ผาด พาสิกรณ์

ผาด พาสิกรณ์ เป็นนักเขียน “ตัวจริง” คนหนึ่งในวันนี้ และผมเชื่อว่าในอนาคต ความเป็นตัวจริงของเขาจะสำแดงออกมาชัดแจ้งขึ้น จนยุคสมัยไม่สามารถผ่านเลยเขาไปได้โดยเฉยเมย (ชาติ กอบจิตติ)

ผาด พาสิกรณ์  (วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ) ลูกไม้ใกล้ต้นที่กำลังฉายแววของจริงชัดเจนขึ้นทุกขณะ ด้วยรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คส์ อะวอร์ด, รางวัลเรื่องสั้นชมเชยปีของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และรางวัลเรื่องสั้นรองชนะเลิศจากมติชน ดังคำนิยมของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์ของประเทศไทยที่ได้กล่าวไว้ วันนี้การเดินทางในโลกของนักแปลและนักเขียนของเขาจะมีเรื่องราวบอกเล่าอะไรแก่เราบ้าง

อะไรที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่
อิสรภาพ ผมว่ามันสำคัญที่สุด ผมอยากมีอิสระที่จะสามารถไปไหนมาไหนได้ นั่งอยู่หัวหินแล้วเขียนต้นฉบับส่งได้อะไรทำนองนี้

ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน
ผมว่ามีความหลากหลายขึ้นนะ คงจะเป็นเพราะการที่เรามีสื่อมีช่องทางใหม่ๆ นักอ่านและนักเขียนจึงมาพบกันได้ง่ายขึ้น  เนื้อหาของเรื่องราวที่เขียนจึงไม่จำเป็นต้องแมสเหมือนสมัยก่อน ในขณะเดียวกัน นักเขียนรุ่นใหม่ก็เกิดง่าย  มีสำนักพิมพ์พร้อมที่จะพิมพ์งานของเขาออกสู่ตลาด ปล่อยให้ยอดขายเป็นเครื่องชี้วัดความต้องการของนักอ่าน นักเขียนใหม่จึงเกิดขึ้นมากมายในแต่ละปี ที่หายไปก็เยอะไม่แพ้กัน

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน
ถ้าเราวัดตามยอดขาย นักเขียนรุ่นพ่อผมเขาพิมพ์กันเป็นหลักหมื่น  แต่นักเขียนสมัยนี้ยอดพิมพ์ที่สองพันเล่มก็หืดขึ้นคอแล้ว  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราอ่านกันน้อยลง ตลาดหนังสือสมัยนี้มันใหญ่โต มากปก มากเรื่อง หลากหลายแนวทางกว่าคนรุ่นก่อน ถ้าวัดจากยอดขายหนังสือในแต่ละปี เราก็จะเห็นว่าตลาดหนังสือก็ไม่ถึงกับอับเฉาเสียทีเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ ยอดจำหน่ายอาจเป็นเครื่องชี้วัดว่า เขาซื้อหนังอ่านกัน แต่ซื้ออะไรอ่าน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่วรรณกรรมชิ้นนึงพึงมี
ต้องอ่านสนุกครับ เวลาผมกลับไปอ่านงานคลาสสิคต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความสนุกเพลิดเพลิน อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวนะ ผมว่าถ้าเราเขียนอะไรให้มันอ่านเข้าใจยาก มันก็เหน็ดเหนื่อยที่จะอ่านผ่านไปได้แต่ละย่อหน้า ตรงนี้ไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ดีนะ มันแล้วแต่รสนิยมของใคร บางคนอาจจะชอบอ่านอะไรที่มันยากๆ แต่ผมไม่ใช่คนประเภทนั้น คติ สาระ ปรัชญา หรือแนวคิดอะไรที่มันยากๆ ผมรับได้ทั้งนั้น แต่มีข้อแม้ว่า มันต้องห่อหุ้มด้วยความตื่นเต้น เพลิดเพลิน

รางวัลจำเป็นไหมสำหรับวงการวรรณกรรม
สมัยก่อน นักเขียนจะส่งต้นฉบับไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เพื่อการตีพิมพ์ นั่นคือช่องทางของรายได้และช่องทางการเสนองานออกสู่สาธารณะ เดี๋ยวนี้มีนิตยสารอยู่เพียงไม่กี่หัวเท่านั้นที่เปิดรับงานเขียนจากนักเขียนนอก ซึ่งมันไม่พอต่อการจำนวนนักเขียนที่มีอยู่มากมายในเมืองไทย ดังนั้นรายได้ของนักเขียนสมัยนี้จึงมาจากการพิมพ์หนังสือรวมเล่มออกขาย การมีรางวัลมันก็ช่วยในหลายๆ ด้าน อย่างไม่มีอะไรเลย ก็ช่วยให้ชื่อของเขาปรากฎออกไปในข่าว ทำให้หนังสือเล่มนั้นๆ มีรางวัลมาการันตีว่ามันดี อ่านได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งข้อนี้สำคัญมากสำหรับนักเขียนไม่มีชื่อ ใครบ้างล่ะอยากเสี่ยงเสียเงิน เสียเวลาไปกับนักเขียนที่เราไม่รู้จัก ดังนั้นเมื่อมีรางวัลมารับประกัน มันอาจทำให้ผู้อ่านให้โอกาส และเป็นการขยายฐานคนอ่าน เป็นรายได้ต่อไป ในแง่ของเงินรางวัล ก็เป็นทุน เป็นกำลังใจให้นักเขียนได้ทำงานต่อ มันช่วยได้มาก ผมว่ารางวัลเป็นสิ่งที่ดี เป็นผลพลอยได้จากการทำในสิ่งที่ชอบ อย่างไรก็ตาม รางวัลไม่ใช่เป้าประสงค์หลักของการทำงานเขียน

นักเขียนต้นแบบ นักเขียนคนโปรด
ชาติ กอบจิตติ ประมูล อุณหธูป รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่วนพ่อของผมนั้นไม่ต้องพูดถึงกระมัง เขาเป็นต้นแบบที่ผมเห็นมาตั้งแต่เล็ก

วรรณกรรมเล่มโปรด
ไม่มีเล่มโปรดครับ ผมไม่มีหนังสือเล่มไหนที่หวนกลับไปอ่านซ้ำอยู่ทุกๆ ปี   ผมมีชอบกับไม่ชอบ ถ้าชอบก็คืออ่านจบ ไม่ชอบคืออ่านไม่จบ

คำแนะนำสำหรับนักอยากเขียน
คนที่อยากเขียนหนังสือทุกคนตระหนักดีว่าเขามีอะไรอยากบอก อยากเล่า ที่เหลือคงเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลาและเทคนิคการถ่ายทอด ก็อยากแนะนำว่า อย่างมัวแต่คิดอยู่ ลงมือเขียนซะ โลกของเรายังต้องการเรื่องเล่าดีๆ จากนักเล่าเรื่องดีๆ ผมเชื่อว่าทุกชาติทุกภาษานั้นมีเรื่องเล่าที่ดีไม่แพ้กันหรอก ดังนั้น เมื่ออยากเป็นนักเขียน จงเขียน

ส่วนในแง่ของวีธีการหรือเทคนิคการเล่าเรื่อง หากขวนขวายหน่อยก็อาจจะไปเข้าฝึกอบรมกับโครงการต่างๆ ลองดูซิว่ามันถูกจริตเราไหม บางคนอาจชอบความเป็นหมู่คณะ มีเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนคอยวิจารณ์งานเขียนของเรา บางคนอาจรับไม่ได้ นั่นก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล โครงการปั้นนักเขียนนั้นมีจัดอยู่หลายที่ครับ สมาคมนักเขียนเองก็รู้สึกว่าจะจัดอบรมอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน ต้องลองติดตามข่าวดู

ในยุคสมัยของโลกดิจิตอลมีการปรับตัวอย่างไรไหม
ในแง่ของการสร้างงานนั้นผมว่าไม่นะ จะดินสอ พิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ การสร้างงานก็ยังคงโดดเดี่ยวเหมือนเดิม การมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มันเปลี่ยนมาตรงปลายแถว ตรงผลผลิต สิ่งที่เราทำออกมาเสร็จเรียบร้อยเป็นอาร์ตเวิร์คแล้วนั้น เราจะทำเป็น ไฟล์ PDF เพื่อส่งขายในแบบอีบุ๊คไหม เมื่ออีบุ๊คทำให้การซื้อขายข้ามประเทศมันง่ายขึ้น เราก็ต้องคิดต่อว่า เราควรจะแปลงานของเราเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยหรือเปล่า? ผมว่าเหล่านี้เป็นเรื่องปลายเหตุทั้งสิ้น แต่ในฐานะของนักเขียนรุ่นนี้ เราก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีคิด เตรียมตัวไว้ให้พร้อม นั่นคือในเรื่องของการบริหารงาน

อีกเรื่องคือ การบริหารแฟนหนังสือ ดิจิตอลและสื่อออนไลน์ทำให้นักเขียนกับนักอ่านใกล้กันมากขึ้น เดี๋ยวนี้นักเขียนจะมีฐานแฟนๆของเขาที่คอยเข้ามาติดตามอ่าน ตามข่าว ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เขียนอะไรอยู่ จะให้สัมภาษณ์นิตยสารเล่มไหน จะไปแจกลายเซ็นที่ไหน หรือจะไปเสวนาเมื่อไหร่ ฟีดแบ็คต่างๆ วัดผลกันได้อย่างรวดเร็วและจะแจ้ง เขียนดีเขาก็มาชมให้ได้เขินกันไป เขียนไม่ดี เขียนมั่ว เผลอด่าใครออกไปด้วยอารมณ์หุนหัน ก็มีหวังถูกถ่ายทอดต่อ ส่งต่อ บางทีอาจไปลงเอยที่สื่อกระแสหลักให้ได้ปวดหัวกันต่อ มันก็มีทั้งดีและไม่ดี เป็นเรื่องที่นักเขียนรุ่นนี้จะต้องระมัดระวังถ้อยคำเป็นพิเศษ ต้องเรียนรู้ที่จะหาประโยชน์จากมันให้สูงสุด ให้มีโทษน้อยที่สุด ข้อท้ายนี้เป็นเรื่องของการบริหารตัวเองครับ

ปณิธานในการเป็นนักเขียน
สำหรับผมแล้ว การตั้งปณิธานคงไม่มีหรอก รู้แต่ว่า เวลาปล่อยงานเขียนออกมาแต่ละชิ้นจะพยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่ระดับสติปัญญาและฝีมือจะมีในเวลานั้นๆ จะว่าไป ปณิธาน ผมคงไม่มี ถ้ามี ก็คงมีแต่ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าวันหนึ่งงานเขียนของนักเขียนไทยจะถูกแปลออกไปเป็นภาษาต่างประเทศอย่างแพร่หลาย จะได้หายเหนื่อยกันเสียที อย่างผมกว่าจะทำงานออกมาได้เล่มหนึ่งๆ ใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างต่ำ ยอดขายอยู่ในระดับสอง หรือสามพันเล่ม มันเป็นรายได้ที่จัดอยู่ในขั้นน่าขบขันทีเดียว การที่ผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่บ้าง ผมตระหนักดีว่าเรื่องเล่าของเรานั้นไม่แพ้ชาติไหนๆ เลย เรื่องเล่าดีๆ ของเราที่ควรจะต้องถูกแปลออกสู่สากลนั้นมีจ่อรออยู่ก็มากมาย ปัญหาคือ ตอนนี้เราไม่มีนักแปลวรรณกรรมดีๆ หมายถึงแปลไทยเป็นอังกฤษน่ะนะ พวกนี้จะมีน้อยมากและเท่าทีผมลองอ่านดู ผมยังไม่เห็นคนอย่าง Alfred Birnbaum ที่แปลงานของนักเขียนญี่ปุ่นออกสู่ตลาดสากล คนแปลที่เป็นเจ้าภาษาทั้งต้นทางและปลายทาง ผมก็ได้แต่หวังว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาใช้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษจะหันความสนใจมาสู่วรรณกรรมไทย และช่วยกันแปลเรื่องเล่าของเราออกสู่ตลาดสากล

แต่กว่าจะถึงวันนั้นผมคงตายไปแล้วล่ะ

You may also like...