แดนสนธยา

ช่วง มูลพินิจ ศิลปินอาวุโสชั้นแนวหน้าของไทย เจ้าของลายเส้นที่งดงามละเมียดละไม ได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า “จิตรกรผู้มองเห็นมดยิ้มสวย” จะจัดนิทรรศการผลงานศิลปกรรมชุด “แดนสนธยา”

โดยเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งสำคัญที่นำเสนอผลงานใหม่ๆ ให้ชมถึง 70 ชิ้น  หลังจากที่จัดครั้งสุดท้ายเมื่อ 10 ปีก่อนที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2546

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นในงานศิลปะของ ช่วง มูลพินิจ คือความงามของลายเส้นหรือลายไทยที่อ่อนช้อยผสมผสานเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน งานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นแต่ละชิ้นผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติ จนกระทั่งถึงนัยการมองเห็นในวัฏสงสารของชีวิตและปรัชญา ศาสนา เข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม แนบเนียน ลงตัว บางครั้งก็นำเรื่องราวจากศาสนาและวรรณคดีมาสร้างจินตนาการใหม่ ทำให้ผลงานศิลปะเหล่านั้นมีรูปแบบหลากหลายจนยากที่จะให้คำจำกัดความว่าจัดอยู่ในประเภทใด  แต่ทั้งหมดล้วนมาจากรากฐานความคิดที่ว่า “ธรรมชาติคือครูผู้ยิ่งใหญ่” เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานตลอดระยะเวลาราว 50 ปี หลังจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และประทับใจที่ อ.ศิลป์ ชี้ให้เห็นความงดงามของศิลปะโดยไม่แยกว่าเป็นของชาติไหน ศิลปินไม่ใช่คนของใคร แต่เป็นคนของศิลปะ ซึ่งเป็นความงดงามของสากล


“เมื่อมองดูรอบๆ ทุกอย่างมีความงดงาม ไม่ว่าดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้า ศิลปินล้วนมีธาตุของการแสดงออก เป็นธาตุแท้ของศิลปิน ไม่ว่าจะอดหรืออิ่มเขาต้องแสดงออกมา เมื่อเขาได้แสดงภาวะภายในออกมาแล้วมันก็สมบูรณ์อยู่ในตัว ไม่ว่าใครจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ตาม แต่ศิลปินรู้ดี ยามที่บรรจงขีดเขียนอยู่นั้น” ศิลปินอาวุโส วัย 73 ปีกล่าว  พร้อมทั้งเล่าว่า อ. ศิลป์สอนให้ลูกศิษย์เป็นช่างโดยพื้นฐาน ส่วนใครจะเป็นศิลปินนั้นเป็นแนวทางของแต่ละคน เหมือนท่านสอนให้รู้จักการทำเก้าอี้ทำอย่างไรจะนั่งได้สบาย รับน้ำหนักได้ดี ส่วนลูกเล่นลีลานั้นต่างกันตามความถนัด

สำหรับความถนัดส่วนตัวของ ช่วง มูลพินิจ คืองานลายเส้นและจิตรกรรม โดยมีผลงานชิ้นสำคัญมากมาย ทั้งยังมีความโดดเด่นด้านงานประติมากรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียง อาทิ พระพุทธอภัยมงคลสมังคี ที่สมเด็จพระญาณสังวร รองสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เพื่อพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พระพุทธมุจจลินท ภูชคุปต์ วัดโพธิ์ทอง กทม. ภาพปั้นนูนต่ำประดับพระมหาเจดีย์วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 กทม.  ออกแบบอุโบสถวัดเขาดินวนาราม จ.ชุมพร ออกแบบจิตรกรรมฝาฝนังภายในโดมมหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน พุทธมณฑล ทั้งยังมีผลงานประติมากรรมโลหะผสม “สิงโตคู่” ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ปัจจุบันติดตั้ง ณ วัดสิรินทรเทพรัตนาราม จ.นครปฐม และผลงานที่ติดตั้งอยู่ที่บริษัทเอกชนอีกหลายชิ้น

ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ ในระยะแรกเป็นภาพวาดลายเส้นที่มีความงดงามอ่อนช้อย เริ่มด้วยการเขียนภาพลายเส้นประกอบในหนังสือสยามสมัย โดยการชักชวนจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และต่อมาได้เขียนภาพปกและภาพประกอบในหนังสือและนิตยสารต่างๆ เช่น ช่อฟ้า ชาวกรุง เฟื่องนคร ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักด้วยผลงานเขียนลายเส้นฟรีแฮนด์ที่มีแบบฉบับเฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีผลงานออกแบบตัวหนังสือชื่อเรื่องและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ที่เป็นวรรณคดีหรือเรื่องราวพื้นบ้าน เช่น แผลเก่า เลือดสุพรรณ เพื่อน-แพง  ไกรทอง  พระรถ-เมรี ซึ่งเป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกประเภทหนึ่งเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน   ทั้งยังมีผลงานการเขียนหนังสือที่เป็นงานวรรณศิลป์ที่มีคุณค่า โดยเริ่มเขียนในปี 2536-2537 มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คชื่อ “เขียนมนุษย์” และล่าสุดคือเรื่อง “ฝูงมนุษย์” ในแนวคำคม-นิทานที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2551  ถ่ายทอดความคิดในหลายด้าน หลากมุมมอง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ กิเลสของมนุษย์ ศิลปะ ความดีงาม และศาสนา  โดยเชื่อว่าเมื่อโลกไร้จริยธรรม  ความโลภของมนุษย์ก็จะทะยานขึ้นถึงขีดสุด และเมื่อขาดจริยธรรมก็เท่ากับสิ้นสุดความเป็นมนุษย์

ข้อความบางส่วนจากงานเขียนของ ช่วง มูลพินิจ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ลึกซึ้งของศิลปินผู้นี้  เช่น  “ดังนั้น เราคือสิ่งมีชีวิตที่เลวที่สุดบนผืนโลก เราพากันยกย่องพินอบพิเทาคนโลภ คนรวย เพื่อหวังผลประโยชน์  แต่เรากลับไม่สนใจพินอบพิเทาธรรมชาติ ที่ให้แต่คุณประโยชน์ตลอดกาล”

ปัจจุบัน ช่วง มูลพินิจ ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างหอศิลป์ที่บริเวณบ้านพัก บนถนนรามคำแหง ที่จัดแสดงผลงานกว่า 80 ชิ้น ตั้งแต่ยุคแรกถึงยุคปัจจุบัน ทั้งภาพลายเส้น สีน้ำ สีน้ำมัน ภาพพิมพ์ ผลงานประติมากรรม งานออกแบบต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้สนใจงานศิลปะได้เข้าชม

สำหรับผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการชุด “แดนสนธยา” ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในครั้งนี้  ได้แก่ ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ ชื่อ “ม้า” “เสือ” “ฝันกลางวัน” “คลื่นวัฏฏะ” และ “พาหนะพระคเณศ” เป็นต้น

พิธีเปิดนิทรรศการจะมีในวันที่ 5 มีนาคม 2556 เวลา 18.00 น.โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานในพิธี

นิทรรศการ : แดนสนธยา
ศิลปิน : ช่วง มูลพินิจ
วันที่ :  3 มีนาคม – 30 เมษายน 2556
สถานที่ : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
ติดต่อโทร : 02-281-5360-1

You may also like...