สกุล บุณยทัต

“นักเขียนคือนักผจญภัยทางจิตวิญญาณ”  สกุล บุณยทัต-นักเขียนและนักวิชาการที่มีความสามารถสร้างผลงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งบทละคร เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ นวนิยาย นิทาน สารคดี บทภาพยนตร์ บทเพลง บทวิจารณ์ รวมถึงบทความวิชาการด้านต่างๆ สกุลเคยมีผลงานรวมเรื่องสั้นผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2536 คือเรื่อง “ขณะหนึ่ง…ขณะนั้น”

ปัจจุบัน สกุล หรือ “ครูหนู” ของลูกศิษย์ รับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชานาฏยสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังทำงานด้านศิลปวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน
ความสุขจากการที่อยู่กับตัวเอง เป็นลูกคนเดียว อยู่ในชนบท จึงได้ศึกษาเรื่องต่างๆ เหมือนเพ้อฝัน เล่าให้ตัวเองฟัง…จดจำสิ่งเหล่านั้น และมีโอกาสได้ลองเขียนเป็นเรื่อง…มันพอจะอ่านได้ กลายเป็นบันทึกความทรงจำในเชิงจินตนาการไป แต่ที่สำคัญเมื่อเข้าเรียนโรงเรียนคริสต์ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย ได้ฟังเรื่องเล่า และเนื้อหาสาระอันเป็นอัศจรรย์ที่ถูกถ่ายทอดจากคัมภีร์ไบเบิลซ้ำๆ กันแทบจะทุกวัน สิ่งนี้กลายเป็นความซึมซับในเชิงภาษา รับรู้ไม่ว่าจะเป็นในเชิงพรรณนาหรือเล่าความให้ออกมาอย่างเป็นศิลปะ และเห็นถึงความงดงามในเบื้องลึกของจิตใจ…เป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว แต่มันก็ทำให้ผมกลายเป็นคน (อยาก) เขียนหนังสือ…รักที่จะบันทึกความทรงจำที่แปลกต่าง และมองเห็นความลึกลับในเนื้อในของมิติแห่งการประพันธ์ ที่ผมคิดว่ามีรายละเอียดซับซ้อนและต้องฝึกฝน ใคร่ครวญอยู่ตลอดไป…ความสุขจากการเขียนเกิดขึ้นตรงนี้ และส่งผลให้ผมรักที่จะทำงานในด้านนี้ไปอย่างไม่รู้ตัว

อะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
ก็ด้วยคำตอบข้างต้น…ถึงวันนี้ทุกสิ่งมันดำเนินไปตามวิถีของมัน…ผมยังคงเขียนหนังสือ…แม้จะไม่ค่อยได้ตีพิมพ์สู่สาธารณะ แต่ก็ยังเขียนอะไรต่อมิอะไร สนองอารมณ์ปรารถนาเพื่อความสุขในการเขียนอยู่เสมอ เขียนกวีนิพนธ์ไว้มากมาย เอามาแปรรูปเป็นการแสดงเดี่ยวในลักษณะของละครเวที เขียนบทละครเวที (อย่างน้อยก็ปีละเรื่องเพื่อเปิดการแสดงเป็นละครประจำปีของภาควิชาที่สอนอยู่) ยังคงเขียนเรื่องสั้น (อันนี้คงได้ฤกษ์พิมพ์ออกมาเสียทีเพราะเป็นงานที่รัก) ยังมีนวนิยายที่เขียนค้างปีอยู่ (จะพยายามทำให้จบให้ได้อย่างช้าก็ภายในปีนี้)…ส่วนที่ต้องเขียนประจำก็คือคอลัมน์เกี่ยวกับภาพยนตร์ใน “Film & Stars” (คุยคุ้ยหนัง)…จริงๆ แล้วผมต้องรับผิดชอบงานประจำด้านการสอนหนังสือค่อนข้างมาก…เวลาที่จะทำงานด้านการเขียนจึงมีอยู่น้อยมากและไม่ใช่เวลาที่เรียกว่า “Prime Time” ต้องอาศัยช่วงพัก…ช่วงว่าง ทำในสิ่งที่เป็นความสุขนี้…ผมถือว่าเมื่อรักจะเป็น “คนเขียนหนังสือ” ก็ต้องเขียน แม้จะมีอุปสรรคต่อความคิด จิตใจ และอารมณ์สักเพียงใดก็ตาม…ก็ต้องพยายามสร้างพลังในหัวใจขึ้นมา…งานเขียนที่เป็นผลงานออกมาในแต่ละชิ้นก็เป็นเหมือนเครื่องมือชุบชีวิตของเราให้โลดแล่นไปอย่างมีค่าและมีชีวิตชีวาได้…ผมรู้สึก และเชื่อเช่นนั้น

คุณสมบัติของนักเขียนที่ดี
ผมว่าคนที่จะเป็นนักเขียนต้องรักในงานเขียนจริงๆ มากกว่าจะหวังถึงชื่อเสียงล้วนๆ…ความเป็นภูมิปัญญาของนักเขียนคนหนึ่งอยู่ที่การมองโลกโดยองค์รวมอย่างเข้าใจ…ได้เห็น…ได้ยินสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือภาวการณ์ จะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เราต้องตระหนักรู้ถึงเหตุและผลแห่งการบังเกิดของมันอย่างแท้จริง…สังเกตชีวิตให้มากๆ…รู้จักสัมผัสผู้คนในเชิงชีวิตอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง…ผมถือว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก…เราต้องแสวงหาประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม…ออกเดินทางให้มาก…อ่านหนังสือให้เยอะ จับมิติของชีวิตให้ได้ในหลากหลายแง่มุม…ผมว่าการเป็นนักเขียนเป็นเรื่องที่ยาก (แต่ดูเหมือนหลายคนในปัจจุบันจะเข้าใจว่ามันง่าย)…ยากตรงการรู้จักสร้างสรรค์ เป็นต้นแบบ ไม่ใช่จ้องจะเลียนแบบให้เป็นเหมือนใครคนใดคนหนึ่ง…แต่เราต้องเป็นเรา…ผลงานของเราต้องเป็นตราของเรา…งานมันถึงจะมีพลังทั้งรูปแบบและเนื้อหา แต่ประเด็นสำคัญที่สุดของความเป็นนักเขียนที่ผมถูกสั่งสอนมา และผมประจักษ์ในสัจธรรมข้อนี้คือ…เป็นนักเขียนต้องถ่อมสุภาพ…รู้จักถ่อมตนให้เป็น อย่าหลงติดกับความสำเร็จของงานเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง…เพราะนั่นถือเป็นบทเริ่มต้นของการพัฒนางานในชิ้นต่อๆ ไป…นักเขียนในบ้านเราในวันนี้ ติดจะมี “Ego” กันมากเกินไป…สำคัญตนว่าเป็นนักเขียนใหญ่กันได้เร็วและง่ายเหลือเกิน…นี่คือความเป็นไปในการตัดสินใจเป็น…ซึ่งผมคงเข้าไปก้าวล่วงอะไรไม่ได้…ผมจึงเพียงแต่คิดได้ว่า…ถึงจะเขียนหนังสือมานานแต่ผมก็เป็นเพียง “คนเขียนหนังสือเล็กๆ” ที่ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการเขียนต่อไป…ถึงวันนี้ผมอาจจะต้องพยายามให้ข้อสรุปว่าผมเลือกนับถือ “ผลงานเขียน” มากกว่าจะไปคำนึงถึงความเด่นดังของ “นักเขียน” เฉพาะตัว ที่ถูกปรุงแต่งและสร้างขึ้นเสียแล้ว

ต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
อย่างที่ได้บอกไปแล้ว…ผมซึมซับในคัมภีร์ไบเบิล…ชอบเนื้อหาสาระและท่วงทำนองของบทเพลงที่ร้องกันในโบสถ์…มันไพเราะงดงาม และเป็นท่วงทำนองแห่งกวีนิพนธ์ที่สูงค่า…ผมหลงใหลในบทเพลงของ “จิม มอริสัน” จากวง “The Doors” สมัยนั้นถือกันว่าเป็น “เทพเจ้าของคนรุ่นใหม่” ชอบภาษา…วิธีคิด และการจุดประกายในเชิงสำนึกที่ปรากฏออกมาในบทเพลงของเขา ในดนตรีของพวกเขา…ผมเรียนรู้ความงามของอารมณ์ในสำนึกคิดที่เปี่ยมปิติของ “คาริล ยิบราน” จดจำ…ท่องจำกวีนิพนธ์ของเขา อยากมีผลงานเหมือนอย่างที่เขามี…อยากเป็นคนเขียนเรื่องราวให้ได้อย่างที่เขาเป็น…(อันนี้เป็นความใฝ่ฝัน)…ชอบปรัชญาของ “นิทเช่” (อันนี้ถือเป็นความบ้าคลั่งในยุคหนึ่งจริงๆ) ชื่นชมและตระหนักในความเป็นชีวิตจากงานเขียนของ แมกซิม กอร์กี้…จอห์น สไตน์เบค และ เออเนสท์ เฮมมิงเวย์ (หนังสือของพวกเขาทุกเล่มคือแรงผลักดันด้านลึกในการทำงานของผมเสมอมา)
สุดท้าย…ผมพบแสงสว่างในวิถีแห่งการเขียนเรื่องสั้นจาก “กรณ์ ไกรลาศ” คุณปกรณ์ พงศ์วราภา…(นี่คือนักเขียนในดวงใจของผมเสมอ)…เขาเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นเหมือนครูนอกสถาบันการศึกษาที่ทำให้การเป็นนักเขียนของผมเติบใหญ่ขึ้นมาได้จนทุกวันนี้ และผมไม่เคยลืมคำสอนสั่ง…อันถือเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจที่ได้รับจากเขาอย่างล้ำค่า

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน
ผมเคยคิดอยากจะเขียนหนังสือให้ได้ในทุกประเภท…อยากจะให้มันพอมีคุณค่าแก่ผู้อ่านบ้าง…ถึงวันนี้ความหวังของผมก็ได้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาแล้ว ผมเขียน บทละคร เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ นวนิยาย นิทาน สารคดี บทภาพยนตร์ บทเพลง บทวิจารณ์ (วรรณกรรม/หนัง/ละคร) เขียนบทความวิชาการด้านต่างๆ ฯลฯ แต่ละส่วนก็ส่งผลลัพธ์ของมันออกมาให้พอได้ชื่นใจนะครับ…เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ และเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาทั้งความเป็นศาสตร์และศิลป์…เป็นปณิธานเล็กๆ ที่ก่อความสุขได้ตามสมควรละครับ

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหนและจบลงที่ไหน
ผมเริ่มต้นทำงานด้วยความคิด เขียนงานออกมาจากความคิด แปรความคิดเป็นภาพและความหมายที่ลึกซึ้งต่างๆ เหตุนี้สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานเขียนของผมจึงเป็นเสมือนแบบจำลองทางความคิดของเรื่องแต่ละเรื่อง ประเด็นสาระในแต่ละประเด็น…อยากให้คนอ่านสนุกกับความคิดในเรื่องมากกว่าที่จะไปหลงติดกับความเป็นสถานการณ์ของเรื่องราว ซึ่งตรงนี้…เมื่อเรื่องจบลงแล้ว ผู้อ่านจะได้ข้อคิดไปขบคิดต่อ…ผมถือว่าการทำงานแบบนี้เป็นงานที่ยาก การเล่นกับความคิดเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัว…บางทีก็เป็นปัญหาในการสื่อสารเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าการถอดรหัสความคิดในการประพันธ์เป็นเสน่ห์อย่างยิ่งต่อการรับรู้และเรียนรู้…ผมสร้างงานในทุกๆ ประเภทด้วยบทเริ่มต้นและบทจบของเรื่องด้วยปริศนาทางความคิดเช่นนี้เสมอมาและไม่เคยเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
ผมคิดว่า “ความน่าทึ่ง” (Sublimity) ในแง่มุมของสุนทรียศาสตร์ทั้งด้านสาระความคิด และการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวเป็นสำคัญ…มันถือเป็นต้นแบบ (Originality) ของการนำเสนอประเด็นทางวรรณกรรมที่โดดเด่นที่สุดและเป็นจุดที่พุ่งเข้าสู่หัวใจของการรับรู้มากที่สุด ผลงานของ “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ” “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”…“หมายเหตุฆาตกรรม” หรือ “แม่” ของ “แม๊กซิม กอร์กี”…“คนแปลกหน้า” ของ “อัลแบร์ท กามูส์”…“เกมลูกแก้ว” ของ “เฮอร์มาน เฮสเส”…“เจ้าชายน้อย” ของ “เอิงตวน แซงเต็ค ซูเปรี” รวมทั้งงานเชิงสังคมอย่าง “สัญญาประชาคม” ของ “ฌอง ฌาก รุสโซ” ฯลฯ มีนัยที่ผมพูดถึงตรงนี้อยู่…มันเป็นงานที่ทำให้เราขนลุกไปพร้อมๆ กับการเต้นเร่าในการรับรู้ของหัวใจ…ยิ่งใหญ่ในความรู้สึก และเป็นรากฐานของการเรียนรู้สัมผัสแห่งจิตวิญญาณของวรรณกรรมในแต่ละเรื่องอย่างแท้จริง…ผมถือว่า “ความน่าทึ่ง” เป็นนัยสำคัญที่นักเขียนต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ในผลงานแต่ละชิ้น นับเป็นความอัศจรรย์ที่อยู่นอกเหนือไปจากกลวิธีและแบบแผนในการประพันธ์ที่นักเขียนต้องประจักษ์และค้นพบได้เองในแต่ละบุคคล

ในฐานะนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”
ผมว่ามันสำคัญทั้ง 2 สิ่ง…“พรสวรรค์” เป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้า มันช่วยให้การทำงานประเภทนี้ดำเนินไปได้ง่ายขึ้นด้วยทักษะและพลังพิเศษที่เกิดขึ้นและติดมากับตัว แต่ในส่วนของพรแสวง…ผมให้ความนับถือในกระบวนการเรียนรู้ ฝึกฝน และลงมือปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ บางทีพรสวรรค์อาจทำให้ผู้เป็นนักเขียนหลงตน และมัวเมาหลงใหลอยู่กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ตราบใดที่เขาละทิ้งการแสวงหาความรู้และการทดสอบประสบการณ์…พวกเขาก็จะขาดมิติการรับรู้ใหม่ๆ รวมทั้งการแสวงหาวิถีแห่งการทดลองความจริงใหม่ๆ…ตรงนี้แหละบุคคลผู้แสวงหาแนวทางการเขียนด้วยการฝึกปรือวิธีการ และเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของงานเขียนอยู่เสมอย่อมประสบความสำเร็จอันควรได้มากกว่า…จริงๆ แล้วคนมีพรสวรรค์ถือว่าโชคดีอย่างยิ่ง แต่ถ้าคนหยุดนิ่ง…ไม่พยายามสืบค้นและแสวงหา…นัยโครงสร้างของงานเขียนก็ยากจะพัฒนาไปได้ไกล

ในฐานะอาจารย์ สภาพของศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาเท่าที่คุณได้สัมผัสเป็นเช่นไร
เท่าที่สังเกต…นักศึกษาวันนี้อ่านหนังสือกันน้อยมาก ผจญชีวิตในเชิงปัญหากันน้อย ขาดข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับโลกและชีวิตมาสร้างเป็นเนื้อหาสาระและกระบวนการทางความคิด…เรื่องส่วนใหญ่จึงเป็นนัยเชิงปัจเจก มีความเป็นส่วนตนสูง และมักติดกรอบของการคิดค้นเชิงรูปแบบการนำเสนอมากกว่าที่จะสืบค้นเพื่อตระหนักรู้ภายใน…เหตุนี้เนื้องานจึงดูบางเบาทางแก่นสาร แต่ก็พอเห็นความแปลกใหม่ทางรูปแบบซึ่งต่างก็ลองผิดลองถูกกันไป…งานยังมีท่าทีการซ้ำรอยขนบเดิมๆ ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ยังหาความเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ด้วยศักยภาพของตนเองได้ไม่ชัดนัก

คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า ศิลปินต้องรับใช้สังคม และปัจจุบันแนวคิดนี้ดูจะเลือนรางไปหรือไม่
โดยส่วนตัว…ผมยังถือเอาการรับใช้สังคมเป็นปฐมฐานในการเขียนเรื่อง และก็เชื่อว่ามันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และวงวรรณกรรม เป็นสมบัติอันถือเป็นภาพสะท้อนของสังคมและชีวิต แต่วันนี้ดูเหมือนโลกทัศน์และชีวทัศน์ในด้านนี้เปลี่ยนไป…ผมคิดว่าด้วยเหตุผลของกลไกในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมาก…เรามีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ทั้งๆ ที่โครงสร้างของโลกและชีวิตมันยุ่งยาก…แต่คนส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะมองโลกด้วยสายตาโรแมนติก…อาจจะเป็นไปได้ว่าองคาพยพของสังคมโดยรวมมันเครียด จนไม่อยากจะสร้างหรือนำวรรณกรรมไปสู่ความเครียดอีก วัฒนธรรมการสร้างและเสพวรรณกรรมในวันนี้จึงดูไม่หนักแน่นและซับซ้อนนัก ทั้งที่อันที่จริงสังคมต้องการพลังเยียวยาจากพลังทางภูมิปัญญาของนักเขียนอยู่ไม่น้อย…มิติคิดในเชิงคำถามตรงนี้น่าจะได้มีการทบทวนกันเรื่อยๆ…มากกว่าที่จะปล่อยให้มันไหลตามกระแสนิยมแบบ “เอาง่ายเข้าว่า”…มันทำให้เสียสมดุลในเชิงพัฒนาการ อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานเขียนในบ้านเราไปไหนไม่ได้ไกลเสียที

มองวงวรรณกรรมไทยเทียบกับวงวรรณกรรมต่างประเทศ
คงยากที่จะไปเทียบได้…ยิ่งทัศนคติและค่านิยมของวงวรรณกรรมไทยตกอยู่ในสถานะที่คับแคบทั้งจากจารีตและอคติส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล…ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษาที่สอนในด้านนี้…เอาแค่ในเอเชียด้วยกัน…เราก็ล้าหลังอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ไปมากแล้ว หรือแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…งานวรรณกรรมของอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนามก็ล้ำหน้าเราไปไกลแล้ว ทั้งด้านเนื้อหาและความคิด
…อันนี้เป็นเรื่องที่จำเพาะทางทัศนคติและความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ทางด้านนี้ ที่ต้องขบคิดในประเด็นกันให้แตกและพัฒนาไปสู่ครรลองการเรียนรู้ รับรู้ และรู้สึกที่เหมาะควรและถูกต้อง

ที่ทางและทิศทางของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย
ก็คงจะตายไปจากความทรงจำ ตราบใดที่งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ถูกจำกัดด้วยที่ทางที่เข้มงวดในการผลิต
เมื่อวงจรของธุรกิจเติบโต…วรรณกรรมสร้างสรรค์ก็ถูกวิเคราะห์ทางกลไกในการตลาดว่าเป็นตัวไม่ทำเงิน อันนี้เป็นภาวะที่น่าเศร้า…สุดท้ายผู้สร้างวรรณกรรมกลุ่มนี้ก็ต้องดิ้นรนหาที่ทางเหยียบยืนกันเอาเอง…ลำบากแต่ไม่อยากจะบ่นว่าอะไรอีกต่อไปแล้ว…บางทีผมยังต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักเขียนแล้วล่ะ เพราะจัดประเภทงานเขียนของตัวเองไม่ถูก…และบอกตรงๆ ว่าไม่เข้าใจและยอมรับไม่ได้กับนิยามของวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ในตอนนี้ มันตื้นเขินและหลอกตัวเองเกินไป
“งานสร้างสรรค์คืองานสร้างสรรค์”…ผมคิดว่าวันหนึ่งมันจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาเหมือนภาวะ “Awakening” อย่างการกลับมาของรางวัล “ช่อการะเกด” ของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี…การกลับมาของรางวัลนี้คือความหวังที่พอจะตอบโจทย์บางส่วนของข้อนี้ได้

คาดหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐบ้างไหม
ผมไม่เคยคิดหรือหวังอะไรจากรัฐในแง่นี้เลย ซึ่งรัฐของเราถูกบริหารโดยเหล่าวิญญูชนจอมปลอมซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนแล้วคนเล่า จะมีสักกี่คนในผู้บริหารรัฐที่เป็นนักวรรณกรรม ชอบอ่านและเขียนหนังสือ นอกเหนือจากท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช…ที่เหลือนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่ว่างเปล่าทางด้านนี้ จะหวังจากกระทรวงศึกษาหรือ? กระทรวงพัฒนาสังคมหรือ? ทั้งหมดก็คิดเป็นแต่เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยี แจกกันเข้าไปเพื่ออะไรในทางแก่นสารสาระ…ไม่มีใครตอบได้…มันไม่มีเจตจำนงอันยั่งยืน

น่าเศร้านะครับผมว่า…ยิ่งรัฐบางสมัยยังปราบปรามคนเขียนหนังสือสะท้อนสังคม สะท้อนการเมือง…สะท้อนความชั่วช้าของผู้บริหารประเทศระดับต่างๆ ซึ่งมันน่าจะเป็นการสะท้อนที่ดี แต่ก็ไม่ใช่…ยิ่งมาถึงรัฐบาลชุดนี้…ผมบอกตรงๆ ว่าผะอืดผะอมและสิ้นหวังจริงๆ กับโครงสร้างทางการศึกษาโดยองค์รวม…แล้วในเชิงวรรณกรรมซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่ง จะไปเหลืออะไร? จะไปหวังอะไรได้…(ผมอาจจะดูมองโลกในแง่ร้าย…แต่ผมก็มองโลกในแง่จริง)

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร
การเขียนหนังสือเป็นความสุขของผมครับ ถึงปัจจุบันจะมีเวลาที่จะทำงานในด้านนี้น้อย แต่ผมก็เขียนหนังสือไม่เคยขาด มันเป็นสิ่งที่ชุบเลี้ยงชีวิต และทำให้สำนึกคิดได้เติบโต ผมถือเอาการเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ลับคมของชีวิตให้มัน “คมกริบ” อยู่เสมอ ถึงจะไม่ได้พิมพ์ออกมาสู่สาธารณะมากนัก (ด้วยเงื่อนไขเชิงธุรกิจของสิ่งพิมพ์) แต่ผมก็ยังคงเขียนงานออกมาในทุกๆ ประเภท สักวันหนึ่งก็คงจะพิมพ์มันออกมาในรูปธุรกิจ แต่ทุกวันนี้ก็พิมพ์กันออกมาในหมู่เพื่อนฝูง เครือญาติ ลูกศิษย์ลูกหา พอให้ได้อ่านกัน…โชคดีที่การผลิตสิ่งพิมพ์ในวันนี้มันทำได้ไม่ยาก เครื่องไม้เครื่องมือในความเป็นประดิษฐกรรมยุคใหม่มันช่วยเราได้มาก ตรงนี้ถือเป็นความสุขจริงๆ และถือว่าติดเป็นนิสัยไปแล้ว ไปไหนมาไหนผมจึงจะมีสมุดโน้ตไว้ร่าง…ไว้เขียนต้นฉบับที่คิดออกมาได้เสมอ (แก่แล้วขืนไม่จดความคิดหรือต้นเรื่องแต่ละเรื่องเอาไว้ ก็มักจะลืมในทีหลังเสมอ – เสียดายครับ)

คำแนะนำถึงนักอยากเขียน ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหนและพัฒนาตัวเองอย่างไร
ต้องขอเน้นย้ำเลยว่า การเป็นนักเขียนต้องเริ่มต้นที่ความรักในเรื่องราวและเนื้องานที่จะเขียน จริงใจกับข้อมูล และความรู้สึกอันเป็นส่วนตัวที่อุบัติขึ้นในสำนึกและการรับรู้ของเรา ที่สำคัญนักเขียนต้องมีสไตล์และเรียนรู้ที่จะมีรสนิยม ผมถือว่านักเขียนคือนักผจญภัยทางจิตวิญญาณ ต้องศึกษาเพื่อจะรับรู้เป็นอย่างมาก…เฝ้าสังเกต และสืบค้นลงไปในประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม…อ่านมากเขียนมาก และลงลึกไปในรายละเอียดทั้งภายนอกภายในของคนให้มาก…สิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ประสบการณ์จะเป็นครูสอนเราให้รู้จักจินตนาการ และสร้างสรรค์แบบแผนของความคิดและภาพแสดงทางเนื้อหาออกมา มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้…ต้องฝึกหัดการเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้มาก แล้วจึงพินิจพิเคราะห์ตีความมันออกมาเป็นเรื่องราวด้วยกระบวนวิธีของการเป็นนักเขียน ต้องตาไวหูไว…เห็นไว ได้ยินไวสัมผัสไว สิ่งนี้ถือว่าสำคัญ เพราะชื่อเสียง เกียรติยศ หรือความโด่งดังที่จะได้มา ย่อมได้มาด้วยเงื่อนไขของเนื้องาน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับความเป็นตัวของเรา…“นักเขียนเกิดขึ้นตรงไหนอย่างไรก็ได้ แต่จะให้อยู่ไปได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ต้องฝึกฝนและจับจังหวะการก้าวย่างของชีวิตเอาเองให้ได้…อย่าผลีผลามกดดันและเร่งรีบตัวเองจนเกินไป”

รายชื่อนักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด
นักเขียนคนโปรดของผม…เมื่อไหร่ๆ ก็ยังเป็นบุคคลเหล่านี้ (ผมถือว่าบุคคลเหล่านี้คือความคลาสสิกในชีวิตของผมไปแล้ว)
นักเขียน แมกซิม กอร์กี้, กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ, คาฟก้า, เออเนสท์ เฮมมิ่งเวย์, จอห์น สไตน์เบค, เฮอร์มานน์ เฮสเส, อัลแบร์ต กามูส์, คาริล ยิบราน, รพินทรนาถ ฐากูร, โกวเล้ง และ นากิ๊บ มาฟูซ
ผมมีนักคิดที่ชอบอยู่หลายคน ส่วนใหญ่เป็นผู้เขียนความคิด มีงานวรรณกรรมผสมผสานอยู่บางส่วน เช่น เฟดริก นิทเช่, กฤษณะมูรติ, ติช นัท ฮันห์, คานธี และ เซอเกียม ตรุงปะ
มีหนังสือเล่มโปรดอยู่หลายเล่ม แต่ที่อ่านอยู่เป็นประจำและถือเป็นงานครู เป็นต้นแบบของการเรียนรู้ในความเป็นนักเขียน ก็มี คนนอก, แม่, ผลพวงแห่งความคับแค้น, หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว, ชัมบาลา, ชายเฒ่ากลางทะเลลึก, เทวาสายันห์, ดั่งนั้นพูดซาราธรุสตา, เกมลูกแก้ว, เพลงขลุ่ยในฝัน, กลางฝูงหมา, โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง, ปรัชญาชีวิต และ เดียวดายใต้เงาจันทร์ (หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่เวียนอ่านต่อเนื่องกันอย่างนั้นไม่รู้จบ ดูเหมือนจะมากเล่ม แต่ถ้านับเป็นหนังสือที่ช่วยสร้างแบบอย่างให้แก่ชีวิตและการเรียนรู้-รับรู้ทางด้านการเขียน…ก็ถือว่ายังเป็นจำนวนเพียงน้อยนิดนะครับ)

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS 267
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...