นักเขียนที่แท้จริงจะคิดเรื่องเงินเรื่องตลาดไม่ได้เลย เพราะถ้าคิดความต้องการนำเสนอที่แท้จริงมันจะเบี่ยงเบนไป นักเขียนผู้รจนาวรรณกรรมนั้นอยู่คู่สังคมอารยะมายาวนาน ไม่ว่าชนชาติใดย่อมจะมีนักประพันธ์เป็นเกียรติเป็นศรีแก่สังคม/ชุมชนนั้นๆ แม้กาลเวลาผันผ่านแต่ผลงานยังคงคุณค่าจารึกไว้ให้ผู้อ่านได้ซึมซับอรรถประโยชน์จากวรรณศิลป์อยู่มิรู้คลาย โดยไม่จำเป็นต้องประกาศจูงใจว่าตีพิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ หรือมีใครเขียนคำนิยมเชิดชูดังสมัยนิยมในปัจจุบัน ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 16
ผู้เป็นทั้งนักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรม เป็นอีกหนึ่งศิลปินผู้ไม่ยอมให้เงินตรามีค่าเหนือตัวอักษร
“เงินมันมีอิทธิพลต่อสังคมทุกส่วน ส่วนของนักเขียนเท่าที่สังเกตดู คนส่วนหนึ่งก็คิดเรื่องเงิน คนเขียนหนังสือส่วนหนึ่งก็คิดเรื่องเงิน คนขายหนังสือก็คิดเรื่องเงินด้วย เขียนหนังสือเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ตลาดต้องการเรื่องรักก็เขียนเรื่องรัก ตลาดต้องการเรื่องคนดังก็เขียนเรื่องคนดัง ตลาดต้องการเรื่องหนักๆ หน่อยก็เขียนเรื่องหนักๆ มันน่ากลัวเพราะว่ามันไม่ได้ให้เรื่องความจริงเกี่ยวกับชีวิตเลย เป็นการเคลื่อนไปตามกระแส คือคนอ่านที่ตามไม่ทันก็ต้องตามกระแสไปด้วยเหมือนกัน บางคนอาจจะเขียนให้เห็นว่านี่รักมันเป็นแบบนี้แล้วนะ ช่วยกันบ้าหน่อย ก็บ้าตามกัน”
“นักเขียนที่แท้จริงจะคิดเรื่องเงินเรื่องตลาดไม่ได้เลย เพราะถ้าคิดปั๊บไอ้ตัวความต้องการนำเสนอที่แท้จริงมันจะเบี่ยงเบนไปเลย นักเขียนจริงๆ เขาจะต้องทำให้เสร็จสำเร็จรูปออกมาก่อนตามที่ตัวเองต้องการ แต่ตลาดจะชอบหรือไม่ชอบนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่ตอนนี้ก็ยังอยู่แต่มีน้อยแล้ว ถูกกระแสตลาดกลบไป ไม่ใช่แต่นักเขียน งานศิลปะก็เป็นอย่างนี้ งานมันต้องออกมาจากใจของมนุษย์ ต้องออกมาจากความต้องการลึกๆ ข้างในของมนุษย์
“กวีก็เหมือนกัน เมื่อเขาต้องการจะแสดงออก เมื่อแสดงออกมาแล้วมันจึงเป็นงานศิลปะ เมื่อเป็นงานศิลปะแล้วคนก็เห็น คนมาดูก็เห็นว่า เออ! มันเป็นงานที่กระทบใจจังเลย มันไม่เกี่ยวกับเงิน แต่เงินมันมาประกอบกันเอง เช่นว่า มันกระทบใจจนเราต้องซื้อ หรือว่านักอ่านก็ว่า โอโฮ! หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วมันดีเหลือเกิน เราต้องติดตามคนนี้ต่อไป อย่างนี้มันก็เป็นลักษณะของการมาทีหลัง แต่ตอนนี้เงินมันนำหน้า พอเงินมันนำหน้าปั๊บก็กลายเป็นการเบี่ยงเบน และกลายเป็นสินค้าปกติ เวลาเราผลิตเยอะๆ เราก็ต้องการที่จะขายให้ได้เยอะๆ เพราะว่าเราอยากได้เงิน”
“ดิฉันยืนยันว่ายังมีนักเขียนที่ยืนหยัดสะท้อนความจริงอยู่ และคนอย่างนี้ก็ต้องการจะอยู่ด้วย ต้องการจะอยู่ให้ได้โดยปกติ คือกินน้อยอยู่น้อย อาจจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงหรืออะไรก็ตามแต่ คนพวกนี้เขาก็จะอยู่ ถ้าเป็นนักเขียนที่แท้เขาก็จะอยู่ทำงานอย่างนี้แหละ คนที่ทำงานด้วยอุดมคติวันหนึ่งคนก็จะเห็นคุณค่าของงานชิ้นนั้นเอง ถ้าเราไม่ยืนยัน ถ้าเราไม่บอกว่ามีนักเขียนเชิงอุดมคติอยู่สังคมก็จะนึกไม่ออก แล้วเขาก็จะลืมคนเหล่านี้ไปเลย”
“ดิฉันตั้งใจทำงาน หมายความว่าเราตั้งใจทำงานสะท้อนสิ่งที่เราต้องการออกไป โดยที่เราไม่ต้องไปคิดว่าคนอ่านมันไม่อ่านเรื่องแบบนี้ ตลาดเขาไม่เอา ถ้าเราอยากทำเราก็ทำ ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราอยากทำนั้นเราทำเพราะข้างในของเราต้องการ และเราต้องการจะบอกสังคมว่ามันเป็นอย่างนี้แหละสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเป็นอยู่ นั่นคือศิลปินที่แท้”
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย