การพัฒนาทางแฟชั่นของไทย ในทัศนะของนักออกแบบแฟชั่นชั้นสูง : สมชาย แก้วทอง
ผู้เรียบเรียง : สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ
แฟชั่นเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก แม้ว่าระดับความสามารถในการรับรู้เข้าใจถึงคุณค่าความงาม และความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนแต่ละสังคมจะยังเหลื่อมล้ำกันตามพื้นฐานการศึกษา รสนิยม และฐานะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แฟชั่นนั้นเป็นศิลปะที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคู่มากับการพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ
‘สมชาย แก้วทอง’ เจ้าของห้องเสื้อ ‘ไข่ บูติก’ หนึ่งในบรมครูแห่งวงการแฟชั่นชั้นสูงของไทย ผู้บุกเบิกเส้นทางการทำเสื้อผ้าชั้นสูง หรือ โอต์ กูตูร์ ได้ให้ข้อมูลถึงปัจจัยการก่อกำเนิดของแฟชั่น ก่อนจะวิเคราะห์พัฒนาการของแฟชั่นในเมืองไทยและภูมิภาคเอเชียให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านมุมมองและประสบการณ์การทำงานด้านแฟชั่นกว่า 3 ทศวรรษ
“การถือกำเนิดของแหล่งศูนย์กลางแฟชั่นในเมืองใหญ่ต่างๆของโลก เช่น มิลาน หรือปารีส มีรากฐานมาจากวิวัฒนาการทางอารยธรรมของประเทศเหล่านั้นที่มีความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ รวมถึงความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม แฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งความเจริญในด้านต่างๆที่พัฒนาต่อเนื่องควบคู่กันไปก่อให้ผู้คนเกิดความตื่นตัวในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ต้องการมีชีวิตที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม การก่อสร้างตกแต่งบ้านเมือง รูปแบบการกินอยู่อย่างเป็นเลิศ เรื่อยไปจนถึงการแต่งตัวสวยงาม ซึ่งเห็นกันว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามแบบแผนของผู้มีรสนิยม กลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้วงการแฟชั่นในดินแดนที่มีความเจริญเหล่านั้น มีความก้าวหน้าเร็วกว่าประเทศอื่นๆจนได้เป็นศูนย์กลางหรือผู้ชี้นำทิศทางแฟชั่นของทั่วโลก
“การพัฒนาทางด้านแฟชั่นของประเทศในภูมิภาคเอเชียหรือประเทศไทยนั้น แตกต่างจากประเทศที่เป็นศูนย์กลางเช่นในยุโรป แม้จะมีความพยายามทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการสร้างความตื่นตัวทางด้านแฟชั่น ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลอย่างหนึ่งคือหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ยังเป็นประเทศที่ยากจน ในขณะที่แฟชั่นชั้นสูงเป็นเรื่องของผู้มีฐานะ ประกอบหลายประเทศในภูมิภาคนี้เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ถูกครอบงำโดยอารยธรรมของผู้ปกครองมานาน ผู้คนในประเทศถูกสั่งสอนให้เชื่อว่าการตามอย่างฝรั่งเป็นเส้นทางสู่ความเจริญ ทั้งในด้านการใช้ชีวิต ศิลปวัฒนธรรม การออกแบบ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงทำให้เกิดความอ่อนด้อยในเรื่อง ORIGINALITY มุ่งแต่จะเลียนแบบจากผู้นำที่เป็นชาติตะวันตกมากกว่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นจากความคิดหรือรากเหง้าของตนเอง ทำให้การพัฒนาทางด้านศิลปะไม่โดดเด่น
“แม้แต่สิงคโปร์ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เจริญมากของภูมิภาคนี่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านแฟชั่น เพราะคนเอเชียส่วนใหญ่เห่อของนอก ยกตัวอย่างดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น ถ้าทำงานอยู่แค่ในญี่ปุ่นก็ไม่ดัง ต้องไปทำงานต่างประเทศเพื่อชุบตัว เช่น ฝรั่งเศสหรืออเมริกา จึงจะสามารถกลับมาเป็นที่ยอมรับได้ในประเทศของตัวเอง
“ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่ยากจนไม่มีโอกาสทางการศึกษาหรือออกไปรับรู้อารยธรรมจากภายนอก หากรัชกาลที่ 4 ไม่ทรงส่งพระโอรสพระธิดาไปเมืองนอก หรือ รัชกาลที่ 5 ไม่เสด็จประพาสยุโรป ไม่ได้ไปเห็นบ้านเมืองที่วางผังและออกแบบตกแต่งอย่างดี ไม่ได้เห็นผู้คนที่แต่งกายอย่างสวยงาม คนไทยก็อาจจะยังนุ่งโจงกระเบน กินหมากอยู่แบบเดิม
“ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวล้ำนำหน้าอย่างในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารของทั่วโลกสามารถรับรู้ได้ทั่วถึงกันหมด แต่เป็นไปไม่ได้ที่ชาวยุโรปซึ่งเห็นแฟชั่นของไทยจะหันมาเอาอย่างคนไทย มีแต่คนไทยที่ยิ่งอาศัยเทคโนโลยีในการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและลอกเลียนแฟชั่นจากตะวันตก ตอนนี้อาจเห็นว่าคนทั้งโลกแต่งตัวคล้ายๆกัน คนอเมริกันก็แต่งตัวเหมือนๆกับคนไทย แต่คนไทยกลับเป็นฝ่ายลอกเลียน ชอบเอาอย่างต่างชาติ เกิดลัทธิเอาอย่างขึ้นในบ้านเรา
“สำหรับค่านิยมในการบริโภคสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมนั้น ถือว่าเป็นดาบสองคม ด้านดีคือมันก่อให้เกิดความตื่นตัวในวงการแฟชั่นขึ้น เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงของเราให้ทันสมัยทัดเทียมคนอื่น แต่ด้านร้ายคือมันก็ก่อให้เกิดการแบ่งชนชั้นทางสังคม เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน มีการแข่งขันทางชนชั้น คนจนก็พยายามหาสินค้าแบรนด์เนมของแท้ราคาแพงมาใช้เพื่อยกระดับตัวเอง ถือเป็นการดูถูกชนชั้นของตน ส่วนคนที่ใช้ของปลอมก็ได้รับการดูถูกหนักยิ่งขึ้น เพราะดูถูกความเป็นตัวของตัวเอง
“การที่คนเราจะสามารถสร้างแนวทางแฟชั่นของเราเองขึ้นมา โดยการคิดผสมผสานให้เหมาะสมกับตัวเองนั้น น่าจะทำให้เรากลายเป็นผู้นำแฟชั่นแนวใหม่ ซึ่งจะน่าชื่นชมกว่าการลอกเลียนแบบ “แฟชั่นชั้นสูงเป็นงานศิลปะที่มีความเป็นตัวเองสูง การเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นชั้นสูงจะเป็นอิสระจากสภาวะโดยรอบ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจหรือสังคม เนื่องจากเป็นเรื่องของคนชั้นสูงซึ่งมีฐานะดีที่จะไม่ได้รับผลกระทบ แฟชั่นชั้นสูงจึงอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงของโลกมากนัก แต่สำหรับแฟชั่นระดับกลางหรือระดับล่าง ผู้บริโภคเป็นชนชั้นกลาง หากมีความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น น้ำมันแพง สินค้าแพง ผู้คนจะปรับพฤติกรรมการบริโภคจับจ่ายสินค้า ทิศทางของแฟชั่นระดับกลางหรือล่างก็จะผันแปรตาม สะท้อนถึงสภาวะที่เกิดขึ้น
“ในการทำงานแฟชั่น ก็ต้องสนใจดูงานของดีไซเนอร์ระดับโลกทุกคน เพราะถือว่าเขาเหล่านั้นเป็นครู ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลาใครจะมีผลงานโดดเด่นน่าจับตามอง เช่น John Galliano, Alexander McQueen สำหรับแฟชั่นดีไซเนอร์ที่เป็นดาวเด่นในเมืองไทยก็ติดตามผลงานของหลายๆคน สิ่งที่น่าสงสารในบ้านเราคือบางคนมีฝีมือแต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ คือ ทำเสื้อขึ้นมาแล้วขายไม่ได้
“โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่นเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างความตื่นตัว และสร้างความคึกคักให้กับวงการแฟชั่นเมืองไทยเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังว่าการดำเนินการเหล่านั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เราสามารถนำเงินที่รัฐบาลลงทุนให้นี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับวงการแฟชั่นอย่างเต็มที่เพียงใด ไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”