Half a Life เราไม่สามารถเป็นใครอื่นได้นอกจากตัวเราเอง

Half a Life เราไม่สามารถเป็นใครอื่นได้นอกจากตัวเราเอง
Text : กิติคุณ คัมภิรานนท์
อ้างอิง : Half a Life “ครึ่งทางชีวิต”, V.S. Naipaul, จงจิต อรรถยุกติ : แปล, นานมีบุ๊คส์, 2547

วิลลี่ จันดราน คือเด็กชายที่เกิดมาในยุคที่ประเทศอินเดียตกอยู่ใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ตระกูลของเขาเป็นตระกูลพระ วิลลี่มีปู่ผู้หนีจากความล่มสลายของชุมชนวัดบ้านเกิด ไปสู่การเป็นพนักงานเขียนจดหมายในวังของมหาราชา มีพ่อผู้สับสนกับตัวเอง ผู้ที่ในตอนแรกหันหลังให้บรรพบุรุษ หันหลังให้กับการรับราชการกับองค์มหาราชาและการแต่งงานกับลูกสาวอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัย ลดฐานะลงไปแต่งงานกับสาวในวรรณะล้าหลัง เพียงเพื่อต้องการใช้ได้ว่าเป็นวีรบุรุษที่ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้น แต่แล้วเมื่อเรื่องราวใหญ่โตขึ้นถึงชั้นศาล เขาจึงต้องหนีกลับไปสู่ความเป็นนักบวช ที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความสันสนและงุนงงต่อการกระทำของตนเอง
วิลลี่เกิดมากลางบุคคลแวดล้อมเช่นนี้ จึงไม่แปลกกระมัง ถ้าเขาจะรู้สึกเกลียดพ่อ ลามเลยไปถึงเกลียดต้นกำเนิดของตนเอง ด้วยความต้องการหลีกหนีจากต้นกำเนิดอันไม่น่าภาคภูมิของตน วิลลี่ตัดสินใจเดินทางออกจากอินเดียไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนที่ไม่นานต่อมา เขาจะได้ค้นพบอาชีพที่สามารถสนองตอบความต้องการบิดเบือนชาติกำเนิดของตัวเขาเองได้ อาชีพนั้นคือนักเขียน

วิลลี่เขียนหนังสือจนมีผลงานออกเผยแพร่สู่สาธารณชน (แน่นอน งานของเขาที่เขาเขียนถึงตัวเอง หาใช่ความจริงไม่) และเป็นผลงานของเขานี่เอง ที่ได้นำพาหญิงสาวชาวแอฟริกาใต้มาติดพันเขา หญิงสาวบอกว่าเธอหลงใหลงานเขียน (อันเป็นเท็จ) ของเขา จากการพบกันในครั้งนั้น ได้นำพาครั้งสองไปสู่การคบหาอย่างจริงจัง ก่อนจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงการที่วิลลี่ตัดสินใจหนีจากอังกฤษ ไปอยู่กับหญิงสาวที่แอฟริกาใต้ บ้านเกิดของเธอ
วิลลี่ตั้งใจจะลงหลักปักฐานที่แอฟริกาใต้ แต่ชีวิตในแต่ละวันของเขากลับผ่านไปอย่างว่างเปล่า เขาเลิกเขียนหนังสือ ทั้งๆ ที่ความจริงเขาก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรให้ทำ เหมือนดังว่าผืนแผ่นดินแอฟริกาใต้ได้สาปให้เขากลายเป็นคนว่างเปล่าอย่างนั้น ก่อนที่ในที่สุด ความว่างเปล่าจะนำเขาไปสู่การปลดปล่อยทางเพศเอากับโสเภณี รวมไปถึงการลักลอบเป็นชู้กับเมียชาวบ้าน ซึ่งนำไปสู่รอยร้าวในใจระหว่างเขากับภรรยา ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะยุติลงที่วิลลี่หนีออกจากแอฟริกาใต้อีกครั้ง…

ทั้งหมดคือเรื่องราวของ Half a Life (2001) หรือชื่อภาษาไทยว่า ครึ่งทางชีวิต ผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลปี 2001 ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย เซอร์ วิดิยาธาร์ สุราชประสาท ไนพอล (Sir Vidiadhar Surajprasad Naipaul) หรือที่ในโลกวรรณกรรมคุ้นปากว่า วี.เอส. ไนพอล (V.S. Naipaul)
อ่าน Half a Life จบลง ผู้อ่านน่าจะเห็นภาพร่วมกันอย่างหนึ่ง คือภาพของการหนี เป็นการหนีของคนในตระกูลของวิลลี่ จันดราน ไล่มาตั้งแต่ปู่ ที่หนีจากความเป็นพระ เพราะกลัวอดอยาก มาสู่ความมีอันจะกินในฐานะพนักงานของมหาราชา พ่อของวิลลี่ ที่หนีทางชนชั้น ลงไปแต่งงานกับสาวชนชั้นล้าหลัง เพียงเพื่อจะต้องหลบหนีโทษทัณฑ์โดยการกลับไปเป็นนักบวช มาจนถึงตัวของวิลลี่ ที่พยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกลี้จากต้นกำเนิดของตน ทั้งโดยการหนีในมิติของรูปธรรม (จากอินเดียสู่อังกฤษ, จากอังกฤษสู่แอฟริกาใต้ ฯลฯ) และการหนีในมิติของนามธรรม (การเขียนหนังสือบิดเบือนชีวิตตัวเอง) ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า หากมีหนทางหนีอื่นใดมากกว่านี้ วิลลี่ก็คงจะทำทุกทางเท่าที่มี
กระนั้น ในครึ่งทางของชีวิต วิลลี่ก็ได้ค้นพบว่า ไม่ว่าเขาจะพยายามมากแค่ไหน เขาก็หนีความเป็นวิลลี่ของตัวเองไม่พ้น ดังตัวบทที่ว่า

“…เราไม่สามารถเป็นใครอื่นได้นอกจากตัวเราเอง พร้อมด้วยหัวใจและหัวคิดที่ติดมาแต่แรกเกิด…”

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การพยายามปฏิเสธต้นกำเนิดของตัวเอง (ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็คือการปฏิเสธ ‘ตัวตน’ ของตัวเอง) ไม่ได้นำอะไรมาสู่วิลลี่เลย นอกจากความไม่เป็นสุข และความไม่สงบ ซึ่งเขาคงจะไม่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ หากเขา ‘รู้เฉพาะในสิ่งที่มี และพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้’
กล่าวง่ายๆ ได้ว่า พอใจในสิ่งที่มีและที่เป็น เพราะตัวการปัญหาในเรื่องนี้ไม่ใช่ระยะทางหรือวัตถุใด หากแต่อยู่ที่ใจ เมื่อใจไม่พอ ใจก็ไม่สุขสงบ
เชื่อว่า วิลลี่ จันดราน รู้ซึ้งถึงภาวะนี้เป็นอย่างดี

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...