อลหม่านบ้านพ่อแผน ละครเวทีซ้อนลิเก ในแบบฉบับ พ่ออี๊ด สุประวัติ จากความคิดและเป็นผลงานที่รัก ของสุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ ที่นำเพลงพื้นบ้านสนุกๆของไทยๆ มาเสนอในแบบละครเวทีซ้อนลิเก
ตอกย้ำศิลปวัฒนธรรมไทยก็มีดี ร้องได้ เต้นได้ สนุกสนานได้ และไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับวัฒนธรรมของชาติอื่น ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเรียนได้เตรียมการแสดงของตน เพื่อทำการแสดงในวันปิดภาคเรียนเพื่อหาทุนเข้าโรงเรียน แต่ก็ต้องมาผิดแผนเมื่อมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงว่าการแสดงต้องเป็นอะไรที่เป็นไทยๆ โดยให้อาจารย์เจียวเป็นผู้ดูแลการแสดงครั้งนี้ร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นๆภายในโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนมีมติให้นักเรียนแสดงลิเก แต่อาจารย์ทุกคนก็ต้องมาปวดหัว เพราะนักเรียนต่างพากันปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแสดง เพราะคิดว่าลิเกเป็นเรื่องที่เชย งานนี้ทั้งครูเตือน และ ครูประกอบ จึงช่วยกันออกอุบายเกลี่ยกล่อม ด.ญ.สมรศรี ,ด.ญ.กาหลง, ด.ญ.เง็ก,ด.ญ.สมบูรณ์,ด.ญ.กาหลง,ด.ช.จรวย มาแสดงให้ได้ โดยมีแผนให้นายหวัด ภารโรงที่อดีตเคยเป็นลิเกเก่าเข้ามามีส่วนร่วม
ความอลหม่านของการแสดงจึงเกิดขึ้นทั้งหน้าฉากและหลังฉาก โดยการแสดงลิเกในครั้งนี้เป็นเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ พระพันวษาสั่งให้ขุนแผนและพลายงามไปปราบ พระเจ้าเชียงอินทร์ที่บุกมาปล้นขบวนเครื่องราชบรรณาการของพระเจ้าล้านช้างรวมทั้งลักเอาตัวสร้อยทองไป ในระหว่างทางที่ไปปราบพระเจ้าเชียงอินทร์ พลายงามเกิดไปพบและชอบพอได้เสียกับศรีมาลา ลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตร ขุนแผนจึงให้สัญญากับเจ้าเมืองพิจิตรว่าเมื่อปราบเจ้าเชียงอินทร์ได้แล้วจะกลับมาสู่ขอศรีมาลาให้กับพลายงาม ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่พระไวยฯ, ศรีมาลา และ สร้อยฟ้า ทะเลาะกันในงานแต่งงาน รุ่นพ่อ – แม่ คือ ขุนช้าง – ขุนแผน หึงหวงวันทอง
อลหม่านบ้านพ่อแผน ประกอบด้วยนักแสดงอาทิ จ๊ะจ๋า พริมรตา เดชอุดม ผัดไท ดีใจ ดีดีดี , ปวันรัตน์ นาคสุริยะ , วราพรรณ หงุ่ยตระกูล , ตลกชั้นนำอย่าง เด๋อ ดอกสะเดา , ตี๋ ดอกสะเดา , หลุยส์ เชิญยิ้ม , คิง ก่อนบ่าย ฯลฯ รอง เค้ามูลคดี , ดาราลิเกอย่างอ. วิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ , ศิริวรรณ หอมหวล , จเรชาย เลิศพร , ปนัดดา อยู่ยั่งยืน ,สุประวัติ ปัทมสูต , ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ , วันทนีย์ ม่วงบุญ , กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ กำกับการแสดงของสุประวัติ ปัทมสูต
เปิดการแสดง ในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม และ อาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2556 วันละ 2 รอบ เวลา 14.00 น. และ 19.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ จำหน่ายบัตรที่ ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ และ โรงละครแห่งชาติ รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับโครงการก่อการบุญเพื่อสร้างอุโบสถวัดเขาขี้เหล็ก จ.สระบุรี และ กองทุนช่วยเหลืองานของศิลปินแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมไทย