ในความไพเราะ สวยงาม ลึกซึ้ง และกินใจ ไพวรินทร์ ขาวงาม ชื่อจริงสกุลจริงของกวีชาวร้อยเอ็ด ผู้เติบโตและเก็บเกี่ยวอาหารทางจิตวิญญาณจากธรรมชาติชนบท ปรากฏเป็นลีลาอ่อนหวานชวนเคลิ้มฝันและลึกซึ้งตรึงใจในบทกวีที่เขาถ่ายทอดออกมา ไพวรินทร์ผ่านงานมาหลากหลาย ทั้งงานการสอน งานนิตยสาร หรืองานรับจ้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คงไม่เทียบเท่างานที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงาน คือ การเขียนกวี ที่เขาบอกว่าเปรียบเสมือนรักแท้ของเขา
ไพวรินทร์มีผลงานเผยแพร่หลายเล่ม แต่เล่มที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างคงหนีไม่พ้น กวีนิพนธ์ “ม้าก้านกล้วย” รวมบทกวีที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันไพวรินทร์อาศัยอยู่ที่ขอนแก่น กับลูกผู้น่ารัก คนรัก มิตรรัก อยู่กับนักเขียนคนโปรดที่ชื่อ ชีวิต หนังสือเล่มโปรดที่ชื่อ โลก และรักแท้ที่ชื่อ บทกวี
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นกวี
ตอนเด็ก ไม่รู้อะไรคือกวี อะไรไม่คือกวี แต่โดยพื้นนิสัย เป็นคนสะเทือนใจง่าย ชอบถาม ชอบเถียง ครุ่นคิด ใคร่ครวญ รำพึงรำพัน มันอาจเป็นเชื้อในตัวก็เป็นได้ ต่อมาได้ดูหนังไทย ฟังเพลงลูกทุ่ง ดูหมอลำ อ่านหนังสือวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้าน ก็ทำให้จิตใจยิ่งโน้มเอียงไปในทางการประพันธ์ คือชอบการเล่าเรื่อง ชอบฟังเรื่องที่ถูกคนอื่นเล่า ยังเคยริเล่าเรื่องหนังย่อให้เพื่อนฟังตอนไปเลี้ยงควายกลางทุ่งเลย จุดสังเกตจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งของชีวิตผมก็คือ เวลาดูหนัง ชอบจำชื่อเจ้าของบทประพันธ์ เวลาฟังเพลง ชอบจำชื่อคนแต่งเพลง ชื่อนักแสดงหรือนักร้องก็จำนะ แต่จะใส่ใจชื่อนักประพันธ์มากกว่า ต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันทั่วไป ผมรู้สึกว่าเจ้าของบทประพันธ์เป็นบุคคลมีเสน่ห์ เป็นอะไรสักอย่างที่ตัวเองเกิดความใฝ่ฝันถึง โตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างบวชเรียน ได้ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือหลากหลายขึ้น ทั้งเก่าทั้งใหม่ ทั้งไทยทั้งฝรั่ง ก็พบว่าจิตใจตัวเองยังดิ่งไปทางนั้น ผมฝึกแต่งนิยายมาก่อน เขียนสนุกๆ ใส่สมุดให้เพื่อนอ่าน เขียนเรื่องสั้นได้เผยแพร่ในหนังสือมาก่อน กลอนนี่เป็นจังหวะโอกาสต่อมาเมื่อพบเจอกลุ่มคนเขียนกลอน แล้วพอเริ่มแต่งกลอน มันก็ติดลมมาเรื่อยๆ คล้ายกับว่ากลอนนี่แหละตอบสนองอุปนิสัยพื้นฐานของผมได้ดี อะไรทำให้ชอบหรือเริ่มเส้นทางนี้ก็บอกไปแล้ว ส่วนอะไรที่ทำให้ยังฝักใฝ่สิ่งนี้อยู่ตอนนี้ ก็อาจจะเป็นความหมายเดียวกันแต่วัยเด็ก นั่นคือผมรักการประพันธ์ มันสอดคล้องกับจริตดั้งเดิมของผม มันเอื้อให้ผมได้ครุ่นคิดใคร่ครวญชีวิต ผมหมายถึงการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองนะครับ
คุณลักษณะของกวีที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
ตอบยากทีเดียว ผมไม่แน่ใจว่าในโลกนี้จะมีกวีที่ดีสมบูรณ์แบบในตัวเองลอยๆ กวี นักประพันธ์ หรือศิลปิน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคม ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ผู้ติดตาม ผู้พิจารณาวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นกวีที่ดีบ้าง ใครเป็นกวีที่เลวบ้าง แม้แต่ตัวผมเอง ผมเพียงแต่ติดตามไป พิจารณาไป อ่านไป เขียนไป ตามกำลังความรักความศรัทธา บางทีบทกวีที่เลวของกวีที่เลว อาจให้แรงบันดาลใจแก่ผมมากกว่าบทกวีที่ดีของกวีที่ดีก็เป็นได้ แต่โดยภาพรวม ถามถึงคุณสมบัติ ถ้ากวีเป็นเรื่องของจิตใจและภาษา กวีที่ดีที่ถามถึงก็คงต้องมีพลังจิตใจที่ดี มีพลังภาษาที่ดี ที่จะส่องมุมมองตัวเอง มุมมองสังคม มุมมองโลก ผมว่าบทกวีคือพลังของภาษาที่รับใช้พลังของชีวิตจิตใจ ส่วนพลังของชีวิตจิตใจของใครจะรับใช้อะไรอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องหลากหลายแตกต่างแต่ละคน กล่าวกว้างๆ กวีที่ดีที่ถามถึงอาจเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่งซึ่งรู้สึกนึกคิดและเป็นไปตามธรรมชาติของเขา กวีที่ดีอาจไม่ได้แต่งร้อยกรอง กวีที่ดีอาจไม่ได้มีชื่อเสียง กวีที่ดีอาจไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายสังคม ที่ผ่านมาเรามีกวีมากมายทั้งในประเทศและในโลกที่เราชอบติดตามอ่าน ทั้งหลายทั้งปวงก็มีข้อดีข้อด้อยของเขาทั้งนั้น รวมทั้งตัวผมเอง
สำหรับเรื่องต้นแบบหรือแม่แบบ ผมค่อนข้างรู้สึกว่าคำนี้มันแข็งๆ ไปสำหรับศิลปะบทกวีนะ มันไม่เหมือนแม่พิมพ์ที่ออกแบบไว้เป็นต้นแบบหรือแม่แบบ พอถึงเวลาก็พิมพ์เอาตามแบบ แกะเอาตามแบบ มันแข็งๆ ไปกระมังครับ ถ้าเราจะเริ่มจากต้นแบบหรือแม่แบบ สำหรับผมนิยมความประทับใจหรือหรือแรงบันดาลใจมากกว่า กวีคนหนึ่งอาจสร้างความประทับใจแก่ผม บทกวีบทหนึ่งอาจให้แรงบันดาลใจแก่ผม ให้ผมได้เริ่ม ได้ทำ ได้ก้าวไปในแบบของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมามีแล้วมากมายครับ ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะการเอ่ยนามบุคคลผู้เคยเป็นแรงบันดาลใจนั้น เอ่ยไม่มีวันหมดหรอกครับ ยิ่งเอ่ยมากไปยิ่งเฝือ ยิ่งเอ่ยน้อยไปยิ่งตกหล่น เอาเป็นว่า ขอให้สำนึกของคนน้อยๆ นี้ได้ขอบคุณทุกแสงสว่างที่ส่องมาจากทั่วสารทิศ
ปณิธานสูงสุดในฐานะกวี และถึงวันนี้คุณทำได้สมปณิธานนั้นหรือยัง
อยากเป็นคนธรรมดาที่ไม่เลวนัก…แหม คำถามนี้ก็ยากเอาการนะครับ เพราะปณิธานสูงสุดเป็นเรื่องของชีวิตจิตใจ เป็นเรื่องอุดมคติ เป็นเรื่องความฝัน เป็นเรื่องความมุ่งหวังลึกๆ ที่ไม่ว่าชีวิตจะเจออะไร แปรเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็ยังต้องมีมัน ปณิธานอาจไม่ใช่ตัวความจริง แต่มันเป็นเครื่องนำทางของความจริง อุดมคติอาจไม่ใช่ตัวชีวิต แต่มันเป็นหลักชัยของชีวิต ชีวิตผมผ่านทุกข์สุขมาระดับหนึ่ง แต่มิอาจอวดอ้างว่ารู้ครบรสชาติของชีวิตแล้ว ยังมีสิ่งที่ผมยังไม่รู้อีกมาก ฉะนั้นถ้าวัยเด็กวัยหนุ่มผมมีความฝันอยากเขียนหนังสือ ตั้งอุดมคติปณิธานจะเลือกเดินบนเส้นทางนี้ เมื่อมาถึงวัยกลางคนวันนี้ ถือว่าได้สิ่งที่มุ่งหวังนั้นมา คือได้ทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่เลือก อย่างไรก็ตาม วัยกลางคนวันนี้ผมก็ยังพึงต้องมีอุดมคติปณิธานของผมอยู่ หากชีวิตจะพึงเหลือเวลาให้ใช้ในวัยถัดไป ก็คืออยากทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่เลือก ต่อไปในมิติอื่นของชีวิต ตามประสาคนมีกิเลสพอประมาณ ผมยังอยากทำอะไรอีกมาก ทำในสิ่งที่มีความสุขใจจะทำ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นตามสมควร ครับ ยังไม่สิ้นสุดชีวิต การครุ่นคิดยังคงดำเนิน
การทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน
พออยู่กับมันมาระยะหนึ่ง ที่เคยยากก็ดูเหมือนง่าย แต่ใช่ว่าจะไม่ยากนะ เพียงแต่พอถึงจุดหนึ่ง คนเขียนบทกวีเองจะรู้ถึงอัตโนมัติของภายใน มันเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจ จากพลังงานที่มารบเร้า แล้วหาทางบริหารจัดการมัน ผมเพิ่งสนใจคำว่าบริหารจัดการ เดิมทีกลัวคำนี้ เพราะคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน แต่ที่จริงแล้ว การเขียนคือกระบวนการบริหารจัดการพลังงานชีวิต พลังงานภาษา พลังงานการสื่อสาร แต่เป็นกระบวนบริหารจัดการที่เป็นอิสระตามธรรมชาติของมัน ตามอารมณ์รู้สึกนึกคิดของมัน ไม่ใช่ควบคุมจัดการแบบเผด็จการเป๊ะๆ บังคับด้วยเหตุด้วยผลแห้งๆ สำหรับผม บทกวีคือชนิดหนึ่งของดนตรี เมื่อเริ่มต้นบทกวีสักชิ้น แม้ด้วยความเคยชินเดิมๆ ของตัวตนคนหนึ่ง แต่มันจะดำเนินไปในภาวะนั้นๆ ไม่เหมือนเดิม เหมือนผมกำลังเริ่มต้นประพันธ์ทำนองเพลงใหม่ กลุ่มคำ จำนวนคำ อารมณ์ ความคิด เคร่งสัมผัส ปล่อยสัมผัส ท่วงทำนองช้าเร็วในแต่ละบท แต่ละพื้นที่ แต่ละเวลา จึงเปลี่ยนรูปแปรร่างไปภายใต้การบริหารจัดการของตัวเอง บางอารมณ์ขำๆ บางอารมณ์เมาๆ บางอารมณ์ดุๆ กราดๆ เกรี้ยวๆ บางอารมณ์โศกศัลย์รันทด บางอารมณ์เป็นชาวบ้าน บางอารมณ์เป็นปัญญาชน บางอารมณ์เป็นติ๊ดๆ (หัวเราะ)
สิ่งสำคัญที่สุดที่บทกวีชิ้นหนึ่งพึงมี
ไพเราะ สวยงาม ลึกซึ้ง กินใจ…ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากพบบทกวีเช่นนั้น หรืออย่างน้อยที่สุด พื้นๆ ก็คือ รูปแบบดี เนื้อหาดี จุดมุ่งหมายดี
ในฐานะกวี อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”
บางคนบอก พรสวรรค์ไม่มี มีแต่พรแสวง สำหรับผม เชื่อว่ามีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง มนุษย์ทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ติดตัวมา ขออธิบายคำว่าพรสวรรค์แบบผม มันคือพื้นฐานจิตใจ ความสามารถ หรือความใส่ใจพิเศษอันมีอยู่ในตัว และเอื้อต่อสิ่งที่เรารักเราฝัน เช่นชอบร้องเพลง อยากเป็นนักร้อง แล้วแก้วเสียงดีโดยกำเนิด ฟังเพลงรอบเดียวก็สามารถร้องตามได้แม่นยำ ไม่ต้องเข้าโรงเรียนสอนดนตรี อะไรประมาณนี้น่าจะเรียกพรสวรรค์ ส่วนคนแก้วเสียงไม่ดี เขาอาจมีพรสวรรค์ทางอื่นที่รอการค้นพบ หรือถ้าอยากเป็นนักร้อง ก็สามารถฝึกร้องเพลงได้ การฝึกการเรียนถือเป็นพรแสวง ถามว่าอะไรสำคัญกว่า จริงอยู่ พรแสวงก็สำคัญมาก แต่หากเราฝึกฝนเรียนรู้ให้ตาย ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งในชีวิตที่เรียกว่าพรสวรรค์ อาจเป็นปม อาจเป็นพื้นอารมณ์ความรู้สึก อาจเป็นพื้นนิสัยใจคอ อาจเป็นความโง่ความฉลาด พรแสวงอย่าเดียวก็เป็นปัญหาได้ คนเรียนการประพันธ์ในห้องเรียนเดียวกัน บางทีคนสอบตกอาจเขียนหนังสือได้ดี เพราะเขามีทางแหลมๆ เล็กๆ ของเขา อันเนื่องมาจากแรงผลักภายใน สำหรับผม ทั้งสองอย่างสำคัญ ส่งเสริมเกื้อกูลกัน ความรักความชอบจะพัฒนาก็ด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ การฝึกฝนเรียนรู้จะมีพลังก็ด้วยความรักความชอบ ผมเองอาจไม่ได้มีพรสวรรค์พิเศษหรือพรแสวงพิเศษอะไร เพียงแต่พอมี เพียงแต่พอนำมันมาพัฒนาคลี่คลาย เพียงแต่รู้สึกว่าไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร จิตใจผมจะครุ่นคำนึงใคร่ครวญเสมอ เป็นธรรมชาติเล็กๆ ในตัว มันเหมือนตาน้ำในชีวิตที่ไหลรินออกมาตลอดเวลา ไม่ว่าผมจะเขียน หรือแค่คิดเพื่อความเข้าอกเข้าใจชีวิตเฉยๆ โดยไม่เขียน ผมพบความสุขบางชนิด ทั้งจากบทกวีที่เขียนออกมา และไม่ได้เขียน นั่นอาจเป็นพรสวรรค์ก็ได้ แต่ถ้าไม่เรียกว่าพรสวรรค์ ก็อาจเรียกว่าพรไพวรินทร์ (หัวเราะ)
วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร ใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือเป็นหลัก
ชีวิตมีจุดเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป…วิถีชีวิตเดิมผมอาศัยกรุงเทพฯ อาศัยคอนโดฯ วงจรวนไปมาแบบคนอยู่คนเดียว แวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงชนิดหนึ่ง กลางวันทำงาน กลางคืนท่องราตรีกินดื่ม นอนพักผ่อนน้อย ทุกวันนี้อยู่ต่างจังหวัด แวดล้อมด้วยลูกเมียญาติพี่น้อง วงเหล้าลดลง จิบคนเดียวบ้าง กับญาติพี่น้องบ้าง กับเพื่อนฝูงที่จรมาบ้าง ไม่โหยหาร้านเหล้านอกบ้านอีก เพราะบ้านเป็นที่ดื่มได้สบายๆ ปลอดโปร่งไปอีกแบบกับบ้านและอากาศ เรียกว่าลดทอนความทรมานแบบเมืองๆ สู่ความผ่อนคลายแบบบ้านๆ มีเวลาให้แก่สุขภาพมากขึ้นทั้งกายและใจ ได้ถีบจักรยาน ได้นอนเปลอ่านหนังสือ ได้ขุดดินปลูกต้นไม้ ได้เลี้ยงหมา ได้เล่นกับเด็กๆ ได้คุยกับคนนอกแวดวง โดยเฉพาะการได้เลี้ยงลูกชาย ที่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีเหมือนชาวบ้านเขา (หัวเราะ) วิถีชีวิตประมาณนี้แหละครับ ถือว่าผมถอยฉากจากแวดวงศิลปิน ถอนตัวออกจากสมรภูมิที่ไม่จำเป็น บางทีเป็นเดือนไม่เจอหน้าศิลปินเลย เจอแต่ชาวบ้าน ระดับหนึ่งก็ดี มันเป็นพื้นเพผมอยู่แล้ว เพียงแต่ก็มีโลกของผมอยู่เหมือนเดิม แม้ชาวบ้านบางคนจะไม่รู้ว่า ไอ้หมอนี่ทำอะไรอยู่ แต่ชาวบ้านเขามีเครือข่ายของเขาครับ เขาไม่ยอมไม่รู้อยู่เฉยๆ หรอก คนหนึ่งรู้ก็ต้องกระซิบกันให้รู้ ส่วนหนึ่งจึงรู้ว่า ไอ้หมอนั่นเป็นนักเขียน จะเขียนอะไรก็ช่างเถอะ
ถามถึงเวลาเขียนหนังสือ ผมถนัดเช้าครับ อยู่กรุงเทพฯ ตื่นสายเกือบเที่ยง อยู่บ้านนอกตื่นตีห้า อากาศดี นอนอิ่ม เพราะไม่นอนดึกเหมือนก่อนแล้ว ตื่นมาดูแลลูก เล่นกับลูก จนแม่ของเขาไปสอนหนังสือ เอาลูกไปฝากยายเลี้ยง ช่วงเช้าจนถึงเย็นผมได้อยู่บ้านคนเดียว ผมไม่ถนัดทำงานกลางคืน มันง่วง มันซึม ติดนิสัยนอนหัวค่ำ และไม่ชอบโด๊ปกาแฟเพื่อทำงาน
คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า “ศิลปินต้องรับใช้สังคม” และปัจจุบันนี้ แนวคิดดังว่าดูจะเลือนรางลงไปจากแวดวงนักเขียน/กวีหรือไม่
สักยี่สิบสามสิบปีก่อน กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตเข้มข้น คำนี้ถูกพูดถึงและเรียกร้อง รับใช้สังคม รับใช้ชีวิต ใครไม่รับใช้สิ่งนี้ เอาแต่รับใช้ตัวเอง ก็จะถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ พวกผมกลุ่มหนึ่งเริ่มต้นจากยุคท้ายๆ ของกระแสเพื่อชีวิต คือพอมีเชื้อมีกลิ่นว่างั้นเถอะ อย่างไรเราก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ไม่ทั้งหมด เราอยู่ในกระแสแต่ไม่ได้วิ่งตามกระแส ผมคิดว่าขณะทำงาน เราก็ศึกษาเรียนรู้ข้อดีข้อด้อยของอดีตและปัจจุบัน เพื่อจะหาที่อยู่ที่ยืนที่ถนัดของตัวเอง จะเห็นว่างานของผมหรือเพื่อนหลายคนที่ยังทำงานอยู่ ปรับเปลี่ยนคลี่คลายไป ไม่ใช่ทอดทิ้งแนวคิดนั้น แต่เราใช้แนวคิดนั้นในแบบของเรา กระทั่งคำว่าเพื่อชีวิต รับใช้สังคม เราก็ต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ที่สุดแล้วมันคืออะไรแค่ไหนกันแน่? สำหรับผม แม้ไม่ได้คิดถึงแนวคิดและถ้อยคำนั้นแล้ว แต่เชื่อว่าตัวเองยังคงใช้ชีวิตเดินตามอุดมคติและความใฝ่ฝัน ยังคิดถึงจิตสำนึกสาธารณะ ยังคิดถึงส่วนรวม ยังคิดถึงผู้อื่น ยังคิดถึงความดีงาม แม้บทกวีบางบทดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง แต่ในฐานะของบทกวีแล้ว มันคือประสบการณ์เฉพาะ ที่จะแทรกตัวเข้าไปในประสบการณ์ร่วม ส่วนที่ว่าแนวคิดข้างต้นเลือนรางไปนั้น ก็เป็นไปได้ สังคมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ผมแทบไม่เห็นใครมานั่งท่องคำนั้นแล้ว งานเขียนสมัยใหม่ก็หลากหลาย ซับซ้อน กระทั่งบางทีก็แยกประเภทไม่ออกในงานชิ้นหนึ่ง บางเรื่องมีทั้งกลิ่นเพื่อชีวิต กลิ่นตัวเอง กลิ่นหอม กลิ่นน้ำเน่า ก็คงต้องปล่อยไปตามตามธรรมชาติครับ แต่ละคนเริ่มต้นด้วยต้นทุนที่ไม่เท่ากัน เด็กวัยรุ่นเริ่มต้นด้วยต้นทุนแบบเขา จะให้ไปเหมือนผมที่เป็นลูกชาวนา เป็นลูกคนจน เป็นคนบ้านนอกเข้ากรุง เป็นคนเคยอยู่ในกระแสเพื่อชีวิต ก็คงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรับใช้สังคมหรือไม่อย่างไร ผมยังคงคาดหวังถึงจิตสำนึกที่ดีของคนเขียนหนังสือทั่วไป
มองวงการกวีไทย
คำว่าวงการ มันกินความกว้าง ถามว่าอยู่ในวงการกวีไหม อยู่ ถามว่ารู้จักวงการกวีไหม ไม่รู้ทั้งหมด ที่ผมอยู่และรู้ ก็แค่ในแวดวงเพื่อนพี่น้องที่คุ้นเคยเท่านั้น นับหน้าแล้วถือว่าแคบมาก ผมแค่บินไปบินมาในฐานะมนุษย์อิสระ ไม่ได้สังกัดหน่วยงานวรรณกรรมไหน ไม่ได้กินตำแหน่งในองค์กรวรรณกรรมใด ฉะนั้นวงการจริงๆ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ เหมือนทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล ผมไม่รู้จักทุ่งทั้งทุ่ง รู้จักแค่มุมที่ผมปลูกกระท่อมอยู่เท่านั้น แต่แน่นอน ผมอาจท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยียนทักทายต้นหญ้าทั้งท้องทุ่งแบบมนุษย์อิสระผู้หนึ่ง เคลื่อนไหวตัวเองด้วยการทำงาน ส่วนวงการกวีไทยมันก็เคลื่อนไหวของมันไป คนที่มีบทบาทต่อวงการน่าจะเป็นพวกชมรมสมาคมอะไรต่างๆ ผมว่ากวีไทยก็มีกลุ่มมีก้อนของตัวเองตามรสนิยม น่ารักบ้าง น่าเบื่อบ้าง ชื่นชมกันบ้าง หมั่นไส้กันบ้าง แต่ผมชอบนะที่จะได้เห็นการโลดแล่นไปของเหล่ากวี
“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน คุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร
แต่ไหนแต่ไรเราก็พบผ่านประสบการณ์การประกวด มันเป็นกระบวนการคัดสรรความแตกต่างหลากหลาย อาจเป็นการคัดสรรความพิเศษจากสิ่งสามัญทั่วไป ถึงไม่ส่งประกวด แต่การเผยแพร่งานออกไปสู่สาธารณะ มันก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดสรรของผู้อ่านอยู่ดี ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนจนถึงสมัยเป็นนักเขียน เราคงเคยผ่านการประกวดมาบ้าง ถามว่ารางวัลจำเป็นไหม คงไม่จำเป็นสำหรับผู้ไม่เห็นความจำเป็น แต่ผมว่ามันก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้วงการคึกคักได้ มันมีข้อดีข้อเสีย มันมีตัวสร้างคนและทำลายคน ยิ่งตอนนี้รางวัลผุดขึ้นมาก ผมจำไม่ไหว สมัยผมเริ่มเขียนหนังสือ มีรางวัลอะไรแบบนี้น้อยมาก เราเริ่มต้นกันด้วยใจรัก ด้วยอารมณ์ฮึกเหิมในการเขียนเรื่องราวทางสังคม ผมเองก็เคยส่งประกวดงานนั้นงานนี้บ้าง แต่ทำไปทำมาก็เบื่อ
ตอนนี้เห็นการประกวดเยอะยังตกใจ เกิดอะไรขึ้น ขนาดผมเลิกประกวดแล้ว แค่ถูกเชิญไปเป็นกรรมการบางทียังเหนื่อย ก็ว่ากันไปแหละครับ ผมไม่ค่อยห่วงตัวรางวัล แต่ค่อนข้างห่วงตัวคน ทั้งกลุ่มกรรมการและกลุ่มคนประกวด กลัวว่าเราจะตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมใช้รางวัลเป็นจุดขาย นักเขียนก็เขียนหนังสือเพราะรางวัล นักอ่านก็อ่านหนังสือเพราะรางวัล นักวิจารณ์ก็วิจารณ์หนังสือเพราะรางวัล ครูก็สอนนักเรียนให้อ่านหนังสือเพราะรางวัล สำนักพิมพ์ก็พิมพ์หนังสือเพราะรางวัล สังคมก็หันมามองเห็นหัวนักเขียนเพราะได้รางวัลได้ออกโทรทัศน์ วังวนอะไรแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงครับ ถามว่ามันสื่อถึงอะไร ด้านหนึ่งอาจสื่อถึงความเจริญเติบโตของวงการวรรณกรรม เกิดความแตกต่างหลากหลาย ไม่ผูกขาด ไม่เวียนเทียน ด้านหนึ่งอาจสื่อถึงความเสื่อมของจิตใจที่จะทำงานวรรณกรรมด้วยความรักสดๆ บางคนอาจเขียนไม่ออก ถ้าไม่มีภาคบังคับว่าจะส่งประกวด พอคิดว่าจะส่งประกวดขณะเขียน อิสรภาพในการสร้างสรรค์อาจถูกจำกัด
จากอดีตที่ผ่านมา วงการนักเขียนปรารถนาจะได้รับการสนับสนุนให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่ แต่ภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือทุ่มเทให้วงการนักเขียนอย่างเต็มที่ ถึงตรงนี้ในทัศนะของคุณ วงการนักเขียนควรคาดหวังอะไรจากภาครัฐอีกหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง
โดยส่วนตัวในฐานะศิลปินอิสระ ผมไม่ค่อยได้คาดหวังเรียกร้องอะไรจากภาครัฐ อยากให้เขาไปดูแลเรื่องปากท้องประชาชนมากกว่า แต่อื่นๆ ในฐานะองค์กรทางวรรณกรรมเท่าที่มี เขาก็ต้องทำหน้าที่ประสานขอความสนับสนุนกันไป เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คนทำงานก็ต้องยืนหยัดด้วยปัจจัยภายในของตัวเองก่อนนั่นแหละ ไปรอปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ แม้แต่ประเทศที่เขาสนับสนุนวรรณกรรมเต็มที่อย่างมาเลเซีย ก็มีปัญหาของเขา มันมีกลุ่มมีก้อน มีการแข่งขัน มีการเมือง อย่างที่ว่าไปแล้ว คำว่าวงการกวี วงการนักเขียน มันกินความกว้าง กลุ่มหนึ่งเชื่อมกับรัฐได้ ก็ไม่ใช่ว่าอีกกลุ่มหนึ่งจะเชื่อมได้ ครับ อย่าลืมว่าคนเขียนหนังสือนั้นมักโน้มเอียงไปทางเอกเทศทั้งความคิดความเชื่อ การไปฝากตัวพึ่งพานักการเมืองหรือรัฐมากๆ อาจนำพาไปสู่วังวนของการเล่นการเมือง
ทัศนะต่อประเด็นการวิวาทะระหว่างกวีฉันทลักษณ์กับกวีไร้ฉันทลักษณ์
เคยได้ยินมา แต่ไม่ได้ติดตามรายละเอียดมากนัก ใครเถียงกับใคร เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่มีมาทุกยุคทุกสมัย เราเติบโตขึ้นในวัฒนธรรมกวีแบบวรรณคดีไทย ต้นทุนเราคือฉันทลักษณ์ คืออะไรแบบสุนทรภู่ เป็นธรรมดาย่อมมีความคุ้นเคยยึดติด เมื่อของใหม่เข้ามา แบบฝรั่งเข้ามา แบบญี่ปุ่นเข้ามา มันย่อมเป็นทางเลือก ย่อมมีการถกเถียงแลกเปลี่ยน ย่อมมีคับแคบ ย่อมมีเปิดกว้าง มันเป็นที่ถกเถียงมานานแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งเป็นที่ถกเถียงของคนรุ่นนี้ ที่ถกเถียงก็อาจเป็นเรื่องความเข้าใจที่ไม่เท่ากัน หรือแตกต่างกันตามจุดยืนที่มอง ในอดีตเราก็เถียงกัน รูปแบบกับเนื้อหาอะไรสำคัญ ฉันทลักษณ์กับกลอนเปล่าอะไรคือกวีนิพนธ์ แค่คำว่าบทกลอน บทกวี กวีนิพนธ์ ก็เถียงกันมานานโข สำหรับผม วันนี้ค่อนข้างสงสัยคำว่าไร้ฉันทลักษณ์ เมื่อลองมองความหมายของมันนอกเหนือกฎเกณฑ์ของมัน ถ้าฉันทลักษณ์แปลว่าลักษณะอันพึงพอใจ เติมคำว่าไร้ข้างหน้า มันมีปัญหาอยู่นะครับ ผมชอบใช้คำว่ากลอนเปล่า หรือบทกวีร้อยแก้วมากกว่า ที่สุดแล้วกลอนเปล่าก็มีลักษณะอันพึงพอใจของมัน แม้ไม่ใช่ฉันทลักษณ์ในกฎเกณฑ์แบบเก่า แต่อาจนับเป็นฉันทลักษณ์แบบหนึ่งได้ จริงอยู่ ฉันทลักษณ์คือคำเก่า กฎเกณฑ์เก่า เรานึกถึงมันในฐานะโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย แต่เมื่อโลกเปิดกว้างแล้ว เมื่อกลอนเปล่ามีลักษณะอันพึงพอใจของมัน มันก็มีเสรีภาพของมัน มีที่ทางของมัน อาจจะยังไม่กว้างเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ถึงกับมีใครไปตั้งหน้าตั้งตากำจัดหรือสกัดกั้น การประกวดเองก็เริ่มเปิดกว้าง จากการประกวดร้อยกรองทั่วไปอย่างเดียว ก็เพิ่มที่ทางให้กลอนเปล่า ต่อไปอาจมีรางวัลการประกวดกลอนเปล่าล้วนๆ โดยไม่มีร้อยกรองเลยก็ได้ ฉันทลักษณ์มีไว้เพื่อเป็นทาง ทางเลือก เลือกแล้วก็เดินไป มันไม่ได้มีไว้เพื่อกักขังเหนี่ยวรั้งใคร ฉันทลักษณ์เดียวกัน บางคนใช้แบบเคร่งครัด บางคนใช้แบบคลี่คลาย ใช้ไปเถอะครับ ใช้ให้ถึงใจ เรื่องนี้ผมไม่มีปัญหาเหมือนที่หลายคนมีปัญหา ผมเองแม้งานส่วนใหญ่จะเป็นฉันทลักษณ์แบบร้อยกรอง แต่ผมก็เขียนกลอนเปล่าด้วย หรืออาจเรียกว่าฉันทลักษณ์แบบร้อยแก้ว เป็นบทกวีแบบร้อยแก้ว เมื่อคาลิล ยิบราน หรือรพินทรนาถ ฐากูร เข้าสู่ความรับรู้ของเรานั้น ท่านไม่ได้สวมอาภรณ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาเลย แต่ทำไมผมถึงรู้สึกว่าท่านเป็นกวีจังเลย
ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร และเคยคิดจะเลิกเขียนไหม
บางครั้งผมเปรียบเทียบเป็นรักแท้ เป็นเพื่อนแท้ มันพูดคุยกับเราได้ในยามที่เราอยู่ลำพัง ผมไม่ขอเปรียบเทียบเป็นลมหายใจก็แล้วกัน เดี๋ยวไม่ได้เขียน ผมจะตายเสียก่อน เพราะผมไม่ได้เขียนหนังสือทุกวันทุกเวลาเหมือนลมหายใจ (หัวเราะ) วันนี้ผมขอเปรียบการเขียนหนังสือเป็นภารกิจในชีวิต คนเราเกิดมาชาติหนึ่งพึงมีภารกิจในจิตวิญญาณ ภารกิจในเลือดเนื้อ ภารกิจในความคิดฝัน ผมว่าผมมีชีวิตอยู่เพื่อความเป็นชีวิต บทกวีคือเครื่องมือหรือหนทาง มันเป็นทางหนึ่งของชีวิตจิตใจที่จะทำให้ความเป็นชีวิตมีความหมายตามกำลัง มันอยู่ในผม มันไม่ได้แยกออกไปจากผมจนต้องอุทิศเวลามุ่งหน้าไปตามหามัน เมื่อคิดถึงบทกวี ผมก็คือบทกวีบทหนึ่งนั่นแหละครับ อย่างที่บอก ผมชอบการครุ่นคิดตั้งแต่เด็กแล้ว ภารกิจครุ่นคิดของผมอาจเป็นเหมือนความเพ้อฝันส่วนตัว แต่ผมชอบที่ท่านฐากูรบอกว่า “ความเพ้อฝันแห่งข้า คือ หิ่งห้อย จุดสว่างทรงชีวิต ระยิบในอนธกาล” นี่คือดอกผลของการครุ่นคำนึงครับ ถ้าจะเปรียบอีกอย่างก็อาจว่า ผมเขียนหนังสือเหมือนนกอยากร้อง เหมือนไก่อยากขัน มันเป็นวิถีชีวิต สำหรับคนที่มีเวลาสำหรับสดับรับฟังเสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน ผมเชื่อว่าเขาจะได้ยินเสียงของโลกบ้าง แล้วที่ถามว่าเคยอยากเลิกไหม ไม่ครับ ติดลมแล้วครับ สิ่งนี้ไม่เคยเบื่อ สิ่งนี้ไม่เคยท้อถอย นกยังร้องทุกวันได้ ไก่ยังขันทุกวันได้ ผมก็ขอคิดทุกวันด้วยแล้วกัน คิดนะครับ ไม่ใช่เขียน วันๆ หนึ่งถึงผมไม่ได้เขียนบนหน้ากระดาษ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผมก็อาจเขียนในอากาศธาตุ เขียนบนแผ่นหินของอนิจจัง เขียนบนผืนทรายของหัวใจ
คำแนะนำถึงนักอยากเขียนกวี ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
เริ่มที่ใจ พัฒนาที่ใจ เหมือนตอบง่ายๆ แต่อาจยากก็ได้นะครับ
รายชื่อนักเขียนคนโปรด และรายชื่อหนังสือเล่มโปรด
ข้อนี้ขออนุญาตไม่ให้รายชื่อนะครับ มันจะกลายเป็นนักเขียนหรือหนังสือในดวงใจที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างที่บอก ผมสนใจเรื่องแรงบันดาลใจ สิ่งนี้อาจเป็นทั้งน้ำที่ไหลรินไป แสงสว่างที่ส่องออกไป มันเปลี่ยนสถานะตามภาชนะ ตามพื้นที่ ตามเวลา ตามยุคสมัย นักเขียนคนใดคนหนึ่ง ผมอ่านผลงานของเขาไม่ครบทุกเล่ม หรือถึงครบทุกเล่ม ก็ไม่ได้ชอบทุกเล่ม ให้ไล่รายชื่อก็มีมากมายแหละครับ พบเจอก็ยกมือไหว้คารวะ ที่หนังสือบางเล่มของเขาเคยให้บางก้านไม้ขีดแก่เรา ให้บางเทียนแก่เรา หนังสือแต่ละเล่มก็เช่นกัน บางทีผมอ่านไม่จบเล่มยังได้แรงบันดาลใจเลย เช่นหนังสือเล่มหนาๆ ที่ผมมักไม่มีความอดทนพอ แค่สักบทสองบทที่ได้ก็ไม่ธรรมดาแล้ว ขอขอบคุณนักเขียนทุกคนในโลกนี้ก็แล้วกัน หนังสือทุกเล่มในโลกนี้ด้วย บางที นักเขียนคนโปรดของผมอาจคือ ชีวิต หนังสือเล่มโปรดของผมอาจคือ โลก
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย