อุทิศ เหมะมูล

นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2552 อุทิศ เหมะมูล

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
สิ่งแรกเลยคงต้องเริ่มต้นจากความอึดอัดคับข้องใจต่อคำถามที่พยายามแสวงหาคำตอบให้กับตัวเองในช่วงชีวิตวัยแรกรุ่น ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่มีต่อครอบครัวและชุมชนที่ตนเองสังกัดอยู่

นำไปสู่การดิ้นทุรนออกไปจากแหล่งนั้นด้วยความเชื่อที่ว่า ชีวิตต้องมีอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาศัยแรงทะเยอทะยานที่มาจากความสามารถด้านศิลปะที่มีอยู่กับตัว ขับเคลื่อนออกไปสู่โลกกว้าง

ความกระหายที่จะแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต รู้สึกว่าตัวเองมีบาดแผลและไม่เต็ม การได้ศิลปะเป็นที่ยึดเหนี่ยว นำไปสู่การได้เรียนรู้สิ่งอื่นๆ ที่กว้างไกล หลากหลาย และน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ผ่านงานสร้างสรรค์หลากหลายแขนงสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านทัศนศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ เหล่านี้ล้วนเป็นการเดินทางที่เติมเต็ม ‘ด้านใน’ ทั้งสิ้น ล้วนส่งผลในด้านหล่อหลอมให้ผมอยากบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะ ในเบื้องต้นผมบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเองผ่านงานด้านทัศนศิลป์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ตนเรียนอยู่เดิม ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบการสร้างสรรค์มาสู่การประพันธ์เมื่อจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมฯ ม. ศิลปากรแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่า การประพันธ์มีลักษณะที่คล่องตัวมากกว่างานด้านทัศนศิลป์ เป็นงานถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่มักน้อย เรียบง่าย แต่ทรงภูมิ บวกกับการเขียนเป็นสิ่งที่อยู่กับผมมาตั้งแต่วัยแรกรุ่นในรูปของบันทึกประจำวัน ผมคิดว่าการเผชิญหน้ากับงานเขียนเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ทรงพลัง และปลอดโปร่งจากข้อจำกัดของทุนรอนในการสร้างสรรค์ผลงาน – ซึ่งผมมักมีเงินในกระเป๋าน้อย แต่ความทะเยอทะยานด้านการสร้างผลงานนั้นมาก จึงเกิดความไม่สมดุลกัน การเขียนหนังสือเหมาะกับจริตของผม มันพาผมไปสู่การมุ่งความใส่ใจต่อปัญหาเรื่องการสร้างสรรค์เท่านั้น ผมมีความรู้สึกนึกคิดที่อยากถ่ายทอด มีปากกาและกระดาษที่ว่างเปล่าเป็นเครื่องมือ เพียงนี้เท่านั้นที่ผู้สร้างสรรค์ควรสู้รบปรบมือด้วย การเขียนนำพาผมเข้าสู้แก่นแท้ของชีวิตและการสร้างสรรค์ที่เรียบง่ายที่สุด คือตัวผู้สร้าง กับผลงานของเขา

นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นและรากฐานของการสร้างสรรค์ผลงาน การเขียนทำให้ผมเผชิญหน้ากับมนุษย์และโลก ผ่านประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดส่วนตน การได้สำรวจเรื่องราวอื่นๆ และพิจารณาความคิดส่วนตนไปด้วยนั้น ถือเป็นความดึงดูดและดึงดันกันอยู่ การเขียนทำให้ผมเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ได้ ตระหนักถึงความขัดแย้งและความเป็นไปได้ของชีวิต งานเขียนจึงเป็นทั้งการแสวงหาคำตอบ กระบวนการทำความเข้าใจ และการสร้างสรรค์ในชีวิตของผม

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน
เริ่มต้นจากภาพๆ หนึ่งที่ก่อรูปก่อร่างอย่างรางเลือน และค่อยๆ แจ่มชัดขึ้นในระดับหนึ่งในความคิดของผม จากนั้นภาพๆ นั้นยังคงวนเวียนอยู่ภายในความคิด พิสูจน์ตัวมันเองว่าจะไม่เลือนหายไปกับกาลเวลา (ในแง่ที่ว่ามีภาพหลายๆ ภาพเช่นกันที่วนเวียนอยู่ในความคิด แต่เพียงไม่นานก็มีอายุเพียงแค่หนึ่งความตื่นเต้นแล้วเลือนหายไป) ภาพๆ หนึ่งที่ยังวนเวียนอยู่นั้นเริ่มก่อองค์ประชุมกัน ตัวมันกลายเป็นรากแก้วแล้วเริ่มแตกแขนงออกเป็นรากฝอย เริ่มเชื่อมโยงภาพอื่นๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ เปรียบคล้ายจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ค่อยๆ ก่อหวอดรวมกันเป็นภาพใหญ่ พอมาถึงจุดหนึ่ง ภาพนั้นยังไม่สมบูรณ์ดี มีเค้าโครงของเรื่องเล่าในระดับหนึ่งแล้ว ปัญหาทางการสร้างสรรค์จึงเริ่มปรากฏตัวขึ้น จะเล่าอย่างไร รูปแบบไหน ต้องการเสนออะไร ก็เริ่มตั้งคำถามและท้าทายการมีอยู่เรื่องเล่านั้นในความคิด หากหาทางออกไม่ได้เรื่องเล่านั้นก็ถูกทำลายหรือเก็บพับไป หากเรื่องเล่ากับรูปแบบมองเห็นเค้ารางที่จะลงรอยกันได้ ความตื่นเต้น และกระวนกระวายใจในตัวผมจะบังเกิด ความตื่นเต้น กระวนกระวาย และความทุรนทุรายนี้จะต้องคงอยู่ในความคิดอีกระยะใหญ่ๆ จนเมื่อแน่ใจแล้วว่ามันมีสภาพเป็นความบันดาลใจ ณ จุดนั้นผมจึงเริ่มลงมือเขียน

ผมลงมือเขียนจากภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเริ่มต้นผมค่อยๆ ตามติดภาพชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้นไป เชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกันจากเสียงเรียกและสัญชาตญาณด้านการเล่าเรื่อง (ซึ่งหล่อหลอมมาจากผัสสะต่างๆ จากการรู้เห็นและรับรสผ่านงานศิลปะหลากหลายแขนงสาขา) สังเคราะห์สิ่งเหล่านั้นมาเป็นงานเขียนของตนเอง

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน
โดยส่วนตัว ผมปรารถนาให้ตัวเองยังคงมีเรื่องจะเล่าต่อๆ ไป และเป็นนักเล่าเรื่องคนหนึ่งที่นักอ่านให้ความติดตามอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่ผมเล่าสามารถนำพาผู้อ่านไปเผชิญหน้าหรือค้นพบประสบการณ์การรับรู้ใหม่ๆ น่าตื่นตาตื่นใจ และชวนพินิจพิเคราะห์ หากผมทำสิ่งนี้ได้ ก็น่าจะมีความหมายสำหรับผมมากแล้ว

วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร เขียนหนังสือช่วงไหนเป็นหลัก
เป็นวิถีชีวิตที่ธรรมดาและลงตัวดี หมายความว่าผมค่อยๆ จัดลำดับการทำงานของตัวเองมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ตั้งมั่นว่าจะใช้การเขียนหนังสือเป็นจุดหมายให้กับชีวิต การดึงเอาอิสระในการทำงานมาปกครองด้วยตนเองย่อมต้องมีระเบียบวินัยในการทำงานเป็นตัวกำกับ ผมคิดว่าระเบียบวินัยก็คือการให้เกียรติและคุณค่าต่อสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือเขียนหนังสือไปด้วยและทำงานพิสูจน์อักษรไปด้วย งานทั้งสองส่วนนี้ต่างช่วยส่งเสริมกัน ผมทำงานเขียนหนังสือในตอนเช้าเพราะเป็นช่วงที่ปลอดโปร่งที่สุด ส่วนตอนบ่ายผมทำงานพิสูจน์อักษรครับ

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร
เป็นพันธผูกพันของชีวิต เพราะว่าทุกวันนี้ผมรู้สึกเป็นภาพ แต่คิดเป็นถ้อยคำ พยายามถ่ายทอดทุกอย่างผ่านภาษา แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ลงมือเขียนหนังสือ ผมก็เขียนด้วยความคิดอย่างสม่ำเสมอ การเขียนหนังสือคือทางของศิลปะที่ผมเลือกแล้วในฐานะเครื่องมือของการทำความเข้าใจชีวิตและโลก ผมพบเห็น สนุก และรู้สึกรู้สาไปกับสิ่งเหล่านั้น แล้วถอดถ่ายผ่านความเข้าใจออกมาเป็นถ้อยคำ

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 280
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...