ฟ้ายามเที่ยงวันของ Georges Bataille

จอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ มิแชล ฟูโกต์ ยกย่องให้เป็นนักคิดคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 จะเป็นในแง่ใด คงไม่อาจทราบแน่ชัดได้ เพราะคำกล่าวของฟูโกต์อันนี้เป็นเพียงคำโปรยหลังปกหนังสือ

แต่ถ้าสมมติว่าฟูโกต์คิดเห็นหรือซื่อสัตย์กับถ้อยคำของเขาตริงๆ การพูดเช่นนั้นก็คงจะมาจากเหตุผลว่าบาตายนั้นเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างจะทำงานหลากหลายแนวทาง และในความหลากหลายของแต่ละแนวทางนั้น บาตายได้ดั้นด้นบุกตะลุยไปจนสุดแรง สุดกำลังหมดแทบทุกทาง

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จอร์จส์ บาตาย เป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกตัวเองว่า เซอร์เรียลลิสม์ งานเขียนของบาตายที่แสดงออกถึงตัวตนของเขาในช่วงเวลานั้นก็คือนวนิยายเชิงสังวาส (pomographic) ที่มีเนื้อหาทางปรัชญาและวิธีคิดที่แปลกประหลาดไปจากนวนิยายเชิงสังวาสทั่วๆไป ซึ่งมีลักษณะร่วมหลายอย่างคล้ายคลึงกับงานเขียนของ มาร์กี เดอ ซาด หรือ กีโยม อโปลิแนร์ คนหลังเป็นกวีที่เลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนนิยายเชิงสังวาสในช่วงเวลาหนึ่ง

ผลงานของบาตายที่ยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็คือ Histoire de l’oeil, (1928) หรือ The Story of the Eye ขณะนั้นจัดพิมพ์ภายใต้นามปากกา ลอร์ด ออช (Lord Auch) และงานที่มีชื่อเสียงน้อยลงมาอย่างเช่น L’anus solaire (1931), Sacriffices (1936) และ Madame Edwarda (1937) ที่บาตายใช้นามปากกาว่า ปิแยร์ อ็องเฌลิก แต่บาตายก็เหมือนกับนักเขียนหรือปัญญาชนคนอื่นๆที่มักจะทนไม่ได้กับการอยู่เป็นขบวนการนานๆเขาก้าวออกจากกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งก็ก่อนหน้า หรือหลังจากที่ อ็องเดร เบรอตง และหลุยส์ อาราก็ง จะตบเท้าเข้าพรรคอมมิวนิส์ฝรั่งเศสไม่นาน บาตายเริ่มตีพิมพ์งานประเภทความเรียงทางปรัชญาหรือสังคมวิทยาออกมา งานในกลุ่มนี้เองที่ทำให้เราได้อ่านความคิดในเชิงลึกของเขา แน่นอนโดยเฉพาะอิทธิพลทางปรัชญาเยอรมันของ เฮเกล ผ่านการบรรยายของอเล็กซ็องดร์ โกแฌฟ  แนวคิดทางจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ หรือมานุษยวิทยาของ มาร์แซล โมส เกร็ดประวัติเล็กๆในช่วงนี้ของบาตายก็คือ เขาทำงานเป็นบรรณารักษ์ประจำหอสมุดแห่งชาติ ณ กรุงปารีส และเข้าร่วมกับกลุ่มนักสังคมวิทยาหัวก้าวหน้ามิแชล  เลอรี และโรแฌร์ กัลลัวส์ ทำวารสาร Acephale

L’experience interieure (1943) หรือ Inner Experience เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่แสดงแก่นความคิดทางปรัชญาที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของบาตาย โดยบาตายมองเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นสร้างสมประสบการณ์ที่พิเศษ หรือแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตและสัตว์โดยทั่วไป กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าด้วยประสบการณ์ภายในนี้เอง ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ของมนุษย์แบ่งแยกออกจากความต้องการสืบพันธ์ Sur Nietzsche (1945) ในฉบับแปลอังกฤษ On Nietzsche ก็เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ นิทเช ของบาตาย ซึ่งเป็นงานที่แปลกไปจากงานเขียนทางปรัชญาโดยทั่วๆไป ที่มีอยู่ในขณะนั้น และพูดได้ว่า Sur Nietzsche เป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นระหว่างบทสมนทนาของนิทเชและบาตาย ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่ากันกับ Nietzsche et le cercle vicieux ผลงานวิเคราะห์ความคิดของนิทเชชิ้นสำคัญของ ปิแยร์ โคลสซอฟสกี

อย่างไรก็ดีในปีเดียวกันกับที่บาตายตีพิมพ์ Sur Nietzsche เขาก็ได้ตีพิมพ์นวนิยายอีกเล่มหนึ่งออกมาด้วย เป็นงานที่เขาเขียนไว้ก่อนหน้าในช่วงทศวรรษก่อนซึ่งก็คือ Le Bleu du ciel (1935) หรือ  Blue of Noon ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้คงอยู่ที่ช่วงเวลาที่บาตายเขียน (หรือห้วงบรรยากาศแวดล้อมในนิยาย) ซึ่งคาบเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เขาเข้าไปร่วมกับการปฏิวัติในสเปน มีนักเขียนนวนิยายหลายต่อหลายคนเข้าร่วมในเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็น เฮมิงเวย์, อ็องเดร์ มาล์โรซ์ หรือ จอร์จ ออร์เวล ซึ่งแต่ละคนนั้นต่างก็มีหนังสือที่ทำหน้าที่บรรยายหรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติ (ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สงครามกลางเมือง) ในแง่มุมที่ต่างกันไป

แน่นอนบาตายเองก็มีมุมมองเฉพาะของเขาเพียงแต่ด้วยความเป็นนิยายที่อาจเรียกได้ว่ายังตกอยู่ในอิทธิพลของเซอร์เรียลลิสม์ บรรยากาศของ  Le Bleu du cielจึงดูแตกต่างไปจากนิยายที่เกี่ยวกับการปฏิวัติสเปนโดยทั่วไปมาก จนเรียกว่าเป็นความตั้งใจของบาตายเลยก็ว่าได้ที่เขาจะไม่พยายามเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์นั้น บาตายได้เสนอเรื่องราวอีกด้านที่เป็นความสัมพัฯธ์ระหว่างอัตบุคคล เน้นการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมากกว่าจะแสดงให้เห็นสภาพสถานที่จริงๆที่แวดล้อมตัวละครของเขา หรือแม้จะมีการให้ภาพพจน์บทบรรยายเกี่ยวกับห้องพัก โรงแรม ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ราคาริมทาง แต่บาตายก็ไม่เคยเชื่อมโยงปะติดปะต่อช่วงเวลาและสถานที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้อ่านหรือตัวละครเอกของเขา (ในฐานะผู้เล่าเรื่อง) จะได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกันก็คือความรู้เสึกแปลกแยก ว้าเหว่ และแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กำลังจะกลับกลายเป็นประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

ตัวละครเอกของ  Le Bleu du cielคือ อองรี ทร็อปป์ม็ง ซึ่งดูเหมือนจะป่วยหรือไม่ก็เมาอยู่ตลอดเวลา โลกที่ทร็อปป์ม็งเฝ้ามองดูอยู่จึงมักเป็นเพียงโลกกึ่งจริงกึ่งฝัน ที่ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศเศร้าๆ เป็นโลกที่เขาไม่ต้องการ คำอธิบาย แต่ก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่าเขาไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร
ทร็อปป์ม็งกลายเป็น ภาพเสนอ ของคนแปลกหน้า ทั้งต่ออุดมการณ์ของยุคสมัย เพื่อนร่วมทแนวทาง หรือแม้แต่กับผู้คนมากมายที่เข้ามาข้องเกี่ยวในชีวิตของเขา อย่างเช่นในตอนหนึ่งที่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในบาร์เซโลน่า ทร็อปป์ม็งกลับเลือกที่จะขับรถออกไปว่ายน้ำเล่นที่ทะเลเพียงลำพัง
สิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวทร็อปป์ม็งมากที่สุดก็คือ ผู้หญิง แต่ละคนที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขาในช่วงเวลาต่างๆ (จะมียกเว้นก็ตอนท้ายเรื่องที่ตัวละครผู้หญิงที่มีความสัมพัฯธ์กับทร็อปป์ม็งแทบทุกตัวยกเว้นภรรยาของเขาได้มาเจอกันที่สเปน)

ในแง่นี้เองที่เราอาจมองได้ด้วยเช่นกันว่า โดโรธี (ตอนต้นเรื่องทร็อปป์ม็งจะเรียกเธอว่า เดอร์ตี้) ผู้หญิงที่ทร็อปป์ม็งเลือกอยู่ด้วยในตอนท้ายคือชีวิตหรือการตัดสินใจไปสู่หนทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนเขาจำเป็นต้องละทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง ลาซาร์สาวนักสังคมนิยมที่กลายเป็นอุดมการณ์ที่ผลักดันให้ทร็อปป์มงมาที่สเปน เซนีหญิงสาวผู้งดงามที่คอยเยียวยาเขาในช่วงเวลาที่ป่วยไข้ และสุดท้ายความตายของมิแชลเพื่อนรักของเข

คำถามคือทำไมทร็อปป์ม็งจึงเลือกโดโรธี และเดินทางไปเยอรมัน?บางทีตัวคำตอบของคำถามนี้อาจจะอยู่ที่ตัวของบาตายเองที่ก็อาจจะกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการแสวงหาบางอย่างที่เขาเองก้ยังไม่รู้คำตอบแน่ชัด แต่ที่สุดแล้วทร็อปป์ม็งก็เลือกที่จะโดดเดี่ยวตัวเอง เขาตัดสินใจที่จะลาจากโดโรธีไป และในฉากสุดท้ายของ Le Bleu du cielนี้เอง ทร็อปป์ม็งก็ได้ยืนมองขบวนยุวชนฮิตเลอร์ที่สวนสนามผ่าน ภาพของเด็กๆเหล่านั้นทำให้เขามองเห็นภาพของหายนะสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แน่นอนมันเป็นสงครามที่อาจจะเลวร้าย และรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

TEXT : Faux Pas

 

You may also like...