โชคชัย บัณฑิต

กวีแนวสร้างสรรค์ก็คือเอ็นจีโอที่ต่อมโรแมนติคโตผิดปกติ  โชคชัย บัณฑิต’ เป็นนามปากกาของโชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ กวีชาวนครสวรรค์ ที่เริ่มมีผลงานเผยแพร่ตามหน้านิตยสารตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กาลเวลาผ่านไป ปัจจุบันโชคชัยมีผลงานรวมเล่มทั้งหมดจำนวน 5 เล่ม

คือรวมบทกวี “กังสดาลดอกไม้” (พ.ศ. 2534), “ลมอ่อนตะวันอุ่น” (พ.ศ. 2537), “เงานกในร่มไม้” (พ.ศ. 2538), “บ้านเก่า” (พ.ศ. 2544) และรวมเรื่องสั้น “เขียนกระดาษ วาดละคร” (พ.ศ. 2545) โดยเล่มที่ทำให้โชคชัยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือรวมบทกวี “บ้านเก่า” ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2544

ปัจจุบันโชคชัยรับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทยอยู่ที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี จังหวัดสมุทรปราการ โดยยังรับหน้าที่ตอบปัญหาชีวิตกับวรรณกรรมอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ใครคิดถึงแวะไปทักทายเขาได้…

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นกวี
อาการอ่อนแอทางอารมณ์กระมัง ทำให้เกิดการติดเชื้ออ่อนไหวทางความรู้สึก แล้วก็เลยกลายเป็นเชื้อที่ลุกลามถึงขั้นดื้อยา เลยยังรักษาไม่หาย

นั่นเป็นการตอบแบบเล่นสำนวนน่ะครับ จริงๆ แล้วผมว่าสิ่งแวดล้อมคงสร้างบุคลิกของแต่ละคนขึ้นมาตั้งแต่วัยเยาว์โดยเราไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะโตขึ้นเป็นใคร วัยเด็กของผมเหมือนพยายามหาช่องทางหรือภาชนะบรรจุ “อารมณ์และความรู้สึก” อะไรสักอย่างที่เป็นธาตุพื้นฐานของงานศิลปะทุกแขนง เริ่มจากชอบร้องเพลง อยากมีเพลงของตนที่แต่งเองร้องเอง แต่กลับเป็นคนขี้อายไม่กล้าขึ้นเวทีประกวด ชอบวาดภาพ โดยเฉพาะภาพคนเหมือน แต่ก็วาดได้ไม่เหมือน มันคงเป็นการหาช่องทางแสดงออกทั้งที่เรายังค้นไม่พบว่าจริงๆ แล้วเราคือใคร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำควบคู่กันมาจนถึงปัจจุบันก็คือการอ่านหนังสือ ทำให้เห็นช่องทางสำแดงอารมณ์และความรู้สึกอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเราทำได้ และไปยึดติดกับการได้พิมพ์เผยแพร่ทางหน้านิตยสารมากเกินไป จึงไม่ได้ลงมือเขียนเป็นชิ้นเป็นอัน

การอ่านทำให้เรารู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกสามารถสื่อผ่านทางตัวอักษรได้ หลายๆ เรื่องที่ได้อ่านช่างคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของเราเหลือเกิน บางเรื่องก็ตรงกับประสบการณ์ของเราเลย แสดงว่าโดยพื้นฐานทางประสบการณ์เราก็น่าจะเขียนเรื่องเหล่านั้นได้เหมือนกัน ถึงผมจะเริ่มเขียนหนังสือเพราะต้องการเผยแพร่ผลงานทางหน้านิตยสาร แต่พอผ่านเวลาที่งานเขียนมันฝังเข้าไปในความเคยชินแล้วมันก็เหมือนกิจวัตรอย่างหนึ่ง ที่พอถึงเวลาเหมาะสมทั้งอารมณ์และเนื้อหามันก็หลุดออกมาเป็นบทกวีได้โดยไม่ต้องพยายาม

ส่วนที่ถามว่าอะไรที่ทำให้ยังเป็นกวีอยู่ ผมว่าถ้าเราจมอยู่กับอะไรเกินสิบปีขึ้นไป เชื่อว่าเราปฏิเสธมันจากชีวิตได้ยากแล้วละครับ

สำหรับคุณ ‘บทกวี’ คืออะไร
สื่อแห่งความรู้สึกที่อาศัยภาษาเป็นสะพาน

คุณลักษณะของบทกวีและกวีที่ดี
เมื่อก่อนผมเคยเข้าใจว่าบทกวีคือการเล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเติบโตขึ้นจากการเขียนและการแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น ผมว่าบทกวีที่ดีต้องก่อความสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้รับที่มากไปกว่าลีลาการเล่าเรื่องแบบร้อยแก้ว แต่ควรจะมีโวหารกวี มีความเปรียบที่ลุ่มลึกและมีคมความคิดที่สอดร้อยมากับภาษาที่ลงตัวกับเนื้อหาในบทกวีชิ้นนั้น

บทกวีที่ดีบางชิ้นแทบไม่มีเนื้อเรื่องเลยก็ว่าได้ แต่มีอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องเพ่งพินิจผ่านสำนวนโวหารซึ่งมีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน บางครั้งกวีจึงไม่ต่างจากนักปรัชญา ที่ใช้คำน้อยแต่สื่อสารได้กว้างไกลเกินจำนวนคำ คุณสมบัติของกวีที่ดีคือช่างรู้สึก เห็นลึกกว่าคนทั่วไปอย่างที่เขาเรียกกันว่ามีตาที่สาม กวีต้องสามารถหยิบภาษาเอามาสื่อสิ่งที่อยู่ภายในใจเราออกมาได้อย่างหมดจด นั่นคือคุณสมบัติพื้นฐานของกวีที่ดี ส่วนตัวตนของคนเขียนก็ไม่ควรหลงอัตตาจนกลายเป็นศาสดาบนหิ้ง ใครแตะต้องไม่ได้

ต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
สำหรับผมต้นแบบระยะแรกที่เห็นอิทธิพลชัดเจนก็คือ “แรคำ ประโดยคำ” “พนม นันทพฤกษ์” แล้วก็คนเขียนบทกวีร่วมยุคร่วมสมัยคนโน้นนิดคนนี้หน่อย

ปณิธานสูงสุดในฐานะกวีของคุณ และวันนี้ทำได้สมปณิธานนั้นหรือยัง
ได้พูดตามที่อยากพูด ได้เขียนตามที่อยากเขียน ได้สื่อสารกับผู้คนผ่านคำกวี รวมทั้งได้พัฒนาศักยภาพทางการเขียนของตนให้เฉียบคมสมกับอายุการทำงาน เลยไม่รู้ว่าได้บรรลุปณิธานไปกี่มากน้อยแล้ว

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน
เริ่มต้นเมื่อมีอะไรมากระทบความรู้สึก แล้วอยากพูดออกมาเป็นบทกวี ความรู้สึกนั้นต้อง “แรง” และ “ชัด” พอที่จะสื่อออกมาในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งแล้วก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์แก่ผู้อ่านเหมือนที่ปรากฏในใจของผู้เขียน ยกตัวอย่างเหมือนกับเรื่องสั้นที่เราต้องพัฒนาโครงเรื่องให้ได้ก่อน บทกวีก็คล้ายๆ กันคือสิ่งที่มากระทบใจนั้นต้องชัดพอที่จะเล่าออกมาแล้วเกิดความสะเทือนอารมณ์ ให้แง่คิดแก่ผู้อ่าน เราจึงต้องคิดให้จบแบบคร่าวๆ หรือเกือบจบก่อนจึงจะเริ่มลงมือเขียน ที่บอกว่าคร่าวๆ ก็เพราะว่าระหว่างเขียนอาจมีรายละเอียดแตกประเด็นไปบ้าง ทำให้จบไม่ตรงกับที่วางไว้เป๊ะๆ แต่ก็จบได้อย่างที่พอใจ สื่ออารมณ์ได้ตามต้องการ แต่บิดจากเดิมไปนิดหนึ่ง รวมทั้งอาจต้องจินตนาการเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นภาพในลักษณะของโวหารกวีเพื่อเสริมให้ความรู้สึกนึกคิดของเรามีอะไรมากกว่าการเล่าเรื่องผ่านฉันทลักษณ์หรือภาษาที่สละสลวยเพียงอย่างเดียว ลองดูตัวอย่างบทกวีของศรีปราชญ์ที่ว่า
เรียมร่ำน้ำเนตรท่วม  ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม   ชีพม้วย
เขาพระสุเมรุเปื่อยเป็นตม  ทบท่าว ลงนา
หากอักนิษฐ์พรหมช่วย  พี่ไว้จึ่งคง
แทนที่จะพูดถึงอารมณ์ “ผิดหวัง เสียใจ เศร้าใจ” ออกมาด้วยคำทั้งสามคำมันก็ธรรมดาเกินไป พอศรีปราชญ์แปรความรู้สึกเป็นภาพน้ำตาท่วมโลก ท่วมถึงสวรรค์ชั้นพรหม เราจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของจินตนาการและพลังของภาษากวีได้อย่างชัดเจน ผมว่าตรงนี้วัดความเป็นกวีได้เลย

สำหรับกรณีการเขียนไม่ออก เขียนแล้วจบไม่ลง เป็นเพราะว่าเราคิดยังไม่ลงตัว เหมือนผลไม้ยังไม่สุกงอมเต็มที่ อารมณ์กระทบใจที่ทำให้เราลงมือเขียนได้วรรคสองวรรค หรือบทสองบทก็จะสะดุดอยู่แค่ตรงนั้น เขียนต่อไม่ได้ แต่พอทิ้งไว้ระยะหนึ่ง อาจเป็นสองสามวันหรือหลายสัปดาห์ พอกลับมาอ่านทวน อารมณ์ความรู้สึกที่มันตกผลึกภายในแล้วโดยไม่รู้ตัวจะทำให้เราเขียนต่อให้จบได้โดยไม่คาดฝัน มันคงเป็นกระบวนการทำงานของจิตใต้สำนึก

สิ่งสำคัญที่สุดที่บทกวีชิ้นหนึ่งพึงมี
โวหารกวี คือการเปรียบเทียบ อย่างที่บอกว่ากวีใช้คำน้อยแต่สื่อได้มาก คำกวีจึงเหมือนหยดน้ำเพียงไม่กี่หยดที่สามารถอธิบายความเป็นมหาสมุทรได้ การพูดอย่างนี้ก็เป็นโวหารกวีอย่างหนึ่ง พูดแล้วสื่อสารได้มากกว่าการพูดธรรมดา ชัดเจนเห็นภาพกว่าการพูดตรงๆ  “นายผี” บอกว่าบทกวีก็คือการเปรียบเทียบนั่นเอง ลำดับถัดไปกวีก็ควรให้แง่คิดแก่สังคมด้วย คือนอกจากให้อารมณ์แล้วก็ควรให้ปัญญาด้วย “มุมมอง” ก็สำคัญเพราะเรื่องที่เราสื่อสารออกมามักไม่มีอะไรใหม่ แต่มุมมองใหม่ช่วยให้เรื่องพื้นๆ ธรรมดากลายเป็นเรื่องสะดุดตาสะดุดใจได้

วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร ใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือเป็นหลัก
ก็เหมือนที่ผ่านๆ มา คือต้องปลอมตัวเป็นข้าราชการเพื่อหาอยู่หากินด้านปากท้อง และกลายร่างเป็นคนเขียนหนังสือเมื่อเกิดความเรียกร้องทางจิตวิญญาณแล้วต้องบำบัดด้วยการเขียน ผมเขียนได้ทุกเวลาทุกสถานที่เมื่อทุกอย่างที่เกี่ยวข้องพร้อมจะสื่อออกมา
ขนาดหลับไปแล้วยังเขียนได้เลยครับ อย่างเรื่องสั้น “กระท่อมอิเล็กทรอนิกส์” ในนิตยสารช่อการะเกดเมื่อหลายปีก่อน ผมนอนฝันแล้วดันตื่นขึ้นมา รีบจดย่อไว้ในสมุดหัวเตียง พอเช้าขึ้นมาก็ลงมือเขียน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า “กวีต้องรับใช้สังคม” และปัจจุบัน แนวคิดดังว่าดูจะเลือนรางลงไปจากแวดวงกวีหรือไม่
ถ้าคิดว่าเป็นคนเขียนหนังสือแนวสร้างสรรค์ ก็น่าจะมีส่วนในการรับผิดชอบต่อ “สำนึก” ของสังคมบ้าง อย่างที่ผมเคยพูดไว้ว่ากวีแนวสร้างสรรค์ก็คือเอ็นจีโอที่ต่อมโรแมนติคโตผิดปกตินั่นเอง น้องๆ ในที่ทำงานเคยคุยกับผมในวงสนทนาครั้งหนึ่งแล้วรำพึงออกมาว่า วิธีคิดของคนเขียนหนังสืออย่างผมกับเอ็นจีโอทำไมเหมือนกันจัง ผมเลยตอบไปว่าคนเขียนหนังสือแนวสร้างสรรค์หรือแนวไส้แห้งขายไม่ออก กับคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ โดยหลักๆ แล้วคิดไม่ต่างกันหรอก แต่วิธีปฏิบัติอาจต่างกันไปบ้าง คือกวีสื่อสารด้านความคิดเป็นหลัก เป็นนักคิด ส่วนเอ็นจีโอสื่อผ่านการกระทำ เป็นนักปฏิบัติ กวีอาจเป็นนักปฏิบัติการทางจิตวิญญาณ ส่วนเอ็นจีโอเป็นนักปฏิบัติการทางกายภาพ จะอย่างไรก็แล้วแต่ เราล้วนอยากเห็นสังคมที่ดีงามไม่ต่างกัน ในม็อบต่างๆ จึงมีบทกวีปลุกปลอบใจทั้งจากคนเขียนบทกวีภายนอกม็อบและนักต่อสู้เพื่อความถูกต้องทางสังคมภายในม็อบที่เขียนบทกวีเป็น ร่วมสร้างสรรค์บทกวีหรือบทเพลงเพื่อชีวิตส่งมากำนัลเป็นสีสันและกำลังใจเสมอ ลองสังเกตดูในม็อบพันธมิตรก็ได้

มองวงการกวีไทย
ก็ยังมีคนใหม่ๆ วนเวียนเข้ามาเขียนเผยแพร่ตามหน้านิตยสารอยู่เป็นระยะๆ แต่ไม่คึกคักเท่าสมัยที่ผมเริ่มเขียนใหม่ๆ หรือแม้แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านก็ยังมีความคึกคักมากกว่าปัจจุบัน คือยังเห็นตัวว่ามีใครน่าจับตามองบ้าง แต่หลังๆ มานี่ดูซบเซา คนที่เคยสร้างสีสันเป็นความหวังให้กับวงการก็ชักหายหน้าไปจากนิตยสาร ดูวังเวงชอบกล

‘รางวัล’ จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน คุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร
รางวัลก็จำเป็นในการสร้างกระแสและสร้างกำลังใจ โดยเฉพาะรางวัลคุณภาพจริงๆ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งตัวผู้ให้และตัวผู้รับ ส่วนรางวัลที่เบ่งบานเป็นดอกเห็ดอย่างปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเป็นรางวัลที่ไม่น่ามีผลต่อการสร้างคุณภาพของคนเขียน คนเขียนหลายคนต่างก็เร่งกันสร้างผลงานส่งประกวดให้ทันทุกสนาม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะส่งประกวดตามกรอบของผู้ให้รางวัล ผมว่าเราจะทดลองฝีมือโดยการส่งประกวดดูบ้างก็ไม่เป็นไรนะ แต่อย่าไปมุ่งมั่นสร้างชื่อผ่านการประกวดเพียงอย่างเดียว เขียนสิ่งที่อยากเขียนดูบ้างก็ได้ ผมสนใจรางวัลที่ไม่ส่งประกวดมากกว่า อย่างรางวัลประจำปีของสมาคมภาษาและหนังสือฯ ที่คนเขียนอยากเขียนอยากสื่ออะไรก็เขียนกันไป พอถึงปีก็จะมีกรรมการของสมาคมฯ มาตามอ่านเพื่อให้รางวัล เป็นการให้กำลังใจที่เป็นธรรมชาติดี

จากอดีตที่ผ่านมา วงการนักเขียนปรารถนาจะได้รับการสนับสนุนให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่ แต่ภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือทุ่มเทให้วงการนักเขียนอย่างเต็มที่ ถึงตรงนี้ในทัศนะของคุณ วงการนักเขียนควรคาดหวังอะไรจากภาครัฐอีกหรือไม่
ผมไม่เคยคาดหวังอะไรจากระบบราชการ เพราะมีระเบียบขั้นตอนอะไรยุ่งยากมาก รัฐสภาจัดประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าดูท่าจะไปได้ดีนะถ้าไม่นับปีที่ถูกฝ่ายการเมืองล้วงลูก ในทัศนะของผมเห็นว่ากรอบของรางวัลแคบไปหน่อย คือเป็นวรรณกรรมการเมือง ซึ่งคงจะไปโทษผู้จัดไม่ได้ เพราะเขาเป็นหน่วยงานด้านการเมือง
คุณมกุฎ อรฤดี เคยเสนอเรื่องระบบหนังสือสาธารณะ หรืออะไรที่ชื่อคล้ายๆ กันอย่างนี้ให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือดีแต่ขายยาก เพื่อเป็นฐานค้ำจุนปัญญาของชาติไม่ให้จมลงไปในวังวนของธุรกิจที่มุ่งจะพิมพ์แต่หนังสือขายได้เป็นหลัก ก็ไม่รู้ตอนนี้เรื่องไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ผมคิดว่าสุดท้ายองค์กรวรรณกรรมคงต้องเป็นเสาหลัก

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร แล้วเคยคิดที่จะเลิกเขียนไหม
เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนการหายใจที่เป็นไปโดยธรรมชาติ เขียนมากว่า 20 ปีแล้วคงยากที่จะกลับตัวกลับใจ

คำแนะนำถึงนักอยากเขียนกวี ว่าเขาต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
อ่านแล้วก็เขียน ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ถ้าเรารักมันจริงเราคงพร้อมที่จะเขียนๆๆ และเรียนรู้เพิ่มเติม ยอมรับความผิดพลาด ขัดเกลาแก้ไข ซึ่งก็คงไม่พ้นการอ่าน ฟัง คิด เขียน หาโอกาสเติมไฟด้วยการคบหาพูดคุยกับเพื่อนที่ชอบเขียนเหมือนกัน สมัยผมเริ่มเขียนหนังสือผมก็มีคู่หูทางวรรณกรรมอยู่คนหนึ่ง คอยแลกงานกันอ่านแล้วก็ผลัดกันวิจารณ์ รวมทั้งแนะนำหนังสือน่าอ่านจากมุมมองของแต่ละคน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาเปะปะ การเข้ากลุ่มวรรณกรรม “กาแล” สมัยผมเป็นนักศึกษาก็ช่วยได้มาก ทั้งกำลังใจและกำลังความคิดจากมวลมิตรวรรณกรรม สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ต เราคงหาคนคอเดียวกันได้ไม่ยาก

รายนามนักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด
ตอบยากนะ เดี๋ยวไม่ครบชื่อ เอาเป็นว่านักเขียนโดยเฉพาะกวีที่ผมสนใจดีกว่า รุ่นใหญ่คงไม่พ้น “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” “อังคาร กัลยาณพงศ์” และอีกหลายๆ คน ส่วนรุ่นถัดมาผมเห็นว่า “ไพวรินทร์ ขาวงาม” มีพัฒนาการที่น่าสนใจ ใหม่กว่านั้นก็ “ศิริวร แก้วกาญจน์” “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์” “มนตรี ศรียงค์” หรือแม้แต่ “สุขุมพจน์ คำสุขุม” ก็น่าจับตามอง ที่ว่ามานี่เอาเฉพาะเท่าที่พอจะนึกออกนะ จริงๆ แล้วมีมากกว่านี้
ส่วนหนังสือที่จำได้เวลาอ้างถึงก็มี “ไตรภูมิพระร่วง” ของ พญาลิไท “จอห์นนี่ไปรบ” ของ ดอลตัน ทอมโบน “เต๋าแห่งฟิสิกส์” ของ ฟริตจอฟ คราปา รวมทั้งงานยุคแรกของ “พิบูลศักดิ์ ละครพล” และอีกมากมายหลายนามจำได้ไม่หมด รวมถึงอีกหลายๆ เล่มที่ยังไม่ได้เขียนขึ้นมาบนโลกนี้

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...