ศิวกานท์ ปทุมสูติ

ชีวิตที่แวดล้อมอยู่กับความซื่อตรงและความงดงามของธรรมชาติ ผนวกกับประสบการณ์ที่หลากหลายในวัยเยาว์ อีกทั้งคำสอนของพุทธศาสนา ล้วนเป็นเบ้าหลอมให้ผลงานทางด้านวรรณศิลป์ของศิวกานท์ ปทุมสูติ

กวีซึ่งศรัทธาในความหมายของกวี เต็มไปด้วยสัมผัสอันไพเราะ ถ้อยคำที่กินใจ สะเทือนอารมณ์ มีลีลาคำประพันธ์ที่ปลุกตื่นมโนคติ มีความหลากหลายในรูปแบบฉันทลักษณ์ ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เพลงพื้นบ้าน และฉันทลักษณ์แบบใหม่ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะตน ที่สำคัญก็คือมีพลังแห่งชีวิต พลังอารมณ์ และพลังปัญญาที่ทำงานกับจิตวิญญาณและมโนธรรมของผู้อ่านอย่างน่าสนใจยิ่ง 

สิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่

น่าจะเป็นพลังขับของแรงบันดาลใจจากการอ่านนะครับ, เพราะผมเป็นคนชอบอ่าน ทั้งอ่านหนังสือ อ่านชีวิต อ่านธรรมชาติ และอ่านผัสสะต่างๆ ที่กระทบอารมณ์แล้วก่อตัวเป็นความรู้สึก นึก คิด, ด้วยเหตุนี้ผมจึงชอบที่จะเป็นนักเดินทาง เดินจากภายในออกไปสู่ภายนอกและจากภายนอกย้อนกลับเข้ามาภายใน ทั้งเพื่อแสวงผัสสะในเส้นทาง ในบรรทัดอักษร และในจิตใจตนเอง ยิ่งล่วงวันเวลาของชีวิตมากขึ้นผมก็ยิ่งสนุกกับอ่านแบบที่ว่านี้ มิใช่เพียงเพื่อจะเขียน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับให้อยากเขียน ทั้งเขียนชีวิต เขียนหนังสือ และเขียนปฏิสัมพันธ์ต่างๆ กับผู้คนในวิถีที่เกี่ยวข้อง…เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ไม้ตะปูและหัวใจ ในนาม จันทร วรลักษณ ว่า “ฉันเชื่อในสิ่งที่ฉันสว่าง ฉันสร้างในสิ่งที่ฉันเชื่อ ฉันประจักษ์ว่าไฟอาศัยเชื้อ ฉันจึงยอมเลือดเนื้อเป็นเชื้อไฟ” นั่นแหละครับ

ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน

วงการนักเขียนไทยของเราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลานะครับ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือองค์กรวรรณกรรมก็ตาม ขาดอยู่แต่ภาครัฐและภาคส่วนสังคมเท่านั้นที่ยังตามไม่ทัน ไม่ใส่ใจลงลึกในการศึกษาพัฒนา ต่างจึงยังฉาบฉวยต่อการ “เด็ดยอด” บริโภคและส่งเสริม การเดินทางของต้นฉบับสู่การจัดพิมพ์ที่ต้องอิงกระแสบริโภคจึงยังมีทางเลือกที่จำกัดและคับแคบ รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนจำนวนไม่น้อยก็ยังพลอยวนเวียนเขียนตามกระแสอย่างยากที่จะปฏิเสธ

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน

ก็สืบเนื่องจากที่พูดข้างต้นนั่นแหละครับ ปัญหาของการอ่านไม่อาจแยกขาดจากการเขียน ภาพรวมของประเทศจะดีจะด้อยมันอยู่ที่ภาครัฐและประชาสังคม ความฉาบฉวยในการอ่าน ความตื้นเขินของการคิด และการใช้ชีวิตแบบลอยมาลอยไป มันเป็นผลพวงจากการกำหนดหลักสูตร นโยบาย การวางระบบ การบริหารจัดการ กระทั่งถึงการจัดการเรียนการสอน และการเลี้ยงดูบุตรหลานในครอบครัว รอยวิถีเหล่านั้นล้วนเป็นผลให้การอ่านของคนไทยไปไม่ถึงไหน เมื่อไปไม่ถึงไหนในทางความรู้ ความคิด และสติปัญญา ก็ส่งผลให้การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมตกจมกับภาวะปัญหาแบบ “ภายเรือในอ่าง” ไม่รู้จักสิ้นสุดด้วย ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปในแปลงหว่านเพาะการศึกษาเราก็จะพบว่า หัวขบวนสำคัญฝ่ายจัดการศึกษาและครูผู้สอน ยังเฝ้าแต่กำหนดเนื้อหาและตัวบทการเรียนรู้แบบ “ให้พื้นที่กับมรดกอดีตมากกว่าคุณค่าที่แท้จริงของปัจจุบัน” หากจะพัฒนาขยายปริมณฑลของความรักการอ่านให้ดีกว่านี้ ผมว่าผู้เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักสูตรและทิศทางการศึกษาอาจต้องปรึกษากับกวี นักเขียน และนักอ่านที่มีชีวิตให้มากกว่าการหลับฝันถึงแต่มหากวีและนักเขียนแห่งปรภพโพ้น

สิ่งสำคัญที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

บรรทัดอักษรแห่งความมีชีวิตสิครับ รวมทั้งความรู้สึกรู้สา ที่กระทบกระทำกับอารมณ์และจิตวิญญาณมนุษย์ อันก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนทางปัญญา มโนคติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อเช่นนั้นหรือเป็นเช่นนั้นโดยสุจริตใจของผู้เขียน และต้องไม่ลืมที่จะเหลือพื้นที่ความขบคิดไว้เป็นเกียรติยศแก่ผู้อ่านด้วย

รางวัลจำเป็นไหมสำหรับวงการวรรณกรรม

ผมเคยให้สัมภาษณ์ต่อคำถามทำนองนี้ไปกับบางฉบับว่า “รางวัลก็เหมือนดอกไม้ ให้ความชื่นตาชื่นใจแก่ผู้พบผ่านเชยชม ที่ทุ่งสักอาศรมที่ผมอยู่ก็มีเกาะดอกไม้ ผู้ที่จะข้ามไปชมจะต้องเดินข้ามสะพานไป ไปถึงแล้วนั่งชมดอกไม้อยู่ครู่หนึ่งบ้าง นั่งเขียนบทกวีอยู่พักหนึ่งบ้าง แล้วต่างก็เดินกลับออกมาตามสะพานอันเดิม เพราะไม่มีเส้นทางอื่นที่จะก้าวไปจากเกาะได้ ซึ่งต่างจากผีเสื้อและเพื่อนๆ ของเขาที่บินไปเกาะกระถางกล้วยไม้ หรือแก้มกลีบดอกอัญชัน ล้วนผ่านมาแล้วผ่านไปโดยไม่ต้องใช้สะพาน ขณะผมเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ ผมรู้ว่าผมได้อะไรไม่น้อยจากเกาะดอกไม้ในรอยทางชีวิต” ดังนั้นเมื่อดอกไม้ยังมีความหมายในตัวของมัน รางวัลก็คงยังมีความหมายกับวงวรรณกรรมตามเหตุปัจจัยของมัน เพียงแต่เราต้องไม่เผลอไปว่ามันเป็นสิ่งสำคัญกว่าตัววรรณกรรมที่แท้จริงนั่นต่างหาก เราควรจะช่วยกันสร้างกระแสชวนอ่านวรรณกรรมดีๆ เล่มที่ไม่มีรางวัลประทับด้วยครับ

นักเขียนต้นแบบ วรรณกรรมเล่มโปรด

นักเขียนต้นแบบที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีมากนะครับ โดยเฉพาะที่ผ่านมาแล้วผ่านไปนั้นมีมากกว่าที่ผ่านมาแล้วยังดำรงอยู่ ก็เหมือนครูนั่นแหละครับ ทุกท่านล้วนมีคุณูปการแก่เรา แต่ครูที่ยังดำรงอยู่ในจิตวิญญาณจริงๆ นั้นอาจมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ขอถือโอกาสแนะนำวรรณกรรมดีๆ ที่เป็นดั่งคุรุเมธีผู้ไม่มีวันตายเหล่านั้นหลายเล่มหน่อยนะครับ เช่น ทางสู้ในชีวิต ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ, กามนิต ของ คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป, ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน, ลิลิตพระลอ (หลักฐานทางวรรณคดีไม่ปรากฏนามผู้แต่งที่ชัดเจน), ขุนช้างขุนแผน (กวีหลายท่านร่วมแต่ง), พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่, ระเด่นลันได ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์), หลายชีวิต ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา, คนขี่เสือ ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์, เจ้าชายน้อย ของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, ต้นส้มแสนรัก ของ โจเซ่ วาสคอนเซลอส, โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ของ ริชาร์ด บาค, ทรัพย์ในดิน ของ เพิร์ล เอสบั๊ค, เฒ่าผจญทะเล ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, กองดิดด์ ของ วอลแตร์, เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ ของ เอ.เอส.นีล, โอวาทสี่ ของ เหลี่ยวฝาน, กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์, โลกของโซฟี ของ โยสไตน์ กอร์เดอร์, สิทธารถะ ของ แฮร์มัน เฮสเส, ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ ของ เกาสิงเจี้ยน, เดียวดายใต้เงาจันทร์ ของ โก้วเล้ง, ปถวีรส ของ ติช นัท ฮันห์, คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ ของ ติช นัท ฮันห์, คีตาญชลี ของ รพินทรนาถ ฐากุร, สวนดอกไม้ ของ รพินทรนาถ ฐากุร, ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, ลิตเติ้ลทรี ของ ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์, รหัสลับดาวินชี ของ แดน บราวน์, ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ ของ เซนไค ชิบายามะ, ฯลฯ ในส่วนของนามนักเขียนที่เป็นคนไทยซึ่งยังมีชีวิตอยู่นั้น ผมขอละเว้นที่จะเอ่ยนามนะครับ เพื่อมิให้ยากใจในความรักพี่เสียดายน้อง

ปณิธานของการเป็นนักเขียน

คำถามนี้ขอตอบด้วยบทกวีที่เขียนไว้ในหนังสือ “นัยตากวี” นะครับ
…เธออาจเป็นพระภาคพระผู้สร้าง
ฉันอาจเป็นเงาร่างธุลีสวรรค์
เมื่อมิหลับในตื่นของคืนวัน
เราจะร่วมยืนยันพระมรรคา
พระผู้อยู่ในเธอจะมุ่งมั่น
พระผู้อยู่ในฉันจะฟันฝ่า
กลางดึกสงัดรัตติกาลอรัญญิกา
หิ่งห้อยแห่งศรัทธาจะเดินทาง
(นัยตากวี, ๒๕๕๕)

You may also like...