ศิลปะแห่งการรักที่ก้าวข้ามแม้ความตาย (1904) หรือในชื่อภาษาไทยตรงไปตรงมาว่า ปีเตอร์ คาเมนซินด์ เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของนักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1946 ชื่อก้องชาวเยอรมัน-สวิส นาม เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse : 1877-1962)
ผู้ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการพรรณนาความสวยงามของธรรมชาติได้อย่างลุ่มลึกที่สุดคนหนึ่งของโลก Petrr Camenzind เล่าถึงชีวิตของปีเตอร์ คาเมนซินด์ ตัวเอกของเรื่อง ผู้เติบโตมาในวงล้อมของชนบทที่ธรรมชาติโอบล้อมอยู่รอบกาย การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ธรรมชาติเป็นใหญ่ทำให้ปีเตอร์เติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่ละเอียดอ่อน จนในที่สุดเขาก็กลายเป็นกวี ปีเตอร์เดินทางเข้าสู่เมือง ได้พบปะรู้จักผู้คนมากมาย ได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆในความเป็นเมือง และได้เดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆจนในที่สุดเขาก็ได้กลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล เฮสเสดำเนินเรื่องอย่างเรื่อยเฉื่อย ชนิดที่นักอ่านประเภทแดกด่วนอาจเกลียดขี้หน้าเขาได้ตั้งแต่ได้อ่านผลงาน 2-3 หน้าแรกของเขา แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าการดำเนินเรื่องแบบนี้ได้กลายเป็นสไตล์ของเฮสเสที่ไม่เหมือนใคร และแน่นอนว่ามีเสน่ห์อย่างยิ่งสำหรับการอ่านแบบละเอียด เสน่ห์อีกประการในผลงานของเฮสเส คือความนิ่งของพล็อต ที่แน่นอนอีกเช่นกัน ว่าอาจทำให้นักอ่านหลายคนเบื่อ แต่ในความนิ่งนั้น กลับเปี่ยมไปด้วยการเคลื่อนที่ของความคิดของตัวละคร ในทำนอง น้ำนิ่งไหลลึก ซึ่งเราสามารถพบได้ในงานแทบทุกชิ้นของเฮสเส และแน่นอน รวมถึง Petrr Camenzind เล่มนี้ ที่การเคลื่อนไหลทางความคิดของตัวปีเตอร์ คาเมนซินด์ มีประเด็นที่น่าสนใจ และชวนครุ่นคิดไม่น้อย ประเด็นนั้นคือ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ที่เราสามารถซึมซับได้จากการเฝ้ามองธรรมชาติ
ในเรื่อง ปีเตอร์ผู้ละเอียดอ่อนได้เข้ามาพบเห็นวิถีความเป็นไปของสังคมมนุษย์ในเมืองใหญ่ ที่ซึ่งสภาพการณ์ทั้งหลายล้วนขัดกับสำนึกทางจิตวิญญาณที่เขาได้เรียนรู้จากการเฝ้ามองธรรมชาติ ประเด็นใหญ่ที่ขัดกับสำนึกของปีเตอร์ คือ ความรักของคนเมืองที่มีต่อธรรมชาติ ซึ่งเฮสเสใช้วิธีให้ตัวเอกคือ ปีเตอร์ คาเมนซินด์ คือ เขียนนวนิยายเรื่องนี้ ดังว่า
“ผมมักจะออกไปอยู่ในธรรมชาติแวดล้อมน่าอัศจรรย์ของตัวเมือง ที่ชอบมากคือ แถบภูเขายูรา ผมรู้สึกบ่อยๆว่าป่าเขา ทุ่งหญ้า พุ่มไม้ และสวนผลไม้ ยืนรอคอยราวพวกเขากำลังรออะไรบางอย่าง ผมรู้สึกว่าบางที พวกเขาอาจรอผม แต่ที่แน่นอนคือ รอคอยความรักบางอย่าง แล้วความรักต่อสิ่งเหล่านี้ก็ก่อตัวขึ้นในใจผม ความถวิลหวังอันแข็งแกร่งไม่รู้จักพอในกายผมตื่นตัวรับความงามอย่างสงบนี้ ความรักและความปรารถนาอันล้ำลึกตื่นขึ้นในตัวผม
ขวนขวายไปสู่การแสดงออกอย่างมีสติ สู่ความเข้าใจและความรัก
“ผู้คนมากมายพูดว่าเขา รักธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าบางครั้งเขาไม่รังเกียจที่จะยินดีกับเสน่ห์ที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้ พวกเขาออกไปชื่นชมความงามของแผ่นดิน ย่ำไปในท้องทุ่ง เก็บดอกไม้ใบไม้ แล้วเอามาวางไว้ให้เหี่ยวที่บ้าน พวกเขารักธรรมชาติกันอย่างนี้ จดจำความรักอย่างนี้เมื่อวันอาทิตย์อากาศดีที่ทำให้พวกเขาเคลิบเคลิ้มไปกับอารมณ์ตน และนี่คือความใจกว้างของมนุษย์ อมนุษย์ผู้ถือว่าตัวเองเป็น มงกุฏเกียรติยศแห่งธรรมชาติ อนิจจา มงกุฏ เห็นได้ว่าความรักต่อธรรมชาติของปีเตอร์ คาเมนซินด์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความรักต่อธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมเมือง
ขณะที่ความรักต่อธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมเมืองคือ การชื่นชมความงามของธรรมชาติเพื่อชุบชุอารมณ์ และบางครั้งเพื่อสนองอารมณ์ของตนให้ปิติสุข ความรักต่อธรรมชาติของปีเตอร์ คือ
“ผมกระตือรือร้นมากขึ้นในการค้นหาพื้นฐานของชีวิต ผมได้ยินสายลมถอนใจอยู่ตามยอดไม้ ธารน้ำจากภูเขาไหลกึกก้องลงมาตามซอกเขา แม่น้ำไหลคดเคี้ยวอย่างเงียบๆไปบนที่ราบ ผมรู้ว่าพระเป็นเจ้ากำลังรับสั่งอยู่ในเสียงเหล่านี้ ดังนั้น การเข้าใจความงามดั้งเดิมของภาษาลี้ลับนี้เท่ากับเราเข้าถึงสวรรค์…ลึกลงไปในจิตใจ ผมรู้ว่ามนุษย์ไม่ว่ายุคสมัยใด จะชนะสิ่งที่เกินความเข้าใจตนด้วยการวางมือจากกิจวัตรประจำวันออกไปแสวงหาความสงบ ฟังบทเพลงแห่งการสร้างสรรค์ พิจารณาการเคลื่อนตัวของเมฆ โยคี นักบุญ ผู้สำนึกผิด ทุกชีวิตที่มีแต่ความถวิลหวังใจไม่สงบ จะได้พบได้เข้าใจเมื่อเขายื่นแขนสู่นิรันดรภาพ”
ด้วยแนวคิดที่ว่าธรรมชาติคือผลผลิตของพระผู้เป็นเจ้า ในนัยยะของสิ่งประเสริฐสูงสุดในจักรวาล ปีเตอร์ คาเมนซินด์ จึงมองว่าธรรมชาติเป็นสิ่งประเสริฐที่มนุษย์ผู้เป็นผลิตผลหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (แต่จะด้วยเหตุอันใดก็สุดแท้จะคาดเดา มนุษย์ถูกแยกให้ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า ในฐานะสัตว์ประเสริฐ เพื่อที่จะเลือกทางเดินของตนเอง ว่าจะกลับไปสู่ความประเสริฐแห่งพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง หรือดำดิ่งสู่ห้วงแห่งความเลวร้ายในนามนรก)
ควรจะต้องเฝ้ามอง ศึกษา และเรียนรู้ เพื่อจะได้แนวทางในการสร้างคุณงามแก่ทุกสรรพชีวิตในโลก อันถือเป็นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ ในทัศนะของ ปีเตอร์ คาเมนซินด์
“…การรวมแผ่นดิน พืชพันธุ์ สัตว์ ลม น้ำ และสรรพสิ่งในท้องฟ้าไว้ในความรักต่อพระเจ้า…พลังและปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลายเป็น “พี่น้องที่รักทั้งชายหญิง” ในบั้นปลายชีวิตเมื่อหมอจะเฉือนหน้าผากท่านด้วยเหล็กร้อนแดง ทั้งๆที่กลัวความเจ็บปวดทรมาน ท่านก็ยังทักทายกับ “ไฟน้องชาย ที่รัก ซึ่งอยู่ในแท่งเหล็กสยดสยองนั้น”
“เมื่อความรักธรรมชาติเริ่มเติบโตขึ้นในตัว และผมฟังเสียงของมันราวฟังเสียงเพื่อนและมิตรร่วมทาง ซึ่งพูดภาษาต่างออกไป ความโศกเศร้าในตัวผมซึ่งถึงจะไม่หาย แต่ก็กลายเป็นความรู้สึกที่สูงส่ง สะอาด หูตาผมไวขึ้น เข้าใจความประณีตซับซ้อนอย่างแยกแยะได้ ผมอยากจะได้ฟังจังหวะเต้นของชีวิตในทุกรูปแบบ ให้ใกล้ชิดและชัดเจนกว่านี้อาจถึงขั้นเข้าใจจนถ่ายทอดออกมาเป็นลีลากวี เพื่อว่าคนอื่นจะได้ใกล้ชิด ได้พบลำธารแห่งความบริสุทธิ์สดชื่น และความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น ระหว่างนั้นมันยังคงเป็นแค่ความฝันความปรารถนา ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นจริงได้หรือไม่ แต่ผมทำสิ่งใกล้ตัวที่สุด คือรักทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น เลิกดูถูกสิ่งรอบตัว หรือมองมันอย่างไม่สนใจใยดี”
การเฝ้ามองและเรียนรู้จากธรรมชาติของปีเตอร์ ทำให้เขาได้ตระหนักว่า ทุกสรรพชีวิตในโลกคือผลผลิตแห่งรักของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์ควรทำเพื่อบูชาและเพื่อคุณความดีในนามความประเสริฐแห่งพระผู้เป็นเจ้า ก็คือ จงรักทุกสรรพชีวิตในโลก อันล้วนแต่เป็นลูกหลานของพระเจ้า ซึ่งผลจากกรรมนี้ ก็คือความสุขใจที่แท้อันจะบังเกิดขึ้นภายในใจของเราเอง แต่ก็ดังที่กล่าวไป ว่าวิถีของมนุษย์ในสังคมเมือง ช่างแตกต่างไปจากความเชื่อของปีเตอร์ ในเมื่อธรรมชาติคือการศึกษาเบื้องต้น ที่จะนำผู้ศึกษาบรรลุไปถึง การตระหนักแจ้งถึงความรักที่แท้ อันจะนำมาซึ่งความสุขและคุณค่าที่แท้ของมนุษย์ แต่ในเมื่อมนุษย์ในสังคมเมืองยังรักธรรมชาติแบบผิดๆจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะตระหนักรักสรรพชีวิตทุกชนิดบนโลก แม้กระทั่งรักเพื่อนมนุษย์อย่างจริงใจและแท้จริง ดังตัวบทที่ว่า
“ที่เลิศล้ำและให้ความอิ่มใจยิ่งกว่าชื่อเสียง เหล้าองุ่น ความรักและปัญญาก็คือ มิตรภาพ นี่เป็นสิ่งเดียวที่ช่วยให้ผมพ้นจากความเศร้าอันเป็นธรรมชาติติดตัว ทำให้วันเวลาวัยหนุ่มของผมสดใหม่ ไม่ด่างพร้อยและเรืองรองดังรุ่งอรุณ แม้ทุกวันนี้ผมก็นึกไม่ออกว่า ยังจะมีสิ่งใดมีค่ายิ่งกว่ามิตรภาพที่หนักแน่นมั่นคงของมนุษย์”
“พระเป็นเจ้าทรงลิขิตมาแล้วว่า ผมจะต้องมอบสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตให้แก่มิตรภาพที่มีแต่ความแจ่มใสไร้มลทิน” แต่ในการชุมนุมสร้างมิตรภาพในสังคมเมืองที่ปีเตอร์พบเห็น กลับมีสภาพแบบ “พวกเขาส่วนใหญ่เป็น “มนุษย์สังคมตามแบบฉบับ” ประเภทเดียวกัน ผมรู้สึกว่าพวกเขาสัมพันธ์กันผิวเผินได้ เพราะธรรมชาติจิตใจเขาชอบรวมกลุ่มเหมือนๆกัน กับบางคนผมคุยได้นานๆอย่างสนุกสนาน น่าสนใจ แต่ที่ผมรู้สึกทนไม่ได้ก็ตรงต้องผละจากคนนี้ไปคุยกับคนโน้นทั้งๆที่เริ่มคุยกันได้ไม่ถึงสองนาที ต้องปากหวานชมผู้หญิง ต้องแบ่งความสนใจให้กับน้ำชา การสนทนาและฟังคนเดี่ยวเปียโนในเวลาพร้อมๆกัน ผมเกลียดการอภิปรายเกี่ยวกับงานวรรณกรรมและศิลปะในลักษณะนี้ ผมเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้คิดจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่พูดออกมาล้วนไม่จริงใจ” “ผมรู้สึกว่าการสนทนาอย่างไร้สาระโอ่อวดนี้ช่างน่าเบื่อหน่ายไร้ศักดิ์ศรี”
ปีเตอร์ผู้ตระหนักแจ้งในวิถีแห่งธรรมชาติและคุณงามความดีในความรักที่แท้ต่อพระผู้เป็นเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ “ผู้ส่งสารอันประเสริฐ” ที่เขาได้เรียนรู้จากธรรมชาติ ตัวกลางของพระผู้ประเสริฐ มายังเพื่อนมนุษย์ในสังคม ผ่านทางตัวอักษรของเขา ซึ่งผู้เขียนเองคงไม่สามารถถ่ายทอดได้ดีไปกว่าข้อเขียนของ ปีเตอร์ คาเมนซินด์ ผู้ปรารถนาส่งมอบ ศิลปะแห่งการรักที่แท้ อันนำมาซึ่งความสุขและคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ หรือที่จริงก็คือถ้อยคำจากตัวของเฮสเสเอง ที่ผ่านการแปลและเรียบเรียงโดย สดใส นักแปลชื่อก้อง ดังที่ว่า “ผมกระตือรือร้นอยากสอนให้มนุษย์มองต้นธารของความสุข มองแม่น้ำแห่งชีวิตด้วยธรรมชาติ ความรักดุจพี่น้องเรา ผมอยากจะสอนศิลปะการเห็น การเดินและการสนุกกับชีวิต การหาความสุขจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ อยากทำให้ภูเขา ทะเล และเกาะแก่งเขียวสดชื่นได้ใช้ภาษาทรงพลังน่าหลงใหลบอกข่าวสารแก่เรา อยากจะเสนอภาพชีวิตนานานับอนันต์ที่เบ่งบานหลากล้นอยู่พ้นเขตบ้านเมืองเราออกไป ผมอยากทำให้ผู้คนละอายใจที่ช่างรู้มากมายเกี่ยวกับสงครามต่างแดน แฟชั่น เรื่องซุบซิบนินทา วรรณคดีและศิลปะ แต่แทบไม่รู้จักแม่น้ำที่ไหลผ่านใต้สะพานและผ่านป่าของเราเอง ไม่รู้จักท้องทุ่งงดงามที่ทางรถไฟเราผ่าน”
“ผมรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรยายผลอันชุ่มชื่นชุบชูใจที่เกิดกับชีวิตมืดมนของผม ไม่มีอะไรประเสริฐเลิศล้ำไปกว่าความรักเงียบๆมั่นคงไม่มีอารมณ์เจือปน ผมไม่ปรารถนาอะไรมากไปกว่าขอเพียงรู้ว่าคนสักจำนวนหนึ่ง อาจจะสองหรือแค่หนึ่งคน ที่อ่านถ้อยคำเหล่านี้แล้วสามารถเรียนศิลปะบริสุทธิ์สูงส่งนี้ได้ โดยผ่านประสบการณ์ทำนองเดียวกับที่เกิดกับผม ความรักอย่างนี้มีอยู่ในตัวผู้คนมากมาย และตลอดชีวิตเขาได้กลายเป็นตัวแทนของมันไปแล้วโดยไม่รู้ตัว พวกเขาคือคนที่รักพระเจ้า เป็นคนดี เป็นเด็กในหมู่ผู้ใหญ่ หลายคนเรียนรู้จากประสบการณ์เศร้าโสกลึกซึ้ง คุณไม่เคยสังเกตหรือ เราอาจพบว่าเขาเป็นคนเงียบๆท่าทีครุ่นคิดนัยน์ตาเป็นประกายในหมู่คนง่อยเปลี้ยพิการ ถ้าคุณไม่อยากฟังคำพูดเร่อร่าของผม ก็จงไปหาเขาเหล่านั้น คนที่เปลี่ยนไปแล้ว ราศีผ่องใสเพราะสามารถเอาชนะความทุกข์ยากได้ด้วยความรักที่ไม่เรียกร้อง”
“เหนืออื่นใดคือ ผมอยากปลูกฝังความลับแห่งรักอันเลิศล้ำลงในหัวใจคุณ ผมหวังอยากจะสอนให้คุณเป็นพี่น้องที่แท้จริงของสรรพชีวิต ขอให้มีความรักมากล้นจนคุณไม่กลัวความโสกเศร้าหรือแม้แต่ความตาย”
TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์
อ้างอิง : Petrr Camenzind, Hermann Hesse
สดใส : แปล, สร้างสรรค์บุ๊คส์ 2549