พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์
เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ายชุมชนไปตั้งถิ่นฐานบริเวณสำเพ็งเพื่อใช้ที่บริเวณนั้นสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นแทน ชาวไทยเชื้อสายจีนที่หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากและอาศัยอยู่บริเวณนั้น จึงได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนขึ้นตั้งแต่คลองโอ่งอ่างไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษมต่อมาย่านสำเพ็งและเยาวราชจึงเป็นเขตการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
ตั้งอยู่ที่ โรงเรียนวัดปทุมคงคา การจัดแสดงภาพอดีตย้อนไปถึงการหลั่งไหลอพยพเข้ามาของชาวจีน มาเริ่มต้นค้าขายบ้างเข้ารับราชการเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ รวมถึงเล่าเรื่องราวของสถานที่สำคัญในเขตสัมพันธวงศ์ ล้วนบ่งบอกประวัติอันรุ่งเรืองและความสงบร่มเย็นของการอยู่ร่วมกันของไทยเรา ไม่ว่าจะไทย จีน หรือชนชาติใดก็ตาม
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
ห้องจัดแสดงห้องแรกเล่าเรื่องราวด้วยรูปภาพ เรื่องสายธารของคนจีนที่อพยพเข้ามา วิถีการดำเนินชีวิตเฉพาะตัวแบบจีนที่น่าสนใจมาก คือภาพวาดสีน้ำบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนโดยฝีมือของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เรื่องราวย่านสำคัญๆเช่น ถนนเจริญกรุง ย่านวัดเกาะ สะพานหัน เวิ้งนาครเกษม
นิทรรศการต่อมานำภาพและเครื่องใช้ที่ผ่านการใช้งานจริงจังมาจัดแสดง ผู้เยี่ยมชมจะได้สัมผัสบรรยากาศ และร้านค้าจีนโบราณ ทั้งร้านขายสมุนไพรจีน พร้อมอุปกรณ์โบราณ ร้านขายทองเอกลักษณ์ของเยาวราช ร้านขายข้าวสาร ร้านขายของชำ
มุมต่อมา จัดแสดงสถานที่สำคัญในเขตวัดสัมพันธวงศ์ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม โบสถ์กัลหว่าร์ และวัดแม่พระลูกประคำ เป็นวัดในคริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิค
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์
ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดปทุมคงคา 1460 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
โทรศัพท์ : 02-233-3316
เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 น.-16.00 น.
สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์
37 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
โทรศัพท์ : 02-333-1224-8
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333
ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย