การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้เป็นปี ที่ 35 แล้วนั้น ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินให้รางวัลเป็นที่เรียบร้อย
มีผู้สนใจส่งผลงานจิตรกรรมทั้ง 3 ประเภทเข้าประกวดในปีนี้ 142 ราย รวมจำนวน 220 ภาพ โดยนำผลงานที่ได้รับรางวัล และผลงานที่ได้รับคัดเลือกร่วมแสดง รวมจำนวนทั้งสิ้น 88 ภาพ มาจัดนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 35 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ นับเป็นองค์กรหนึ่งที่ริเริ่มส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินไทยรุ่นต่างๆ ให้มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในสาขางานจิตรกรรมที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการจัดเวทีการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ซึ่งจัดมายาวนานต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 35 แบ่งการประกวดผลงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย โดยได้รับเกียรติจากศิลปินบรมครูของวงการศิลปะไทยมาร่วมเป็นคณะกรรมการคัดสรรผลงานคุณภาพอย่างเข้มข้น ในครั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง
ผลงานชื่อ “ธรรม บุญ” ของ นายทรงฤทธิ์ เหมือยพรม
ความคิดเห็นงานจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 35
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ประธานกรรมการตัดสินจิตรกรรมบัวหลวง
ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
รางวัลที่ 1 ธรรม บุญของ นายทรงฤทธิ์ เหมือยพรม
งานชิ้นนี้ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วัฒนธรรมและกระบวนการทางศิลปะ อันได้แก่เทคนิคการปั้นปูนสด สีฝุ่นและทองคำเปลวกลมกลืนกันในแบบประเพณีเป็นอย่างดี พระพุทธไสยาสน์และพระธาตุเจดีย์ที่เป็นโครงภาพ บ่งชี้ถึงพุทธศาสนาในดินแดนอีสาน ภาพนูนต่ำระบายสีของผู้คนที่แสดงอาการรื่นเริงในพิธีบุญ ภาพลายเส้นที่ตัดกันในอีกมิติหนึ่ง เหล่านี้ทำงานร่วมกันจนเกิดผลทางอารมณ์ความรู้สึกและความงามทางศิลปะอย่างลึกซึ้ง ผสมกับเสน่ห์ของความเป็นพื้นถิ่นอีกสานอย่างลงตัว
รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง
ผลงานชื่อ “รัตนจงกรมเจดีย์” ของ นายเมธาสิทธิ์ อัดดก
รางวัลที่ 2 รัตนจงกรมเจดีย์ของ นายเมธาสิทธิ์ อัดดก
ความสว่างและความจัดอย่างยิ่งของสีตรงใจกลางภาพจนทำให้ลายพฤกษาที่อยู่โดยรอบจางลง ให้ความหมายถึงพระบารมีของพระพุทธองค์โดยเฉพาะพระปัญญาบารมีที่แผ่ครอบคลุมทุกส่วนของจักรวาล จิตรกรแสดงออกถึงความงาม ความน่าตื่นใจด้วยการใช้สีที่สดสว่าง นับเป็นวิธีการใหม่ในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี
รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง
ผลงานชื่อ “ผจญ” ของ นายบุญเสริม วัฒนกิจ
รางวัลที่ 3 แรงบันดาลใจจากช่างเขียนพื้นบ้าน 3 ของ นายอิทธิพล พัฒรชนม์
การใช้รูปทรงแบบไร้มายาของช่างเขียนพื้นบ้าน วิธีจัดภาพ การให้น้ำหนักเข้มตัดกับความเบาบางของบริเวณฉากหลัง ทำให้จิตรกรรมไทยแบบประเพณีชิ้นนี้มีกลิ่นอายของภาพเขียนพื้นบ้านของไทย
ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง
ผลงานชื่อ “รอยต่อแห่งศรัทธาของกาลเวลา” ของ นางสาวปานพรรณ ยอดมณี
รางวัลที่ 1 รอยต่อด้วยศรัทธาของกาลเวลาของ นางสาวปานพรรณ ยอดมณี
การประสานรอยแตกเล็ก ๆ ของแผ่นพื้นรูปทรงอิสระด้วยรูปทรงย่อยและวิธีการที่ละเอียดประณีต ตัดกันอย่างรุนแรงกับรอยแยกขนาดใหญ่ตรงกลางภาพ ทำให้เกิดความลึกอย่างหาที่สุดมิได้อีกมิติหนึ่ง จิตรกรได้ประสานเชื่อมรอยแยกนี้ด้วยบันไดขนาดใหญ่ มีบันไดเล็ก พาดทอดจากล่างไปบน จากบนมาล่าง กระจายอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ทำให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับ ที่ว่างและกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่จบสิ้น
รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง
ผลงานชื่อ “วัฎจักรวิถีใต้” ของ นางสาวหทัยรัตน์ รอดแก้ว
รางวัลที่ 2 วัฏจักรวิถีใต้ของ นางสาวหทัยรัตน์ รอดแก้ว
วิถีชีวิตของชาวสวนยางในพื้นถิ่นภาคใต้ของไทย แสดงออกอย่างชัดเจนและสะเทือนใจในงานชิ้นนี้ ชีวิตและหยาดเหงื่อ น้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเหมือนกับถูกจารึกลงอย่างแน่นแฟ้นบนแผ่นยางที่ถูกรีดออกมาแผ่นแล้วแผ่นเล่า เครื่องรีดยางจะคงทำหน้าที่ต่อไป วัฏจักรของชีวิตและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นชาวใต้ก็จะคงถูกจารึกลงอย่างต่อเนื่องตลอดไป
รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง
ผลงานชื่อ “ผจญ” ของ นายบุญเสริม วัฒนกิจ
รางวัลที่ 3 ผจญของ นายบุญเสริม วัฒนกิจ
จากที่ระบุไว้ในแนวความคิดของจิตรกร มนุษย์ต้องผจญกับสิ่งต่าง ๆ ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร จิตรกรใช้ความคิดเรื่องมาญผจรในจิตรกรรมไทยแบบประเพณีมาเป็นโครงของภาพ และผสมรูปลักษณ์ที่มีอยู่เดิมเข้ากับรูปบุคคลลักษณะเหมือนจริงของชาวต่างชาติที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในโลกไอที เป็นการขยายขอบเขตของประเพณีไปสู่พื้นที่สากล
ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง
ผลงานชื่อ “จิตรกรรมชั้นวางกระบวนจีน” ของ นางสาวสุพิมพ์ วรทัต
รางวัลที่ 1 จิตรกรรมชั้นวางกระบวนจีน 1 ของ นางสาวสุพิมพ์ วรทัต
อิทธิพลเขียนภาพจีนได้เข้ามามีบทบาทในงานจิตรกรรมของไทยมากขึ้นในระยะหนึ่ง จนมีชื่อเรียกเฉพาะว่าภาพเขียนสีกระบวนจีน ผลงานชิ้นนี้แม้จะตั้งใจให้เป็นจิตรกรรมร่วมสมัย แต่ก็มีลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมไทยในแบบหนึ่ง การใช้สีแดงชาดที่ตัดกันกับสีอื่นอย่างรุนแรงในลายกำมะลออย่างกล้าหาญของจิตรกร สร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยความงามความสะเทือนใจแก่ผู้ชม พร้อมไปกับการรับรู้อัตลักษณ์ของประเพณีและตัวตนของจิตรกร
รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง
ผลงานชื่อ “เมาะ/ตีนอ” ของ นางสาวคีต์ตา อิสรั่น
รางวัลที่ 2 เมาะ / ตีนอ ของ นางสาวคีต์ตา อิสรั่น
ชื่องานเป็นภาษาไทยมาลายู บอกกล่าวเบื้องต้นถึงสถานที่ที่จิตรกรเจตนาจะเสนอ คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง ความสูญเสียและความทุกข์ยากของจิตใจ ด้วยการใช้วัสดุ วิธีการและการวางตำแหน่งของมวลรูปทรง ทำให้งานชิ้นนี้ก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงในความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของมนุษยชาติ โดยเกือบไม่ต้องสังเกตเรื่องราวที่จิตรกรได้นำมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์เลย
รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง
ผลงานชื่อ “ปีติในรอยธรรม (มหาโพธิ์แห่งปัญญา)” ของ นายพงศ์ศิริ คิดดี
รางวัลที่ 3 ปิติในรอยธรรม (มหาโพธิ์แห่งปัญญา)ของ นายพงศ์ศิริ คิดดี
ด้วยการซ้อนทับกันของรูปสัญลักษณ์ขนาดเล็กจำนวนมาก สร้างความอ่อนแก่ให้แก่น้ำหนักส่วนรวมและให้ความหมายทางความศรัทธาและความรุ่งเรืองของปัญญาได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จิตรกรจะใส่อกเลา 3 มิติที่เป็นเหลี่ยมแข็งสีดำผ่าลงมากลางภาพในแนวตั้ง มาทำลายความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนของงานจิตรกรรมลงไปบ้างแล้วก็ตาม
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 35 ได้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม – 24 กันยายน 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น.ทุกวันยกเว้นวันพุธ และนิทรรศการจะถูกนำไปจัดแสดงสัญจร ณ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในเดือนตุลาคม 2556 ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โทร : 02-281-5360-1