รายการทอฟ้าผ้าไทย เชิดชูผ้าไทยสู่สากล

อลังการซีซั่น 2 ทอฟ้าผ้าไทย รายการแฟชั่นเรียลลิตี้ ค้นหาดีไซเนอร์หน้าใหม่ ร่วมเชิดชูผ้าไทยสู่สากล เผยโฉม 10 ผู้เข้าแข่งขันประชันคอลเล็คชั่น ผ้าน้ำท่วม

เปิดตัวอย่างอลังการสมกับเป็นปีที่ 2 กับการเฟ้นหานักออกแบบดาวรุ่งดวงใหม่มาประดับวงการแฟชั่นดีไซน์สำหรับ “ทอฟ้าผ้าไทย” รายการแฟชั่นเรียลลิตี้ทางโทรทัศน์ เพื่อค้นหานักออกแบบแฟชั่นผ้าไทย โดยความร่วมมือจาก กระทรวงวัฒนธรรม, พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, โมเดิร์นไนน์ ทีวี และ บริษัท ธัมส์ อัพ มีเดีย จำกัด พร้อมด้วยเหล่ากูรูวงการแฟชั่นและดาราดังทั่วฟ้าเมืองไทย

เข้าสู่บรรยากาศงานแถลงข่าวเปิดตัวรายการทอฟ้าผ้าไทย ซีซั่น 2 โดยพิธีกรบนเวที พีเค-ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร กล่าวเชิญ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, วรพล พุฒจ้อย ผู้อำนวยการ ฝ่ายผลิตรายการ สำนักโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมพุดคุยถึงการให้ความสนับสนุน รายการทอฟ้าผ้าไทย ซีซั่น 2

ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของรายการ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในการสนับสนุนรายการส่งเสริมวัฒนธรรมของประเทศ โดยเฉพาะ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ให้คงอยู่ไปจนถึงอนุชนรุ่นหลัง

“เมื่อปี 2555 รายการทอฟ้าผ้าไทยออกอากาศเป็นปีแรก ซึ่งจัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งพระองค์ทรงเป็น ผู้ริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนชาวบ้านในทุกๆ แห่งในเรื่องของผ้าไทย รวมทั้งยังทรงรับซื้อผ้าทอของชาวบ้านเพื่อช่วยส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจชุมชนด้วย ปัจจุบันทางภาครัฐก็มีหลายๆ หน่วยงานที่รณรงค์โดยการใช้ผ้าไทย เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมก็เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย โดยเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย ภาษา และพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะผ้าไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาที่ต้องสืบสานและอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งถ่ายทอดแนวคิดให้คนไทยได้เข้าใจ เข้าถึง มีความรู้สึกรัก ภาคภูมิใจ และหวงแหนสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

“ที่สำคัญเนื่องจากประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเห็นว่าผ้าเป็นภูมิปัญญาที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ละที่จะแสดงให้เห็นถึงตัวตนของในแต่ประเทศ แต่ละลักษณะของสภาพแวดล้อม โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของรายการทอฟ้าผ้าไทยก็จะมีโจทย์ผ้าอาเซียน คือนอกจากผ้าของประเทศไทยที่เป็นภูมิปัญญาของเราแล้ว ก็ยังมีผ้าจากภูมิปัญญาของประเทศเพื่อนบ้านที่จะนำมาร่วมกันในการที่จะทำให้เห็นถึงเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของประชาคมอาเซียน

ขณะที่ วรพล พุฒจ้อย ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ สำนักโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของอสมท.ในการส่งเสริมวัฒนธรรมผ่านรูปแบบรายการโทรทัศน์ “ในฐานะสื่อโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นรายการดีๆ ที่ไม่ใช่เป็นแค่รายการแฟชั่นแต่เป็นเรื่องของชีวิตซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของเราเอง เช่น เรื่องผ้า เพราะอย่างที่เราเห็นเส้นใยของไหมแต่ละเส้นกว่าจะถักทอมาเป็นผ้าสักผืน ก็เหมือนกับชีวิตที่ถูกถักทอร้อยเรียงกันมาจนเป็นชีวิต และเป็นชาติไทยในวันนี้” สุดท้ายในฐานะที่ปรึกษารายการทอฟ้าผ้าไทย ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า “ด้วยความที่ทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำให้ได้เห็นฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่นำมาจัดแสดงซึ่งแต่ละองค์ตัดเย็บจาก ผ้าไทย ซึ่งในรายการทอฟ้าผ้าไทยน้องๆ ดีไซเนอร์ก็สามารถออกแบบตัดเย็บออกมาได้สวยงามและแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยไปในตัว โดยก่อนลงมือตัดเย็บผู้เข้าแข่งขันก็จะได้เข้าไปเรียนรู้จากฉลองพระองค์ และผ้าไทยต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เพื่อศึกษาความเป็นมาของผ้าไทยชนิดต่างๆ เทคนิคการวางผ้า การตัดเย็บ เป็นต้น 

“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีในการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจผ้าไหมและสร้างสรรค์ออกมาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านการแข่งขันที่นอกจากจะได้ลับฝีมือของตัวเองแล้ว ยังได้รับทั้งความรู้จากบรรดาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านแฟชั่นและผ้าไทยด้วย อีกทั้งรูปแบบรายการที่เป็นแฟชั่นเรียลลิตี้สามารถให้ความรู้กับผู้ชม รวมทั้งมีความแปลกใหม่ทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านที่เป็นช่างทอผ้าด้วยเพราะหากวันนี้ไม่มีใครใช้ผ้าไทย ช่างทอก็ไม่รู้จะทอต่อไปเพื่ออะไร”

จากนั้นจึงเป็นคิวของคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ได้แก่ อรนภา กฤษฎี และกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นให้ความรู้เรื่องแฟชั่นและการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานตามโจทย์ สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยแต่ละชนิดแหล่งกำเนิดและวิธีการผลิต มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นหลังจากได้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจากผู้สมัคร ทั่วประเทศกว่าหนึ่งพันกว่าคน

เริ่มจาก กุลวิทย์ เลาสุขศรี บอกบทบาทของผ้าไทยในวงการแฟชั่นว่า “ผ้าไทยไม่ใช่เป็นแค่สมบัติของวงการแฟชั่น แต่เป็นสมบัติของประเทศชาติ อยากให้ดีไซเนอร์รุ่นหลังๆ ได้รู้จักและได้สัมผัสผ้าไทยโดยนำผ้าไทยมาใช้ในการออกแบบด้วย และหากได้ดูรายการนี้ก็จะยิ่งเข้าใจว่ากว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน ต้องอาศัยความอุตสาหะขนาดไหน ดังนั้นผ้าทุกผืนถือเป็นสมบัติของชาติที่พวกเราต้องช่วยกันรักษาเอาไว้” 

ด้าน อรนภา กฤษฎี แสดงความคิดเห็นต่อผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่ร่วมแข่งขันว่า “ผู้เข้าแข่งขันล้วนเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ทักษะยังไม่กว้างไกล ทำให้หลายคนมองข้ามรายละเอียดในการออกแบบเสื้อผ้า ทั้งในลักษณะการใช้งานได้จริง, การออกแบบในเชิงพาณิชย์ และการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ดังนั้นการคอมเม้นท์ทุกครั้งแม้จะพูดตรงจนแทงใจไปบ้าง เพราะไม่อยากให้เด็กๆ นำไปใช้อย่างผิดๆ เพราะต่อไปถ้าต้องใช้เป็นวิชาชีพทำมาหากินเสื้อชุดนี้ก็จะแขวนอยู่ในราวขายไม่ได้ตลอดไป อย่างไรก็ตามหลายคนมักบอกว่าผ้าไทยแก่เวลานำมาใช้ แต่การที่เรามีรายการทอฟ้าผ้าไทยขึ้นมา ก็มีความพยายามที่จะทำให้ผ้าที่คิดว่าแก่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใส่ได้โดยดูไม่แก่ และวัยรุ่นก็สามารถนำไปใช้ได้ด้วย”

ส่วน สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ สะท้อนมุมมองของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่มีต่อผ้าไทยว่า “คนส่วนใหญ่มองผ้าไทยว่าแก่ แต่จริงๆ แล้วผ้าไทยใช้งานได้ทุกประเภท ในปัจจุบันหลายวงการที่สนใจเรื่องผ้าไทย ก็พยายามจะพัฒนาทั้งในรูปของเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ให้การยอมรับผ้าไทยกลายเป็นกลุ่มคนที่เห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือสมบัติของวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์ของรายการทอฟ้าผ้าไทยที่ใช้ชื่อตอนว่า Modern legacy ต้องการแสดงให้เห็นว่า ผ้าไทย ในความหมายของคำว่า legacy ที่หมายถึงเจ้าของสมบัติทางวัฒนธรรมต้องตายไปแล้ว แต่ความที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้า ทำให้เจ้าของของผ้าไทย คือ คนไทยในปัจจุบันจึงยังมีผ้าไทยให้ใช้กันอยู่ และสิ่งนี้เองที่ทางผู้จัด และกระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญ และเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเยาวชนจะได้ตระหนักในคุณค่าและนำกลับมาใช้จริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นดราม่าในรายการเรียลลิตี้”

สำหรับดีไซเนอร์รับเชิญจากแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทยที่จะมาให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องการออกแบบแก่ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละสัปดาห์มี อาทิ จ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์, เจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์, ณัฏฐ์ มั่งคั่ง, ชนิตา ปรีชาวิทยากุล ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีดาราและกูรูแฟชั่นมากมายร่วมรายการ อาทิ นก-สินจัย เปล่งพานิช รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมทั้งดาราดังจากวงการบันเทิงมาร่วมวิจารณ์และตัดสิน (Commentator) อาทิ ศรีริต้า เจนเซ่น, หมิว-ลลิตา ศศิประภา, มิน-พีชญา วัฒนามนตรี, ปู-ไปรยา สวนดอกไม้, แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ฯลฯ

จากนั้นเข้าสู่ช่วงไฮไลท์ของงาน ตื่นตากับแฟชั่นเซ็ตแรกของผู้เข้าแข่งขัน 10 คน พร้อมผลงานจากการนำผ้าน้ำท่วมมาออกแบบตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าในสไตล์ Modern Legacy ถ่ายทอดแนวคิดมรดกจากบรรพบุรุษที่นำมาสร้างสรรค์ให้ทันสมัย มาจัดแสดงในแฟชั่นโชว์ครั้งแรก นำโดยนางแบบชื่อดัง อาทิ โย ยศวดี, สิ พิชญ์สินี, แอมป์ สุทธิกัญญ์, นุช นีรนาท โคทส์ และ มะลิ มาลินี โคทส์ เป็นต้น พร้อมไฮไลท์ คู่รักหวานชื่น อย่างแพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์ ควงคู่มากับ สารวัตรหมี – พ.ต.ต. ศักดิ์สุนทร เปรมานนท์, นักร้องสุดฮอต ฮั่น เดอะสตาร์

ในส่วนของผู้จัดรายการ เจนิสตาร์ รักษ์สิริโสภา กล่าวว่า “รายการทอฟ้าผ้าไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถผู้ทรงริเริ่มและสืบสานมรดกผ้าไทย รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผ้าไทย และนำพาผ้าไทยไปสู่อาเซียน

“ซีซั่นที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบรายการ mood & tone ของรายการ ปีนี้สิ่งที่เน้น คือ ความทันสมัย แฟชั่นที่ยังคงอยู่ แต่จะเพิ่มความตื่นเต้นในส่วนของผู้เข้าแข่งขันมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะผู้เข้าแข่งขันจะไม่ทราบเลยว่าเขาจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต เพราะรายการทอฟ้าผ้าไทย ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นเรียลลิตี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เข้าแข่งขันจะได้รู้ คือ ความไม่รู้ คาดการณ์ไม่ได้ และที่สำคัญเรายังคงยึดมั่นในการเป็นรายการแรก และรายการเดียวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทยอย่างจริงจัง โดยใช้เป็นโจทย์ของทุกสัปดาห์ เพื่อร่วมสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทำมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี อยากให้คนไทยได้สืบสานตำนานผ้าไทย และหวังให้ประชาชนทุกคนรักผ้าไทยของเรา และช่วยกันส่งเสริมให้ผ้าไทยไปสู่สากล” 

สำหรับรูปแบบรายการนำเสนอการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายโดยใช้ “ผ้าไทย” เป็นหลักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจของ “ผ้าไทย” ผ่านรายการโทรทัศน์เชิงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในรูปแบบ การถ่ายทำแบบกึ่งเรียลลิตี้ โดยรายการจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ไทย ไอคอน (Thai icon) ซึ่งถือเป็นช่วงชูรสของรายการ จะมีนักแสดงรับเชิญยอดนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ที่อยากให้ติดตามว่าแต่ละตอนจะมีใครบ้าง เป็นตัวแทนลงไปศึกษาผ้าไทยยังแหล่งกำเนิดของผ้าไทยแต่ละชนิด และช่วงสอง ไทย ดีไซเนอร์ (Thai Designer) โดยผู้เข้าแข่งขันนำ “ผ้าไทย” ที่ได้จากช่วง ไทย ไอคอน (Thai icon) มาออกแบบเป็นชุดต่างๆ ตามโจทย์ที่ได้รับในแต่ละสัปดาห์โดยมีครูใหญ่และดีไซเนอร์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าแข่งขัน เพื่อนำเสนอผลงาน ต่อคณะกรรมการ และนักวิจารณ์รับเชิญ (Commentator) โดยจะมีการประกาศผลผู้ตกรอบ สัปดาห์ละ 1 คน จนเหลือผู้ชนะเลิศเพียงคนเดียว ที่จะได้รับรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อม ใบประกาศเกียรติคุณจาก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ร่วมพิสูจน์ความสามารถและติดตามผลงานแฟชั่นดีไซน์ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพร้อมเชิดชูผ้าไทยให้เลอค่ามากยิ่งขึ้นด้วยไอเดียของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ กับรายการแฟชั่นเรียลลิตี้ที่ครบเครื่อง ทั้งผู้ร่วมรายการจากบันเทิงและแฟชั่นมากที่สุด รวมสาระความรู้และความบันเทิงเข้มข้นมากที่สุด สามารถติดตามชมรายการ ทอฟ้าผ้าไทย ซีซั่น 2 ทุกวันอาทิตย์เวลา 21.50-22.50 น. ทางโมเดิร์น ไนน์ ทีวี เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมถึง 22 กันยายน ศกนี้

คอนเซ็ปต์รายการทอฟ้าผ้าไทย

รายการทอฟ้าผ้าไทย เป็นรายการทางโทรทัศน์เพื่อค้นหานักออกแบบแฟชั่นผ้าไทย เริ่มต้นซีซั่นแรกในปี 2555 ออกอากาศ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 21.50-22.50 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ซีซั่น 2 จะเริ่มในวันที่ 4 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2556

รายการทอฟ้าผ้าไทย ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นที่ปรึกษารายการ 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นการสืบสานตามแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงริเริ่มและสืบสานมรดกผ้าไทย
2. เพื่อส่งเสริมการนำความรู้ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผ้าไทย และนำพาผ้าไทยไปสู่อาเซียน
3. เพื่อพัฒนารูปแบบผ้าไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย โดยดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาเพื่ออนุรักษ์ผ้าไทย
4.เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นทางศิลปวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง อันจะส่งผลให้ การสืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมลํ้าค่าของชาติดำรงอยู่เคียงคู่สังคมไทย
5. เพื่อนำเสนอให้คนไทยได้รู้จักผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากอาเซียน และนำผ้าเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

รูปแบบรายการ

นำเสนอการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายโดยใช้ “ผ้าไทย” เป็นหลักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจของ “ผ้าไทย” ผ่านรายการโทรทัศน์เชิงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในรูปแบบการถ่ายทำแบบกึ่งเรียลลิตี้ โดยในแต่ละสัปดาห์จะมี ดีไซเนอร์รับเชิญจากแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทย มาให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องการออกแบบให้กับผู้เข้าแข่งขัน โดยมี สินจัย เปล่งพานิช นักแสดงชื่อดังและนางแบบมืออาชีพ รับหน้าที่พิธีกรหลัก และปิยวรา ฑีขะระ หัวหน้าคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย รับหน้าที่ครูใหญ่ของรายการ

ส่วนคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ดังนี้

– อรนภา กฤษฎี และ กุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นให้ความรู้เรื่องแฟชั่น และการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานตามโจทย์
– สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยแต่ละชนิดแหล่งกำเนิดและวิธีการผลิต
– ดารานักแสดงรับเชิญ ตัวแทนของผู้บริโภคให้ความคิดเห็นในมุมมองด้านการนำไปใช้งาน
สำหรับรายการจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก : Thai icon ดารารับเชิญ เป็นตัวแทนลงไปศึกษาผ้าไทยยังแหล่งกำเนิดของผ้าไทยแต่ละชนิด และช่วงสอง : Thai Designer ผู้เข้าแข่งขันโดยนำ “ผ้าไทย” ที่ได้จาก Thai icon มาออกแบบเป็นชุดต่างๆ ตามโจทย์ที่ได้รับ

ทั้งนี้ในแต่ละสัปดาห์ผู้เข้าแข่งขันต้องปฏิบัติภารกิจ ภายใต้โจทย์ที่ได้รับโดยมีรายละเอียดในการออกอากาศทั้ง 8 สัปดาห์ ดังนี้

เทปที่ 1 : กระบวนการผลิตผ้าไทย และ การคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศให้เหลือเพียง 50 คนเพื่อเข้าสู่การคัดเลือกรอบสุดท้ายโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของรายการและกติกาการคัดเลือกอันเข้มข้น และ ประมวลภาพงานแถลงข่าวพร้อมเปิดตัวผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 คนในซีซั่นนี้
เทปที่ 2-7 : พิธีกรแจกโจทย์ผ้าและประเภทชุดที่ผู้เข้าแข่งขันต้องออกแบบ และ Thai icon รับภารกิจในการค้นหาผ้าไทยตามโจทย์ในแต่ละสัปดาห์เพื่อนำความรู้มาให้ผู้เข้าแข่งขันใช้ในการออกแบบโดยมีครูใหญ่และดีไซเนอร์มืออาชีพเป็นที่ปรึกษาผู้เข้าแข่งขันนำเสนอผลงานบนเวทีเดินแบบแบบมืออาชีพพร้อมคณะกรรมการตัดสินผู้ผ่านเข้ารอบต่อไป
เทปที่ 8 : ภารกิจออกแบบคอลเลคชั่นผ้าไทยสู่สากลและประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขัน

ผู้ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันรายการ  ทอฟ้าผ้าไทย ซีซั่น 2

นายคณิตศร อุไรรัตน์ (ฉัตร)
อายุ 28 ปี
การศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

นางสาว วธูอร แก้วเวชบุตร (เกี้ยว)
อายุ 21 ปี
การศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขา การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นางสาว ลักษณา จันทโรภาสกร (รุ้ง)
อายุ 21 ปี
การศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขา การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ชื่อ นายนัฐพล มัคนา (เค)
อายุ 32 ปี
การศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นายสมชาญ แมททิว วรรณรักษ์ (แมท)
อายุ 31 ปี
การศึกษา จบการศึกษา Fashion Institute of Design and Merchandising Sanfrancisco
– แฟชั่นดีไซน์ สถาบันกาลวิน

นายอดิเรก คำน้อย (อาร์ม)
อายุ 25 ปี
การศึกษา ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ชื่อ นาย ณัฐพล แซ่จิว (จิว)
อายุ 25 ปี
การศึกษา จบการศึกษา จาก Haute ecole francisco Ferrer, Brussels Belgium Applied art-Fashion desing

ชื่อ นางสาวนูรกิ๊ฟตา ปาแย (นินะ)
อายุ 23 ปี
การศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขา การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ชื่อ นายภาณุพงษ์ อินทะมน (โอห์ม)
อายุ 23 ปี
การศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ชื่อ นายศุภกิตติ์ บังวรรณ์ (แบงบูม)
อายุ 20 ปี
การศึกษา ชั้นปีที่ 2 สาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร

You may also like...