เสวนา พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน ความเชื่อมโยงในความทรงจำร่วมเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม

เทศกาลศิลปวัฒนธรรมอาเซียน กรุงเทพฯ ร่วมกับ หอศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภูมิใจนำเสนอ งานเสวนาเกี่ยวกับ

“พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน : ความเชื่อมโยงในความทรงจำร่วมเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม”  โดย คุณกฤติยา กาวีวงศ์ และ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

เนื้อหา :
โดยพื้นฐานแล้ว ศิลปะร่วมสมัยเกิดขึ้นจากมิติทางสังคมและวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานในการสร้างสรรค์และพัฒนา เพื่อตอบสนองต่อความเป็นไปในสังคมยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ หากกล่าวถึงศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน จึงจำเป็นต้องอ้างอิงถึงพื้นฐานของความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมระดับภูมิภาค ความคล้ายคลึงและความแตกต่าง ภายใต้ความทับซ้อนและซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการมีจุดร่วมกันในยุคปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่แตกต่างกัน ศิลปะร่วมสมัยจึงมีส่วนในการสร้างความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น เพื่อในที่สุดแล้วเราจะสามารถเปิดช่องทางในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านความทรงจำร่วมเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม

เกี่ยวกับวิทยากร :
กฤติยา กาวีวงศ์ กฤติยา กาวีวงศ์ จบการศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการบริหารศิลปะ จากคณะบริหารจัดการศิลปะและนโยบาย สถาบันศิลปะชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ และ หัวหน้าภัณฑารักษ์ ประจำหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ดำรงตำแหน่งรักษาการรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย บัณฑิตมีงานเขียนบทความวิเคราะห์การเมืองวัฒนธรรมของศิลปะร่วมสมัย บัณฑิตเป็นบรรณาธิการนิยสารวิภาษาที่ตีพิมพ์งานเขียนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2549 บัณฑิตยังเป็นภัณฑารักษ์อิสระและเคยเป็นภัณฑารักษ์ร่วมในศาลาไทยสำหรับ Venice Biennale ครั้งที่ 54 ความสนใจของบัณฑิตมีตั้งแต่การเมืองวัฒนธรรม ศิลปะร่วมสมัยในที่สาธารณะและการเมืองไทย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ปัจจุบันเป็น อาจารย์พิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและทฤษฎีสังคมศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาตรีของหลายสถาบัน รวมทั้งปัญญาชนสาธารณะที่มีผลงานเขียน ผลงานแปล และการแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง งานเขียนของศิโรตม์มีจุดเด่นตรงการผสมผสานแนวคิดและทฤษฎีใหม่ๆ เพื่ออธิบายสังคมไทยร่วมสมัยด้วยแง่มุมที่ออกไปจากกรอบความเชื่อเดิมๆ ผลงานโดยสังเขปของเขาได้แก่ ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัฒน์ (2544) จักรวรรดินิยมและการก่อการร้าย (2545) แรงงานวิจารณ์เจ้า (2547) ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (2550) สุนทรียะขัดขืนสู่พหุภพหลังความตาย (2553) สู่รัฐศาสตร์ไม่ฆ่าแนวหลังอาณานิคม (2553) ประชาธิปไตยก็เรื่องของเรา (2555) จากเก่าสู่ใหม่ : ความยุ่มย่ามของอัตลักษณ์และความลุ่มๆ ดอนๆ ของปฏิบัติการต่อต้านความเป็นไทย (2556) ศิโรตม์เป็นเจ้าของผลงานแปลเรื่องรัฐศาสตร์ไม่ฆ่า (2552) และอัตลักษณ์และความรุนแรง (2556) ของ อมาตรยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขายังได้รับรางวัล Jacob Peace Memorial Award และเป็น Visiting Lecturer ของ Ateneo De Manila University ประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งเป็นผู้จัดรายการ Wake Up Thailand ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV

* หมายเหตุ : การบรรยายเป็นภาษาไทย และแปลเป็นภาษาอังกฤษ

เสวนา : “พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน : ความเชื่อมโยงในความทรงจำร่วมเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม”
วันที่ : พฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 14.00 – 17.00 น.
สถานที่ : หอศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : 02-221-3841

You may also like...