Kappa ของ Ryunosuke Akutagawa

ขัปปะ หรือ Kappa (1927) เป็นนวนิยายขนาดสั้น ผลงานการประพันธ์ของนักเขียนอมตะคนหนึ่งของญี่ปุ่น ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ (Ryunosuke Akutagawa : 1882-1927) ผู้จบชีวิตตนเอง ด้วยการดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เฉกเช่นนักเขียนญี่ปุ่นชื่อดังหลายๆคน

อาทิ ยาสุริ คาวาบาตะ (Yasunari Kawabata : 1899-1972) นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1968 ถือเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่น คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ฆ่าตัวตายด้วยการรมแก็ส), ยูคิโอะ มิชิม่า (Yukio Mishima : 1925-1970) ฆ่าตัวตายด้วยการทำฮาราคีรี หรือเรียกได้อีกอย่างว่า เซปปุกุ(Seppuku) คือ  คว้านท้องตัวเองฆ่าตัวตาย เพียงแต่มิชิม่าบ้าระห่ำกว่านั้น เพราะเขาทำทำฮาราคีรีต่อหน้าสาธารณชนในกรุงโตเกียว) ฯลฯ สำหรับอะคุตะงาวะ ถือว่าน่าเสียดายยิ่งสำหรับฝีไม้ลายมือในการเขียนหนังสือ เพราะขณะที่ฆ่าตัวตาย เขามีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

เอ่ยถึงชื่อของอะคุตะงาวะ นักอ่านหลายคนคงคุ้นชินกับผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อให้เขาอย่างราโชมอน (Rashomon : ค.ศ. 1915 ) หรือในชื่อภาษาไทยว่า ประตูผีมากกว่า แต่หลังจากอ่านขัปปะจบลง ผู้เขียนรู้สึกว่านวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ก็มีแง่มุมชวนเขียนถึงไม่น้อย เนื้อหาของขัปปะเล่าถึงคนไข้หมายเลข 23 ในโรงพยาบาลโรคจิต ผู้กล่าวอ้างว่าตนเคยหลงเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกของขัปปะมาช่วงหนึ่ง ก่อนตัดสินใจกลับสู่โลกจริง แต่การอยู่ในโลกของขัปปะก็ทำให้เขาติดนิสัยหลายๆอย่างของขัปปะ เช่น ภาษาของขัปปะ กลับมาพุดมาใช้ในโลกจริง ซึ่งแม้จะไม่ได้บ่อย เพราะส่วนใหญ่เป้นการเผลอ แต่นั่นก้เพียงพอแล้วที่คนทั่วไปจะสรุปว่าเขาเป็นโรคจิต

ขัปปะ เป็นนวนิยายที่อ่านสนุก เพราะอะคุตะงาวะ ได้ใช้โลกของขัปปะเป็นส่วนเทียบเคียงกับโลกของมนุษย์ โดยให้คนไข้หมายเลข 23 เป็นผู้เข้าไปทำหน้าที่เปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้เห็นความแตกต่างและความเหมือนหลายๆประการของทั้ง 2 โลก

อนึ่ง ก่อนจะกล่าวต่อไป ผู้เขียนขออนุญาตยกถ้อยอธิบายเกี่ยวแก่ตัวขัปปะ ที่ชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็น สัตว์ประหลาด ซึ่งศาสตราจารย์เคนซุเกะ ทะมะอิ อดีตอาจารย์พิเศษวิชาภาษา วัฒนธรรม และวรรณคดีญี่ปุ่น จุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, , และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนอธิบายไว้ในบทกล่าวนำของนวนิยายเรื่องขัปปะที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม มาไว้ดังนี้

“ขัปปะเป็นสัตว์ในจินตนาการที่อยู่ในน้ำก็ได้ ตัวโตเท่าเด็กอายุ 5-6 ขวบ ปากเป็นจะงอยแหลม หลังมีกระดองหรือเกล็ด มือและเท้ามีพังผืดไว้ใช้ว่ายน้ำ บนหัวมีจาน กล่าวคือเป็นแผ่นแบนที่มีรอยบุ๋มลงไปขังน้ำได้เล็กน้อย เวลาที่มีน้ำขังอยู่นั้นแม้จะขึ้นบกก็มีพละกำลังกล้าแข็ง แต่พอน้ำหมดก็จะตาย คำว่า ขัปปะ ในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนด้วยตัวจีนสองตัว ตัวแรกแปลว่า แม่น้ำ ตัวหลังแปลว่า เด้ก อักษรสองตัวนี้ผสมกันและออกเสียงเป็น KAPPA (ขัปปะ) สำหรับชาวญี่ปุ่น ขัปปะเป็นสัตว์ที่ทุกคนคุ้นเคยดีแต่โบราณกาล มักจะปรากฏตัวในนิทาย นิยาย ตำนาน และคำพังเพยในแง่ขบขันเสมอ
จึงไม่ผิดกระมัง หากผู้เขียนจะขอเรียกขัปปะ ว่าเป็นสัตว์ประหลาด และขอเรียกโลกของขัปปะว่าเป็นสัตว์ประหลาดในมุมมองของมนุษย์ ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งของนวนิยายเรื่องขัปปะ นอกเหนือจากการเปรียบเทียบโลกของขัปปะหรือโลกของสัตว์ประหลาดกับโลกของมนุษย์เรา ซึ่งมีหลายประเด็นที่อะคุตะงาวะแสดงการเสียดสีสังคมมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจแล้ว ก็คงจะเป็นประเด็นของคนไข้หมายเลข 23 แห่งโรงพยาบาลโรคจิต น่าสนใจอย่างไร? สมมติว่าเรื่องราวของโลกขัปปะที่ออกมาจากปากคำของคนไข้โรคจิตรายนี้เป็นความจริง (ในมิติของนวนิยาย) หากพิจารณาจากตัวบทแล้ว พบวาคนไข้รายนี้พิสมัยโลกของขัปปะมากกว่าโลกของมนุษย์ ดังตัวบทที่ว่า

“แต่พอข้าพเจ้าล้มเหลวเรื่องนั้นแล้ว ก็คิดหาทางจะกลับไปยังดินแดนขัปปะอีก ใช่แล้วข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่า อยากไป แต่พูดว่า อยากกลับ เพราะข้าพเจ้านึกถึงดินแดนขัปปะราวกับเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองทีเดียว ทำไมคนไข้โรคจิตรายนี้ถึงมีความพิสมัยโลกของสัตว์ประหลาด ถึงขนาดเรียกว่าเป็นดั่งบ้านเกิดเมืองนอนของตน คำตอบอาจอยู่ที่ตัวบทที่ว่า ประสาทของพวกเราชาวขัปปะน่ะละเอียดอ่อนกว่าชาวมนุษย์มากนัก” ละเอียดอ่อนแค่ไหนไม่รู้ รู้เพียงว่าในโลกของขัปปะนั้น นักบุญของพวกมันคือศิลปิน อาทิ นักบุญ สตรินด์เบิร์ก (Johan August Strindberg : ค.ศ.1849-1912 นักเขียนบทละครชาวสวีเดน) , นักบุญสวีเดนเบิร์ก (Emanuel Swedenborg : ค.ศ. 1688-1772 ศิลปิน นักปรัชญา และนักเขียนทางศาสนาชาวสวีเดน), นักบุญนิทเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche : ค.ศ. 1844-1900 ปรัชญาเมธีชาวเยอรมัน), นักบุญตอลสตอย (Leo Tolstoy : ค.ศ.1828-1910 นักเขียนระดับโลกชาวรัสเซีย) ฯลฯ

ซึ่งหากความละเอียดอ่อนนำมาซึ่งศิลปะ ศิลปะนำมาซึ่งการรู้จักชีวิต (ดังคำกล่าวของอาจารย์ศิลป พีระศรี) ผู้เข้าใจชีวิตย่อมเข้าใจโลก เข้าใจสัจธรรม และใช้ชีวิตทำในสิ่งที่ควร อยู่ในความสงบสุขอันงดงาม เช่นนี้แล้ว คงหายแปลกใจที่คนไข้โรคจิตจะนึกถึงโลกของขัปปะว่าเป็นดั่งบ้านเกิดเมืองนอนที่เขาปรารถนาจะอยู่อาศัย แต่กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าโลกของขัปปะเป็นโลกที่สะอาดบริสุทธิ์ เพราะจากตัวบทก็ปรากฏการกระทำหลายๆอย่างของชาวขัปปะที่หาได้วิปริตน้อยไปกว่ามนุษย์สักเท่าไหร่เลย อาทิ การอิจฉาริษยาระหว่างกัน การแก่งแย่งแข่งขัน การกินเนื้อพวกเดียวกัน ดังตัวบทที่ว่า

“กรรมกรที่ถูกไล่ออกจากโรงงานนั้น เขาจะฆ่าเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหารทั้งหมด ดุในหนังสือพิมพ์นี่สิเดือนนี้กรรมกรถูกปลดออกจากงาน 64,769 ตัว ดังนั้นราคาเนื้อจึงถูกลง” “ถึงจะโวยวายก็ไม่มีทางรอด เพราะเรามีกฏหมายอนุญาตให้ฆ่ากรรมกรไว้แล้ว” เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฆ่าเหมือนๆกัน แต่ที่แตกต่างจะอยู่ที่ ความตรงไปตรงมา ที่ชาวกัปปะถ้าจะฆ่าก็บอกตรงๆ ออกมาในรูปกฏหมาย ไม่แอบซุ่มซุกซ่อนดัดหลังซ่อนเงื่อนเหมือนพวกมนุษย์ พูดง่ายๆก็คือคิดเห็นอย่างไรก็บอก ก้แสดงอย่างตรงๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ยังดีกว่าการแอบแทงข้างหลัง ตัวอย่างอีกประการที่แสดงความตรงไปตรงมาของชาวขัปปะ คือ การที่พวกมันปฏิเสธการคุมกำเนิด ดังตัวบทที่ว่า “การที่คิดถึงความพร้อมความสะดวกของพ่อแม่ฝ่ายเดียวเท่านั้นนะ ออกจะเป้นเรื่องน่าขำอยู่นา เพราะเท่ากับว่าพ่อแม่เห้นแก่ตัวเองฝ่ายเดียวไม่ใช่หรือ” แต่ที่มากกว่านั้น คือ การถามความสมัครใจของทารกที่ใกล้จะคลอด ว่าอยากจะเกิดมาหรือไม่ ดังตัวบทที่ว่า

“การคลอดลูกของขัปปะก็เหมือนกับมนุษย์เราตรงที่ว่าต้องมีหมดหรือหมอตำแยมาคอยช่วยเหลืออยู่ แต่พอเวลาจะคลอดเข้าจริงๆขัปปะตัวพ่อก็ทำอย่างกับพูดโทรศัพท์ โดยเอาปากจ่อเข้าที่ช่องคลอดของขัปปะตัวแม่ แล้วถามด้วยเสียงอันดังว่า “เจ้าอยากจะเกิดมาในโลกนี้หรือไม่ จงคิดให้ดี แล้วตอบมา” ดังนี้ แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าโลกของขัปปะเป็นโลกที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่า อย่างน้อยที่สุด โลกของขัปปะก็เป็นโลกที่ดีกว่าโลกของมนุษย์ ดังเช่นที่คนไข้โรคจิตหมายเลข 23 รู้สึก เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ย่อมปรารถนาสิ่งที่ดีกว่า แต่มนุษย์ล้วนแตกต่าง ความปรารถนาของคนคนหนึ่งจึงย่อมไม่เหมือนกับของอีกคนหนึ่งซึ่งนี่เอง นำมาซึ่งหลักใหญ่ใจความของนวนิยายเรื่องนี้ ในเมื่อขัปปะเป็นสัตว์ประหลาด และโลกของมันก็คือโลกของสัตว์ประหลาด จึงประหลาดไม่น้อยที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีความหลงใหลได้ปลื้มกับโลกของขัปปะที่มนุษย์คนอื่นนิยามว่าเป็นสัตว์ประหลาด จริงอยู่ที่ช่วงหลังๆของการอยู่อาศัยในโลกขัปปะของคนไข้โรคจิต อารมณ์ของเขาค่อนไปข้างเบื่อหน่าย แต่เมื่อได้กลับมายังโลกของมนุษย์ เขากลับรู้สึกว่าโลกของขัปปะนั้นน่าอยู่มากกว่าเป็นไหนๆ จึงอาจไม่เกินเลยไป หากจะกล่าวว่าสุดท้ายแล้วคนไข้โรคจิตจะนิยมชมชอบในตัวขัปปะมากกว่าตัวมนุษย์ ดังตัวบทนำที่ว่า

“คนไข้หมายเลข 23 ที่ดูหน้าตาหนุ่มกว่าอายุจริง จะก้มศีรษะคำนับคุณอย่างนอบน้อม แล้วเชิญให้คุณนั่งบนเก้าอี้ไม่มีเบาะ จากนั้นก็ยิ้มเศร้าๆก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องซ้ำ ตอนสุดท้ายผมยังจำสีหน้าของเขาได้ดี ตอนเล่าเรื่องจบ เขาจะผลุนผลันลุกขึ้น ชูกำปั้นร่อน ร้องตะโกนว่า ออกไปให้พ้น ไอ้พวกสารเลว ไอ้พวกแกมันบ้า อิจฉาตาร้อน สกปรกลามก ขี้โกงหลอกลวง โหดร้าย เห็นแก่ตัว ออกไปให้พ้นเชียวนะ ไอ้พวกชั่วช้า” แต่เพราะมีน้อยคนนักที่เคยไปได้เยือนโลกของขัปปะ คนไข้โรคจิตจึงถูกกล่าวหาว่าบ้า และความปรารถนาของเขาก็หาใช่ใดอื่น นอกจากความปรารถนาของคนโรคจิต นี่เป็นนิสัยประจำสังคมมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่พร้อมจะประณามสิ่งที่แตกต่างกับตน หรือคนที่คิดแตกต่างจากวิถีประชาชนส่วนใหญ่ เพราะในโลกของเรา เสียงข้างมากคือความถูกต้อง เสียงข้างน้อยคือความผิดแปลก คนคนหนึ่งที่ชื่นชอบโลกของสัตว์ประหลาดจึงเป็นคนไข้โรคจิต คนไข้โรคจิตจึงคือตัวแทนของกลุ่มคนในสังคมที่ไม่พิสมัยโลกแห่งความเป็นจริงของมนุษย์ที่รุมเร้ารกเรื้อไปด้วยความเสื่อมทรามต่างๆ นานาที่ก่อมาจากจิตวิญญาณฝ่ายมืดของตัวมนุษย์เอง แต่ในเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้คือเสียงส่วนน้อย โลกมนุษย์ที่มนุษย์ผู้ไหลไปตามกระแสแห่งความเสื่อมทรามเป็นผู้ถือครองสิทธิ์เสียงข้างมาก จึงไม่มีที่สำหรับพวกเขา ต่อการร้องแรกแหกกระเชอของพวกเขา อย่างน้อยคือถูกประณามว่าบ้า ว่าโรคจิตแล้วเนรเทศออกไปกองไว้ที่ชายขอบสังคม อย่างปานกลางคือจับส่งโรงพยาบาลโรคจิต และอย่างมากคือถูกกดดันให้ปลิดชีวิตตัวเอง ดังเช่นในชีวิตจริงของอะคุตะงาวะ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การฆ่าตัวตายของเขาเกิดมาจาก “ความหวาดหวั่นไม่แน่ใจในอนาคต”  และความไม่พอใจในความเป็นอยู่ในโลกที่เขาอาศัยอยู่ อาทิ โรคประจำตัวหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรคประสาทเปลี้ยที่เกาะกินเขา ความวิตกเรื่องกรรมพันธุ์ ที่แม่และพี่ชายของเขาต่างเป็นบ้า และจบชีวิจด้วยการฆ่าตัวตาย ภาระทางครอบครัวที่อาคุตะงาวะมีญาติพี่น้องให้ต้องเลี้ยงดูจำนวนมาก รวมถึงปัญหาต่างๆทางสังคมที่รายล้อมตัวเขาอยู่ ทำให้โลกใบนี้เป็นโลกใบที่เขาไม่พึงปรารถนา และสิ่งที่ทำให้เรื่องราวทุกอย่างจบอย่างรวดเร็วที่สุด ก็คือการฆ่าตัวตายเสียกระนั้น ก่อนฆ่าตัวตายเพียง 4 เดือน อาคุตะงาวะ ก็ได้เขียนเรื่องขัปปะนี้ออกมา เพื่อแสดงถึงโลกใบที่เขาปรารถนา โลกของสัตว์ประหลาดที่มนุษย์ต่างรังเกียจ และประณามว่าเพ้อเจ้อ เราจึงพบเห็นประเด็นหลายๆประเด็นที่โลกของขัปปะ และโลกของมนุษย์ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการเสียดสีสังคมมนุษย์ ที่ซ่อนความปรารถนาของตัวอะคุตะงาวะเองในฐานะคนไข้โรคจิตหมายเลข 23

หากมองในมิตินี้ จึงไม่น่าจะเกินเลย หากจะกล่าวว่า นอกจากความสนุกเชิงเสียดสีที่ได้แล้ว ขัปปะยังเป็นปุจฉาที่อะคุตะงาวะฝากถามมายังมนุษยโลกว่า ในเมื่อโลกของเขาในฐานคนไข้โรคจิตเป็นโลกใบที่ดูดีกว่าโลกของมนุษย์แล้ว ใครกันแน่ที่เป็นโรคจิต ? และในเมื่อโลกของขัปปะเป็นโลกใบที่ดูดีกว่าโลกของมนุษย์แล้ว ใครกันแน่ที่ควรใช้ชื่อว่าสัตว์ประหลาด?

TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์

อ้างอิง : ขัปปะ : ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ : กัลยาณี สีตสุวรรณ แปล

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม 2545

 

You may also like...