อนุสรณ์ ติปยานนท์

“การเขียนเป็นสิ่งหนึ่งในโลกที่ผมเชื่อมั่นในคุณค่าของมัน” อนุสรณ์ ติปยานนท์  ชายผู้ตัดสินใจหันหลังให้กับการสอนหนังสือ แล้วมาจับงานด้านการเขียนอย่างจริงจัง อนุสรณ์เป็นนักเขียนและนักแปลที่มีสำนวนภาษาหม่นเหงาทว่าชวนติดตาม งานของเขามักจะพาผู้อ่านล่องลอยไปในเรื่องราวชวนฝันอันนุ่มนวล ชวนเคลิ้มคล้อย และเชื่อแน่ว่าผู้อ่านไม่น้อยที่ได้เปิดหน้าแรกของงานเขียนของเขา จะภาวนาอยู่ลึกๆ ว่าไม่อยากให้เปิดถึงหน้าสุดท้าย

อนุสรณ์มีผลงานทั้งงานเขียนและงานแปล แต่ที่สร้างชื่อให้เขาส่วนใหญ่เป็นงานเขียน อาทิ  เมืองเย็น (บทกวี ปี พ.ศ. 2534), ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ (นวนิยาย ปี พ.ศ. 2547), H2O-ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ (รวมเรื่องสั้น ปี พ.ศ. 2548), Soul Stimulate-ใจออกเริงร่ายไม่หยุดหย่อน (ความเรียงและเรื่องสั้น ปี พ.ศ. 2548), 8 ? ริกเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ (นวนิยาย ปี พ.ศ. 2549) และผลงานเล่มล่าสุด เคหวัตถุ (Household Objects) รวมเรื่องสั้นที่ยังไม่ทิ้งสำนวนอันเป็นเอกลักษณ์ แต่เพิ่มลีลาที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

ผมเริ่มต้นจับปากกาด้วยการเป็นนักแปล ซึ่งเป็นงานอดิเรกมาก แต่แล้ววันหนึ่งเพื่อนสนิทของผมก็จากไปในเหตุการณ์ 11 กันยายน ผมแค่อยากเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ สักเล่มหนึ่งถึงเขา แต่ปริมาณหนังสือที่ผมเขียนเริ่มขยายตัว มันขยายตัวอย่างช้าๆ แต่กลับให้ความรู้สึกแปลกประหลาดมาก เป็นสิ่งมหัศจรรย์เหลือเกินที่ตื่นขึ้นทุกเช้าและยังรู้สึกเสมอว่ามีบางสิ่งที่ควรค่าแก่การนั่งลงเขียน มันเหมือนกับเป็นลมหายใจปกติของผมไปแล้ว และเมื่อมันเป็นลมหายใจ ผมจึงหวังว่ามันจะอยู่กับผมนานที่สุดเท่าที่เป็นได้

ในฐานะที่คุณเป็นสถาปนิกที่เบนเข็มมาเขียนหนังสือ คุณเชื่อไหมว่า ศิลปะทุกแขนงมีความเชื่อมโยงถึงกัน

ผมว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันได้หมด ไม่เฉพาะศิลปะ เบอร์ทรัล รัสเซลล์ [Bertrand Arthur William Russell : 1872-1970 นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1950 ชาวสหราชอาณาจักร] เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เขียนหนังสือดีจนได้รางวัลโนเบลด้านวรรณกรรม ใครอีก อันตัน เชคอฟ [Anton Pavlovich Chekhov : 1860-1904 นักเขียนชาวรัสเซีย] ก็เป็นแพทย์ ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าคุณเคยเป็นอะไรก่อนหน้า ความสำคัญอยู่ที่ว่าโลกที่ผ่านมาของคุณนั้นสอนการมองชีวิตแบบใดให้คุณบ้าง มันสร้างดวงตาเฉพาะใดแก่คุณบ้าง พื้นฐานตรงนั้นสำคัญกว่า ผมอาจเข้าใจพื้นที่ว่างที่ตัวละครเคลื่อนที่มากกว่านักเขียนท่านอื่น แต่มันจะไม่ช่วยอะไรเลยถ้าผมมีสายตาที่มองโลกแบบสำเร็จรูปและบอดใบ้

คุณลักษณะของนักเขียนที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ

ผมว่านักเขียนที่ดีควรมีความกระตือรือร้นต่อชีวิต การมองชีวิตเป็นตะกร้าใบใหญ่จะช่วยให้เรารองรับสิ่งต่างๆ ได้มาก ไม่ว่าดีหรือเลว สติปัญญาก็สำคัญ อย่างน้อยมันจะช่วยเตือนคุณเวลาที่คุณอาจเริ่มหลงตัวเอง ไม่นับทักษะเรื่องความอดทน
แจ๊ค ลอนดอน [Jack London : 1876-1916 นักเขียนคลาสสิคชาวอเมริกัน] คือนักเขียนต้นแบบของผม เขาได้แสดงให้เห็นว่า การเขียนหนังสืออย่างหนักหน่วงจนสิ้นใจคาต้นฉบับเป็นเช่นไร

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน

ฟังดูเหมือนผมกำลังจะไปรบเลย ผมไม่มีปณิธานสูงสุดหรืออุดมการณ์แบบที่คุณถาม ผมมีแค่เพียงความหวังว่าผมจะมีความสุขกับตัวหนังสือและความคิดของผมในทุกๆ วัน

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหนและจบลงที่ไหน

ผมมักจะเริ่มต้นงานเขียนด้วยบางสิ่งที่กระทบใจผมอย่างรุนแรง อาจเป็นบทเพลง ชีวิตของใครสักคน หรือเหตุการณ์น่าสนใจบางเหตุการณ์ ครั้นแล้วผมก็จะออกแรงเขวี้ยงสิ่งเหล่านี้ให้หายลับไปสุดสายตา หลังจากนั้นผมก็จะเริ่มต้นออกตามหาพวกมันอย่างสุดแรงผ่านตัวหนังสือของผม

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

มีคุณสมบัติหลายข้อมากที่วรรณกรรมควรมี มันควรแสดงความทะเยอทะยานของผู้เขียน มันไม่ควรดูถูกคนอ่าน มันควรกระตุ้นหรือเขย่าบางอย่างในตัวคนอ่าน มันควรอดทนได้ต่อการแปรเปลี่ยนของกาลเวลา (ดังดอนกิโฮเต้ ของเซอร์วันเตส) [Don Quixote de la Mancha วรรณกรรมชิ้นเอกของโลก ผลงานของ Miguel de Cervantes : 1547-1616 นักเขียนชาวสเปน] มันควรพาคนอ่านไปสู่ดินแดนใหม่อันเหลือเชื่อ (ดังออร์แลนโด ของ เวอร์จิเนีย วูฟฟ์) [Orlando (1928) ผลงานของ Virginia Woolf : 1882-1941 นักเขียนสตรีชาวอังกฤษ] วรรณกรรมเปรียบเหมือนประตูสู่สภาวะใหม่ มันจึงยากที่จะกำหนดรูปลักษณ์ของประตูได้เฉพาะ ผู้ผ่านทางย่อมเลือกประตูที่เหมาะกับเขา

ในรวมเรื่องสั้น “เคหวัตถุ”ของคุณ มีการผสมผสานระหว่างโลกความจริงกับโลกจินตนาการเข้าไว้ด้วยกันจนแยกไม่ออก ดังเช่นที่คุณนำชีวิตจริงของตัวเองมาผสมผสานอยู่ในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง เป็นการ “บรรจุ” หรือ “ใส่” ตัวตนของผู้เขียนลงไปในชิ้นงานวรรณกรรม คุณเชื่อในวิธีนี้มากน้อยแค่ไหน และคิดเห็นว่าวิธีนี้มันเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้เชื่อในวิธีนี้มากหรือน้อย แต่ผมเชื่อว่าเราแยกความจริงกับความลวงได้น้อยเต็มทีในโลกหลังสมัยใหม่ ดังนั้นบางครั้งเราอาจเป็นเราและเราอาจเป็นคนอื่นได้ สิ่งที่สำคัญก็คือจงเชื่อในสิ่งที่คุณเขียน จงเชื่อในโลกที่คุณสร้างขึ้น (ดังเช่นที่มาร์เกซเชื่อในโลกมหัศจรรย์ของเขา) และใช้มันบอกเล่าสิ่งที่อยู่ในความคิดคำนึงของคุณอย่างช้าๆ และจริงใจ

ในฐานะนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”

คำถามยอดนิยมมาก ใช้ถามได้ตั้งแต่นักล่าปลาวาฬแถบขั้วโลกเหนือจนถึงเซียนไพ่แถวปอยเปต ผมคิดว่าการควบคุมสองสิ่งนี้ให้สมดุลสำคัญกว่าทุกสิ่ง การมีพรสวรรค์อย่างเดียวเหมือนคุณมีอาวุธรุนแรงแต่ขาดสติ มันอาจพาคุณไปสู่หายนะได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่านักเขียนทุกคนมีทั้งสองอย่างนี้ เพียงแต่อัตราส่วนนั้นแตกต่างกันไป

มองวงการวรรณกรรมไทย

ถ้าจะเทียบกับต่างประเทศ เรามีปัญหามากพอควร เรามีคนอ่านน้อยเกินไป และยิ่งส่งผลต่อยอดพิมพ์จนนักเขียนอาจอยู่ได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าแตกต่างอย่างมากจากสังคมที่เจริญพอควรแล้วคือนักเขียนบ้านเรามีสถานภาพต่ำต้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่นักเขียนเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพอย่างสูงในสังคมอื่น เรามิใช่หรือที่เป็นคนนำข้อมูลและจินตนาการใหม่ๆ สู่ผู้อ่าน เรามิใช่หรือที่มักแตะต้องปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง เรามิใช่หรือที่มักปากกล้าเราะร้ายให้คนอ่านของเราได้ตาสว่างอยู่เสมอ และเรามิใช่หรือที่มีปัญญาเฉียบแหลมไม่แพ้ใคร แต่เมื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม ผมก็พอเข้าใจการตกต่ำเช่นนี้ เราทำสิ่งที่สวนทางกับความคาดหวังของสังคมอย่างยิ่ง ไม่ว่าการสร้างงานที่ไร้คุณภาพตามตลาด ไม่ว่าการมุ่งหวังกับรางวัลมากเกินไปจนลืมความสำคัญของตัวงาน หรือการหันมาทะเลาะเบาะแว้งแหวะร่างควักอกกันเอง การไม่เคารพตัวเองของนักเขียนกำลังเป็นปัญหาที่น่าห่วงขึ้นเรื่อยๆ เรากำลังตั้งคำถามว่าเราจะไปทางไหนบนถนนที่กำลังจะถูกลืม

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน คุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร

รางวัลนั้นมีความสำคัญและไร้ความสำคัญพอๆ กัน รางวัลนั้นเปรียบดังของขวัญที่ครูให้กับเด็กที่ตั้งใจเรียน เป็นการสร้างกำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวงวรรณกรรมบ้านเราขณะนี้เหมือนกับการที่เด็กนัดกันไปชกหลังโรงเรียนเพื่อแย่งรางวัล ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระมากๆ เราควรหันมาให้ค่ากับความจริงใจและมิตรภาพมากกว่าการขึ้นไปยืนบนเวทีประเดี๋ยวประด๋าว

จากอดีตที่ผ่านมา วงการนักเขียนปรารถนาจะได้รับการสนับสนุนให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่ แต่กระนั้น ภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือทุ่มเทให้วงการนักเขียนอย่างเต็มที่ เห็นได้ชัดจากกรณีงานประกวดของรัฐหลายๆ รางวัลที่ผ่านมาที่ล้มเสียเป็นส่วนใหญ่ ถึงตรงนี้ในทัศนะของคุณ วงการนักเขียนควรคาดหวังอะไรจากภาครัฐอีกหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง

ที่จริงแล้วนักเขียนมักอยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐเสมอ เพราะเราต้องการอิสระด้านความคิด แต่รัฐมักสนใจความคิดสำเร็จรูป ผมว่าเราควรพิจารณาเป็นเรื่องๆ เมื่อเกี่ยวข้องกับรัฐ บางอย่างก็น่าสนใจ เช่นการผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ แต่เราก็เริ่มเห็นโทษเมื่อพวกเขาเริ่มเซนเซอร์หนังสือบางประเภทว่าผิดศีลธรรม เห็นไหม ว่าการช่วยเหลือของพวกเขามักมากับการจัดการ จริงแล้วรัฐมีผลน้อยมากต่อความก้าวหน้าด้านวรรณกรรม ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนให้ความสนับสนุนนักเขียนน้อยเต็มทีโดยเฉพาะนักเขียนหัวก้าวหน้า อย่างเกา สิง เจี้ยน [Gao Xingjian นักเขียนเชื้อชาติจีนที่ถูกรัฐบาลปฏิเสธความสำคัญ จนต้องโยกย้ายไปถือสัญชาติฝรั่งเศส] และหม่าเจี้ยน (ที่งานเขียนของเขาสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทิเบต) แต่ผลงานของพวกเขากลับมีอย่างต่อเนื่องและไปถึงรางวัลโนเบลด้วยซ้ำ เราควรหวังการช่วยเหลือจากรัฐแต่ในเรื่องที่จำเป็นเช่นกระดาษหรือการผลิต แต่ควรอยู่ห่างพวกเขาบ้างโดยเฉพาะเรื่องความคิด

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร

ผมเปรียบมันไปแล้วว่าคล้ายดังลมหายใจ มันไม่ใช่การขาดไม่ได้ ผมอาจหยุดเขียนได้หลายๆ วันด้วยซ้ำ เหมือนกับการที่เราหายใจแต่เราไม่รู้ตัว แต่เมื่อคุณนึกถึงมัน ลมหายใจจะอยู่ที่นั่น อาจพูดได้ว่าการเขียนเป็นสิ่งหนึ่งในโลกที่ผมเชื่อมั่นในคุณค่าของมัน

 

รายชื่อนักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด
Love in the time of cholela ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
New York Trilogy ของ พอล ออสเตอร์
South of the border, west of the sun ของ ฮารุกิ มูรากามิ
Orlando ของ เวอร์จิเนีย วูลฟ์
เสาชิงช้า ของ ส.ธรรมยศ
ผมมีมากกว่านี้ แต่ห้าเล่มนี้อยู่ลำดับต้นๆ เสมอ

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-264
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...