รางวัล “แอ็งแตราลิเย่” ของฝรั่งเศส “ราชมรรคา'” ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเอก 2 ตัว เป็นชายต่างวัย แต่ชะตาต้องกัน มีภารกิจต่างกันคือ โกล๊ด วานเนค นักโบราณคดีหนุ่มเดินทางมาเผชิญโชค เสาะหาศิลาจำหลักภาพนางอัปสรเพื่อนำไปขายที่ปารีสหรือลอนดอน ส่วน เพร์เค่น เป็นนักผจญภัยวัยกว่า 50 ปี ซึ่งปฏิบัติภารกิจในคาบสมุทรอินโดจีนให้รัฐบาลสยามอย่างลับๆ ในดินแดนชนเผ่าอิสระต่างๆ
ผู้ประพันธ์ดำเนินเรื่องเป็นสองส่วนแยกการปฏิบัติภารกิจ ครึ่งแรกว่าด้วยการเสาะหาศิลปวัตถุจากปราสาทร้างในเขมร ครึ่งหลังว่าด้วยการค้นหาฅนผิวขาวที่สาบสูญไปในดินแดนเผ่าสะเตียง ทางตอนใต้ของลาวใกล้ชายแดนสยาม และการพยายามปกป้องชนเผ่าของเพร์เค่น และที่สำคัญคือ เทคนิคการเขียนของเขาใช้มุมกล้องภาพยนตร์บรรยายสิ่งที่เห็นสลับกับความรู้สึกของตัวละคร
ปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) นี้ เป็นวาระครบรอบ 20 ปีแห่งการจากไปของอ็องเดร มาลโรซ์ นักประพันธ์และนักการเมืองฅนสำคัญของฝรั่งเศส กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส จัดงานรำลึงและยกย่องบุคคลผู้นี้ไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย สำนักวัฒนธรรมแห่งสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ จัดบรรยายเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของบุคคลผู้นี้ ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยวิทยากรจากประเทศฝรั่งเศส จัดงานยกย่อง ณ สำนักวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และดำริพิมพ์ผลงานการประพันธ์ของอ็องเดร มาลโรซ์ เป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ โดยมอบหมายให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นผู้ดำเนินการด้านหนังสือ ประกอบด้วยนวนิยาย 2 เรื่อง คือ “ราชมรรคา” (La Voie Royale พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1930) เรื่องนี้ได้รับรางวัลแอ็งแตราลิเย่ (Prix Interallie) อันเป็นรางวัลวรรณกรรมของนิตยสารวรรณกรรมชื่อ La Nouvelle Revue Francaise (ผู้ก่อตั้งนิตยสารนี้ได้ตั้งสำนักพิมพ์ Gallimard ในเวลาต่อมา) เรื่องที่สองคือ “มนุษยภาวะ” (La Condition Humaine พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1933) นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลกงกูรท์ (Prix Goncourt) อันเป็นรางวัลวรรณกรรมสำคัญที่สุดของฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังมีความเรียงในรูปจดหมายชื่อ “เสน่ห์ตะวันออก” (La Tentation de l’Occident พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1926) และบทความขนาดสั้นเรื่อง ‘ต้นร่างว่าด้วยการวิเคราะห์ภาพยนตร์’ (Esquisse d’une Phychologie du Cinema พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1940)
ใน “ราชมรรคา” อ็องเดร มาลโรซ์ ใช้มุมกล้องภาพยนตร์บรรยายสิ่งที่เห็นสลับกับความรู้สึกของตัวละคร การพิมพ์ครั้งนี้จึงได้นำบทความเรื่อง “ต้นร่างว่าด้วยการวิเคราะห์ภาพยนตร์” ซึ่งผู้ประพันธ์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพวาด ภาพถ่าย ละคร ภาพยนตร์ และนวนิยาย ไว้อย่างน่าสนใจ มาพิมพ์รวมไว้ในเล่มเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจศึกษาด้วย ถึงแม้มาลโรซ์จะเขียนบทความนี้หลังจากการพิมพ์ “ราชมรรคา” ถึง 14 ปี แต่เขาก็ได้มองเห็นความเกี่ยวพันและการส่งเสริมซึ่งกันและกันของศิลปะแขนงต่างๆ มาก่อนหน้าแล้ว
หวังว่าผู้อ่านจะพอใจที่ได้อ่านผลงานและรู้จักตัวตนของนักประพันธ์ฅนสำคัญของฝรั่งเศสฅนนี้ และติดตาม ศึกษา ผลงานอื่นๆ ของเขาต่อไป
ขอขอบคุณสำนักวัฒนธรรมแห่งสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ที่ให้เกียรติและไว้วางใจสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นผู้ดำเนินงานโครงการสำคัญนี้ นับตั้งแต่สนับสนุนการแปล การพิมพ์ ตลอดจนจัดงานแนะนำหนังสือพร้อมการยกย่องนักประพันธ์
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ (ตุลาคม พ.ศ. 2539)
ในเล่มมีบทความเรื่อง ‘ต้นร่าง ว่าด้วยการวิเคราะห์ภาพยนตร์’ (Esquisse d’une psychologie du cinema, ๑๙๔๖) ซึ่งผู้ประพันธ์กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างภาพวาด ภาพถ่าย ละคร ภาพยนตร์และนวนิยายไว้อย่างน่าสนใจ—มาลงประกอบไว้ท้ายเล่ม บทความนี้แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดย กรรณิกา จรรย์แสง บรรณาธิการคือ นุชา สิงหวิริยะ
ผู้เขียน : อ็องเดร๎ มาลโรซ์
ผู้แปล : วัลยา วิวัฒน์ศร
จำนวนหน้า : 352 หน้า
ขนาด : 13×18.5×2ซ.ม.
น้ำหนัก : 390 กรัม
ISBN : 9747296713
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ปก : ปกอ่อน
ราคา : 219 บาท
ติดต่อ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ 4/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-4366-602
อีเมล์ : bflybook@bflybook.com
เว็บไซต์ : http://www.bflybook.com/