พิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร

ไทยเราเป็นประเทศที่รุ่มรวยและมั่งคั่งทางศิลปะและวัฒนธรรม บ้านเมืองเรามีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นทั้ง Tangible และ Intangibal มากมายก่ายกอง

สิ่งเหล่านี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามพลวัตที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว แต่อัตลักษณ์ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของเราก็ยังเด่นชัดพอที่จะอวดชาวโลกได้อย่างภาคภูมิ ถ้าย้อนกลับไปในสมัยโบราณ บ้านเมืองเรามีกษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะทุกแขนง ทุกประเภท ศิลปะและวัฒนธรรมในแต่ละรัชกาลที่ผ่านมานั้น ล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่น กลายเป็นศิลปะประจำรัชกาล และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลือมาให้เราได้ดูชม มาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีบทบาทด้านงานศิลปะในฐานะอัครศิลปิน ด้วยผลงานศิลปะอันทรงคุณค่ามาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายสาขา และสร้างสรรค์ผลงานด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

แม้ในระยะเวลาต่อมาเมื่อมีพระราชภารกิจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทรงว่างเว้นการทรงงานศิลปะหลายประเภทลง แต่ได้ทรงงานด้านศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์โดยส่วนรวมของประชาชน ได้แก่ ทรงถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงพระราชนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์และทรงแปลสำหรับพสกนิกรอ่านเป็นคติเตือนใจ ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านคอมพิวเตอร์และทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และสร้างงานในโครงการต่างๆ รวมไปถึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมผ่านศิลปินไทย ที่ประสานความเป็นไทยร่วมกับความร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน เช่น ภาพประกอบหนังสือพระมหาชนก และภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน เป็นต้น 

ด้วยพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในงานศิลปะทั้งปวง และทรงมีคุณาปการต่อวงการศิลปะและศิลปินไทยมาโดยตลอด เหล่านี้ล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 กำเนิดขึ้นมาบนไซเบอร์สเปซที่กว้างใหญ่ ด้วยความสามารถของคุณ พิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 และคณะ เพื่อรวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยทั้งศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศิลปะในประเทศไทยทั้งหมด ภายใต้รัชกาลที่ 9 บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในชื่อเว็บไซต์ www.rama9art.org ให้คนไทยและทั่วโลกได้เห็นว่าศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในงานของศิลปะของประเทศเรามากแค่ไหน

ประวัติคุณพิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร และความเป็นมาของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9

ผมจบปริญญาโท สาขาจิตรกรรมที่ศิลปากร แล้วไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรังสิตตอนที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง จากนั้นมาทำคอน-เทมปัส แกลเลอรี อยู่ในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พอทำแกลเลอรี่เสร็จ จึงได้คิดโครงการใหญ่ขึ้นมา ชื่อ โครงการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อที่จะบอกว่าศิลปะภายใต้รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 เจริญรุ่งเรืองขนาดไหน จึงเป็นที่มาแห่งนิทรรศการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ผ่านมา เป็นเวลา15 ปีแล้ว ครั้งนั้นเป็นครั้งที่มีนิทรรศการใหญ่ที่สุด และเป็นการรวบรวมข้อมูลศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย พอทำโครงการนี้เสร็จได้รับการบริจาคงานศิลปะจากศิลปินเป็นจำนวนมาก แต่จุดประสงค์ของเราจริงๆต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างหอศิลป์ขนาดใหญ่ เผอิญตอนนั้นงานเราเสร็จในปี 40 เป็นปีที่เศรษฐกิจตกพอดี ความเป็นไปได้ที่จะระดมทุนซัก 300 ล้าน มันก็หายวับไปกับตา ต่อมาอีก2-3 ปี เราก็คิดต่อว่าในเมื่อสร้างอาคารจริงๆไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างอาคารในไซเบอร์สเปซได้ เราเลยจะมาสร้างสิ่งที่ใหญ่กว่าพิพิธภัณฑ์คือ ศูนย์ข้อมูล เราเอาข้อมูลทั้งหมดมาไว้ในอินเตอร์เน็ตแทน สมัยเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่ง่ายเท่าปัจจุบันนี้ แต่เราก็เริ่มทำแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นเว็บไซต์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดอันนึงของโลก

คำว่าศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 มันจะมีอยู่สองความหมาย ความหมายที่ 1 คือศิลปะในประเทศไทยทั้งหมดภายใต้รัชสมัยแห่งรัชกาลที่ 9 หมายถึงศิลปะในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งหมด ความหมายที่ 2 คือ ศิลปะของในหลวง ในฐานะที่เป็นท่านทรงเป็นอัครศิลปิน มันมี 2 ความหมาย พอเราทำความหมายแรกเสร็จ เราก็เผยแพร่ว่าศิลปะไทยไม่น้อยหน้ากว่าใครในโลก พอมาถึงความหมายที่ 2 ก็คือพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของในหลวง รวบรวมงานศิลปะของในหลวงมากที่สุด ดังนั้นเราคิดว่าเราทำครบแล้ว

หน้าที่และภารกิจหลักที่จำเป็นต้องดำเนินการ

การทำเว็บไซต์มันง่าย แต่การทำให้เว็บไซต์อยู่ได้มันยาก เราต้องคอยอัพเดทให้มันทันสมัยอยู่เสมอ เรามองว่าเว็บไซต์มันเหมือนใยแมงมุมที่จะขยายตลอดเวลา เว็บไซต์ที่อยู่นิ่งๆมันก็ตาย เว็บไซต์ของเราต่างต้องทำงานแข่งกับเวลา มีข่าวนิทรรศการไหนมาเราก็ต้องมาลงให้คนเข้ามาชม

สิ่งที่อยากทำ และกิจกรรมในอนาคต

เราอยากจะทำโครงการศิลปะสะสม ในฐานะที่เรามีข้อมูล อยู่ใกล้ชิดศิลปิน เราอยากจะไปซื้องานศิลปินส่วนนึงเข้ามูลนิธิ เพื่อให้มันมีการเคลื่อนไหว แล้วเชิญศิลปินที่เราซื้องานไปจัดนิทรรศการเล็กๆเพื่อที่จะเชิญนักสะสมมาดู เหมือนเราเลือกให้นักสะสมมาดูที่นี่ เป็นสิ่งที่เราเลือกไว้ให้แล้ว ทำให้มันมีการซื้อขายงานกัน ศิลปินได้ประโยชน์ นักสะสมได้ประโยชน์ เราได้งานดีๆเก็บไว้ อีกโครงการนึงเราจะไปร่วมมือกับมูลนิธิพระดาบส จัดงานประมูลเพื่อโรงเรียนในภาคใต้ ส่วนงานดนตรี โครงการเพลงคลาสสิก จีบคนกรุงเทพ เราไม่เคยทำ แต่คิดว่ามันเป็นไปได้ ในเมื่อในหลวงก็เล่นดนตรี ถ้าเราจะทำให้บรรยากาศของศิลปะทุกๆแขนงมันสนุกสนานเราก็ส่งเสริมได้ นักดนตรีเค้ามาขอความร่วมมือกับเรา เราก็สนับสนุน และหวังว่ามันจะขยายต่อไปสู่งานศิลปะแขนงอื่น

มองว่างานศิลปวัฒนธรรมในบ้านเรากำลังจะไปในทิศทางไหน

มันดีขึ้น ในขณะที่อีกด้านผมกลับมองว่ามันคล้ายๆเดิม ต่างคนต่างทำไป คนใช้งานก็กลุ่มเดิมๆ เวทีการแสดงการประกวดมันเท่าเดิมมานานแล้ว แต่แนวโน้มที่คนเรียนและคนสะสมมากขึ้น

เราเชื่อเสมอว่าศิลปะมันสะท้อนสังคม สะท้อนความรุ่งโรจน์ของชาติ อีกมุมเรามองว่าศิลปะบ้านเราหลายๆอย่างมันเกิดขึ้นที่บางประเทศไม่ได้ อย่างงานของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร มันเป็นงานที่เกิดขึ้นในสิงค์โปร์ไม่ได้ เกิดขึ้นในบางประเทศไม่ได้ มันเป็นของไทย และเราจะเห็นงานที่เปลือกนอกเป็นสากล แต่เนื้อหาเป็นไทย ในขณะเดียวกันเราเห็นเปลือกนอกเป็นไทยเนื้อหาเป็นสากลก็มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่อื่นไม่มี ถ้าเราวิเคราะห์ในระยะยาวเราเห็นอย่างนี้ แต่ในระยะสั้นกราฟเป็นยังไงผมไม่ค่อยรู้สึก แต่เวลาเราเอางานมาแบกันดู เราจะอดภูมิใจไม่ได้ว่าศิลปะไทยมันเติบโตมาดี เป็นเพราะว่าเรามีดินที่ดี บ้านเราอาจจะคล้ายกับอิตาลี ส่งเดชหน่อยๆมั่วๆห่วยๆไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีวินัย เหล่านี้อาจจะเหมาะกับการเติบโตของศิลปะแบบนึง บ้านเราก็มีวัฒนธรรมไทย มีภาพสมัยใหม่ที่อยู่สุวรรณภูมิ อันนี้เกิดที่ไทย สังคมชั้นรองไม่อาจให้กำเนิดศิลปะชั้นเลิศ ถ้าจะว่าไปสังคมเรามั่วๆมันก็จะสะท้อนเป็นศิลปะออกมา

พอผมมาทำโครงการดนตรี (โครงการดนตรีคลาสสิก จีบคนกรุงเทพฯ) ผมเห็นว่าเรามีคนเก่งดนตรีคลาสสิคมาก ในขณะเดียวกันเราก็มีคนเก่งดนตรีไทยมาก เป็นคนๆเดียวกันก็มี สามารถทำดนตรีคลาสสิคกับดนตรีไทยให้อยู่ด้วยกันได้ แต่ดนตรีแบบนี้เกิดมีไม่ได้ในบางประเทศ มันมีได้เฉพาะของเรา เพราะเราเก่งตะวันตกแล้วมีรากเหง้าตะวันออกของประเทศเราเอง เราจึงสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ เรามีส่วนผสมที่ดี บรรยากาศของงานศิลปะไทยจึงดีมาตลอด มันมีการเคลื่อนไหว ขึ้นลง เป็นวัฏจักรของมัน แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราต่อไปให้ดีที่สุด

เป้าหมายของมูลนิธิศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9

เริ่มจากการก่อตั้งโครงการมีผู้ใหญ่เคยบอกว่า ในหลวงตรัสว่า ศิลปะในรัชกาลต่างๆก็เหมือนจะดูออกว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วในสมัยท่านล่ะ ดูออกไหมว่าหน้าตาเป็นยังไง ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็เลยมาคุยต่อว่าเราจะทำยังไงให้เห็นได้ว่าศิลปะของรัชกาลที่ 9 มีหน้าตาเป็นยังไง ซึ่งมันไม่มีใครบอกได้ เมื่อบอกไม่ได้เราก็เลยรวบรวมมาซะก่อน มาให้เห็น เราเลยรวบรวมศิลปะทั้งหมดทั้งประเทศขึ้นมาเป็นเอกสาร พอมาวางเรียงๆต่อกัน เราจึงมองเห็นว่าเรามีศิลปินหลายพันคน ในประเทศนี้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ศิลปินพวกนี้เป็นศิลปินประดับรัชกาล เราอยู่ในมุมมองที่ดี อยู่ในประเทศที่อิสระในประเทศที่ส่งเสริมทางศิลปะ เค้าบอกว่ามีพ่อเป็นศิลปิน ลูกก็มักเป็นศิลปิน มีพ่อเป็นนักดนตรี ลูกก็มักเป็นนักดนตรี ส่วนนึงที่เรารุ่งเรื่องไม่แพ้ใครเป็นเพราะเราอยู่กับในหลวงที่เป็นศิลปิน แล้วศิลปะมันสะท้อนความเป็นคน สะท้อนความรุ่งเรือง

คุณนึกถึงเดวิดไหม เดวิดสร้างโดยไมเคิล แองเจโล เมื่อ 500 ปีที่แล้วฟลอเรนซ์เป็นศูนย์กลางของยุคนั้น ยุคฟื้นฟูหรือเรเนซองส์ เมืองนี้ปกครองโดยตระกูลเมดิชิ ตระกูลนี้เค้าเป็นนักปกครอง ร่ำรวย เป็นนายธนาคาร สามคนในตระกูลนี้เป็นสันตะปาปาซึ่งเรืองอำนาจมาก สิ่งที่เค้าทำอย่างนึงคือเค้าอุปถัมภ์ศิลปิน สนับสนุนศิลปะ โดยการให้งานศิลปินทำ หาโจทย์ยากๆให้ศิลปินทำงาน เสร็จแล้วก็ซื้องานเก็บไว้ สะสมงานศิลปะ

จนถึงเมดิชิคนสุดท้าย เค้าทำพินัยกรรมว่ายินดียกงานศิลปะทั้งหมดให้เมืองฟลอเรนซ์ ภายใต้หนึ่งข้อแม้ว่า ห้ามนำออกจากเมืองฟลอเรนซ์ วันนี้ชาวเมืองฟลอเรนซ์ต้องขอบคุณตระกูลนี้ เพราะนี่คือประจักษ์พยานทางสายตาที่ดีที่สุด ที่จะบ่งบอกว่าฟลอเรนซ์มั่งคั่งทางปัญญาขนาดไหน สังคมชั้นรองไม่อาจสร้างศิลปะชั้นเลิศได้ นี่เป็นข้อพิสูจน์ อิตาลีทั้งประเทศต้องขอบคุณตระกูลนี้ เพราะผู้คนที่เข้ามาอิตาลีจำนวนมหาศาลเข้ามาเพื่อมาดูงานศิลปะ ไม่ได้เข้ามาซื้อเข็มขัดหนัง ไม่ใช่แค่อิตาลีนะ โลกทั้งโลกต้องขอบคุณตระกูลนี้ เราต้องยกให้เมืองฟลอเรนซ์เป็นเมืองมรดกโลกทางศิลปวัฒนธรรม นั่นคือสื่งที่ตระกูลนี้ทำให้กับเมือง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มันต้องใช้เวลา บ้านเราเพิ่งเกิดงานศิลปะร่วมสมัยมาไม่นาน แล้วพอย้อนกลับไปดูเราจะเห็นว่าเราเติบโต แล้วศิลปะทั้งมวลมันสะท้อนว่าสังคมของเราไม่ธรรมดาเช่นกัน

You may also like...