิวัติใน Miramarว่าไม่ใช่ฉากที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อเรื่อง เหมือนที่สำนักพิมพ์ พิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ออกมาเป็นภาษาไทย รวมถึงตัวผู้แปล พยายามนำเสนอว่าการปฏิวัติเป็นสิ่งที่เลวร้ายและมันทำให้คนดีๆกลายเป็นคนเดนคนดังชื่อเรื่องภาคภาษาไทย
ผู้เขียนมองว่าการปฏิวัติเป็นเพียงแค่ฉากของนวนิยายเรื่องนี้ ที่เหมาะสมแก่การนำมาช่วยขับดันแก่นที่มาห์ฟูซต้องการนำเสนอ ซึ่งไม่ใช่ภาวะการกลายเป็นคนเลวของคนดี หลังจากที่การปฏิวัติเกิดขึ้นแต่คือภาวะที่โลกสมัยใหม่ ดึงผู้คนให้ห่างไกลออกจากความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม และความดีงามจนผู้คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบ อะไรคือสิ่งที่ดีงาม อะไรคือสิ่งเลวทราม พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งฉากที่เหมาะควรแก่การใช้ขับดันแก่นนี้ก็คงไม่มีฉากไหนเหมาะสมและเปี่ยมอารมณ์ร่วมไปได้มากกว่าฉากของการปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติเองในแง่หนึ่ง ก็คือการปฏิเสธการปกครองสมัยเก่า การไม่เชื่อ สงสัย กระทั่งรับไม่ได้ จนเกิดเป็นความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองในรูปแบบที่ตนเชื่อ มันคือภาวะของผู้คนในโลกยุคสมัยใหม่ ที่เคลือบแคลงต่อโลกยุคเก่า กระทั่งไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา และอยู่ร่วมกับมันไม่ได้อีกต่อไป
Miramar คือชื่อของเรือนแรมอันเป็นฉากหลักของเรื่อง และเป็นที่ที่เหล่าตัวละครของเรื่องมาพบและปฏิสัมพันธ์กัน ไล่ตั้งแต่ อาเมอร์ วักดี นักหนังสือพิมพ์รุ่นลายคราม ผู้ผ่านประสบการณ์ต่างๆมามากมาย มาเรียนา หญิงสูงวัยเจ้าของเรือนแรม ผู้หลงติดอยู่ในรสนิยมชั้นสูง ทอลบา มาร์ซุก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศาสนา ผู้ถูกยึดทรัพย์หลังจากการปฏิวัติ ซอห์รา ซาลามะ สาวชาวไร่ผู้หนีออกจากบ้านเพราะไม่อาจรับได้กับการคลุมถุชน อุสนี อัลลัม นักธุรกิจมือเติบบ้ากาม มันซูดร์ บาฮี โฆษกสถานีวิทยุกระจายเสียง ผู้น้ำนิ่งไหลลึก และซีรฮาน อัล เบไฮรี สมุห์บัญชีจอมเจ้าชู้
ทั้งหมดมาพบกันที่ Miramar และก็เป็นที่ Miramar นี้เองที่เหตุการณ์ความวุ่นวายนานาเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการชู้สาวที่มีซอห์รา ซาลามะ เป็นศูนย์กลาง
ซอห์รา เป็นสาวงามผู้บริสุทธิ์ แม้จะดูอ่อนโลกแต่ก็แข็งแกร่งอยู่ในที ความงามของเธอทำให้ชายทั้งหลายใน Miramar ล้วนจ้องเธอตาเป็นมัน ซึ่งนักวิจารณ์ตะวันตกและผู้แปลต่างเห็นตรงกันว่า ซอห์รา คือสัญลักษณ์แทนประเทศอียิปต์ ที่อุดมสมบูรณ์ มีเสน่ห์ และเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนั่นทำให้อียิปต์กลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนสมัยใหม่ที่หมายมุ่งจะเข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์จากแผ่นดินแห่งนี้ ตีความในมุมนี้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ผู้เขียนขอตีความในอีกมุมหนึ่ง มุมที่ซอห์รา สาวใช้ชาวไร่ คือ สัญลักษณ์แทนมนุษย์บริสุทธิ์ มีความคิดความอ่าน แต่ยังศรัทธาในความดีงามของพระผู้เป็นเจ้า มองในมุมนี้ ซอห์รา อาจเป็นมนุษย์ยุคสุดท้ายของพระคัมภีร์ เป็นมนุษย์สมัยใหม่ที่ก้าวพ้นจากความเชื่อโบราณที่ไร้เหตุผล แต่ก็ยังศรัทธาในความดีงามของหลักศีลธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนด ปัญหาคือเธอดันพาตัวเองเข้ามาอยู่ในโลกสมัยใหม่ ที่คนไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป มันเป็นโลกของทุนนิยมเสรีอันไร้ขอบกำกับ โลกที่คนมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยดวงตาของนักธุรกิจ กำไร เม็ดเงิน ผลประโยชน์ กิเลสตัณหา ฯลฯ
ผลสุดท้ายคือ ซอห์รา กลายเป็นผู้เจ็บช้ำจากภาวะของโลกใหม่ ที่แสดงผ่านซีรอาน อัล เบไฮรี จอมเจ้าชู้ ผู้ที่แม้จะเป็นชายที่ซอห์ราหลงรักจากวิญญาณ แต่เพราะเธอไม่มีเงิน ไม่มีฐานะทางสังคม เขาจึงเลือกที่จะไปแต่งงานกับหญิงอื่นที่มีเงิน มีหน้าที่การงานน่ายกย่อง และมีฐานะทางบ้านเข้าขั้นดี เช่นเดียวกับ อุสนี อัลลัม นักธุรกิจบ้ากามที่คอยเอาแต่ตามตื้อซอห์ราไม่หยุดหย่อน โดยไม่สนใจว่าเธอไม่เล่นด้วย ครั้นถึงจุดที่ไม่อาจระงับอารมณ์ตัวเองได้อีกต่อไป เขาก็ใช้กำลังเข้าบังคับหมายจะข่มขืนเธอ รวมไปถึงมันซูรด์ บาฮี ผู้เป็นสัญลักษณ์แทนคนยุคสมัยใหม่ ที่มึนงงสับสนกับตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือตัวเองต้องการอะไรกันแน่ เขาแอบรักหญิงที่มีคนรักอยู่แล้ว กระทั่งดึงเธอมาได้ เขากลับพบว่าตัวเองหลงรักซอห์รา
แต่แล้วก็ต้องเจ็บช้ำไปเมื่อซอห์ราไม่เล่นด้วย
รักสี่เส้าของ 1 หญิงกับ 3 ชาย นำมาซึ่งการชกต่อยทะเลาะเบาะแว้งกันในเรือนแรม โดยมีรูปหล่อสัมฤทธิ์พระแม่มารีที่ตั้งต้อนรับแขกผู้มาเยือนของเรือนแรมยืนเป็นหัวหลักหัวต่อ เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าในโลกสมัยใหม่ตัวแทนของศาสนาไม่ได้รับความใส่ใจอีกต่อไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คงไม่มีใครน่าขยะแขยงและน่ากลัวเท่าทอลบา มาร์ซุก ผู้เร้นกายอยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ยี่หระต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนของใคร ไม่เคยช่วยเหลือใคร
แต่พร้อมจะวิ่งเข้าใส่ยามเมื่อเห็นประโยชน์อยู่ตรงหน้า
นี่คือผู้คนในโลกสมัยใหม่ ผู้คน ที่ซอห์รา กล่าวว่า คนอื่นๆรอบๆตัวเราทุกคน ประพฤติตัวราวกับไม่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าอยู่จริง แล้วผลสุดท้ายของการไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าหรือกล่าวให้จับต้องได้หน่อยก็คือการละทิ้งหลักศีลธรรมอันดี คือความมืดมนในจิตใจของคนผู้นั้น อันนำไปสู่ความไม่มีสุข อันนำไปสู่ความตายอย่างไร้เกียรติ ดังเช่นซีรฮาน เหมือนกับข้อความจากพระคัมภีร์ในเรื่องที่ว่า
ดุจความมืดมิดปิดคลุมมหาสมุทรสุดลึก
เหนือร่างเขาคือคลื่น เหนือคลื่นคือคลื่น เหนือคลื่นคือเมฆ
ความมืดทับกันหลั่นลดเป็นชั้นชั้น
เมื่อยื่นแขนออกไป มองไม่ค่อยเห็นแขน
เขาผู้อัลเลาะห์มิได้ประทานแสงสว่างให้จักไร้แสงสว่าง
ในโลกสมัยใหม่ ความเชื่อทางศานา ศีลธรรม กลายเป็นสิ่งเหลวไหลหลอกลวง เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เหมือนอย่างธนบัตรโลก จึงกลายเป็นเหมือนไม่ใช่โลกแต่แลคลับคล้ายคลับคลาเหมือนนรก อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ปีศาจ ดังตัวบทที่ว่า วาระสุดท้ายของมนูษยชาติในการตะกลามหาความสุข ที่แท้คือนรกชัดๆ
กระนั้น ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ ในเมื่อโลกสมัยใหม่จักกลายเป็นนรก แล้วคนดีๆผู้ศรัทธาในความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้าอย่างซอห์ราจะอยู่ได้อย่างไร? หรือทำได้เพียงแค่ถอนหายใจให้กับโลกสมัยใหม่ แล้วนั่งก้มหน้าอ่านพระคัมภีร์อย่างเดียวดายเหมือนอาเมอร์ วักดี พร่ำบ่นซ้ำถึงสิ่งที่ผู้คนไม่เชื่อถืออีกต่อไป
สรรพสิ่งย่อมสูญหายตายจาก
เหลืออยู่แต่สิ่งที่ได้รับความเห็นชอบ
จากพระผู้ทรงมหิทธานุภาพเกริกไกร
พระองค์ทรงสร้างมนุษย์
สอนให้พาที
บันดาลสุริยันจันทราขึ้นลงตรงกำหนด
สร้างดวงดาราและพฤกษชาติ
สร้างห้วงนภากาศ และแล้วก็ทรงบัญญัติศีล
สูเจ้าจะทำเกินเลยมิได้
สูจักต้องเคร่งครัด บกพร่องมิได้
ทรงสร้างปถพีไว้แก่ส่ำสัตว์
อุดมด้วยผลหมากรากไม้
ธัญญาหารและสมุนไพรกลิ่นหอม
ประทานให้ถึงเพียงนี้แล้ว สูยังไม่ยอมรับอีกหรือ ?
มาห์ฟูซ เขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 มาบัดนี้ เราเห็นโลกที่กลายเป็นนรกแล้วหรือยัง? หรือเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของนรกแห่งนี้จนมองไม่เห็นความจริงไปแล้ว
TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์