การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กับการฆ่าล้างแค้น มีความแตกต่างกันอยู่ตรงที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นการฆาในเชิงปริมาณ เป็นการผลิตซ้ำการประหัสประหารในรูปแบบวิธีเดียวกับระบบอุตสาหกรรม
คือยิ่งสามารถผลิตได้มากเท่าไหร่ ต้นทุนก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยม และทารุณที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งนาซีเยอรมันได้ใช้ค่ายกักกัน เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีนักโทษชาวยิวเป็นแรงงานในการผลิตอาวุธ และมีการนำเอาซากชิ้นส่วนของศพมาผลิตเป็นวัสดุเครื่องใช้ในค่ายกักักัน (เส้นผมนำไปทำเป็นไส้หมอน ฟูก ที่นอน และเถ้ากระดูกนำไปทำเป็นสบู่)
ส่วน การฆ่าล้างแค้น นั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ฆ่าให้ได้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว เพราะโดยมากแล้ว การฆ่าล้างแค้น มักจะเป็นการฆ่าที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องระหว่างทั้งสองฟากของขั้วปฏิปักษ์ การฆ่าล้างแค้นคือการผลิตสร้างการฆ่าโดยอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเรียกร้องให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตรงที่การฆ่าล้างแค้นอาจเปิดโอกาสสำหรับการโต้ตอบ เป็นการเปลี่ยนกลุ่มที่ถูกฆ่าให้กลายเป็นผู้ฆ่า
ภาพยนตร์เรื่อง Our Hospitality (1923) ของ บัสเตอร์ คีตั้น (Buster Keaton) นักแสดงตลกในยุคหนังเงียบได้หยิบยกกรณีประวัติศาสตร์การฆ่าล้างแค้นของสองตระกูลฮาร์ทฟิลด์กับแม็คคอย ที่ยังอุ่นระอุอยู่มาเป็นต้นเค้าของเรื่อง
บัสเตอร์ คีตั้น ได้วางตัวเองไว้ในซีกด้านของตระกูลแม็คเคย์ วิลลี่ แม็คเคย์ ซึ่งอพยพหนีตายไปอยู่ในนิวยอร์คกับแม่ หลังจากแม่ของเขาเสียชีวิต วิลลี่ก็ได้รับอุปการะเลี้ยงดูโดยป้าที่รักเขาเสมือนเป็นลูกของตัวเอง 20 ปีผ่านไป มีจดหมายแจ้งมาถึงวิลลี่ว่าเขาได้รับมรดกเป็นบ้านที่ตระกูลของเขาที่เคยพำนักอยู่ และหลังจากที่เขาตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะกลับไป เขาก็ได้รับรู้รับฟังประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่อยู่เบื้องหลังต้นตระกูลจากป้า และถูกห้ามไม่ให้เข้าใกล้เขตของแคนฟิลด์ ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาต นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางกลับไปยังที่ที่เขาจากมาตั้งแต่เมื่อยังแบเบาะ (โดยมีหมาที่เขาเลี้ยงเอาไว้แอบติดตามไปด้วย)
การเดินทางด้วยรถไฟทำให้เขาได้พบกับหญิงสาวนคนหนึ่ง เขาแอบประทับใจในตัวเธอโดยที่ไม่รู้ว่าเธอเป็นลูกสาวคนเล็กของตระกูลแคนฟิลด์ผู้เป็นศัตรู แต่เขาก็ผลัดหลงกับเธอเมื่อรถไฟเทียบจอดที่สถานี ระหว่างทางไปบ้านวิลี่เกือบจะถูกสังหารโดยคนในตระกูลแคนฟิลด์อยู่หลายครั้งหลายครา แต่ก็รอดมาได้ด้วยความบังเอิญ เขาก็ได้มาเจอเธออีกครั้งหนึงบนเส้นทางที่จะไปบ้านแม็คเคย์ เธอเอ่ยปากชวนเขาให้มาร่วมรับประทานมื้อเย็น
เมื่อไปถึงบ้านแม็คเคย์ ฝันที่มีอยู่ในหัวของวิลลี่พังทลายลง เมื่อบ้านหลังใหญ่ที่ดูสวยงามในภาพความคิดกลายเป็นเศษซากของความเป็นจริงที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ หลังจากเดินคอตกสิ้นหวัง วิลลี่ก็พยายามจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยเริ่มจากการตกปลาหาอาหาร แต่มันก็ไม่ง่ายเลยสำหรับหนุ่มชาวเมือง ความล้มเหลวทำให้เขาตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังบ้านของเธอก่อนเวลานัดหมาย ซึ่งที่นั่นเองความจริงเบื้องหลังการไล่ล่าตอนแรกจึงถูกเปิดเผยขึ้น
วิลลี่รู้ตัวแล้วว่ากำลังยืนอยู่ในดงของศัตรู แต่ที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยเขาเป็นแขกของกฏของบ้านที่ว่าใครมาเยี่ยมเยือนที่บ้านแล้วก็จะได้การต้อนรับ ด้วยน้ำจิตน้ำใจพูดง่ายๆในบ้านหลังนี้จะไม่มีการฆ่าเกิดขึ้น ทางรอดเดียวของเขาก็คือเตะถ่วงอยู่ในบ้านให้นานที่สุด ซึ่งก็โชคดีที่คืนวันนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก และเขาก็ต้องอาศัยค้างคืนที่นั่น เช่นเดียวกับบาทหลวงที่เป็นแขกของบ้านในคืนนั้นด้วยความเป็นเหตุผลมากๆกระทั่งดูเหมือนจะไร้เหตุผล ทำให้เรื่องราวของการวิ่งหนีหลอกล่อ มีนัยสำคัญมากกว่าการสร้างมุขตลกขบขันธรรมดาๆเพราะบ้านคือสัญลักษณ์ของผู้มาเยือน คือส่วนหนึ่งของบ้านที่มีลักษณะเป็น อุดมคติ แต่คำว่า บ้าน ใน Our Hospitality กินความหมายสองด้าน คือ ด้านที่เป็นอุดมคติและที่เป็นกายภาพ ฉะนั้นเมื่อตัวเอกก้าวพ้นออกไปจากบ้านเมื่อไร ว่าที่พ่อเขยและพี่เขยก็คว้าปืนออกไปไล่ยิงทันที บ้านจึงกลายเป็นสถานที่สำคัญไม่เฉพาะแต่กับความเป็นครอบครัว หากรวมไปถึงการสร้างระเบียบกฏเกณฑ์ที่เป็นต้นร่างของข้อตกลงทางสังคม จากการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการวนเวียนอยู่ในบ้านกลายเป็นการหลบหนี และจากการไล่ล่านั้นเองที่กลายไปเป็น บทพิสูจน์ว่าความรักของวิลลี่ที่มีต่อลูกสาวคนเล็กของแคนฟิลด์เป็นสิ่งเที่ยงแท้ เธอได้เสี่ยงชีวิตออกติดตามเขา และในขณะที่เธอกำลังจะพลัดหล่นจากน้ำตก วิลลี่ก็เอาชีวิตตัวเองเข้าแลก เพื่อช่วยเหลือเธอ
และแล้วการไล่ล่าจบลงด้วยการลั่นระฆังวิวาห์ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ชมก็คือวิลลี่ใช้บ้านของแคนฟิลด์เป็นสถานที่ประกอบพิธี (โดยความร่วมมือของบาทหลวงที่เป็นแขกของบ้านในตอนแรก) นี่เป็นตอนจบที่ทำให้เรายิ้มมุมปากและทำให้เราได้คิดว่า การวิวาห์ใน Our Hospitality คือภาพสะท้อนของสังคมยุคบุพกาล มันเป็นการยุติความขัดแยังทางสายเลือดท่างหนึ่งที่มนุษย์เคยใช้ เพียงแต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
TEXT : สินิมา