วัชระ สัจจะสารสิน

ตัวตน ปณิธาน การงาน ทัศนะ  วัชระ สัจจะสารสิน เป็นนามปากกาของนักเขียนหนุ่มชาวสงขลา ผู้ได้แรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนจากกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มีผลงานเรื่องสั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 นับจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 กว่าปีที่วัชระเดินมาบนเส้นทางสายวรรณกรรม มีเรื่องสั้นที่เขียนไว้และเผยแพร่ตามหน้านิตยสารและการประกวดรางวัลกว่า 50 เรื่อง จนวาระสมควร จึงรวมเล่มออกมาเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิต ในชื่อ “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง”

แม้จะเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต แต่ผลงานภายในนั้นคือชีวิตทั้งชีวิตของวัชระที่บ่มเคี่ยวมา 10 กว่าปี และเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เอง ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2551 นี้

ปัจจุบัน วัชระทำงานประจำเป็นข้าราชการอยู่ที่ศาลปกครอง แต่ก็ยังสวมวิญญาณเป็นนักเขียน อาศัย “ค่ำคืนมหัศจรรย์” ผลิตผลงานออกมาสู่บรรณพิภพอย่างต่อเนื่อง

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน
สิ่งที่ทำให้ผมเป็นนักเขียนมันเริ่มจากการที่เราเป็นคนรักการอ่าน พอเราอ่านจนถึงระดับหนึ่ง ก็ทำให้คิดว่า เออ เราก็น่าจะเขียนได้ มันก็คล้ายๆ กับนักเขียนหลายๆ คนนั่นแหละ เราผ่านการอ่านที่เข้มข้นมา แล้วก็อยากจะสร้างงานอย่างนั้นบ้าง

เล่มที่อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจจนอยากเขียน
ตอนผมเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ปี 1 ได้เข้าไปห้องสมุดธรรมศาสตร์ แล้วก็ไปเจอรวมเรื่องสั้น “สะพานขาด” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งมันเป็นรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาสังคมหนักๆ และมีบรรยากาศที่คล้ายๆ กับแถวบ้านผม บ้านผมกับกนกพงศ์ใกล้กัน ผมอยู่สงขลา กนกพงศ์อยู่พัทลุง พอผมอ่านปุ๊บ เออ นี่มันบรรยากาศคล้ายๆ แถวบ้านเรานี่หว่า แล้วเรื่องราวมันก็เป็นเรื่องที่เรารับรู้มาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่รู้ว่าการนำมาถ่ายทอดทางวรรณกรรมมันมีพลังขนาดนี้ พอเราอ่าน เอ้อ ทำไมเรื่องราวที่เรารับรู้ มันกลายเป็นเรื่องที่มีพลัง และทำให้เราฮึกเหิมอย่างนี้ ฮึกเหิมคือฮึกเหิมอยากเขียนหนังสือ อยากถ่ายทอดเรื่องราวขึ้นมา เล่มนี้ผมอ่านแล้วอ่านอีก อ่านหลายรอบมาก ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จักนักเขียนนะ แค่ตัวงานอย่างเดียวนั่นแหละที่ทำให้เราหันมาเขียนหนังสือจริงๆ จังๆ ก็เรื่องแถวๆ บ้านนี่หว่า เราก็ต้องเขียนได้ เราก็ลุยเลย แต่ว่าลุยแบบมั่วซั่วมาก คือลุยแบบไม่มีครูน่ะครับ เขียนด้วยใจรักอย่างเดียว แต่ทักษะยังน้อยถึงน้อยมากตอนนั้น แต่บางทีการลองผิดลองถูกตรงนั้นมันก็ช่วยเรา

ปัจจุบันคุณทำงานประจำอยู่ที่ศาลปกครอง แล้วแบ่งเวลาเขียนหนังสืออย่างไร
ผมทำงานเป็นข้าราชการอยู่ที่ศาลปกครอง จันทร์ถึงศุกร์ก็ต้องทำงานประจำ แต่ผมจะแบ่งเวลาตอนกลางคืน แล้วก็ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ อย่างคืนวันศุกร์คืนวันเสาร์เป็นเวลาที่มีค่ามากสำหรับผม เป็นเวลาที่เราอยู่ยันสว่างได้เลย แล้วก็นอนกลางวันเอา เป็นค่ำคืนมหัศจรรย์ ใช้คำว่าอย่างนี้ (หัวเราะ)

เคยเขียนงานติดต่อกันนานที่สุดแค่ไหน
บางเรื่องถ้าเกิดว่ามันลื่นก็เขียนถึงสว่างได้ แต่บางเรื่องถ้ามันติดขัด สักครึ่งย่อหน้าก็ไม่ไหวแล้ว อย่างนั้นก็จะทิ้ง คือจะไม่ฝืน
ที่จริงเรื่องนี้มันมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่นะ ผมอ่านการเขียนนิยายของจอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck : ค.ศ. 1902-1968 นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1962 ชาวอเมริกัน) คือตอนนั้นเขาเขียนนิยายเรื่องใหญ่เรื่อง “East of Eden” (ค.ศ. 1952) แล้วเขาก็เขียนบันทึกการเขียนนิยายเรื่องนี้ว่าเขาใช้เวลาอย่างไร ซึ่งเขาเคยพูดไว้ว่า เวลาเขาเขียนลื่น เขียนออกมาเยอะแยะเหมือนกับเขื่อนแตก เขียนกำลังเต็มที่ เขาจะหยุด คือถ้าเป็นคนอื่นเขาจะเขียนไปเรื่อยจนจบ ให้มันหมดจนไม่มีอะไรจะเขียน แล้วค่อยเลิก แต่สไตน์เบ็คเขาบอกว่า พอจังหวะที่เขากำลังเต็มที่เขาจะหยุด แล้วก็ไปทำอย่างอื่น ไปปาร์ตี้ เดินเล่น แล้วค่อยกลับมาเขียนใหม่ เขาบอกมันยังมีสิ่งที่เราคิดจะเขียนอยู่ มันยังค้างอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาเรากลับมาใหม่ เราก็ยังต่อเนื่องได้ แต่ถ้าเกิดคุณเขียนหมด มันก็จะหายไปเลย แล้วก็กลับมาต่อเนื่องไม่ได้ อันนี้ก็น่าคิด ผมจำมาตั้งแต่เขียนหนังสือใหม่ๆ คิดว่าน่าสนใจ บางทีเราเขียนกำลังมันๆ ก็หยุดซะ แล้วก็หายไปเลย แล้วเดี๋ยวกลับมาอีกได้

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ทั้งเรื่องสั้นและนิยาย ผมให้ความสำคัญกับเนื้อหาเป็นอย่างแรก เรื่องจะมีความแรงไม่แรงบางทีมันก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่ามีความหนักแน่นหรือทรงพลังเพียงใด จากนั้นเราก็บวกผสานไปกับเรื่องวรรณศิลป์ที่จะนำเสนอโดยผ่านกลวิธีต่างๆ
สำหรับกลวิธีหรือว่ารูปแบบในการเขียนมันก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำให้เรื่องน่าอ่านขึ้น แต่ไม่ใช่เราไปเน้นกับมันมาก ไม่อย่างนั้นงานก็จะไม่ลึก ไม่จับใจ และเนื้อหาที่จะเสนอมันพร่าไปหมด ดูอย่างงานของทั้งนักเขียนไทยและต่างประเทศ บางเรื่องมันก็เล่าด้วยวิธีธรรมดานะ เล่าแบบ Realist ธรรมดา แต่ทำไมมันมีพลังจังเลย บางทีเขาก็เล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง ชีวิตตั้งแต่ต้นตระกูล ปู่ย่าตายายมาเรื่อย แต่ว่าทำไมมันทรงพลังเหลือเกิน แต่นั่นแหละ ถ้าหากเรามีเนื้อหาที่ดี แต่ถ้าเกิดเราพลาดกับการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่อง มันก็จบเหมือนกันนะ เนื้อหาที่ว่าดีๆ อาจจะไร้ค่าไปเลยก็ได้ สุดท้ายมันก็ต้องไปด้วยกัน

ปณิธานในฐานะนักเขียน
ผมมองแยกออกเป็นสองระดับนะ คืออย่างแรกมองในแง่ของความเป็นมนุษย์เลยละว่า มนุษย์เรามันมีอารมณ์พื้นฐานอยู่บางอย่าง คือต้องการให้คนยอมรับ มันเป็นหลักจิตวิทยาข้อหนึ่งเลยแหละ มนุษย์เราต้องการให้คนอื่นยอมรับ ซึ่งอย่างเรา เรามาอยู่ในแวดวงวรรณกรรม เราก็ต้องการให้คนอื่นยอมรับในการเขียนหนังสือของเรา ให้คนอื่น เอ้อ ไอ้นี่มันเขียนหนังสือได้นะ เขียนหนังสือเป็นนะ มีตัวตนในแวดวงนะ เมื่อก่อนก็ใฝ่ฝันว่าจะได้เห็นตัวเองตรงนี้ โอเค รางวัลมันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับตรงนี้ มันอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การยอมรับ แต่มันก็ไม่ใช่ทางลัดสู่ความสำเร็จของนักเขียน และผมมองว่าการที่เขาจะยอมรับได้เราก็ต้องสร้างงานดีๆ ออกมา ตรงนี้แหละที่สำคัญ ที่สุดแล้วคุณก็ต้องสร้างงานดีๆ ออกมา ถ้าคุณจะโปรโมทด้านอื่น คุณก็ต้องไปอยู่แวดวงอื่น อยู่ในแวดวงนี้มีเฉพาะงานเขียนเท่านั้นแหละจะพิสูจน์คุณได้ และสร้างการยอมรับให้คุณ

ส่วนอีกระดับก็เป็นเรื่องของการที่หวังว่างานเขียนเราจะทำหน้าที่ของมันตามสมควร ไม่หวังว่าจะต้องถึงกับเปลี่ยนแปลงสังคม แค่ให้คนหันมาอ่านงานวรรณกรรมมากขึ้น หรือไม่ก็เท่าเดิม ไม่หดหายไป อ่านแล้วก็มาคุยมาถกเถียงกัน หัวเราะยิ้มหัวกับงานของเรา แค่นี่ก็ถือว่ามีความสุขแล้ว

ทัศนะต่อสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมาย
คือรางวัลมันก็มองได้ 2 ด้านนะ มองด้านบวกมันก็เป็นในแง่กำลังใจ แล้วการที่มีการประกวดรางวัลเยอะอย่างนี้ บางทีก็แสดงให้เห็นว่า วงการวรรณกรรมคึกคักขึ้นนะ และให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น สนับสนุนครับ เพราะว่าบางทีรางวัลมันกระตุ้นนักเขียน มันกระตุ้นให้ทำงานกัน ส่งงานกันมา มาประเมินคุณค่ากัน มันก็เป็นแง่บวก

แต่ถ้าเกิดว่าเราไปหลงกับรางวัล ไปยึดติดกับมันมากเกินไป อย่างมีรางวัลโน่นรางวัลนี้ ถึงกับจดไว้เลย แล้วก็เขียนไล่ส่ง ส่งดะ แล้วพอไม่ได้กูก็จะเป็นจะตาย ไปกระโดดน้ำ แล้วก็ด่ากรรมการว่าหัวไม่ถึง มันก็อันตรายนะ แต่ถ้าเกิดเราเลือกที่จะส่งรางวัลใดรางวัลหนึ่ง แล้วเราก็เลือกที่จะตั้งใจทำงานเขียนออกมา เหมือนกับว่าเราต้องการผ่านตรงนั้นไปให้ได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย บางทีมันก็พัฒนาตัวเราได้ เพราะฉะนั้นเราต้องระวังตัวเอง ใช้การประกวดนั่นแหละตรวจสอบตัวเอง ขัดเกลาต้นฉบับ ถ้าระมัดระวังตรงนี้ มันก็ถือเป็นกำลังใจ เป็นด้านบวกในการสร้างงานเหมือนกัน แต่ถ้าเกิดในแวดวงเราไม่มีรางวัลวรรณกรรมเลย มันก็นิ่งๆ ไม่คึกไม่ตื่นเต้น ดูอย่างเมืองนอก รางวัลเยอะแยะไปหมด บางทีถือเป็นการให้เกียรติยกย่องกันไป เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ต้องมีทุกวงการแหละ โอเค โดยปรัชญาการเขียนหนังสือ รางวัลมันเป็นเรื่องปลีกย่อย มันเป็นเรื่องภายนอก มันไม่ใช่แก่นของการเขียนหนังสือ ถ้ามองที่ปรัชญาอย่างนั้นมันก็ไม่มีปัญหา ถอยออกมาห่างๆ มันก็สบายใจไปอย่างหนึ่ง ใครอยากกระโจนลงไป ก็สนุกกับมัน มันก็แค่นี้

ก็เคยคิดนะ สมัยเขียนหนังสือใหม่ๆ โอ้ เราจะไปเขียนหนังสือในป่า (เร่งเสียง) แล้วเราจะเขียนโดยที่ว่าไม่หวังอะไร รางวัลก็ไม่สนใจ เขียนเพื่อเขียนน่ะ เขียนเพื่อโลก! อะไรอย่างนี้ มันได้! ไม่มีปัญหาหรอก แต่เมื่อเรามองสภาพความเป็นจริงของสังคม เราก็ต้องยอมรับ บางทีเราจะปฏิเสธมันยาก ไอ้การมองแบบ Ideology มันมองได้หมด การจะเป็นนักเขียนที่แท้ บริสุทธิ์ต้องเป็นยังไง การจะเป็นกวีที่บริสุทธิ์ต้องเป็นยังไง แต่ในเมื่อคุณกระโจนลงมาในสังคมนี้ ถ้าคุณเลือกเป็นส่วนหนึ่งของมันก็เลือกไป แต่ถ้าคุณเลือกอีกแบบหนึ่งคุณก็ไปอยู่ต่างหาก คุณก็ไม่ต้องสนใจมัน แต่ในเมื่อคุณกระโจนลงมาในมันแล้ว ถ้ามีปัญหาคุณก็ไม่ต้องไปวอแวกับมัน

กวีและนักเขียนส่วนใหญ่ย่อมมีความฝันที่อยากจะอยู่บ้านทำงานเขียนอย่างเดียว ถึงจุดนี้คุณมีความคิดอยากออกจากงานไปเขียนหนังสืออย่างเดียวไหม
นี่มันเป็นความฝันเลยนะ ก็อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนที่ชอบงานกนกพงศ์ พอผมอ่านงานแก ผมก็ศึกษาความเป็นตัวนักเขียน ผมเข้าไปรู้จักสัมผัสแก เลยรู้ว่าแกเป็นคนที่ทำงานเขียนอย่างจริงจังมาก แล้วไปอยู่เพื่อจะเขียนงานจริงๆ ซึ่งตรงนั้นตอนแรกๆ ผมประทับใจมาก ผมเคยไปหาแกที่พรหมคีรี หุบเขาฝนโปรยไฟ ตอนนั้นเรียนปี 2 ธรรมศาสตร์ ไปกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ผมไปแล้วแทบไม่อยากกลับมาเลย แบบ…กูไม่เรียนแล้วโว้ย กูจะอยู่ที่นี่แหละ ไม่เอาแล้ว กูจะเขียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเรามองแบบเด็กๆ เลยนะ เหมือนคลั่งฮีโร่ แต่พอเวลาผ่านไป เรากลับมามองความจริง เอ้อ เรามีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือก่อน คือผมมองว่าการอยู่ในสังคมเราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองอย่างเดียว เราต้องอยู่เพื่อคนอื่นด้วย เรามีพ่อแม่ ฐานะเราก็ไม่ใช่ว่าดี เราก็ต้องเรียนหนังสือ แล้วก็จบไปประกอบอาชีพการงาน แต่พอเขียนมาระยะหนึ่ง มันก็มีความคิดนะ เราก็อยากออกมาเขียนหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ แต่ในเมื่อสภาพความเป็นจริงไม่เอื้ออำนวยแก่เรา เราก็ต้องทำงานประจำ หาเลี้ยงชีพกันไป ในเมื่อเราไม่มีต้นทุนเพียงพอเหมือนคุณกนกพงศ์ เหมือนคุณชาติ กอบจิตติ เหมือนคุณวินทร์ เลียววาริณ เราจะทู่ซี้ทำไปทำไม มันก็ตาย (ลากเสียง) แหงแก๋ เราต้องมองความจริงตรงนี้ ผมก็กลับมาทำงานประจำ อ่ะ อย่างน้อยมันก็ได้เงินเดือนโว้ย มีเงินเดือนมาเลี้ยงชีพ ซื้อหนังสือก็ยังดีนะ ซื้อเทปซื้อซีดีก็ว่ากันไป แล้วก็หล่อเลี้ยงความฝันของเราไป

คือบางทีชีวิตมันมีให้เลือก แล้วแต่คุณจะเลือกยังไง ซึ่งผมประเมินว่าต้นทุนเรามันไม่ถึงขนาดนั้น ต้นทุนเราอาจจะต่ำ ผม
อาจจะไม่มีความกล้าพอ อาจจะไม่มีการยืนยันในสิ่งที่เราอยากเป็น ในเมื่อมันเป็นอย่างนั้น ผมก็เลือกมาทำงานประจำ แล้วก็เขียนหนังสือไปด้วย แล้วผมมองว่าการจัดการชีวิตตรงนั้นมันก็เป็นเรื่องสนุกเหมือนกัน ถ้าเกิดเราจัดการชีวิตตรงนั้นได้ ผมว่าวิเศษมาก แล้วประนีประนอมทุกฝ่าย เราก็ไม่มีปัญหากับตัวเอง อย่างน้อยก็มีข้าวกินเว้ย ครอบครัวก็ไม่ได้มองว่า เอ้า มันบ้ารึเปล่าวะ เพราะว่าใครจะไปรับรู้ล่ะ พ่อกับแม่เขาจะรับรู้หรือว่านักเขียนมันยิ่งใหญ่ยังไง ใช่ไหม ถ้ามองกันจริงๆ เขาก็ไม่ได้โตมาอย่างเรา เขาไม่ได้มารับรู้หรอกว่านักเขียนยิ่งใหญ่ยังไง แล้วมันมีข้าวกินหรือเปล่าล่ะ เพราะฉะนั้นเราประนีประนอมทุกฝ่าย เราก็สบายใจ ทางบ้านสบายใจ ครอบครัวสบายใจ แล้วเราก็ทำงานเขียนได้ มันก็แฮปปี้เอนดิ้ง win-win ทุกฝ่าย ก็ดี (หัวเราะ)

โครงการที่จะออกเล่มใหม่
โครงการเล่มใหม่ผมจะทำเรื่องสั้นอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ยังมีต้นฉบับประมาณ 30 เรื่อง แต่อาจจะเพิ่มเรื่องใหม่เข้าไปอีกส่วนหนึ่ง แล้วโครงการต่อไปก็คือเขียนนิยาย

คือการเขียนนิยายนี่เป็นความใฝ่ฝันของผมมากเลย ผมยังพูดเล่นๆ กับเพื่อนนะว่า ในทัศนะของผม การจะพิสูจน์นักเขียนสักคนหนึ่ง ผมมองว่าวัดได้จากการเขียนนิยายเล่มใหญ่ๆ สักเรื่อง เล่มใหญ่ๆ แล้วต้องดีด้วยนะ (ยิ้ม) ต้องดี และเข้มข้น และคุณต้องจับอารมณ์มันให้อยู่ จับให้ได้ คนอ่านอ่านแล้ว โอ้โฮ…มันเยี่ยมมาก! ผมว่ามันเป็นการพิสูจน์นักเขียนเลยละ

โอเค เรื่องสั้นมันก็เขียนยาก แต่ว่าถ้าเกิดได้เขียนเรื่องสั้นแล้วก็เขียนนิยายด้วยนี่ยิ่งดีใหญ่ เพราะว่าการเขียนนิยายมันเป็นการฝึกความอดทน ฝึกฝีมือ ฝึกทักษะในการวางพล็อต จัดวางตัวละคร จับอารมณ์ให้คนอ่านอยู่กับงานของเรา คือทำยังไงที่จะตรึงคนอ่านให้จมอยู่กับนิยาย 500 หน้าของคุณได้โดยไม่ต้องวาง ผมว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์นะถ้าทำได้ ผมใฝ่ฝันมากว่าวันหนึ่งจะต้องทำให้ได้และต้องทำให้ดีด้วย (หัวเราะ)

แต่บางทีมันเป็นความกลัว กลัวว่าจะออกมาไม่ดี แต่อาจจะเป็นการดีก็ได้ที่เรากลัว (หัวเราะ) ผมกลัวไปหมดแหละ กลัวว่าออกมาแล้วไม่ดี กลัวมาก

ทัศนะต่อปัญหาสายส่งไม่รับงานวรรณกรรม
โห…นี่เจอมากับตัวเองเลยนะ จากรวมเรื่องสั้นเล่มแรกเลย “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” คือจำได้ว่าตอนนั้นหนังสือออกมาตรงกับงานหนังสือฯ โอเค ในงานหนังสือฯ มีหนังสือให้เห็น เพราะว่าพอออกจากโรงพิมพ์ปุ๊บ สำนักพิมพ์ก็เอาไปวางตามบูทได้ แต่หลังจากนั้นประมาณเดือนสองเดือน ไปดูตามร้านหนังสือไม่เจอหนังสือของตัวเองเลย มันทำให้เราท้อนะ เราเฝ้าฝันไว้ว่าวันหนึ่งเราจะเห็นเรื่องของเราวางอยู่บนชั้นหนังสือ ผมทำงานอยู่แถวสาทร ตอนนั้นผมตระเวนดูทุกร้านเลย ตามห้างดังๆ ตระเวนดูว่ามีไหม ไม่มีเลย! ไม่ใช่ว่าหลบอยู่ตรงไหนนะ ถามเขาเขาบอกว่าไม่มี ไม่มีนักเขียนชื่อนี้ เจ็บปวดมาก (เน้นคำ) เราก็ลากขาเดินไปแถวปิ่นเกล้า แถวท่าพระจันทร์ ดูหมดเลย…ไม่มี ไม่มีจนแบบว่าต้องโทร.หาบรรณาธิการ พี่เจน สงสมพันธุ์ พี่เจนเขาบอกว่าเขาก็ส่งไปแล้วนะ พิมพ์เสร็จก็ส่งไปเลย เราก็ เอ๊…ทำไมยังไม่วาง แต่ว่าทางญาติแถวหัวเมืองต่างๆ เขาก็บอกว่า มีนะ มีวาง แต่ในกรุงเทพฯ ไม่มี ก่อนที่สุดท้ายถึงจะมาเข้าใจในระบบ

คือเราอาจจะไม่เข้าใจในระบบแต่แรก เราก็ เฮ้ย หนังสือออกแล้วมันต้องวางเลยสิ ก็มีพี่คนหนึ่งแกอธิบายให้ฟังว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา! คุณอย่าไปคาดหวังตรงนี้ ร้านหนังสือตามห้าง หรือว่าตามสถานที่สำคัญต่างๆ เขาก็ต้องเช่าที่ เขาก็ต้องเสียตังค์ เขาก็ต้องใช้น้ำใช้ไฟ แล้วเรื่องอะไร! คุณจะไปเอาวรรณกรรมที่คนไม่อ่านมาวางโชว์หน้าร้าน มันก็เสียรายได้เขา เขาก็ต้องเอาหนังสือที่มันขายได้มาวาง ซึ่งบางทีเราก็ไม่เข้าใจตรงนี้ คืออยากจะเข้าใจ แต่ว่าบางทีเราก็ไม่อยากจะเข้าใจ (หัวเราะ) ทำไมวะ! ก็ระบบมันเป็นอย่างนี้ว่ะ

แต่พอวันดีคืนดี เรื่องนี้เข้ารอบซีไรต์ขึ้นมา เฮ้ย มันมีแล้วเว้ย! เพื่อนก็บอกว่ามีนะ ตรงนั้นมีนะ เอ้อ! แปลก จริงๆ มันไม่แปลกหรอก ผมอาจจะเรียนรู้ระบบตรงนี้น้อยไปหน่อย แต่ตอนนี้ก็พอจะเข้าใจบ้าง เพราะว่าเราก็ต้องเข้าใจสภาพสังคมบ้านเรา ว่าวัฒนธรรมการอ่านหนังสือมันไม่เหมือนเมืองนอก บางทีเราไปติดภาพเมืองนอก ติดภาพพวกฝรั่ง ที่เขาไปไหนต้องถือหนังสือตลอดเวลา หนังสืออะไรออกมาก็ต้องขายได้ คือเราไปติดภาพตรงนั้น แต่ถ้าเรามองย้อนกลับมายังสังคมไทย มองวัฒนธรรมการอ่านของเรา ก็จะเห็นว่ามันไม่แข็งเหมือนของเมืองนอกเขาไง! จะเข้าใจเลยละ เข้าใจ แล้วก็ทำยังไงให้อยู่ได้กับระบบ แค่นั้น…จริงๆ นะผมว่า ถ้าเราจะไปเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนยาก นักเขียนตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะไปเปลี่ยนระบบ มันยากมากเลย

ก็หวังว่ามันน่าจะ (หัวเราะ) ดีขึ้นละนะ เดี๋ยวนี้ลองดูตามร้านหนังสือสิ หนังสือพวกการ์ตูนเกาหลี รักกุ๊กกิ๊กเยอะไปหมด เป็นนามปากกาเต็มไปหมด ผมว่านักเขียนไทยนี่แหละเขียน…มันขายได้ ก็เข้าใจ คือบางทีเราไปคาดหวังกับธุรกิจหนังสือมากเกินไป ทั้งๆ ที่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม มันก็ไม่ต่างจากขายผลไม้ ขายผัก ขายอะไรในตลาด คนขายก็ต้องการขายสินค้าที่มันมีคนซื้อเยอะๆ แต่เราบางครั้งไปคาดหวังกับธุรกิจหนังสือมากเกินไป จนละเลยความเป็นจริงตรงนี้

นักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด
เมื่อกี้ก็แอบพูดไปแล้วคนหนึ่ง กนกพงศ์ กนกพงศ์นี่ชอบของเขาหมดเลยนะ “สะพานขาด” แล้วก็ “แผ่นดินอื่น” รวมทั้งเรื่องสั้นที่ออกมาใหม่อีกหลายเล่ม

แล้วก็พี่จำลอง ฝั่งชลจิตร โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้น “สีของหมา” เล่มนี้ถ้าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ อยากเขียนเรื่องสั้นต้องอ่านเลย ใช้คำว่าต้องผ่านเล่มนี้

ถ้านิยายต้องยกให้พี่วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นมือนิยายเลย ไล่อ่านมาตั้งแต่ “คือรักและหวัง” แล้วล่าสุดที่ชอบก็คือ “ฉากและชีวิต” ซึ่งดีมาก เป็นเรื่องที่ง่ายๆ ไม่มีกลวิธีที่ซับซ้อนอะไรมาก แต่มันเอาอยู่ อ่านหลายรอบ แล้วเราก็นั่งน้ำตาซึม คือเขาสร้างตัวละครได้ลึก ลึกจนเห็นว่ามันมีตัวตน เห็นว่ามันมีอยู่จริง แล้วเราก็รักมัน มันเหมือนเราเข้าไปอยู่ในเรื่องด้วย ไปนั่งตั้งวงเหล้าด้วยกัน ยิ่งตอนจบเหมือนเราไปงานศพเขาด้วย อีกอย่าง บรรยากาศของเรื่อง มันก็รู้สึกว่ามันเป็นของเราจริงๆ ทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าในความเป็นนิยายเรื่องหนึ่งมันสำเร็จแล้วละ

นี่นักเขียนไทย…จริงๆ มันเยอะมาก แต่จะให้โฟกัสในเวลาอันสั้นมันยากมาก แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าหน่อยก็เป็น อ.อุดากร ผมชอบการใช้ภาษาของ อ.อุดากร มากนะ ผมอ่านเรื่องสั้นแกหลายรอบมาก พล็อตบางเรื่องอาจจะดูโรแมนติคไป แต่แกใช้ภาษาได้อย่างมีพลัง ก็เลยทำให้เรื่องน่าอ่าน ยิ่งการบรรยายฉากนี่เยี่ยมมาก เห็นหมอกเห็นลมเลยละ อ่านซ้ำๆ กันได้โดยไม่เบื่อ เสียดายแกรีบไปเสียก่อน

นักเขียนเมืองนอกก็มีดอสโตเยฟสกี้ คือคนทั่วไปเขามองว่าดอสโตเยฟสกี้เป็นนักเขียนที่เครียด อ่านแล้วไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่ ไม่มีทางออก แต่ผมชอบนะ ผมเป็นคนชอบงานดอสโตเยฟสกี้มาก เรื่องเขาอาจจะเครียดก็จริง ตัวละครแต่ละตัวของเขาเหมือนกับจะป่วยทั้งนั้น คนอาจจะมองว่าเขาเสนอแต่แง่ปัจเจก แต่ไม่ใช่เลย ปัจเจกตรงนั้นแหละสะท้อนสังคมออกมาชัดเจนยิ่งกว่าหนังสือประวัติศาสตร์รัสเซียเสียอีก และผมมองว่าเขาเป็นต้นธารให้กับนักเขียนตะวันตกรุ่นต่อๆ มาหลายคน นักเขียนเกือบทุกคนต้องอ่านงานของดอสโตเยฟสกี้ กันทั้งนั้น คือเขาไม่ใช่นักเขียนนะ เขาเป็นเทพที่จุติมา เขาลงมาเพื่อ…เพื่ออะไรดี (พูดกลั้วหัวเราะ) เขาเหมือนเป็นศาสดาเลยนะ นักเขียนในยุโรปได้รับอิทธิพลของเขาทั้งนั้นแหละ แต่จะมากจะน้อยก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะไปสร้างงานที่หลากหลายแตกต่างออกไป แต่ผมว่าถ้าถามนักเขียนทั่วโลกถึงนักเขียนที่ชื่นชอบ ก็ต้องมีชื่อของเขาละ ดอสโตเยฟสกี้ ผมชอบมาก อ่าน “อาชญากรรมและการลงทัณฑ์” ผมว่าสนุกนะ ผมสนุกกับงานอย่างนี้ สนุกมาก และยิ่ง “พี่น้องคารามาซอฟ” นี่ยิ่งมหัศจรรย์เลยละ เขียนขึ้นมาได้ยังไง เรื่องนี้ถือว่าแกโชว์ให้เห็นเลยละว่าแกเป็นเทพนะ ไม่ใช่นักเขียน ดูสิ เดี๋ยวนี้หนังหลายเรื่องก็ยังเอางานของแกมาเป็นแรงบันดาลใจ

หรืออย่างฟรันซ์ คาฟกา หลังๆ ก็อ่าน แต่ผมว่าถ้าอ่านดอสโตเยฟสกี้แล้วก็ครอบหมดแล้วละ เพราะคาฟกาก็ได้รับอิทธิพลจากดอสโตเยฟสกี้ รุ่นหลังๆ อย่างมูราคามิก็เหมือนกัน ผมคิดว่าก็ได้รับอิทธิพลมานะ เพียงแต่คนละยุคสมัยเท่านั้นเอง
รวมไปถึงพวกนักเขียนใหม่ๆ ผมก็อ่านนะ อย่างบุ๊คเกอร์ไพรส์ของธอย เรื่อง the god of small thing
นี่ก็สนุก

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 273
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

Share to Facebook

You may also like...