พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง

ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่

เขตพระนคร เป็นเขตใจกลางราชธานีของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ตั้งสถานที่ที่แสดงถึงความเป็นประเทศสยาม ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้ย้ายเมืองจากกรุงธนบุรี ข้ามฟากแม่น้ำมาสร้างราชธานีใหม่ที่เขตพระนครปัจจุบัน เขตพระนครนี้ จึงเป็นดั่งมรดกล้ำค่าของรากเหง้าของไทยเรานอกจากพระบรมมหาราชวังยังมีวัดวาอาราม อาคารถาวรวัตถุล้ำค่ามากมาย ที่ถ่ายทอดความเป็นไทยที่หาค่าไม่ได้ วิถีชีวิตของประชาชน ความรู้ภูมิปัญญาเก่าแก่ ทุกสิ่งล้วนบรรจุกลิ่นอายของความเป็นไทย เมื่อได้มาชม ความรู้สึกรักหวงแหนสมบัติของชาติเรา และในใจของเราทุกคนแน่นอน

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ตั้งอยู่ที่บ้านไม้ไทยสองชั้นทรงปั้นหยา ด้านหน้าที่ทำการเขตพระนคร เรือนไม้สองชั้นทรงปั้นหยานี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของ ท่านพระตำรวจตรีพระยามหาเทพกษัตริยสมุห์ ต่อมาเขตพระนครได้ซื้อไว้เพื่อเก็บรักษาและใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในนั้นบอกเล่าเรื่องราวมากมาย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงย้ายกรุงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บุคคลสำคัญที่อาศัยอยู่ในเขตแหล่งท่งเที่ยวมากมาย ของดีและสิ่งของเครื่องใช้โบราณที่หาค่าไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน

มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมแรกที่สำคัญจัดแสดงด้วยภาพความสวยงามของกรุงรัตนโกสินทร์ เล่าเรื่องราวการที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กู้เอกราชโปรดให้ย้ายราชธานีมาฝั่งตะวันตก เพราะเป็นชัยภูมิที่ดี เรียกว่าบางกอก มีภาพแสดงผังเขตพระนครโบราณการเปลี่ยนแปลงต่างๆแสดงชุมชนโบราณต่างๆที่เคยรุ่งเรือง เช่น ชุมชนสามแพร่ง ชุมชนโบสถ์พราหมณ์ ความรู้เหล่านี้รอให้เรามาสัมผัสผ่านการจัดแสดงที่ทำขึ้นอย่างตั้งใจ

มุมต่อมานั้น เล่าเรื่องบุคคลสำคัญในประวัติสาสตร์ของเราที่อาศัยอยู่ในเขตพระนครนี้ เป็นการแสดงภาพและประวัติ อาทิ ยาขอบ เจ้าของอมตะนิยาย “ผู้ชนะสิบทิศ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส นายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์รถสามล้อขึ้นมาใช้ในประเทศไทย

มุมดีและแหล่งท่องเที่ยวในเขตพระนครทุกๆแห่งนั้น บรรจุเต็มไปด้วยคุรค่าทางประวัติสาสตร์เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นเลิศ อาทิ พระบรมมหาราชวัง ป้อมพระสุเมรุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เสาชิงช้า หอศิลป์ถนนเจ้าฟ้า วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดวาอารามอีกมากมายที่สวยงาม

อีกมุมหนึ่งจัดแสดง ข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีชีวิตโบราณ ของใช้หลายอย่างนั้นเป็นฝีมือช่างเก่าแก่ ซึ่งอีกไม่นานความรู้คงจะสูญหายไปตามกาลเวลา เหลือแค่ตัวอย่างให้ชม เช่น สายรัดประคดของตระกูลรามโกมุท ซึ่งสายถักทอสายรัดประคดมาแต่โบราณ งานเครื่องถมของชุมชนตรอกบ้านพานถม ชุมชนบ้านบาตร ซึ่งทำบาตรพระด้วยมือทุกๆชิ้น ปัจจุบันความชำนาญเหล่านี้ใกล้จะสูญหายไปเต็มที ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ามากมาย กำลังรอให้เราไปเรียนรู้ ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
ตั้งอยู่ อาคารเรือนปั้นหยา 2 ชั้น ด้านล่างสำนักงานเขตพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร10200
โทรศัพท์ : 02-282-8563
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-16.30 น.

สำนักงานเขตพระนคร
78 ซอยสามเสน 3 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 02-682-9068

ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333

ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

You may also like...