จากคดีความสู่คำพิพากษา ฟรันซ์ คาฟคาและชาติ กอบจิตติ
ความสลดหดหู่ที่เกิดขึ้นในคำพิพากษาของชาติ กอบจิตติคงไม่ใช่เรื่องที่ต้องย้ำหรือนำมาเล่าย้อนในที่นี้ เจตนา นาควัชระ ได้กล่าวเอาไว้ในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งว่า ‘ ความตายของฟักตัวเอกของเรื่องเป็นสิ่งที่ทำให้สถานะแห่งความเป็นมนุษย์ของเราท่านทั้งหลายต้องสั่นคลอนไปด้วย 1′ ( น. 75)
เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่คำกล่าวนี้ก็เป็นจริงสำหรับนักอ่านอีกหลายคน ภาพเสนอของฟักและนางสมทรงทั้งในรูปของภาพยนตร์-ละครโทรทัศน์ หรือกระทั่งคำสรรเสริญยกย่องนวนิยายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ‘ คำพิพากษา ‘ ในความหมายนี้คือการตัดสิน ‘ โทษตาย ‘ ที่ชาวบ้าน ชุมชน และระบบศีลธรรมหยิบยื่นแก่ฟัก หรือหากจะกล่าวในอีกทางหนึ่ง นี่เป็นคำพิพากษาที่ถูกผลิตซ้ำในความเข้าใจของผู้อ่านมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 26 ปี
เจตนา นาควัชระ ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งไว้ในบทวิจารณ์เดียวกันว่า ‘ เมื่อได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้วผู้อ่านเป็นจำนวนมากคงจะอดคิดเลยกรอบของเรื่องไปไม่ได้ว่า ผู้ที่อยู่นอกวรรณกรรมเรื่องนี้ก็กำลังตกเป็นจำเลยด้วยเช่นกัน เราควรจะถามตัวเองว่าใครกันแน่ที่กำลังถูก “ พิพากษา ” เราอาจจะอดคิดไม่ได้ว่าผู้ประพันธ์เรื่องนี้ออกจะเป็นคนที่โหดเหี้ยม เพราะในโลกแห่งจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นมาครอบเราในฐานะผู้อ่านนั้น เขาเร่งเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไปถึงจุดที่เราต้องยอมรับว่า พรุ่งนี้ก็วันสุดท้ายของโลกแล้ว 2’ เจตนาอาจจะไวต่อความรู้สึกมากเกินไปที่มองว่าจุดจบที่ทารุณของคำพิพากษาเป็นวันโลกาวินาศที่เคลื่อนเข้ามา ท่านต่อเส้นเชื่อมระหว่างคำว่า ‘ คำพิพากษา ‘ ไปสู่ ‘ วันพิพากษา ‘ ของชาวคริสต์ อย่างไม่ลังเลใจ โดยส่วนตัวถึงชาติ กอบจิตติจะไม่ได้วาดภาพของโลกไว้สวยงามสว่างไสว ทว่าก็ไม่ได้มืดมนหดหู่ใจไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยการมองโลกในแง่ร้ายแบบชาติก็ยังเป็นสิ่งที่อธิบายได้ ยิ่งถ้าเรามองเห็นเหตุผลในการสร้างชะตากรรมแบบฟักและนางสมทรงขึ้นมาก็ยิ่งชัดเจนว่า ความตายถือเป็นความกรุณาของชาติที่ส่งยื่นแก่ฟัก หรือการเผาศพเพื่อทดลองเครื่องจักรกลชิ้นใหม่ ก็เป็นการจบอย่างเคร่งครัดมีระเบียบแบบแผน
สิ่งที่บทวิจารณ์ของเจตนาลืมที่จะวิจารณ์ หรืออย่างน้อยท่านก็ได้มองข้ามไปง่ายๆ ก็คือ ไม่มีใครบนโลกนี้ที่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้การติดตามไล่งับความคิดของสังคมเหมือนอย่างเช่นที่ซอเรน เคียร์เคอการ์ด 3 กล่าวไว้ ในหนังสือ Fear and Trembling ว่า ‘ จุดเริ่มของระบบศีลธรรมนั้นก็ไม่ได้มาจากการขจัดหรือระงับการกระทำที่ชั่วร้าย หากมันเริ่มต้นจากการนิยามความชั่วร้าย ‘ พูดให้ง่ายระบบศีลธรรมเป็นผู้สร้างความชั่วร้ายขึ้นมาในสังคม และฟักก็ไม่ใช่นักบุญหรือนักบวชอะไรเลย หากเป็นเพียงคนที่ไม่ยอมรับความจริง ความจริงที่ว่าเขาละเลยความรู้สึกแบบมนุษย์ ความผูกพันที่นางสมทรงมีต่อเขา ความสัมพันธ์ของฟักกับสมทรงที่จริงแล้วก็คือลักษณะของคู่ชีวิตแบบหนึ่ง (จะมีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่มีก็ตามแต่) ระหว่างที่ชาวบ้านและชุมชนทำให้ฟักกลายเป็นอื่น ฟักก็ทำให้นางสมทรงเป็นอื่นไปด้วยคำตัดสินว่านางเสียสติ ซึ่งนั่นหมายความว่าฟักก็ไม่ได้ต่างไปจากคนอื่นๆ เลย (กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต) เพียงแต่ระบบศีลธรรมที่อยู่กับตัวเขาไม่สามารถทำให้คนอื่นเชื่อว่าเขาเป็นส่วนหนึ่ง และคนอื่นก็ไม่ควรเชื่อ เพราะฟักได้ถูกชาติถีบส่งไปยืนอยู่ปลายแถว ด้วยการทำให้ฟักตกอยู่ใต้อาณัติของความเมา คนเมากับคนบ้าในเรื่องนี้มีสถานะเทียบเท่ากัน เพียงแต่คนบ้าอาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใด ขณะที่คนเมาเมื่อกระทำสิ่งใดแล้ว เขาหรือเธอจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น หากในช่วงท้ายๆ ของชีวิตฟักเคยสร่างเมานานที่สุดแค่ไหนกัน ?
ความรุนแรงหรือความน่าเศร้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มาจากชะตาชีวิตที่ดิ่งต่ำของฟัก การถูกข่มเหงรังแกโดยชุมชน หรือความล้มเหลวไม่เป็นท่าของระบบศีลธรรม หากเป็นเพราะศิลปะการจัดวางของชาติต่างหากที่ทำให้สังคมมนุษย์ในเรื่องคำพิพากษามีลักษณะเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง เหมือนอย่างที่สัปเหร่อไข่พูดกับฟักว่า ‘ ถ้าจับคนในตำบลมายืนเรียงแถวกันตามฐานะหน้าตาในตำบล ข้าคงต้องอยู่ท้ายแถววันยังค่ำ เพราะข้าเป็นคนต่ำต้อย เป็นแค่สัปเหร่อ แต่ตอนนี้สิ เอ็งกับข้ามันก้ำกึ่งกันอยู่ ว่าใครจะยืนอยู่ท้ายแถวกันแน่ ‘ ( น. 149)
การพิพากษาเป็นคำที่ประกอบขึ้นด้วยความสัมพันธ์สองด้าน ระหว่างการพิพากษาผู้ใดผู้หนึ่ง กับการถูกผู้ใดผู้หนึ่งพิพากษา (เป็นการกระทำและถูกกระทำ) แน่นอนความสัมพันธ์ระหว่างสองด้านของการพิพากษาเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง และมันยิ่งถ่างขยายให้ผลลัพธ์จากการพิพากษา (หรือการถูกพิพากษา) รุนแรงมากขึ้นด้วยความเหลื่อมล้ำที่ถูกกำหนดขึ้น สังคมรอบข้างฟัก วัด โรงเรียน หรือชุมชน ไม่ได้วิปริตหรือผิดปรกติเหมือนอย่างที่เจตนากล่าว หากการยอมรับบทบาทในละครแห่งความเหลื่อมล้ำอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่างหากที่เป็นความวิปริตหรือผิดปรกติของเรื่องราวในคำพิพากษาของชาติ
เมื่ออ่านคำพิพากษาของชาติ กอบจิตติแล้ว หลายท่านคงนึกไปถึงนวนิยายเรื่องคดีความ ( Der Proze?) ของฟรันซ์ คาฟคา ตรงที่ก็เป็นเรื่องของบุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ทั้งที่ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวสามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าความผิดที่ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร คดีความเปิดเรื่องขึ้นในเช้าวันหนึ่ง วันที่สมุห์บัญชีธนาคาร โยเซฟ คา มีอายุครบสามสิบปีพอดี ชายแปลกหน้าบุกเข้าจับกุมคาในห้องนอนของเขาด้วยคดีที่เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
เจ้าหน้าที่ (ที่คาฟคาเรียกว่า ยาม) นั้นไม่ได้นำตัวคาไปในทันที เพียงแต่ทำการนัดแนะกับเขาว่าคาต้องไปรับฟังการไต่สวนเมื่อใด การไต่สวนคดีครั้งแรกถูกจัดขึ้นในสถานที่ที่ดูไม่เหมือนจะเป็นศาล ผู้พิพากษาสอบสวนเหมือนกับจะเป็นที่ถูกคารุกเร้าโจมตีด้วยคำพูดมากกว่าจะทำหน้าที่ไต่สวนคดีว่า ‘ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการจับกุมผมและการสอบสวนในวันนี้จะต้องมีองค์กรใหญ่องค์กรหนึ่งเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง มันเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความสกปรก ‘ ( น. 71)
แม้การไต่สวนครั้งนี้จะไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่คดีของคาแต่อย่างใด แต่มันก็เป็นจุดเริ่มของเรื่องราวประหลาดที่ติดตามมา คาเดินทางไปฟังคำสอบสวนอีกครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ถัดไป แต่เขากลับพบเพียงห้องประชุมที่ว่างเปล่า ? ที่น่าแปลกก็คือคาพบว่าหนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะผู้พิพากษากลับไม่ใช่หนังสือทางด้านกฎหมายหากเป็นหนังสือที่มีภาพลามกและนิยาย
ลักษณะเฉพาะในงานเขียนชิ้นนี้ของคาฟคา (ที่ถือได้ว่ามีความแตกต่างจากงานประพันธ์อื่นๆ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน) ก็คือการทำให้เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์เชื้อชวนให้รู้สึกกังวลสงสัย หรือหวาดระแวงได้แทบจะตลอดเวลา เหมือนอย่างเช่นตอนที่คาเข้าไปในห้องประชุมแล้วพบว่าไม่มีการไต่สวน ครู่ต่อมาภรรยาของภารโรงก็เข้ามาตีสนิท กระทั่งยั่วยวนเขาด้วยการถลกขาอ่อนเพื่อโชว์ถุงน่อง (ที่ผู้พิพากษาสอบสวนคดีมอบให้) ให้คาดู
ผู้คนที่รายล้อมตัวคาเหมือนไม่ได้อยู่ในโลกที่ปรกติ หรือที่จริงการไต่สวน และบุคลากรเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับคดีแทบทั้งสิ้นนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีสถาบันเป็นหลักแหล่งตายตัว อย่างห้องประชุมที่ดูเหมือนใช้พื้นที่ร่วมกันกับห้องซักรีด ห้องใต้หลังคาที่กลายเป็นสำนักงานศาล หรือในตอนที่ยามที่บุกเข้ามาจับกุมคาในตอนต้นเรื่องถูกลงโทษโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า สถานที่ที่ใช้ลงโทษก็เป็นห้องเก็บของในธนาคารของคา หรือกระทั่งลานประหารอันเป็นสถานที่จบชีวิตของคาก็เป็นเพียงแค่ลานระเบิดหิน
ตัวละครต่างๆ ที่โผล่เข้ามาและจากไปอย่างไม่มีเงื่อนงำ อย่างลุง (ที่คาเรียกท่านว่า ‘ ปิศาจชนบท ‘ เพราะลุงได้ย้ายออกจากตัวเมืองไปพำนักพักพิงที่ชนบทได้เป็นเวลายี่สิบปี) ก็ดูเหมือนมีขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนทางด้านจิตสำนึกของชาติตระกูลมากกว่าจะเป็นตัวละครจริงๆ (เพราะเราจะเห็นว่าความพยายามช่วยเหลือของลุงทั้งหมดเป็นไปก็เพื่อให้คาไม่ต้องแพ้คดี ซึ่งนั่นเท่ากับว่าคาได้ทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล) หรือตัวละครผู้หญิงที่มีบุคลิกตีสองหน้าอย่างเลนี , ภรรยาของภารโรง หรือบืร์สเนอร์พนักงานพิมพ์ดีดสาว (ที่ต้นเรื่องคาแสดงออกว่าสนใจในตัวเธอ) ก็เป็นตัวแทนของกลไกปรารถนาที่อยู่ในตัวคา
ผิดก็แค่ความปรารถนานั้นมักจบลงที่ความรู้สึกของคาที่ว่าเขากำลังถูกหลอก ไม่ว่าการวิเคราะห์แบบแยกส่วนในลักษณะนี้จะเป็นผลผลิตของ ‘ คาฟคาวิทยา ‘ แบบที่มิลาน คุนเดอราได้กล่าวไว้ในเชิงเหน็บกัด หรือไม่ก็ตาม แต่เราก็จะเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในเรื่องคดีความมีลักษณะเชิงกล 4 อยู่ไม่น้อย อย่างเช่นกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทำงานแบบจักรกล เป็นจักรกลของระบบราชการที่ฟันเฟืองแต่ละอัน มีขั้นตอน และลำดับชั้นชัดเจนตายตัว เป็นระบบที่ทำงานด้วยปูนบำเหน็จและการเฆี่ยนตี ความเป็นเชิงกลในระบบปรัชญาอธิบายว่า สิ่งต่างๆ ที่กำเนิดมาหรือสิ้นสุดลง ล้วนถูกกำหนดมาแล้ว (ด้วยความเป็นสาเหตุและผลลัพธ์) คดีความของคาจึงมีคำตัดสินรออยู่ก่อนแล้ว เหมือนอย่างถ้อยคำหนึ่งที่ว่า ‘ การดำเนินคดีไม่เพียงจะไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเท่านั้น หากยังไม่เป็นที่เปิดเผยสำหรับตัวผู้ต้องหาอีกด้วย ‘ ( น. 156) การไต่สวนที่ผู้ต้องหาหรือทนายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่กระบวนการไต่สวนเพื่อตัดสินจริงๆ หากเป็นละครหน้าม่านก่อนที่การพิพากษาจะเปิดฉากขึ้น
ในบทก่อนสุดท้ายซึ่งเป็นเหมือนบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดคาฟคาใช้การโต้ตอบกันระหว่างคาและบาทหลวง (ที่อ้างตัวว่าเป็นคนของศาล เหมือนเช่นที่ชายวาดภาพทิโทเรลลี เด็กๆ และคนอื่นๆ อ้าง) เป็นตัวเปิดประเด็นความคิดทั้งหมด ด้วยการยกเอาบทนำของกฎหมายที่เป็นนิทานเปรียบเทียบมาเล่าความตอนนี้มีอยู่ว่า “‘ ทุกคนต้องการเข้าถึงกฎหมาย แต่ทำไมในระยะเวลาหลายปีมานี้ถึงไม่มีใครเรียกร้องสิทธิ์นี้นอกจากผม ‘ คนเฝ้าประตูรู้ว่าชายคนนี้กำลังจะถึงจุดจบของชีวิต เขาจึงตะโกนดังๆ เพื่อให้ชายชราได้ยิน เพราะหูตึงไปแล้ว ‘ ไม่มีใครคนอื่นสามารถผ่านประตูนี้เข้าไปได้หรอก เพราะประตูนี้มีไว้สำหรับแกคนเดียวเท่านั้น ฉันจะไปเดี๋ยวนี้ และจะปิดประตูด้วย ‘” ( น. 294) คาถูกนำตัวไปประหารหลังจากการไต่สวนคดีของเขาดำเนินไปได้หนึ่งปีเต็ม ซึ่งก็ตรงกับวันครบรอบวันเกิดปีที่สามสิบเอ็ดพอดี ถ้อยคำสุดท้ายที่หลุดจากปากของคาออกมาคือ ‘ เหมือนสุนัขตัวหนึ่ง ‘ ( น. 303) การเปรียบกับสุนัข นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก คามักจะใช้คำว่า ‘ สุนัข ‘ อยู่หลายหนในการเปรียบเปรยกับการตกอยู่ในสภาพที่ทุเรศทุรัง
หากเปรียบเทียบกันแล้ว บริบทแวดล้อมรอบตัวคานั้นวิปริตแปรปรวนกว่าสังคมของฟักในคำพิพากษา อย่างไม่ต้องสงสัย องค์ประกอบต่างๆ ในเรื่องถูกโยงเข้ากับคดีความ โลกของฟรันซ์ คาฟคาถูกเปลี่ยนเป็นฝันร้ายหรือเรื่องน่าสะพรึงกลัวได้ง่ายๆ ด้วยการเพิ่มหรือลดทอนอะไรก็ตามที่เราเคยรับรู้ในโลกความเป็นจริง (ในคดีความเราจะการร้อยรัดระหว่างจักรกลกฎหมาย ราชการ ศาสนจักร หรือกระทั่งธุรกิจการเงินราวกับระบบประสาทที่เชื่อมโยงถึงกัน)
แม้จุดจบของตัวเอกทั้งคาและฟักคือความตาย แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองคือเป็นเหยื่อ หรือไม่ก็เกลียดกลัวความสะเทือนใจและท่าทีสงสารตัวเอง (แบบเดียวกับฟักในคำพิพากษา) ไม่ใช่เพราะคามีฐานะทางสังคมที่ดีกว่าฟัก ทว่าเป็นท่าทีหรือมุมมองต่อ ‘ คดีความ ‘ ซึ่งถูกส่งมายังคนทั้งสอง อย่างที่ไม่มีใครรู้ตัวมาก่อนล่วงหน้า
1 ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ (น. 75)
2 อ้างแล้ว (น. 76)
3 S?ren Kierkergaard (1813-1855) นักปรัชญา-เทววิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้ที่ทำการโจมตีนักเทววิทยาทั้งหลายที่พยามเปลี่ยนศาสนาไปสู่ระบบวิธีคิดในแบบที่เป็นเหตุเป็นผล ถ้อยคำที่ยกมาจาก Fear and Trembling อาจฟังดูขัดแย้งในความเป็นคริสเตียนของเขา แต่เขาพูดเช่นนี้ก็เพื่อยืนยันหรือสนับสนุนความเชื่อ ความเชื่อที่ก้าวข้ามกรอบเกณฑ์ทางศีลธรรม ในหนังสือเล่มนี้เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาตอนหนึ่งในบทปฐมกาลที่อับราฮัมถูกทดสอบโดยพระเจ้าให้เขานำเอาตัวอิสอัคบุตรชายไปสังเวยพระองค์
4 นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสจิลส์ เดอเลอซ ( Gilles Deleuze) ได้ทำการวิเคราะห์ให้เห็นลักษณะเชิงกลที่อยู่ในงานของคาฟคาออกมาได้อย่างน่าสนใจ เดอเลอซมองว่า ‘ กฎหมาย ‘ ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถจะ ‘ รู้ ‘ ได้ด้วยตัวเราเอง การรู้กฎหมาย (ที่ไม่ใช่การจำ) ในความหมายของคาฟคาคือ ‘ ทางตัน ‘ หรือพูดให้ง่าย เราจะรู้กฎหมายก็เมื่อเราถูกลงโทษด้วยกฎหมาย แบบเดียวกับเรื่องสั้นแดนลงทัณฑ์ของคาฟคา ที่เป็นภาพของเครื่องลงโทษที่จารึกตัวอักษรลงไปบนร่างของผู้กระทำผิดก่อนจะทำการประหาร
——————————————————————————–
ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย