นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2549 จากนวนิยาย “ ความสุขของกะทิ ” งามพรรณ เวชชาชีวะ
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
ดิฉันฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็คิดเสมอว่าการเป็นนักเขียนน่าจะเป็นงานที่อิสระดี ได้มีโอกาสใช้จินตนาการอย่างที่ตัวเองคิดไว้และก็ยังจะสามารถสร้างงานที่ทำให้คนอื่น เช่น คนอ่าน ได้รับความบันเทิงไปด้วย
แล้วก็คิดมาตลอดว่าถ้ามีโอกาส ก็อยากจะทำงานเขียนที่ให้ประโยชน์หรือให้ข้อคิดอะไรกับคนอ่านบ้าง
กว่าจะเริ่มต้นเขียนได้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเดินทางอ้อมมาไกลมาก เพราะตั้งต้นจากการทำงานแปลเนื่องจากเรียนทางด้านภาษา พอเรียนภาษาต่างประเทศก็ทำให้คิดว่าน่าจะใช้ภาษาต่างประเทศให้ได้เต็มที่ จึงไปเรียนทางด้านการแปล เมื่อจบกลับมาก็ทำงานแปลต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าน่าจะลองเขียนอะไรที่เป็นของตัวเองบ้าง แล้ว ‘ ความสุขของกะทิ ‘ ก็เป็นงานเขียนเรื่องแรกค่ะ
ส่วนที่ว่าอะไรที่ยังทำให้เป็นนักเขียนอยู่ อาจจะเป็นเพราะติดใจกับความสุขที่ได้ในช่วงที่เขียนหนังสือ เพราะมีความรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่ตัวเองอยากทำมานาน แล้วก็ทำได้อย่างที่คิดไว้ ได้รับความสนุกความพอใจในสิ่งที่ตนเองทำพอสมควร
คุณลักษณะของ “นักเขียน” และ “ต้นแบบ” ในการเขียนหนังสือ
คิดว่านักเขียนจะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในงานที่ทำ มีหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานที่ให้ความบันเทิงกับผู้อ่าน พร้อมๆ กับทำให้ผู้อ่านได้มีโอกาสสัมผัสในแง่มุมบางอย่างที่หากว่าไม่ได้ผ่านข้อเขียนก็คงไม่มีโอกาส เช่น อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดจากประสบการณ์บางอย่างของนักเขียนเอง ในขณะเดียวกันก็จะต้องทำให้มีมุมมอง แง่คิด ปรัชญาชีวิตบางอย่างที่ผู้อ่านสามารถจะรับได้ ซึ่งถ้าถึงขั้นนำไปปรับใช้ในชีวิตของตนเองก็คงเป็นเรื่องดี แต่ส่วนใหญ่นักเขียนก็จะทำเพียงหน้าที่ถ่ายทอดมุมมองรอบตัว กลั่นกรองออกมาเป็นสิ่งที่คิดว่าน่าสนใจค่ะ
ส่วนใครคือต้นแบบในการเขียนหนังสือ ก็คงต้องบอกว่าสมัยเด็กๆ นั้นอ่านหนังสือเยอะมาก อ่านงานของนักเขียนหลายๆ ท่านต่อเนื่องเรื่อยมา และก็คิดว่าน่าจะได้ซึมซับความสุนทรีย์หรือวิธีการเขียนของนักเขียนไทยมาหลายคน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงจะเป็นลักษณะของความงดงามทางวรรณศิลป์ของคุณกฤษณา อโศกสิน หรือการถ่ายทอดภาพออกมาได้อย่างมีสีสันฉูดฉาดของคุณสุวรรณี สุคนธา หรือลักษณะการบอกเล่าเรื่องซึ่งบอกน้อยแต่ได้มาก แล้วก็ถูกต้องตามความเป็นจริงของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
หลักในการทำงาน
ถ้าพูดถึงหลักของการทำงานเขียนก็คงจะบอกว่า ก็มีความตั้งใจเพียงทำงานในฐานะผู้รักที่จะสร้างสรรค์งานออกมาเป็นตัวหนังสือ ส่วนหลักการอะไรก็คงไม่มีนอกจากไม่เขียนอะไรที่จะทำให้เป็นพิษเป็นภัยกับผู้อ่านค่ะ ส่วนจะได้ข้อคิดมุมมองอะไรจากงานบ้าง ก็คงเป็นเรื่องของปัจเจกชนของผู้อ่านแต่ละคน
ระหว่างงานเขียนกับงานแปล คุณรักที่จะทำสิ่งไหนมากกว่ากัน
ที่ผ่านมาดิฉันแบ่งงานให้กับงานเขียนกับงานแปลโดยค่อนข้างจะโอนเอนไปทางงานแปลมากกว่า เนื่องจากทำมานานและก็ยังรับงานต่อเนื่องค้างไว้ ถ้าให้เลือกจริงๆ ก็คงจะยังทำทั้ง 2 อย่าง แต่อาจจะพยายามให้เวลากับงานเขียนมากขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 อย่างเป็นสิ่งที่ดิฉันมีความสุขในการทำ งานแปลนั้นให้ความสุขที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดและสัมผัสกับผลงานของนักเขียนต่างประเทศ แล้วก็ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสในสิ่งที่มีลักษณะเดียวกันจากภาษาต้นฉบับ ส่วนงานเขียนนั้นอาจจะรักมากกว่าหน่อยหนึ่ง ตรงที่ว่าเป็นงานที่เกิดขึ้นจากจินตนาการส่วนตัวทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นข้อขีดขั้น สำหรับงานแปลเรามีหน้าที่เพียงแค่ถ่ายทอดภาษา แต่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดยังเป็นของนักเขียนอยู่ดี
ปณิธานสูงสุดในฐานะ “นักเขียน”
คิดว่าไม่เคยตั้งปณิธานอะไรนอกจากแค่คิดว่าทำยังไงถึงจะเขียนหนังสือให้เสร็จสักเล่มหนึ่ง ทุกครั้งที่มีความคิดที่จะเขียนหนังสือ ก็มีความตั้งใจว่าขอให้เขียนจนจบเรื่องสมดังที่ตั้งใจ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้นเลยค่ะ
ในฐานะนักเขียน อะไรจำเป็นกว่ากัน ระหว่าง “ พรสวรรค์ ” กับ “ พรแสวง ”
คิดว่านักเขียนสมัยนี้จำเป็นจะต้องมีต้นทุนในตัวเองสูงพอสมควร คิดง่ายๆ แค่ว่าอยากจะเขียนอะไรก็ดูเหมือนว่าจะมีคนอื่นเขียนไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นงานที่เริ่มทำในวันนี้ก็จะต้องมีอะไรที่แตกต่าง หรือแปลกใหม่ ซึ่งคำว่าแปลกใหม่ ไม่ว่าจะด้านไหนของศิลปะ คงไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วสำหรับวันนี้ เพราะฉะนั้นก็คิดว่านักเขียนที่มีโอกาสอ่านงานเขียนของคนอื่นๆ มีโอกาสได้พบข้อมูลจริง ประสบการณ์จริงที่น่าสนใจ ก็น่าจะได้เปรียบกว่านักเขียนคนอื่น แล้วก็นอกจากนั้นก็จะอยู่ที่วิธีการนำเสนอว่าสามารถที่จะทำให้คนอ่านสนใจแค่ไหน และก็แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ว่าผลิตออกมาแล้วตรงกับความต้องการรสนิยมของตลาดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็เลยนึกไม่ออกว่าพรสวรรค์หรือพรแสวง อะไรสำคัญกว่ากัน
สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
สำคัญที่สุดก็ต้องเป็นเรื่องของความสมบูรณ์ทางวรรณศิลป์ คือจะต้องเป็นหนังสือที่ใช้ภาษาได้ดี ตรงกับความต้องการของผู้เขียน ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม การจะเขียนงานสักชิ้นได้ดีก็น่าจะต้องอยู่ที่การใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องงดงาม อันนี้คือส่วนสำคัญ นอกจากนั้นที่เหลือคือเรื่องของแนวคิดในการนำเสนอ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันเพราะเป็นแก่นของผลงานแต่ละชิ้น
มอง “วงการวรรณกรรมไทย”
อยากเห็นวงการวรรณกรรมไทยพัฒนาต่อเนื่องไป เพราะมีความรู้สึกว่าตลาดหนังสือในปัจจุบันนี้สัดส่วนของหนังสือแปลค่อนข้างจะสูงกว่าสัดส่วนงานเขียนของนักเขียนไทย ซึ่งไม่อยากให้นักเขียนไทยท้อแท้หรือกลายเป็นว่าสนามที่จะลงผลงานนั้นมีน้อยลง อยากเห็นสำนักพิมพ์ที่ยังคงเน้นหรือพยายามเฟ้นหาหรือพยายามสร้างนักเขียนใหม่ขึ้นมา อยากเห็นนิตยสารทั่วไปทำได้เหมือนที่สตรีสารสมัยก่อนเคยทำ นั่นคือฟูมฟักเลี้ยงดูนักเขียนและก็ช่วยให้เติบโต ผลิตผลงานได้เต็มที่ แล้วก็อยากเห็นคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนได้มีโอกาสทำได้จริง ซึ่งแค่คิดก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าความสำคัญของปากท้องต้องมาก่อน ที่ว่านักประพันธ์ไส้แห้งก็คงยังมีความจริงอยู่ แต่ก็ได้แต่หวังว่ายังมีคนที่สนใจและพยายามสร้างงานเขียนต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้งานวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน พัฒนาไปได้
ส่วนที่จะให้เทียบเคียงกับวรรณกรรมต่างประเทศนั้นก็คงเป็นเรื่องค่อนข้างจะมีรายละเอียดเยอะ คิดแค่ว่าแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะการอ่าน ลักษณะการมองสังคมที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้นการผลิตงานก็ย่อมมีลักษณะต่างกันไป แต่ก็คิดว่าอยากให้วรรณกรรมไทยในแวดวงมีความหลากหลาย มีความใจกว้าง และมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะท้าทาย และทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
“ รางวัล ” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรมไทย
ถามว่าจำเป็นไหม ดิฉันก็ไม่คิดว่ามีความจำเป็น แต่ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยผู้คนในสังคมในวงกว้าง ซึ่งอาจจะมีเวลาน้อย หรือไม่มีความสันทัดในการเลือกเรื่องว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ดี การให้รางวัลอาจจะเป็นตัวช่วยให้คนในสังคมรู้ว่าเล่มนี้คือสิ่งที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีกติกาการคัดเลือกเช่นนี้ๆ เลือกให้เล่มนี้ได้รางวัล ก็อาจจะทำให้คนทั่วไปสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นแรงท้าทายหรือแรงกระตุ้นให้คนในสังคมหรือคนในแวดวงวรรณกรรมเองสนใจที่จะผลิตงาน ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ผลิตงานโดยตรงเพื่อรางวัล แต่การมีอยู่ของรางวัลก็เป็นของขวัญเป้าหมาย ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไร ส่วนที่ว่าถ้ารางวัลไปให้ความสำคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเสียความสมดุลในวงการไป อันนั้นก็คงเป็นเรื่องไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัววงการและนักเขียนเองด้วย
“ ที่ทาง ” และ “ ทิศทาง ” ของ “ วรรณกรรมสร้างสรรค์ ”
คนมักมองว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์เป็นหนังสืออ่านยาก แต่ดิฉันคิดว่าคำว่าสร้างสรรค์ไม่น่าจะจำกัดรูปแบบ จะอ่านง่ายอ่านยาก จะซับซ้อนแค่ไหน ก็น่าจะอยู่ที่ว่างานชิ้นนั้นลงตัวหรือเปล่า น่าจะมีที่ทางให้กับวรรณกรรมสร้างสรรค์ในวงการวรรณกรรมไทยอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าคอหนังสือคงไม่จำกัดตัวเอง หนังสือที่ดีไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแบบไหนก็คงจะได้รับความสนใจ
ส่วนทิศทางของวรรณกรรมสร้างสรรค์ดิฉันก็มองอย่างคนนอก ก็คิดว่าคงต้องใช้เวลากว่าที่จะเกิดการพัฒนาจนเรียกได้ว่าถึงจุดที่เป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงวรรณกรรมไทยเองและในต่างประเทศ
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย