Batleby, The Scrivener ‘ ภาษาอื่น ‘ ในโลกของการสื่อความหมาย
Batleby, The Scrivener เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของนักเขียนชาวอเมริกันเฮอร์แมน เมลวิลล์ ( Herman Melville) ที่พูดถึงมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ ซึ่งโดดเดี่ยวแปลกแยกออกจากสังคม หรือแม้กระทั่งโลกที่แวดล้อมพวกเขา อย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในหนึ่งหรือสองศตวรรษก่อนหน้า
ผลงานของเมลวิลล์ Batleby, The Scrivener ได้รับการยกย่องจากนักเขียนนักคิดในยุคต่อมาอย่างมากมาย ซึ่งคงเป็นเพราะงานเขียนชิ้นนี้เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ในโลกก่อนสิ้นศตวรรษเรื่องแรกๆ ที่สามารถฉายให้เห็นภาพของปรากฏการณ์แห่งความเป็นอื่นนั้นได้อย่างลึกซึ้ง จนทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่างานเขียนของฟรันซ์ คาฟคา ( Franz Kafka) ทั้ง คดีความ หรือแม้แต่ ปราสาท เองก็มีความเป็นเมลวิลล์อยู่มากๆ (หรือแม้แต่จะเป็นในทางกลับกัน)
Batleby, The Scrivener มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายนามว่า บาเทิลบี ซึ่งสมัครเข้าทำงานในสำนักงานกฏหมายแห่งหนึ่งในย่านวอลสตรีท โดยที่มีเจ้าของกิจการนี้เป็นผู้เล่าเรื่อง (สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง)
ในตอนเริ่มบาเทิลบีเป็นคนที่ตั้งใจทำงานมีความขยันขันแข็ง หากจะแตกต่างกับพนักงานปรกติทั่วไปก็คงจะตรงที่เขาเอาใจใส่กับงานที่รับผิดชอบมากจนดูเหมือนแทบไม่เคยลุกขึ้นจากโต๊ะไปที่ไหนเลย
ในมุมมองของผู้เล่าเรื่อง บาเทิลบีเป็นคนที่พึ่งพาได้มากที่สุดสำหรับเขาตอนนั้น เพราะพนักงานคัดลอกเอกสารอีกสองคนที่เขามี (ไม่นับเด็กส่งเอกสารที่ชื่อว่าจินเจอร์ นัท) ซึ่งก็คือเตอร์กีและนิปเปอร์สนั้นต่างก็มีข้อจำกัดบางอย่างซึ่งมาจากจากพฤติกรรมพื้นฐานที่ฟังแล้วดูอาจจะพิลึกพิลั่นอยู่ไม่น้อย
เตอร์กีจะทำงานได้เรียบร้อยดีไปจนกระทั่งเข็มยาวและเข้มสั้นชี้ไปที่เลขสิบสองเท่านั้น และพอหลังจากพักเที่ยงไปแล้วเขาก็จะกลายเป็นชายวัยทองที่หงุดหงิดและอารมณ์เสียกับอะไรได้ง่ายมากๆ ถ้าได้ยินกระแทกหรือเสียงวางกองเอกสารดังๆ ละก็เขาเอง จนเริ่มที่จะชินหรือเพราะเห็นแก่ความมุ่งมั่นตั้งใจดีในช่วงเช้า ผู้เล่าเรื่องจึงยังคงเก็บเตอร์กีไว้ และไม่มอบหมายงานสำคัญๆ ให้เตอร์กีทำเลยในช่วงบ่าย ตรงกันข้ามกับนิปเปอร์สพนักงานที่มีอายุราวยี่สิบกว่าๆ นั้นรักการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ ในช่วงเช้าเป็นต้นมานิปเปอร์สจึงยังคงไม่สร่างเมา ดวงตาของเขาจะแดงก่ำ อารมณ์แปรปรวน และก็เหมือนกับเตอร์กีในตอนบ่ายก็คือมอบหมายให้รับผิดชอบงานสำคัญไม่ได้เลย หากเมื่อพ้นเที่ยงวันไปแล้วนิปเปอร์สจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นราวกับเป็นคนละคนกับตอนเช้า ซึ่งผู้เล่าเรื่องยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ทั้งเตอร์กีและนิปเปอร์สไม่แสดงพฤติการณ์ประหลาดนี้พร้อมๆ กัน ดังนั้นที่ผ่านมากิจการของสำนักงานกฎหมายแห่งนี้จึงยังคงดำเนินต่อไปได้
จนมาถึงเรื่องของบาเทิลบี ที่ประหลาดเสียยิ่งกว่าเรื่องประหลาดของเตอร์กีหรือนิปเปอร์สมากมายนัก เพราะเมื่อวันหนึ่งบาเทิลบีก็ปฏิเสธที่จะทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบของเขาไปเสียเฉยๆ โดยเริ่มจากการนั่งอ่านสำเนาที่พนักงานคัดลอกแต่ละคนจะต้องนั่งลงพร้อมหน้าและอ่านสำเนาเอกสารฉบับลายมือเขียนของตัวเองไปพร้อมๆ กันกับคนอื่นๆ บาเทิลบีปฏิเสธที่จะมานั่งอ่านโดยไม่ให้เหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ นอกจากพูดว่า “ ผมคงจะไม่”
แน่นอนไม่มีใครทราบได้ว่าหรอกว่า “ ผมคงจะไม่ ” ของบาเทิลบีหมายถึงอะไร แม้โดยตัวการกระทำของเขาในความเข้าใจของเพื่อนร่วมงานคือความไม่ร่วมมือ ไม่อยากจะทำแม้ในงานที่เขาจำเป็นต้องทำ ซึ่งไม่ใช่แค่กับหน้าที่การงานเท่านั้น หากคำพูดว่า “ ผมคงจะไม่ ” ของบาเทิลบีมันได้ลุกลามไปถึงทุกคำถาม หรือทุกคำพูดที่ผู้เล่าเรื่องพยายามจะสื่อสารกับเขา
จนในที่สุดผู้เล่าเรื่องก็ต้องจำใจไล่เขาออก เพียงแต่หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เล่าเรื่องก็ได้รับรู้เรื่องราวแปลกประหลาดอีกเรื่องหนึ่งว่า บาเทิลบีไม่เคยกลับบ้าน ไม่เคยออกจากตึก หากอาศัยอยู่ในอาคารสำนักงานตลอดเวลา
สำหรับผู้เล่าแล้วทางเดียวที่เขาจะไปจากบาเทิลบี (ซึ่งคงจะไม่มีทางอื่นอีกแล้ว) นอกจากไล่ตัวเขาเอง นั่นก็คือย้ายสำนักงานหนี แต่จนแล้วจรอดปัญหาก็ยังตามผู้เล่ามาอีก เพราะบาเทิลบีไม่ยอมออกจากตึกหลังเดิม (ไม่ยอมพูดหรือตอบข้อซักถามใด) จนเจ้าหน้าที่ต้องนำตัวมาส่งให้กับผู้เล่าเรื่องที่สำนักงานแห่งใหม่
ผู้เล่าพยายามเสนองานให้กับบาเทิลบีอีกครั้ง งานอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะทำ แต่บาเทิลบีก็ปฏิเสธความหวังดีทั้งหมดอย่างไม่มีเยื่อใย บาทเทิลบีถูกส่งไปยังเรือนจำ โดยที่เขาไม่ได้เป็นอาชญากรหรือไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร ผู้เล่าเรื่องมีโอกาสได้ไปเยี่ยมบาเทิลบี แน่นอนบาเทิลบีจำเขาได้ กระทั่งผ่านไปหลายอาทิตย์ผู้เล่าได้กลับไปเยี่ยมบาเทิลบีอีกครั้งหนึ่ง ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะบาเทิลบีได้จากไปแล้ว เขานอนอยู่ในร่างที่เย็นเยียบอยู่ในห้องขังนั้น อรรถาธิบายเดียวเกี่ยวกับตัวบาเทิลบี ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่ข่าวลือก็คือบาเทิลบีเคยทำงานอยู่ใน ‘ แผนกจดหมายที่ไม่มีผู้รับ’ ที่วอชิงตัน แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้บาเทิลบีถูกเปลี่ยนไปนั่งในตำแหน่งธุระการในเวลาอันรวดเร็ว
อรรถาธิบายสั้นๆ ในตอนท้ายเรื่องอาจช่วยให้เราได้มองเห็นจริงอันมะลำมะเลืองที่อยู่เบื้องหลังการกระทำที่แสนจะแปลกประหลาดของบาเทิลบี แม้ในความเป็นจริงแล้วจะยังคงมีความลับอีกมากมายเบื้องหลังชายคนนี้ เป็นความลับที่อยู่ในความสิ้นหวัง ความตายที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป
Batleby, The Scrivener มีอีกชื่อหนึ่งว่า The Wall-Street Story ซึ่งไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามสิ่งที่เมลวิลล์นำเสนอในเรื่องสั้นชิ้นนี้ ได้กลายเป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวของมันเองไปแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องราวในยุคเริ่มต้นของวอลสตรีทที่เป็นเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์มนุษย์ในโลกยุคใหม่ มนุษย์ที่ค้นพบว่าการมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดอีกแล้ว
ในความเรียง Batleby, the Formula จิลส์ เดอเลอซ ( Gilles Deleuze) กล่าวไว้ว่า ‘ ผมคงจะไม่ ‘ ของเมลวิลล์เป็นเหมือนสูตร (สูตรที่ไม่ต่างจากสูตรเคมี หรือสูตรทฤษฎีสัมพันธภาพ ซึ่งได้ผลกับโลกในศตวรรษที่ 20 ) ‘ ผมคงจะไม่ ‘ ของเมลวิลล์ไม่ใช่คำที่ปฏิเสธหรือยืนยัน (แม้มันจะมีคำว่า ‘ ไม่ ‘ แต่มันก็อยู่คนละระนาบกับทุกๆ คำถาม หรือคำสั่งที่บาเทิลบีได้ยิน) ไม่แม้แต่จะเป็น ‘ เจตจำนงสู่ความว่างเปล่า ‘ หากเป็น ‘ ความว่างเปล่าที่แผ่ขยายครอบคลุมเจตจำนง ‘
เดอเลอซยังได้วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ‘ ผมคงจะไม่ ‘ ที่เมลวิลล์เรียกว่า คำประหลาด ( queer word) แท้จริงแล้วมันเป็น ‘ ภาษาอื่น ‘ ที่ฝังรากอยู่ในภาษาหนึ่งๆ หรือไม่แล้วก็คือ ‘ ภาษาของพระเจ้า ‘ ภาษาอันเป็นต้นกำเนิดของภาษาทั้งหลายที่เราพูดกันอยู่
หากแต่ก็เป็นภาษาที่ยากแก่การเข้าใจ หรือยากแก่การรับฟัง เพราะความเป็นจริงแล้วเราได้ไกลห่างออกมา หรือแม้แต่แปลกแยกและเป็นอื่นต่อภาษานั้น มิได้น้อยไปกว่าที่ภาษาอันเก่าแก่แปลกแยกและเป็นอื่นต่อเรา
นักเขียนที่ดูจะได้รับอิทธิพลของเมลวิลล์โดยตรงเลยก็คือโรแบร์ท มูซิล ( Robert Musil) นิยายขนาดมหากาพย์ของมูซิล The Man Without Qualities ก็ได้อะไรจากเมลวิลล์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตัวละครเอก 2 ตัว อูลริช-อกาเต ที่ความสัมพันธ์แบบร่วมสายเลือด ( incest) ก็ไปละม้ายคล้ายคลึงกับปิแยร์-อิซาเบล ในนิยายเรื่อง Pierre , the Ambiguities ของเมลวิลล์
ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า “ I would prefer not to.” และมีบางตอนด้วยเช่นกันที่บาเทิลบีกล่าวแค่ว่า “I prefer not to.” การแปลถ้อยคำนี้ในภาษาไทยคงยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะเมื่อแปลแล้วอาจไม่ได้สัมผัสของความแปร่งหู ที่บ่งบอกไม่ได้ว่าผู้พูดต้องการอะไร ทั้งที่เป็นถ้อยคำที่สมบูรณ์ และถูกต้องตามหลักไวยากรณ์หรือการสร้างประโยค
The Dead Letter Office เป็นแผนกที่ดูแลและรวบรวมจดหมายที่ส่งไปไม่ถึงผู้รับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หน้าที่ของหน่วยงานนี้ก็คือพยายามส่งกลับไปยังผู้เขียนอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่ก็ทำลายมันทิ้งไป ซึ่งอาจมองได้ว่าการทำงานในแผนกดังกล่าวอาจทำให้บาเทิลบีรับรู้เรื่องราวและความเป็นไปของชีวิตทั้งหลายมากเกินไป เพราะนอกจากลายมือ หรือข้อความที่ถูกส่งมาแล้วก็ยังมีแหวน ธนบัตร หรือสิ่งต่างๆ ที่ยืนยันการมีอยู่ของผู้คนเบื้องหลังจดหมายเหล่านั้น
Search
Keyword search
Newsletter
Submit you email to recieve Newsletter
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย