ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชวนผู้ที่สนใจชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงสำรวจศักยภาพเมืองเชียงใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ผ่านนิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองใหม่” หวังจุดประกายความคิดและเปิดมุมมองใหม่ในมิติที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง
พร้อมดึงชุมชน ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางบวกทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เปิดเผยว่า “คนภายนอก หรือแม้แต่คนท้องถิ่นเอง มักมีมุมมองต่อเมืองเชียงใหม่ในมิติเดิมๆ เมื่อพูดถึงเชียงใหม่คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงวัดวา ป่าเขา ชีวิตอันเนิบช้า หรือไม่ก็ร้านรวงในไนท์บาซาร์ ซึ่งในปัจจุบันภาพเหล่านี้ไม่สามารถสะท้อนความเป็นเชียงใหม่ได้ครบถ้วนตามความเป็นจริงอีกต่อไป ทั้งนี้ ในโอกาสที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้ขยายพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในส่วนภูมิภาคมาที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้สำรวจและเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ให้มากขึ้น ผ่านการศึกษาพลวัตของเมืองอันซับซ้อนและกลุ่มคนอันหลากหลาย ในขณะเดียวกัน คนท้องถิ่นเองก็จะได้ทำความรู้จักกับเมืองของตนเองผ่านมุมมองใหม่ๆ และได้ทบทวนความเป็นเชียงใหม่ที่อาจจะห่างไกลจากความเคยชินเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง และการรับรู้ถึงศักยภาพใหม่ๆ ในอนาคตของพื้นที่นี้”
เนื้อหาของนิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองใหม่” แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกเน้นเปิดโลกทัศน์ใหม่ของคนเชียงใหม่ให้หลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ เป็นการเสาะหาโอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาเมืองที่ซ่อนอยู่ในย่านสำคัญต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนย่อย ได้แก่ 1) “มีอะไร“ (What’s there?) ซึ่งนำเสนอข้อมูลจากสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เปลี่ยนไปในย่านนิมมานเหมินท์และวัดเกตุ 2) “ใครอยู่“ (Who’s there?) สำรวจความหลากหลายของผู้คนและกิจการ ตลอดจนความคิดความเชื่อและการใช้พื้นที่ภายใต้บริบทใหม่ในย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองและไนท์บาซาร์ เพื่อนำไปสู่การทบทวนแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาในอนาคต 3) “เขาทำอะไรกัน“ (What’s going on?) สำรวจกิจกรรมการดำเนินชีวิตในย่านวัวลายและวิถีชีวิตของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
เนื้อหาส่วนที่สองเป็นการทำความรู้จักกับคนในพื้นที่ซึ่งมีมุมมองแปลกใหม่ต่อย่านและเลือกที่จะประกอบกิจการหรือทำกิจกรรมที่แตกต่างในพื้นที่เพื่อสร้างชีวิตให้กับเมือง โดยมุ่งความสนใจไปที่สี่เหลี่ยมคูเมือง ถนนนิมมานเหมินท์ และซอยวัดอุโมงค์ เนื้อหาส่วนที่สามนำเสนอผ่านสารคดีกาดเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ว่าด้วยแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์งาน เป้าหมายของสารคดีชิ้นนี้ คือ กระตุ้นให้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้มองตัวเองด้วยสายตาคู่ใหม่ ทำความรู้จักกับทุนที่ชุมชนมีอยู่ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน มองเห็นศักยภาพและจุดแข็งใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่และผลักให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการต่อยอดจากทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นแนวทางในการพัฒนาย่านได้ในอนาคต
“จากการเปิดพื้นที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในครั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของเมืองเชียงใหม่จะได้เรียนรู้และตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของเมือง เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตและสร้างมูลค่าบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่มากมายได้อย่างยั่งยืน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองใหม่” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 เมษายน – 30 มิถุนายน 2556
ณ ห้องนิทรรศการ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ เชียงใหม่ เลขที่ 1/1 ถนนเมืองสมุทร ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (หลังกาดเมืองใหม่ ทางไปเจดีย์ขาว) เข้าชมฟรีได้ทุกวัน (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.
ผู้สนใจสมัครสมาชิกสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 052-080-500 ต่อ 1
หรือที่ : www.tcdc.or.th/chiangmai
ในฐานะที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกำลังจะตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่ และเชียงใหม่กำลังจะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่ว่าด้วยแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์งาน นิทรรศการนี้จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้สำรวจ และทำความรู้จักกับเมืองเชียงใหม่ในฐานะบ้านหลังที่สอง ผ่านการศึกษาพลวัตของเมืองอันซับซ้อนและกลุ่มคนอันหลากหลาย ในขณะที่คนท้องถิ่นเองนั้นจะได้ทำความรู้จักกับเมืองของตัวเองผ่านมุมมองใหม่ๆ และได้ทบทวนความเป็นเชียงใหม่จากที่เคยชิน อันจะนำไปสู่การเปิดรับศักยภาพใหม่ๆ ของพื้นที่ในที่สุด
ป่าเขาและไม้ใหญ่ ชีวิตอันเนิบช้า วัดวาและร้านรวง คือภาพที่หลายคนมักวาดไว้เมื่อนึกถึงเชียงใหม่ หารู้ไม่ว่าภาพแทนเหล่านี้ไม่สามารถสะท้อนความเป็นเชียงใหม่ได้ทั้งหมดเสมอไป หลังต้นไม้ใหญ่และกำแพงอิฐอันเก่าแก่ยังมีชุมชนที่เต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลายคอยสร้างจังหวะให้กับเมืองไม่หยุดนิ่ง หลังวัดวาและร้านรวงยังมีบ้านช่องที่คับคั่งไปด้วยผู้คน คอยสร้างชีวิตให้กับเมืองไม่รู้จบ เชียงใหม่ในความเป็นจริงจึงไม่ใช่จุดหมายที่ต้องถูกแช่แข็งไว้เพื่อให้คนเข้ามาเชยชม แต่เป็นบ้านที่พักพิงของผู้คนจากทั่วทุกแขนงและเป็นชุมชนที่มีเรื่องราวมากมายต้องคอยแก้ไข การยึดติดภาพแทนอันสวยงาม โดยมองข้ามมิติอื่นๆ ของเมืองนั้นรังแต่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง อาทิ การมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ละเลยสาธารณูปโภคพื้นฐาน การให้ความสำคัญกับผู้มาเยือนแต่ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย หรือกระทั่งการพัฒนาอุตสาหกรรมในทิศทางเดิมเพื่อตลาดเก่าแทนการค้นหาศักยภาพใหม่ๆ เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง เมื่อภาพที่ถูกสร้างขึ้นย้อนกลับมาครอบงำความคิด จำกัดจินตนาการและการเติบโตของเมืองในทิศทางใหม่ๆ การเปลี่ยนมุมมองเพื่อให้เห็นเมืองในความเป็นจริงจึงจะนำไปสู่การเติบโตที่สร้างสรรค์อันเป็นสิ่งที่เชียงใหม่อาจต้องการที่สุดในขณะนี้
I
เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งโลกทัศน์ของคนเชียงใหม่ นิทรรศการนี้จึงตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัวที่คนท้องถิ่นเคยชิน โดยมีประเด็นเรื่องเมืองที่ถูกขับเคลื่อนในพื้นที่เป็นกรอบความคิด และมีงานออกแบบและการจัดวางเป็นสื่อในการถ่ายทอดเพื่อนำเสนอผลการสำรวจ นิทรรศการส่วนแรกเป็นการเสาะหาโอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาเมืองที่ซ่อนอยู่ในย่านสำคัญต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. “มีอะไร“ (What’s there?) สำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพในย่านนิมมานเหมินท์ และวัดเกตุ
– ศึกษาย่านนิมมานเหมินท์อันได้ชื่อว่าการอยู่ร่วมกันของร้านค้าและบ้านเป็นเสน่ห์ของพื้นที่ โดยพบว่าจำนวนบ้านพักอาศัยความจริงแล้วกำลังถูกกิจการเข้ามาแทนที่อย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นการตั้งคำถามต่ออนาคตของย่านที่สภาพแวดล้อมกำลังเปลี่ยนไปและเผยปัญหาจากการอยู่ร่วมกันของพื้นที่สองแบบอย่างไร้การควบคุม
– สำรวจสิ่งกีดขวางและอุปสรรคในการเดินบนเส้นทางย่านวัดเกตุตลอด 800 เมตรบนถนนเจริญราษฎร์อันได้ชื่อว่าเป็นถนนสายวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ทางเดินเท้าที่ไม่เพียงพอและความไม่สม่ำเสมอของพื้นผิวถนนทำให้เห็นความจำเป็นในการจัดระเบียบถนนเพื่อความง่ายต่อการเข้าถึงร้านรวงในย่าน
2. “ใครอยู่“ (Who’s there?) สำรวจความหลากหลายของผู้คนและประเภทของกิจการในย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองและไนท์บาซาร์
– จากเมืองเก่าที่ถูกกำหนดหน้าที่และบทบาทของพื้นที่โดยอิงความเชื่อโบราณว่าเมืองนั้นเปรียบเสมือนคนที่ประกอบไปด้วยศีรษะ แขน ขา และลำตัว ย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองถูกศึกษาใหม่ว่าด้วยความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ยึดติดคติโบราณอีกต่อไป แต่ทว่ายังเคารพในความเชื่อดั้งเดิมไม่เสื่อมคลาย
– เผยสัดส่วนการใช้พื้นที่ของกิจการในย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทหน้าที่ใหม่ของย่านแทนที่การเป็นศูนย์กลางทางจิตใจ การศึกษา และการปกครองอย่างอดีต ช่วงอายุ ระยะเวลาในการอยู่อาศัยของเจ้าของกิจการ ไปจนถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ แสดงให้เห็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจที่ขาดหายไปจากย่าน
– สำรวจความหลากหลายของประเภทกิจการและเจ้าของธุรกิจบนถนนไนท์บาซาร์เพื่อค้นหาความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งแทบจะหมดไปบนพื้นที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมือง นำไปสู่การทบทวนถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพย่านในอนาคต
3. “เขาทำอะไรกัน“ (What’s going on?) สำรวจกิจกรรมในย่านวัวลายและวิถีชีวิตของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
– จังหวะชีวิตของย่านวัวลายในวันธรรมดาและวันที่มีงานถนนคนเดินถูกนำมาเทียบเพื่อค้นหาผลกระทบทั้งในทางบวกและลบของงานต่อพื้นที่ การจัดกิจกรรมเพื่อเรียกนักท่องเที่ยวถูกตั้งคำถามถึงผลในระยะยาวและความเชื่อมโยงกับงานหัตถกรรมในย่าน
– สำรวจชีวิตที่เป็นได้มากกว่าหนึ่งของคนเชียงใหม่ที่สภาพภูมิประเทศ ขนาด และตำแหน่งของเมืองเอื้อให้คนใช้ชีวิตได้หลากหลายรูปแบบและมีโอกาสประกอบอาชีพควบคู่ไปกับการทำสิ่งที่ตัวเองรักเป็นงานอดิเรกไปพร้อมๆ กัน โดยมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างในการศึกษา
II
เนื้อหาส่วนที่สองเป็นการทำความรู้จักกับคนในพื้นที่ซึ่งมีมุมมองแปลกใหม่ต่อย่าน และเลือกที่จะประกอบกิจการหรือทำกิจกรรมที่แตกต่างในพื้นที่เพื่อสร้างชีวิตให้กับเมือง จุดร่วมซึ่งคนเหล่านี้มีร่วมกันคือ การมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ที่ซ่อนอยู่ อันเป็นมุมมองที่ทำลายล้างภาพแทนที่แบนไร้มิติของย่านและช่วยยกระดับเชียงใหม่ให้เติบโตในหลากหลายมิติ โดยย่านที่ถูกหยิบมาเล่าเป็นกรณีศึกษา คือย่านที่ได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีภาพแทนบางอย่างครอบอยู่ สี่เหลี่ยมคูเมืองคือศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ถนนนิมมานเหมินท์คือจุดนัดพบสำหรับกินดื่ม และซอยวัดอุโมงค์คือแหล่งรวมที่พักพิงของนักศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงแต่ละพื้นที่ต่างก็มีศักยภาพด้านอื่นๆ ซ้อนทับอยู่อย่างแยกไม่ออก ภายใต้กำแพงอิฐสูงน่าเกรงขามในสี่เหลี่ยมคูเมือง เราอาจคิดไม่ถึงว่ายังมีผนังว่างอีกมุมถนนที่คนจากอีกมุมโลกนัดกันพ่นศิลปะบนกำแพง ภายใต้ภาพร้านรวงที่ชินตาบนถนนนิมมานเหมินท์ เราอาจมองข้ามเจ้าของบ้านหลังถัดมาที่กวาดใบไม้อยู่ริมถนน ภายใต้เสียงรถราที่วิ่งสวนกันไปมาในซอยวัดอุโมงค์ เราอาจลืมนึกถึงช่างปั้นที่นั่งกลึงเซรามิกเงียบๆ ท้ายซอย
สี่เหลี่ยมคูเมือง
แม้ความเป็นย่านเมืองเก่าของพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองที่อดีตหล่อหลอมขึ้นมา และความทรงจำที่ผู้คนมีต่อพื้นที่อันรุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์คือเรื่องราวที่มีค่าและเป็นเอกลักษณ์ควรแก่การเก็บรักษา แต่เชื่อว่าสี่เหลี่ยมคูเมืองไม่ได้มีเรื่องราวเพียงมิติเดียว ผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของเจ้าผู้ครองนคร เป็นจุดหมายตาที่ทั้งกำหนดวิถีชีวิตผู้คน ปลูกฝังความเคารพยำเกรง และสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ผืนดิน (Monument) ทุกวันนี้คือสถานที่ที่ใครๆ ก็มีสิทธิ์จับจองเพื่อค้าขาย ยังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องหลายมิติที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวซ้อนทับอยู่บนความเป็นเมืองเก่าที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวในอดีต ร้านรวงมากมายผุดขึ้นบ่งบอกถึงความหลากหลายของพื้นที่ที่สะท้อนบทบาทและหน้าที่ใหม่ของย่าน มรดกทางวัฒนธรรมทุกวันนี้อยู่เคียงคู่กับวัฒนธรรมบนท้องถนนซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยคนรุ่นใหม่ที่กล้าเล่นกับความเป็นเมืองเก่าของย่าน กิจกรรมและกิจการในพื้นที่เกิดการซ้อนทับกันระหว่างความเก่าและความใหม่ ร้านรวงและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่แปลกใหม่ ท้าทายศักยภาพเดิม คืออีกหนึ่งมิติที่สำคัญของย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองไม่แพ้วัดวาและเจดีย์โบราณ (Certainty VS Adventure)
เรื่องราวในย่าน
– พิชัย บุญคุ้มอยู่: ศิลปินสตรีทอาร์ทที่ใช้พื้นที่คูเมืองเป็นสนามเด็กเล่น จัดกลุ่มปั่นจักรยานและพ่นสีตามกำแพงเพื่อเพิ่มสีสันให้กับย่าน
– พรพรรณ วิภาพันธุ์ และ ระวิ เกษมสุข ร้านกาแฟ Ponganes: เจ้าของร้านกาแฟคุณภาพที่มองว่าคูเมืองคือแหล่งรวมของคนที่หลงใหลในกาแฟ ท้าทายภาพของคูเมืองที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมร้านรวงราคาถูกสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างแดน
– เจ้าอาวาสวัดดอกเอื้อง: พระสงฆ์ที่ต้องออกมาสวมบทบาทหน้าที่ใหม่นอกจากการประกอบกิจสงฆ์ในการรักษาความสงบของพื้นที่เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากเสียงดนตรีของผับบาร์ที่เปิดอย่างไร้การควบคุม
– เรโกะ ทานากะ ร้าน Rainbow Water: คนญี่ปุ่นเจ้าของร้านขายคริสตัลและเสื้อผ้าใยกัญชงที่เลือกมาอาศัยอยู่ในเขตคูเมืองเพราะเชื่อในพลังจากวัดรอบข้างและพลังจากดวงจันทร์อันเป็นชื่อถนน (มูลเมือง) ที่เสริมพลังของคริสตัล
– แพง อูล์ฟเฟอร์ ร้าน North Gate: มือกลองชาวดัทช์จากอัมสเตอร์ดัมผู้เปรียบพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองว่าเหมือนดนตรีแจ๊ส เป็นพื้นที่ที่คนต่างชาติต่างภาษาเข้ามาอาศัยอยู่ มี North Gate เป็นศูนย์กลางที่ทุกคนต่างก็พูดภาษาเดียวกันผ่านดนตรี
ถนนนิมมานเหมินท์
จากที่นารกร้างในอดีต การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และการสร้างถนนเส้นใหญ่ตัดเชื่อมตัวเมืองสู่สนามบินทำให้พื้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นย่านที่พักอาศัยชั้นดีที่บ้านหลังใหญ่น้อยเข้าจับจอง ซอยเล็กซอยน้อยตัดเชื่อมกันให้คนเดินไปมาหาสู่กัน สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้ออำนวยทำให้ในเวลาต่อมาถนนนิมมานเหมินท์กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ร้านรวงตั้งถัดกันไปตลอดสาย (Market) แม้จะถูกขนานนามว่าเป็นพื้นที่ทำเงินที่เติบโตเร็วที่สุดและแข่งขันกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ แต่ถนนนิมมานเหมินท์นั้นมีศักยภาพที่เป็นได้มากกว่าพื้นที่ขายของ แต่เป็นตลาดที่เป็นมิตร เป็นพื้นที่ใช้ชีวิตสำหรับพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นแหล่งรวมของคนที่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นและต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพเมือง สะท้อนให้เห็นความต้องการของคนในพื้นที่ที่อยากให้ชีวิตในนิมมานเหมินท์ยังอยู่กึ่งกลางระหว่างที่พักอาศัยและที่ค้าขายอันเป็นเสน่ห์อย่างในอดีตก่อนจะกลายเป็นพื้นที่ค้าขายที่ไร้ทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ (Investment VS Exchange)
เรื่องราวในย่าน
– ธัญญรัตน์ สถาพรนุวัฒน์ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ครัวมะยม / นักท่องเที่ยวชาวเกาหลี: ร้านอาหารตามสั่งท่ามกลางร้านอาหารราคาแพงในย่าน เป็นที่พักพิงของนักศึกษา คนทำงานในพื้นที่ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสเมืองเชียงใหม่ในความเป็นจริง / นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีที่รู้จักกันเพราะพักในเกสต์เฮาส์เดียวกันบนถนนนิมมานเหมินท์ ฝากท้องกับครัวมะยม 5 วันติดตลอดช่วงที่พักอยู่เชียงใหม่
– คุณยายจิรวัลย์ สุวรรณขจร เจ้าของบ้านไม้เล็กๆ กับผักสวนครัว / คุณช้าง เจ้าของบริษัทกราฟิกที่เช่าบ้านคุณยายทำงาน: คุณยายเจ้าของบ้านที่อยู่อย่างสมถะท่ามกลางร้านรวงที่ยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อขยายกิจการ / เจ้าของออฟฟิศเล็กๆ ที่มองว่าย่านนิมมานมีส่วนผลักให้คนในพื้นที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงส่งผลต่อการทำงานที่มีความเฉพาะตัวต่างจากการทำงานในกรุงเทพฯ
– ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ สำนักพิมพ์ Silkworm Books / เพื่อนบ้าน: เจ้าของสำนักพิมพ์วิชาการเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์กลางความรู้คุณภาพที่ตั้งรกรากในพื้นที่มายาวนานท่ามกลางผับบาร์รอบข้างและความเปลี่ยนแปลงของถนนนิมมานเหมินท์
ซอยวัดอุโมงค์
จากย่านอันสงบเงียบรอบวัดป่าในซอยวัดอุโมงค์หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อาจารย์ไม่กี่คนเข้าไปอาศัยอยู่เมื่อมหาวิทยาลัยก่อตั้ง เมื่อคณะต่างๆ เริ่มทะยอยเปิด นักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นจึงทะยอยเข้ามาอาศัยตามบ้านเช่าและหอพัก กลายเป็นเมืองขนาดย่อมในพื้นที่เล็กๆ (Metapolis) ที่มีทุกอย่างครบครันตลอด 24 ชั่วโมงของนักศึกษา ตั้งแต่ที่พักสำหรับอยู่อาศัย ร้านถ่ายเอกสารสำหรับทำงาน ร้านอาหาร บาร์สำหรับกินดื่ม และร้านเกมสำหรับใช้เวลาว่างซึ่งเรียงรายไปตามถนนขนาดเล็กที่คดเคี้ยว มีพื้นที่ป่าขนาดย่อมของวัดอุโมงค์คั่นอยู่เป็นศูนย์กลางความเงียบสงบ แต่ตำแหน่งที่อยู่ติดสถาบันการศึกษาไม่ได้แปลว่าซอยวัดอุโมงค์ต้องทำหน้าที่รองรับบุคลากรโดยจำยอมเสมอไป ซอยวัดอุโมงค์อาจแน่นขนัดไปด้วยหอพักและร้านรวงสำหรับนักศึกษาที่มาอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว แต่ภายในยังมีคนอีกหลายคนที่อยู่อาศัยมานานนับสิบปีและเรียกร้องความสงบรวมถึงระบบระเบียบในย่าน ทั้งยังมีบ้านและร้านรวงของกลุ่มคนที่ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยใหม่แต่หวังอยู่อย่างถาวรและสามารถใช้ชีวิตตามร้านรวงที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่มีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม ให้ผู้อยู่อาศัยทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข (Encounter VS Isolation)
เรื่องราวในย่าน
– Communista: กลุ่มเพื่อนที่เปิดร้านขนมกับร้านขายเสื้อผ้า 4 ร้านในเวิ้งเดียวกัน เป็นร้านเล็กๆ 4 ร้านหันหน้าชนกันแต่หันหลัง
ให้ถนนเพื่อความเป็นส่วนตัว แหล่งรวมคนทำงานมือเล็กๆ ท่ามกลางความวุ่นวายในซอย
– คุณลุงจำรัส ชุ่มใจ หอธรรมโฆษณ์ วัดอุโมงค์: คุณลุงที่ทำงานในห้องสมุดมา 20 กว่าปีโดยไม่เคยและไม่คิดย้ายถิ่นฐาน ทำหน้าที่จุนเจือความรู้ทางธรรมะกับผู้คนในพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
– ปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์ คณะละครหุ่นเงา Homemade Puppet Group Thailand: นักศึกษาสื่อสารมวลชนที่เช่าบ้านอยู่ในซอยตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี รักและห่วงแหนย่านวัดอุโมงค์เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการปูเส้นทางอาชีพของตนเอง
– อารยา แซ่ตั้ง ร้านปั๊กกะตืน: เจ้าของร้านเช่าการ์ตูนใต้หอพักแรกของซอยที่มีความกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ จึงร่วมต่อต้านการพัฒนาอย่างไร้ทิศทางและมีส่วนขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในย่านบ่อยครั้ง
– อาจารย์ศรวณีย์ สุขุมวาท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: อาจารย์ที่อาศัยอยู่ในซอยวัดอุโมงค์มาร่วม 30 ปี มีความผูกพันกับย่านในระดับจิตวิญญาณด้วยเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเชียงใหม่ เป็นอาณาเขตของผู้หญิง และเป็นชุมชนที่มีพลังดึงดูดจนกลายเป็นแหล่งรวมนักวิชาการและศิลปินสำคัญในเชียงใหม่
III
เนื้อหาส่วนที่สามนำเสนอผ่านสารคดีกาดเมืองใหม่ เช่นเดียวกับการเข้ามาของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบอันถือเป็นการเปิดอีกหนึ่งมิติของเมือง การที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเข้าไปตั้งอยู่ในย่านกาดเมืองใหม่ก็ถือเป็นการเปิดอีกหนึ่งมิติของพื้นที่ด้วยเช่นกัน เป้าหมายของสารคดีชิ้นนี้คือทำให้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้มองตัวเองด้วยสายตาคู่ใหม่ ทำความรู้จักกับทุนที่ชุมชนมีอยู่ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน มองเห็นศักยภาพและจุดแข็งใหม่ๆ ของย่านที่ซ่อนอยู่ และผลักให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการต่อยอดจากทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นแนวทางในการพัฒนาย่านต่อไปได้ในอนาคต
นิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองใหม่”
CHIANG MAI REVISITED
วันที่ : 2 เมษายน – 30 มิถุนายน 2556
เวลา : 10.30 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
สถานที่ : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่
ติดต่อโทร : 052-080-500 ต่อ 1