บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดงานแนะนำหนังสือ “นารีนครา” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่แสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาจีนและจีนวิทยา แม้จะทรงมีพระราชกิจมากมาย แต่ก็ทรงพระวิริยะแปลเรื่อง “นารีนครา” ในระหว่างปี 2555 และได้พิมพ์เผยแพร่ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556
“นารีนครา” หรือชื่อภาษาจีนว่า “ทา-เตอ-เฉิง” เป็นผลงานเขียนโดย “ฉื่อลี่” นักเขียนหญิงผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่องทั้งนวนิยายและร้อยแก้ว ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัล อีกทั้งผลงานหลายเรื่องได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครชุดทางโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ อุปรากรปักกิ่ง รวมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม งานเขียนหลากหลายของฉื่อลี่ที่มี
นครอู่ฮั่นเป็นฉากหลัง รวมทั้งเรื่อง “นารีนครา” ทุกคำพูดเสมือนดั่งตัวแทนทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมอู่ฮั่น
ภายในงานแนะนำหนังสือ ”นารีนครา” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน และพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือ “นารีนครา” ณ ห้องบอลรูม หลังจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “Hubei Cuisine Festival” ณ ห้องอาหาร Shang Palace Chinese ชั้น 2 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดพิมพ์เผยแพร่พระราชนิพนธ์แปลอีกครั้ง หลังจากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์แปล เรื่อง หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า
ในปี 2555 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือเป็นมงคลวารอีกครั้งหนึ่ง ที่นักอ่านชาวไทยจักได้ชื่นชมพระปรีชาญาณด้านจีนวิทยา ในพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง “นารีนครา” นวนิยายที่สื่อถึงใจหญิงแท้จริงแกร่งดังเหล็กกล้า และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามกระแสการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย บริษัทนานมีบุ๊คส์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพ้นพรรณนา เป็นเกียรติประวัติและสิริพิพัฒนมงคลยิ่งที่สำนักพิมพ์จักเทิดทูนรำลึกไว้มิรู้ลืม”
“…เมื่ออ่าน “นารีนครา” จะเข้าใจได้ว่าเป็นนวนิยายสะท้อนสังคม และขณะเดียวกันก็แสดงความงดงามของ “ความเป็นหญิง” ซึ่งมิได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกอันชวนให้หลงรักหลงใหล หากแต่อยู่ในพลังและบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา และที่สำคัญที่สุดคือความเป็นเพื่อนแท้…
…นวนิยายเรื่อง “นารีนครา” ได้สะท้อนวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งแท้ดั่งเหล็กกล้าของหญิงซึ่งได้ดำเนินมาแล้วในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะสืบเนื่องต่อไปในอนาคต”
(คัดจากพระราชนิพนธ์คำนำ)
“นารีนครา” ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ซึ่งได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในมิติต่างๆ และได้ถ่ายทอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ตัวละครหญิงทั้งสามนี้ ได้เรียนรู้จากกันและกัน ได้สร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันจริงใจเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเป็นการสร้างความสุขอันแข็งแกร่งและคุณค่าอันมั่นคงแก่ชีวิต
ร่วมเป็นเจ้าของหนังสือพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีก่อนใครได้ใน “นารีนครา” หนังสือดีที่ควรอ่าน จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
วางจำหน่ายที่ร้านนานมีบุ๊คส์ช้อป และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามที่ Nanmeebooks
โทรศัพท์ : 02-662-3000 กด 1
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำรัสแนะนำหนังสือ “นารีนครา” พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ
ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้อธิบายเรื่องที่แปลด้วยตัวเอง เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นไปตามที่คุณสุวดีได้กล่าวมาแล้ว ส่วนรายละเอียดนั้นก็ไม่อยากจะกล่าวมาก เพราะถ้าเล่าเรื่องหมดแล้วก็ไม่มีใครอ่าน (เสียงหัวเรอะจากผู้เข้าเฝ้าฯดังทั่วห้อง)
สาเหตุที่เลือกแปลเรื่องนี้ เพราะวันหนึ่งเดินทางไปประเทศจีนก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาวางอยู่บนเครื่องบิน ในหน้าศิลปะวัฒนธรรมพูดถึงเรื่องประวัติและผลงานของคุณฉือลี่ แต่ขณะนั้นยังไม่มีหนังสือเรื่องนี้ (นารีนครา) แล้วก็ได้คุยกับครูสอนภาษาจีนคนเก่า ที่กลับไปทำงานที่ประเทศจีนแล้ว ชื่อครูจู ได้พูดถึงนักเขียนท่านนี้ที่มักจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของสตรีจีน ซึ่งเป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่น่าสนใจ
การที่ชอบแปลหนังสือจีนนั้น เป็นประโยชน์ คือประการแรก คือได้รู้จักศัพท์ต่าง ๆ สำนวนต่าง ๆ ทำให้เข้าใจภาษาจีนได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนภาษาจีน และเมื่อแปลแล้ว แทนที่จะทิ้งไว้เฉยๆก็นำมาพิมพ์ และให้ผู้รู้หลาย ๆ ท่านช่วยขัดเกลา ซึ่งคิดว่าการอ่านวรรณคดีไม่ว่าจะเป็นของชาติใด มีส่วนทำให้ผู้อ่านได้นอกจากความรู้ คือความรู้จากหนังสือตำราจีน หนังสือประวัติศาสตร์จีนก็ได้อ่านกันมาหลายเล่ม ครูอาจารย์สอนประวัติศาสตร์จีน แต่เรื่องของชาติต่าง ๆ เช่นเรื่องของชาติจีนนั้นก็ไม่ใช่มีแต่เรื่องของบุคคลสำคัญที่ประวัติศาสตร์จดไว้ แต่การที่เราจะเข้าใจชนชาตินั้นให้ดี ก็เป็นเรื่งอที่เราจะต้องเข้าใจ ความเป็นอยู่ ความนึกคิด ชีวิตของคนตธรรมดาๆ ในแง่มุมต่าง ๆ คนในสังคมต่าง ๆ ก็ตั้งแต่ได้อ่านวรรณกรรมจีน โดยเฉพาะวรรณกรรมจีนรุ่นใหม่ ๆ ก็ทำให้เข้าใจจิตใจของคนจีนในสมัยต่าง ๆ ว่าทำไมเค้าถึงคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น ซึ่งอาจจะมองในแง่มุมของเราแล้วรู้สึกว่าไม่ถูกใจ แต่เมื่อได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาก็ทำให้รู้สึกเข้าถึงจิตใจและเห็นใจบุคคลที่มีบทบาท หรือว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่นั้น ขณะที่เรียนก็มีความรู้สึกแบบนั้น และรู้สึกว่าถ้าเอามาถ่ายทอดให้ผู้อ่านคนไทยที่ไม่มีโอกาสอ่านเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าเค้าอ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจดีขึ้น เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนและคนไทยในแง่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
หลังจากกลับมาประเทศไทยแล้วสักพักนึง คุณครูจูก็ได้นำนิตยสารเล่มนึง ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นของจีน จริง ๆ เค้าไม่ได้เรียกเรื่องสั้น แต่เป็นนวนิยายขนาดสั้น ก็นำมาให้ และเลือกเรื่องของฉือลี่ เป็นเรื่องในนิตยสารเล่มนั้น เอามาแปล ซึ่งเรื่องนี้ (นารีนครา) เป็นเรื่องที่ใหม่ ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่นให้มาเปรียบเทียบได้บางครั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์มานานแล้วก็ได้อาศัยแนวจากภาษาต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ยังไม่มี เท่ากับได้แปลเองจริง ๆ
เรื่องนี้บรรยายถึงเมืองอู่ฮั่น ที่จริงแล้ว เคยแปลหนังสือของคุณกังฟาง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีฉากอยู่ในอู่ฮั่น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และเป็นสมัยก่อนเรื่องนี้ ซึ่งทำให้เห็นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นอีกแบบนึง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนธรรมดา คนค้าขาย มีชีวิตและบรรพบุรุษอยู่ในเมืองอู่ฮั่นมานาน ได้สร้างคุณูปการต่อเมืองอู่ฮั่น ก็มีอธิบายถึงบ้านเมืองอู่ฮั่นในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นไม่เคยไป เพราะส่วนใหญเวลาไปจีนส่วนใหญจะไปมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษา สถานีวิจัย เป็นส่วนมาก
ในเรื่องนี้ก็มีการกล่าวถึงเรื่องประวัติวรรณกรรมจีนในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง คือในบางถนนในเมืองอู่ฮั่นถือเป็นถนนสายวรรณกรรม เป็นทั้งสำนักพิมพ์ ร้านขายหนังสือที่ขายทั้งหนังสือ และนิตยสาร ที่ลงบทความของนักเขียนที่ มีอุดมการณ์ทางการเมือง นักเขียนเหล่านี้ที่เค้ากล่าวนำมาในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ลองค้นอินเทอร์เน็ตดู ก็พบว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง และมีบทบาทในการสร้างสรรค์จีนใหม่ก่อนหน้าที่จะมีการปลดปล่อย พวกท่านนักเขียนเหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้เมืองจีนเป็นจีนในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นคนที่เราควรจะสนใจเหมือนกัน หนังสือไม่ได้กล่าวว่าท่านเหล่านี้เป็นอย่างไร เขียนเรื่องอะไร แต่ถ้าเราค้นคว้าดูต่อมาจากชื่อที่ให้ไว้ในหนังสือ ก็จะทำให้ทราบว่า เมืองจีนกว่าจะมาเป็นจีนในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเกิดจากความเสียสละและความคิดของคนที่อาจจะเป็นคนเล็กคนน้อยแล้วก็มารวมกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง กับอีกส่วนนึงก็จะเห็นว่าอู่ฮั่นในสมัยก่อนเป็นสถานที่ที่มีการลงทุนพาณิชย์ ชาวต่างประเทศได้มาลงทุน แต่ว่าบางชื่อที่เขียนไว้เป็นภาษาจีนนั้น ก็ไม่ทราบว่า ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฝรั่งเศส ที่เป็นชื่อบริษัทนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นชื่อบริษัทอะไร ก็ค้นคว้าไปไม่ถึง ในเรื่องนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่กล่าวไว้หนังสือคือ เรื่องตัวเอกของเรื่อง คือ มีเจี่ย ตอนที่สามีเสียชีวิต เค้าก็โศกเศร้ามาก จนไม่ทำอะไร สุขภาพก็ทรุดโทรม ก็อาจจะรู้สึกสำนึกผิด ที่ตอนที่สามีชีวิตอยู่ก็นอกใจไปนิด ๆ (เสียงหัวเราะจากผู้เข้าเฝ้าฯ) ก็เลยทำให้รู้สึกในคุณความดีของสามียิ่งขึ้น แต่คนที่ทำให้มี่เจี่ยพ้นจากสภาพความโศกเศร้าจนเสียสุขภาพนั้นก็คือ แม่สามี ท่านเป็นอายุมาก แก่แล้ว แต่เป็นคนที่มีความคิดความอ่าน ตอนที่รู้ว่าลูกสะใภ้นอกใจลูกชาย แต่ก็มีความพยายามจะรักษาครอบครัวไว้ ไม่เคยว่ากล่าว ทำแต่คุณความดี พยายามจะทำให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันได้ ยังหาซื้อที่มาให้ลูกสะใภ้ทำธุรกิจ ลูกสะใภ้เป็นคนฉลาดมีความสามารถ เมื่อเห็นแม่สามีสนับสนุนขนาดนี้ ตนจึงมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นอีกครั้งนึง ซึ่งการเลือกทำธุรกิจก็น่าสนใจที่ว่า ลูกสะใภ้เลือกทำธุรกิจที่ไม่รบกวนแม่สามี เพราะแม่สามีอยู่ชั้นบนของบ้าน และทำอะไรต่าง ๆ ได้ไม่ลำบากนัก อาศัยความสามารถของตนเอง ซึ่งเลือกเปิดร้านขัดรองเท้า ซึ่งเมืองไทยไม่เคยเห็น เมืองจีนมีรึเปล่าก็ไม่เคยรู้ คนไทยเค้าก็ขัดเอง หรือว่ามีคนขัดให้ ไม่เคยเห็นว่าต้องมีร้านขัดเป็นเรื่องเป็นราวอย่างในหนังสือเล่มนี้
ส่วนคนสุดท้ายที่ปรากฎในเรื่องนี้ เป็นหญิงที่ก็ไม่ใช่เด็กนัก แต่เด็กกว่าคนที่ 1 ที่ 2 เป็นคนอีกวัยนึง เค้ามีปัญหาครอบครัว คิดแก้ปัญหาครอบครัวโดยการมาทำงานที่เหมือนเป็นงานกรรมการ งานหนัก เพื่อประชดสามี โดยหวังว่าสามีจะเห็นใจ และมารับกลับ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นใจ มาเฉลยวันสุดท้ายว่าทำไมจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ ซึ่งตอนนี้คนที่แก้ปัญหาได้คือทั้งแม่สามีและมี่เจี่ยก็ช่วยกัน
เรื่องสุดท้ายที่น่าสนใจมากก็คือ ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงอาหารต่าง ๆ พออ่านแล้วก็รู้สึกน้ำลายไหล (เสียงหัวเราะจากผู้เข้าเฝ้าฯ) แต่ก็ไม่เข้าใจว่าอาหารอย่างนั้นเป็นอย่างไร จึงไปปรึกษาท่านเอกอัครราชทูตจีน และที่เคยทำเสมอ ๆ คือเชิญตนเองไปที่สถานทูต (เสียงหัวเราะจากผู้เข้าเฝ้าฯ) ให้ช่วยทำของพวกนี้ให้ลองชิม อยากจะรู้ว่าแปลแล้วมันเป็นยังไง เพราะว่าเคยมีคนที่ทำงานที่สถานทูตจีน แปลเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียน คือเรื่อง แก้วจอมแก่น ในเรื่องก็มีเรื่องอาหารต่าง ๆ คนแปลก็ขอให้ทำอาหารที่มีในเรื่องไปให้ลองชิม ซึ่งข้าพเจ้าก็เลยอยากลองชิมเหมือนกัน แต่ที่สถานทูตบอกว่าไม่มีคนที่สามารถทำอาหารพวกนี้ได้ จึงได้ติดต่อกับทางมณฑลหูเป่ยว่าให้ส่งคนมาทำอาหาร เพราะว่านอกจากไม่มีคนทำเป็นแล้ว วัตถุดิบบางอย่างก็ไม่มีในประเทศไทย ถ้าจะทำก็ต้องนำมาจากหูเป่ย ในเมืองจีนทั่ว ๆ ก็ใช่ว่าจะมี มีแต่ที่หูเป่ยเท่านั้น อู่ฮั่นเคยไปหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยรับประทานอาหารแบบนี้ วันนั้นก็เลยได้นั่งคุยกันว่าทำยังไงที่นอกจากจะแนะนำหนังสือแล้ว ควรจะแนะนำอาหารหู่เป่ยให้คนไทยได้ทดลองชิมด้วย จึงทำให้เกิดกิจกรรมในวันนี้ขึ้นมา
สุดท้ายนี้มีข้อคิดอีกอย่างที่คิดขึ้นมาได้ว่า แปลเรื่องจีนมาหลายเรื่อง ก่อนหน้านี้คือ เรื่อง เสี่ยวเป้าจู หรือ หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า ของคุณหวังอันอี้ ซึ่งครั้งนี้ที่จะไปเมืองจีนในเดือนเมษายนนี้ก็จะได้พบกับคุณหวังอันอี้ด้วย แล้วก็เลยมาสำรวจดูว่านักเขียนที่แปลมาทั้งหมด นอกจากคุณหวางเหมินที่แปลเรื่องแรก คือเรื่องผีเสื้อ ล้วนแต่เป็นนักเขียนสตรีทั้งนั้น ก็เลยคิดว่าต่อไปจะแปลเรื่องนักเขียนสตรีเพิ่มขึ้นอีกเรื่องสองเรื่อง แล้วอาจจะรวมเล่ม แล้วก็ให้ลองวิจารณ์กันดูว่าเป็นเรื่องของนักเขียนสตรีจีนในยุคต่าง ๆ ก็เป็นหัวข้อที่หลาย ๆ คนเค้าทำกัน นักเขียนสตรีไทย นักเขียนสตรีอินเดีย นักเขียนสตรีในชาติ ๆ ก็เป็นอีกหัวข้อนึง แต่ก็ต้องตัดคุณหวางเหมินออกไป เพราะว่าไม่ได้เป็นสตรี แต่ว่าการไปเมืองจีนครั้งนี้พอลงจากเครื่องบินก็จะไปเยี่ยมคุณหวางเหมินที่บ้าน และปีก่อนก็ได้ไปคอนโดของท่านในเมือง ก็ได้บอกว่ากำลังแปลเรื่องของท่านหวังอันอี้ คุณหวางเหมิน ท่านก็บอกว่าท่านเป็นเพื่อนกับมารดาของคุณหวังอันอี้ ท่านก็ต่อโทรศัพท์ให้คุยกับคุณหวังอันอี้ทันที ส่วนคุณฉือลี่ก็เลยยังไม่มีโอกาส เพราะว่าท่านก็ยังไม่ว่างที่จะพบ จึงได้เขียนจดหมายมาว่า ในโอกาสหน้าคงจะได้พบได้รู้จักกัน
เรื่องอื่น ๆ นั้น เวลาแปลสำนวนไทยกับสำนวนจีนนั้นต่างกัน บางเรื่องก็เอาความหมายใช้เป็นสำนวนไทย เขียนแบบไทย แต่บางเรื่องที่คนไทยจะพอเข้าใจได้ก็จะทิ้งไว้เพื่อเป็นความรู้สึกแบบเป็นจีน ๆ ผู้อ่านจะได้บรรยากาศจีน
เรื่องต่าง ๆ ก็น่าจะไว้แค่นี้ เพราะว่ายังมีปมของเรื่องต่าง ๆ อีกหลายเรื่องที่ขอให้อ่านเอง ไม่เล่าแล้วไม่สนุก (เสียงหัวเราะพร้อมเสียงปรบมือจากผู้เข้าเฝ้าฯดังทั่วห้อง)