สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการและพระราชทานรางวัล “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” เมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 เวลา 15.30 น.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ และพระราชทานรางวัล “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน โดยมี คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และคณะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานจัดงานฯ กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาของโครงการ และรูปแบบการจัดนิทรรศการ พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการว่า “ไทยเบฟ จัดประกวดศิลปกรรมช้างเผือกเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินที่สร้างสรรค์งานในแนวเหมือนจริง และศิลปะรูปลักษณ์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์สูง อีกทั้งยังสามารถสื่อสารเรื่องราวที่อยู่ในใจของศิลปินให้ผู้ที่ชมผลงานได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนับเป็นการประกวดศิลปกรรมเฉพาะแนวทางนี้เป็นเวทีแรกในประเทศไทย”
“ในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานฯ กำหนดหัวข้อในการประกวดว่า น้ำแห่งชีวิต เพื่อให้ศิลปินที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้สะท้อนความประทับใจและสื่อถึงความสำคัญของน้ำในแง่มุมต่างๆ ซึ่งปรากฏว่ามีศิลปินส่งผลงานเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก และผลงานแต่ละชิ้นก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสามารถของศิลปินไทยที่ดีเยี่ยมทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ และทักษะฝีมือในเชิงศิลปะสมดังเจตนารมณ์ที่บริษัทมุ่งหวังทุกประการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมวงการศิลปะของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้เป็นศรีสง่าของประเทศชาติสืบไป” หลังจากนั้น นายฐาปน สิริวัฒนภักดี จึงเบิกตัวเจ้าของผลงานทั้ง 24 ราย เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัลรวม 3,410,000 บาท ประกอบด้วย
รางวัลช้างเผือก นายชัชวาลย์ วรรณโพธิ์ ผลงาน “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ”
นายศรชัย คงวุ่น รางวัลชนะเลิศ “ถึงบ้าน”
ภายหลังจากพระราชทานรางวัลเสร็จสิ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2 และ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัลๆ ละ 150,000 บาท
o นายชัยรัตน์ แสงทอง ผลงาน “พลังแห่งชีวิต”
o นายบุญมี แสงขำ ผลงาน “น้ำ สาระ ชีวิต หมายเลข 2”
o นายสุรศักดิ์ สอนเสนา ผลงาน “สายฝนโปรยความสุขสู่ชีวิต”
o นายสุพร แก้วดา ผลงาน “น้ำคือชีวิต หมายเลข 1”
o นายสุรเดช วัฒนาประดิษฐ์ชัย ผลงาน “ละครน้ำเน่า”
รางวัลชมเชย เงินรางวัลๆ ละ 80,000 บาท
o นางสาวกมลพันธุ์ โชติวิชัย ผลงาน “Blood”
o นายจักรี คงแก้ว ผลงาน “Time & Life”
o นายนพนันท์ ทันนารี ผลงาน “มวลชีวิตแห่งความสงบ หมายเลข 2”
o นายนิติพล เลาย้าง ผงาน “ชีวิตบนต้นน้ำ”
o นายนิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส ผลงาน “นิทานสายน้ำ”
o นายนิวัฒน์ ชูทวน ผลงาน “ฝนแปด-แดดสี่”
o นายเนติกร ชินโย ผลงาน “ทะเลสาปแห่งความไม่สิ้นสุด มหาสมุทรแห่งคราบน้ำตา”
o นายบุญนำ สาสุด ผลงาน “พื้นที่แห่งความสุขในฤดูฝน”
o นายบุญศรี เจริญยิ่ง ผลงาน “ระนาบแห่งริมน้ำ”
o นายปรีชา พรหมปราบทุกข์ ผลงาน “หยดแรกของชีวิต”
o นางสาวพัดชา แก้วทองตาล ผลงาน “Sounds of a Flowing Stream No.9”
o นายรัจนชัย ไชยรัตน์ ผลงาน “เก่า”
o นายวรัญญู ช่างประดิษฐ์ ผลงาน “พระแม่คงคา”
o นายวัชระ กล้าค้าขาย ผลงาน “เมื่อ…สายน้ำเปลี่ยน”
o นายวัชระ กว้างไชย์ ผลงาน “น้ำแห่งชีวิต”
o นายวิทวัส ทองเขียว ผลงาน “บรรยากาศแห่งความงดงามของชีวิต หมายเลข 2”
บทสัมภาษณ์ศิลปินที่ได้รับรางวัล
รางวัลช้างเผือก
ผลงาน “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ” โดย นายชัชวาลย์ วรรณโพธิ์
ภูมิใจมากที่ผลงาน “น้ำ ชีวิต ธรรมชาติ” ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลช้างเผือก ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดชีวิตที่เคยได้รับมาก ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่เห็นคุณค่าของผลงาน รวมถึงไทยเบฟฯ ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมา ถือว่ามีประโยชน์ และมีคุณค่าต่อวงการศิลปะและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับแรงบันดาลใจ คือ ธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นทิวทัศน์ ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งข้าว จอกแหนในน้ำที่มีเงาตกกระทบ หรือเงาสะท้อนในน้ำ นอกจากนี้ยังมองว่า คน พืช สัตว์ ต่างใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในการดำรงชีวิตและสำคัญต่อมนุษยชาติ ก่อนที่จะเขียนภาพนี้ต้องไปอยู่ในสถานที่จริง เพื่อเฝ้าสังเกตและซึมซับบรรยากาศต่างๆ ก่อนที่จะลงมือสร้างสรรค์ผลงาน โดยใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ใช้พู่กันเบอร์เล็ก จุดเป็นแหน ทีละใบ ในส่วนของเงินรางวัลที่ได้รับ 1 ล้านบาท ความตั้งใจแรกของผมคือจะนำเงินส่วนหนึ่งช่วยเหลือทหารทางภาคใต้ครับ
รางวัลชนะเลิศ
ผลงาน “ถึงบ้าน” โดย นายศรชัย คงวุ่น
แนวความคิดและแรงบันดาลใจ เกิดจากประสบการณ์จริง เนื่องจากเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ได้เข้ามาเรียนและทำงานในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลาย การจะได้มาซึ่งความสำเร็จในชีวิตจึงต้องดิ้นรนฝ่าฟันเป็นอย่างมาก บางครั้งที่รู้สึกหมดหวัง หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อ จึงย้อนคิดไปถึงความสุข ความอบอุ่น และกำลังใจที่ได้รับจาก “บ้าน” โดยเฉพาะจากคนที่ผมรักและรักผม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเหมือนเป็นที่พักใจ และให้กำลังใจ เติมเต็มในชีวิตให้ผมมีแรงที่จะสู้ต่อไป
เทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ตัวผมและใครอีกหลายๆ คนจะได้กลับไปแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คือประเพณีที่ดีงามของคนไทยที่สืบทอดกันมา โดยมี “น้ำ” เป็นตัวเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ เสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตและเติมเต็มให้หัวใจได้มีแรงต่อสู้ต่อไป ส่วนเทคนิคสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ คือการใช้สีอะคลิลิกขีดเป็นเส้นไปตามรูปทรงของวัตถุต่างๆ ที่เขียนอยู่ในภาพอย่างต่อเนื่อง
รางวัลรองชนะเลิศ
ผลงาน “พลังแห่งชีวิต” โดย นายชัยรัตน์ แสงทอง
จากหัวข้อประกวด “น้ำแห่งชีวิต” ทำให้ผมนึกถึง วิถีชีวิตของคนในชนบทที่มักจะออกหาปลามาทำเป็นอาหาร เป็นความเรียบง่ายที่ทำให้เห็นถึงสาระสำคัญของ “น้ำ” โดยนำเสนอผลงานในลักษณะรูปแบบเหมือนจริง แสดงให้เห็นรูปทรงของคน 2 วัย คือ วัยชรา และ วัยเด็ก มีการเปรียบเทียบ เชื่อมโยงจากวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน แสดงท่าทางการจับปลา ซึ่งรูปทรงที่ปรากฏในผลงานเป็น “ปลาแห้ง” แสดงภูมิปัญญาง่ายๆ ของชาวบ้านในการเก็บรักษา อาหารไว้กินในฤดูกาลที่ขาดแคลน เผยให้เห็นถึงการเตรียมตัว รู้คุณค่าของ “น้ำ” และ “ปลา” สิ่งเหล่านี้ เป็นความงามอย่างหนึ่งที่แฝงไว้ด้วย สัจจะ ความจริงของชีวิตแบบเรียบง่ายของคนในชนบท
ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคสีอะคลิลิกบนผ้าใบ โดยวิธีการทับน้ำหนัก คล้ายงานวาดเส้น เพื่อแสดงรายละเอียดของพื้นผิวที่น่าสนใจในตัวมนุษย์ สัตว์ หรือ วัสดุอื่นๆ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนดินโคลนที่เปรอะเปื้อนตามร่างกาย
รางวัลรองชนะเลิศ
ผลงาน “น้ำ สาระ ชีวิต หมายเลข 2” โดย นายบุญมี แสงขำ
แนวคิดสำคัญที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้มาจาก “พุทธปรัชญา” ได้แก่ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) ซึ่งเป็นกฎแห่งเหตุและผล สาระในทางพุทธศาสนาถือว่าทุกสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามอำนาจของกฎแห่งเหตุและปัจจัย มุ่งเน้นหลักเข้าใจในภาวะของธรรมชาติเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างสงบสุข สันโดษ โดยการฝึกฝนตนเองให้หลุดพ้นห้วงแห่งวัฏฏะสงสารไปสู่ความสงบ ความสว่าง และความว่างในนิพพาน เพราะฉะนั้น “ธรรมมะ” กับ “ธรรมชาติ” คือสิ่งเดียวกัน ผมจึงนำความคิดดังกล่าวมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้รูปทรงของพืชพันธุ์ที่อาศัย “น้ำ” ในการกำเนิด เติบโต และย่อยสลายไป
“น้ำ” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมเรียนรู้ความงามจากการผันแปรของธรรมชาติ และนำไปสู่ความเข้าใจกฎเกณฑ์แห่งวัฏฏะที่ว่า “ทุกชีวิตล้วนตั้งอยู่บนฟื้นฐานแห่งการผันแปร เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องธรรมดา” โดยเป็นศิลปะภาพพิมพ์ที่ใช้เทคนิค “เมซโซติน” (Mezzotint) ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมที่ไม่ได้แพร่หลายมากนัก เริ่มจากใช้ Mezzotint Rocker โยกกดลงบนแผ่นทองแดง เพื่อให้เกิดจุดเล็กๆ จำนวนมากในการซับเก็บหมึกพิมพ์ จากนั้นใช้ Burnisher ฝนถูลงไปบนผิวหน้าแม่พิมพ์เพื่อลบจุดเล็กๆ บนแผ่นทองแดงให้ตื้นและลบเลือน เสมือนการวาดเส้นให้เกิดรูปทรงที่มีน้ำหนักอ่อนบนพื้นที่ว่างสีดำสนิท
รางวัลรองชนะเลิศ
ผลงาน “สายฝนโปรยความสุขสู่ชีวิต” โดย นายสุรศักดิ์ สอนเสนา
แรงบันดาลใจสำคัญของผมในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ คือ จุดเริ่มต้นของ “น้ำ” ซึ่งก็คือผืน “ป่า” ที่เป็นการรวมตัวกันของต้นไม้ และพืชพันธุ์นานาชนิด เมื่อมีป่าสิ่งที่ตามมาก็คือ “ฝน” ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของระบบนิเวศน์ ท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งความสุกของการดำรงอยู่ของทุกๆ สรรพชีวิต สำหรับ เทคนิคสำคัญที่ใช้คือ “ภาพพิมพ์ไม้” เป็นเทคนิคที่ผมถนัดและชื่นชอบครับ
รางวัลรองชนะเลิศ
ผลงาน “น้ำคือชีวิต หมายเลข 1” โดย นายสุพร แก้วดา
แรงบันดาลใจสำคัญคือทุกสิ่งที่เป็น “ธรรมชาติ” ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เงาสะท้อนบนผิวน้ำ ริ้วคลื่นบนผิวน้ำที่เกิดจาก ลมพัด พืชพรรณ เครือเถา รวมถึงสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำ โดยมีแนวคิดที่ว่า “น้ำ…ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่เกิดจนดับสิ้นไป น้ำมีความเสมอภาคไม่แบ่งแยกคนหรือสัตว์สามารถดื่มกินได้ ที่สำคัญน้ำให้ชีวิตและจิตวิญญาณดั่งสายโลหิตของแม่ที่มีต่อลูกในครรภ์”
เทคนิคที่ใช้จะวาดเส้นด้วยดินสอไขสีขาวบนผ้าใบ ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานในการวาดรูป เป็นวิธีเรียบง่าย และตอบสนองจินตนาได้ดีที่สุด
รางวัลรองชนะเลิศ
ผลงาน “ละครน้ำเน่า” โดย นายสุรเดช วัฒนาประดิษฐ์ชัย
ปกติผมจะมีเวลาอยู่กับลูกชาย สอนทุกอย่างทั้งศิลปะและเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะ เราคุยกันทุกเรื่องโดยมีภรรยาเป็นผู้สนับสนุนหรือเพิ่มเติมเรื่องที่ เราคุยกัน ผมเห็นพัฒนาการของเขามาตลอด14ปี เป็นวิธีคิด การแสดงออก การละเล่น ความรู้สึกที่เขามีกับพ่อและแม่ เหล่านี้คือแรงบันดาลในใจการ ทำงานศิลปะของผมมาตลอด รวมถึงผลงานชิ้นดี้ด้วย ผมนำการแสดงออกของกิจกรรมเด็กที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยให้เด็กเป็นผู้เล่าเรื่องผลกระทบของมลภาวะทาง “น้ำ” อันเกิดจากการขยายตัวของสังคมเมือง ปลาในน้ำหายไป ปู เต่าตาย และอีกหลายอย่างตามมาในแบบความคิดของเขา เทคนิคที่ใช้การสร้างภาพในรูปแบบ 3 มิติ
นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2” เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ยกเว้นจันทร์) เวลา 10.30-21.00 น. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน