ตามคำบอกเล่าของมนัส ปิติสานต์ ครูเพลงผู้เรียบเรียงดนตรีและคำร้องเพลงปอบผีฟ้า ขึ้นมาใหม่ การเรียบเรียงเพลงนี้มีที่มาที่ไปที่ค่อนข้างแปลกประหลาดอยู่พอสมควร คือแทนที่ท่วงทำนองของเพลงเดิมจะถูกเรียบเรียงไปทีละลำดับทีละขั้นจนกลายเป็นเพลงฉบับใหม่ที่มีความสมบูรณ์ มนัสเล่าว่าปอบผีฟ้าฉบับเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเสร็จสรรพในตัวเอง ก่อนจะถูกส่งเข้ามาเหมือนคลื่นวิทยุที่มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งสามารถได้ยิน
แน่นอนเรื่องของปิศาจหรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติหยิบยื่นความสามารถทางดนตรีให้มนุษย์ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร นักดนตรีจำนวนหนึ่งในโลกเคยสารภาพว่า เขายอมขายวิญญาณให้แก่ปิศาจเพื่อแลกกับพรสวรรค์ (พรปิศาจ) ทางด้านดนตรี (หากจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมบ้านเราก็เพราะนักร้องหรือวงดนตรีส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการแต่งเพลงด้วยตัวเอง การเจรจากับปิศาจจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อย หรือถ้าจะเกิดก็จะไปเกิดกับนักประพันธ์เพลงที่ชื่อเสียงไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นหูสักเท่าไร) คำถามก็คือทำไมต้องเป็นเพลงแทนที่จะเป็นภาพเขียน หรือวรรณกรรม? คำตอบหนึ่งที่มีเหตุผลน่ารับฟังที่สุดก็คือเพลงเป็นทั้งศิลปะและสื่อที่เก่าแก่รูปแบบหนึ่งซึ่งมนุษย์ตั้งแต่ยุคบุพกาลใช้สื่อสารกับโลกที่อยู่เหนือปรากฏการณ์
เลียวนาร์ด โคห์นนักดนตรีคนสำคัญของศตวรรษเราเคยเขียนไว้ในเพลง Hallelujah ว่า “Now I’ve heard there was a secret chord That David played, and it pleased the Lord, but you don’t really care for music, do you? It goes like this the fourth, the fifth, the minor fall, the major lift, the baffled king composing Hallelujah…” ซึ่งถ้าอ้างอิงตามนี้ก็แสดงว่ามีคอร์ดจำนวนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยที่จะฟัง และจากท่วงทำนองนี้เองพระองค์ก็ประพันธ์เพลงฮัลเลลูยาห์ขึ้นมา เพลงคือภาษาที่เราส่งไปยังอีกโลก หรือในทางกลับกันบทสวดและคำร้องในพิธีกรรมความเชื่อบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ถูกส่งลงมายังการรับรู้ของมนุษย์ ก่อนที่มนุษย์จะทำการขับร้องออกไป พูดง่ายๆ มันเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกสองโลกผ่านโสตประสาท (ที่บางทีก็ยากจะบอกได้ว่ามันเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจริงหรือดังอยู่เฉพาะในห้วงความคิด)
ประสบการณ์ของโลกที่อยู่เหนือธรรมชาติซึ่งถูกดึงเข้ามาแนบชิดกับมนุษย์ด้วยดนตรีถูกเอ่ยอ้างถึงใน The Music of Erich Zann เรื่องสั้นของเอช. พี. เลิฟคราฟท์นักเขียนนิยายสยองขวัญเหนือธรรมชาติ The Music of Erich Zann กล่าวถึงเออริช ชานน์นักวิโอลาผู้เล่นเพลงที่มีท่วงทำนองน่าหวาดกลัว ซึ่งเหมือนจะเป็นท่วงทำนองที่เขาได้ยินหรือได้รับการถ่ายทอดมาจากอีกโลกหนึ่ง เลิฟคราฟท์บรรยายไว้ว่า “ดังขึ้นๆ ดิบขึ้นๆ เสียงของวิโอลาที่ขึ้นสูงกรีดแหลมและหลุดหลง (…) จากนั้นข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงเล็กๆ ที่ไม่ได้มาจากวิโอลา เสียงนั้นเยือกเย็น สุขสงบ และเต็มไปด้วยความแน่วแน่ เป็นเสียงโน้ตที่แว่วมาจากที่ที่ไกลทางทิศตะวันตก…” แต่ตอนจบที่เป็นการหักมุมนิดๆ ก็คือเลิฟคราฟท์บอกเป็นนัยกับผู้อ่านของเขาก็คือเสียงดนตรีที่แปลกก็คือเลิฟคราฟท์บอกเป็นนัยกับผู้อ่านของเขาก็คือเสียงดนตรีที่แปลกประหลาดของเออริช ชานน์แท้จริงแล้วมาจากชานน์พยายามเล่นเพลงเพื่อกลบเสียงดนตรีจากอีกโลกหนึ่งที่เขาได้ยิน ดนตรีจากโลกที่ดำมืด ไม่ใช่ดนตรีจากโลกแห่งความสว่างที่พระเจ้าประพันธ์ขึ้น เหมือนอย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว
ในโลกวรรณกรรมเหม เวชกรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างเพลงและผีมาสร้างเป็นบรรยากาศของเรื่องราว อาจเป็นเพราะเหมนอกจากจะจัดเจนทางด้านการเขียน หรือการวาดแล้ว การเล่นดนตรีก็ถือความสามารถอีกด้านหนึ่งที่ท่านถนัด เรื่องสั้นพ่อเพลงแม่เพลง (ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดผู้ไม่มีร่างกาย) เป็นอีกตัวอย่างของความเชื่อมโยงระหว่างเพลงและผี และในเรื่องสั้นชิ้นนี้เองเหม เวชกรได้นำพาผู้อ่านไปรับฟังและรับชมมหรสพของปิศาจ โดยผนวกเอาเนื้อร้องเพลงพวงมาลัยที่เขาประพันธ์ให้มันมีเนื้อหาแปร่งประหลาดและชวนให้ขนลุกขนพองเข้าไปด้วย ความตอนนี้มีอยู่ว่า
ชาย ๏ เอ่อ-เออ-เอิ้ง-เงอ เอิงเง๋ย
(…)
อีมาดแม่ตะเคียน-เจียนจะรุ่ง แสงทองจะพวยพุ่งขึ้นแล้วนั่น
ทั้งตัวน้อง ตัวพี่-ต้องหนีแสงอาทิตย์ ต่อเมื่อมืดมิด มาพบกัน เอย (ลูกคู่รับท้าย)
หญิง ๏ เอ่อ-เออ-เอิ้ง-เงอ เอิงเง๋ย
ตัวพี่กับตัวน้อง-มันก็ต่างหมองคล้ำ กว่าจะออกจากถ้ำต้องมืดมัว
เรามาเล่น-กันสนุกพอลืมทุกข์ที่พันพัว ก็ได้เพียงชั่วฟ้าสลัว (ลูกคู่รับท้าย)
น้องขอลากลับไปลับตา ลาไปต่อหน้า นะพ่อทูนหัว
ด้วยเวรและกรรม-มันประจำตัว มันผูกนุงนัว เพราะกรรมชั่ว เอย
เมื่อจบท่อนนี้ไม่ทันที่ลูกคู่จะร้องรับ ลูกคู่ก็ตะโกนร้องว่า ผีหลอก เหม เวชกรหักมุมซ้อนเข้าไปอีกชั้นด้วยการทำให้คนที่ตะโกนร้องหายตัวไปต่อหน้าต่อตา ใช่ คณะเพลงพวงมาลัยทั้งหมดเป็นปิศาจ ประจักษ์พยานของถึงความน่ากลัวนี้ก็คือผู้ชมไม่กี่คนที่ถูกทิ้งไว้ท่ามกลางความมืดมิด แน่นอนนี่เป็นความหมายของเพลงอีกด้านหนึ่ง เพลงจากโลกของเราที่ผีเป็นผู้ขับร้องให้เราฟัง เพียงแต่เป้าหมายของการขับร้องนี้ เป็นไปในทางของการยั่วเย้ยผู้ที่มีชีวิตอยู่ เหมือนอย่างที่เหมเขียนไว้ว่า “…ผมคุ้นเคยกับผีมาเป็นอย่างดี แต่ผีที่หลอกอย่างนี้ไม่ใช่ผีที่มีเมตตาอย่างที่ผมเคยกันมา นี้มันจงใจหลอกเราอย่างเกลียดชัง…”
”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””’
1 เพลงปอบผีฟ้าจากเพลงหมอลำผีฟ้าซึ่งเป็นเพลงพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใช้ประกอบพิธีกรรมเมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว บรรเลงด้วยแคนเก้าและปี่โหรง (ซึ่งตามความเชื่อผีฟ้าคือเทวดาหรือเทพผู้รักษาความเจ็บป่วยของมนุษย์ เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่คนไม่เห็น ผีเห็น” ) เพลงปอบผีฟ้าใช้ประกอบละครโทรทัศน์ในชื่อเดียวกันซึ่งประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงอย่างมากในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีก่อน ปอปผีฟ้าหมายถึงคนที่ประกอบพิธีกรรมผีฟ้า และกระทำผิดขะลำ (ข้อห้าม) อาทิเช่นห้ามกินอาหารบนเรือนศพ ไม่กินสัตว์ที่ตายเอง ไม่กินอาหารเหลือเดนจากคน และไม่เดินลอดราวตากผ้าเป็นต้น
2 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นโดยเลียวนาร์ด โคห์นมีเนื้อหาแตกต่างจากเพลงที่ใช้ร้องในโบสถ์ทั่วไป ตรงที่เป็นการตีความเนื้อหาในถ้อยคำฮัลเลลูยาห์อีกด้าน ในฉบับหลังสุดที่ร้องโดยรูฟัส เวนไรท์ ได้มีการดัดแปลงเนื้อหาเดิมของโคห์น ฉบับหลังนี้สามารถเรียกได้ว่ามืดมนหม่นหมองกว่าเดิมมาก เปรียบเทียบง่ายๆ ภาพของโคห์นคือกางเขนที่ล้มคว่ำลง ส่วนเวนไรท์คือการนำเอากางเขนที่ล้มลงนั้นตั้งกลับหัว
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS