ถึงเวลานินทาคนตาย เมื่ออ่าน โลกหมุนรอบตัวเอง และ นิทานประเทศ

และแล้วก็ได้เวลา…นินทาคนตาย…เมื่ออ่าน “โลกหมุนรอบตัวเอง” และ “นิทานประเทศ” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ / สำนักพิมพ์นาคร

ด้วยคอลัมน์แนะนำหนังสือในสื่อต่างๆของเราไม่ว่าเป็น http://www.HiclassSociety.com หรือ http://www.artbangkok.com  ทำให้ดิฉันได้ผ่านตาหนังสือดีหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือวรรณกรรมคุณภาพจากสำนักพิมพ์นาคร ที่มีส่วนผสมอันเข้มข้นก็คืองานของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นหนึ่งใน ‘ใบสั่ง’ ส่วนตัว ที่ดิฉันจะต้องหยิบมาอ่านจริงจังเสมอ ท่ามกลางหนังสือมากมายที่หลายสำนักพิมพ์ส่งมาแนะนำ

ดิฉันไม่เคยรู้จักกับกนกพงศ์ เท่าที่จำได้ เราไม่เคยแม้แต่จะสบตาหรือเดินเฉียดกันในงานไหนๆ แม้ว่าชื่อเสียงของเขาจะโด่งดังมานานตั้งแต่สมัยที่ยังมีลมหายใจ และทำท่าจะโด่งดังเป็นอมตะหลังความตาย แต่งานเขียนนั้นก็คล้ายกับอาหารกับเสื้อผ้าตรงที่เราเลือกสรรมันด้วยรสนิยม หรือความชอบส่วนตัว นอกเหนือจากความจำเป็นที่จะต้องบริโภค

วรรณกรรมในสไตล์ของกนกพงศ์ ไม่ต้องรสนิยมดิฉัน ซึ่งเป็น “ชนชั้นกลวง” ไม่มีแก่นสาร ไม่จริงจัง ไม่ลึกซึ้งจดจ่อหรือมอบความศรัทธาแรงกล้าจริงจังให้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานๆ

แต่ด้วยสัญชาตญาณที่ติดตัวมาจากไหนไม่ทราบ ซึ่งดิฉันคิดเอาเองว่าเป็นสัญชาตญาณของนักอ่านหรือสันดานบก. ที่กำหนดให้เราต้องอ่านหนังสือดี ดิฉันจึงอ่านหนังสือของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ทางนาครส่งมาเกือบทุกเล่ม และไม่เคยมีเล่มใดที่เราผิดหวังกับคุณภาพ ไม่ว่าจะเราจะชอบมากหรือชอบน้อย

ล่าสุดก็คือ นิทานประเทศ และ โลกหมุนรอบตัวเอง ซึ่งเฉลยให้ดิฉันได้ข้อสรุปว่าเหตุผลที่ไม่ถูกรสนิยมกับงานเขียนชั้นเลิศของสุดยอดนักเขียนซีไรต์ที่ชื่อ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้ล่วงลับนั้น มีอยู่ 2 ประการ

ประการแรกก็คือ การสร้างตัวละครที่เป็นตัวเอกเพศชายแทบทุกเรื่องให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า เป็นตัวตนหรือบุคลิกของผู้เขียน ซึ่งเป็นคนหนุ่มมาดเท่ เป็นทั้งคนดีมีอุดมการณ์ควบคู่ไปกับการเป็นหนุ่มเซ็กซี่ตลอดกาล ที่มองเพศตรงข้ามด้วยสายตาเจ้าชู้โลมเลียอยู่เสมอ  ขณะที่หญิงวัยทองลูกสองผัวหนึ่งที่พอจะรู้จักโลกมาบ้างอย่างดิฉันนั้น ผ่านพ้นช่วงเวลาสิเนหาผู้ชายลักษณะแบบนี้มานานแสนนานแล้ว บุคลิกของพระเอกที่ฉันอยากอ่านจึงค่อนมาทางฝ่ายตัวร้ายของเรื่อง ซึ่งมักจะได้รับบทนายทุนหรือตัวโกงที่มาเอาเปรียบชาวบ้าน ไม่ใช่ศิลปินผมยาวฝ่ามือหยาบกร้านผู้ยึดติดแน่นเหนียวไม่ยอมปล่อยวางกับกางเกงยีนส์ลีวายส์ริมแดงริมเขียว

ประการที่สองก็คือฉาก เป็นเรื่องจริงที่สาระของวรรณกรรมและศิลปะทุกแขนงในโลกนี้ไม่เคยก้าวล่วงพ้นเรื่อง รัก โลภ โกรธ หลง เพียงแต่ฉากที่ห่อหุ้มเรื่องราวเหล่านี้ไว้เท่านั้นจะมีความแตกต่างกัน ผู้คนในที่ต่างกันก็เลือกบริโภคสาระซ้ำซาก ผ่านฉากในแบบที่ต้องรสนิยมของเรา และช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ฉากส่วนมากในการเล่าเรื่องของกนกพงศ์ ล้วนเป็นฉากแบบที่ดิฉันไม่โปรด นั่นคือจะต้องมีกลิ่นดินกลิ่นโคลนกลิ่นสาบ บ่งบอกถึงดินแดนในชนบท เรื่องราวของชาวบ้านชาวป่า ชาวสวน คนยากคนจน คนถูกเอารัดเอาเปรียบ คนเจ็บ คนเศร้า (น่าแปลกที่ ชาวเรือตังเก ของ ประชาคม ลุนาชัย ชาวบ้านลูกอีสานของ คำพูน บุญทวี หรือ ชาวบ้านฝรั่ง ของ ปาป้า เฮมมิ่งเวย์ ไม่เคยให้ความรู้สึกแบบนี้)

ฉากของกนกพงศ์มีแต่ความหม่นหมองเปื้อนเปรอะอยู่ทุกแห่งหน และเขาก็เป็นอัจฉริยะในการใช้ภาษามาก…เสียจนวาดภาพระบายสีสันให้เราพลอยอึดอัดไปด้วย กับบรรดาหนุ่มสาวที่มีฝันอันยิ่งใหญ่แต่ร่างกายมอมแมมที่เบียดอัดกันอย่างเหนอะหนะในหอพักโทรมๆแคบๆที่ไหนสักแห่ง

ไม่ว่าคนอ่านจะรักหรือเกลียดฉากแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่า…กนกพงศ์เป็นนายของภาษาโดยแท้ บางเรื่องเขาบรรยายได้ดี ไม่ใช่แค่เห็นภาพ…แต่ถึงขั้นอ่านแล้วได้กลิ่นเหล้าบุหรี่ ปนกลิ่นฉุนรักแร้ของคนไม่อาบน้ำ ผสมรสเปรี้ยวผะอืดผะอมของกาแฟที่ทิ้งไว้ในถ้วยนานจนเย็นชืด หรืออาจจะมีใครแอบเขี่ยบุหรี่ลงไป ลอยออกมาเลยทีเดียว

ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความผิดอะไรของกนกพงศ์ ที่อยากจะบอกเล่าเรื่องราวผ่านฉากแบบนั้น และไม่ได้เป็นความผิดอะไรของดิฉันที่บังเอิญไม่ชอบ แต่อคติที่มักจะพลาดพลั้งติดมากับฉากทำนองนี้เสมอ ก็คือ ‘ความเชย’ ที่มักยัดเยียดให้คนรวย คนเมือง หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ตกเป็นจำเลยสำหรับเคราะห์กรรมอันแสนเศร้าหรือชวนสังเวชในเรื่องราวของเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งที่ทำร้ายมนุษย์ทุกชนชั้นให้ตกอยู่ในห้วงทุกข์โดยส่วนมาก ก็คือกิเลสตัณหาและความเขลาของเราเอง

กนกพงศ์อาจจะรู้เห็นเรื่องราวต่างๆในซีกโลกส่วนของเขามาเยอะแยะ และอาจทำให้คนอ่านตั้งความหวังเกินไปว่า เขาจะเป็นเทวดาผู้หยั่งรู้และเข้าใจทะลุปรุโปร่งไปหมดสิ้น แม้แต่ในโลกอีกหลายซีกส่วนที่เขาไม่เคยก้าวล่วง ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับนักเขียนใหญ่ทั้งหลายที่จะต้องแบกรับความคาดหวังทำนองนี้

กระนั้น…ดิฉันก็ยังพาลคิดร้ายๆต่อไปว่า หากกนกพงศ์ยังมีชีวิตอยู่ ถึงวันที่สังคมไทยเรากำลังวิปริตอย่างน่าดูชม ด้วยบารมีและบุคลิกแบบผู้นำทางความคิดที่เขาเลือกสวมใส่ อาจมีพรรคการเมืองมาชวนเขาไปร่วมงาน และหากเขาบังเอิญจังหวะชีวิตนำพาเขาให้กลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงอื่นๆ ด้วยประสบการณ์ใหม่จากซีกโลกส่วนนั้น กนกพงศ์จะมีฉากใหม่ที่แตกต่างกว่านี้มาเล่าให้เราฟังไหม ถ้าเขาทำได้ ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดี แต่ถ้าเขายัง “รักษาแบรนด์” ด้วยการพยายามเขียนอะไรแบบชายขอบต่อไป เหมือนที่พี่แอ๊ด คาราบาว ผู้นิยมร้องเพลงด่านายทุนเปลี่ยนฐานะมาเป็นนายทุนเสียเองในวันนี้ ผลงานของเขาก็ควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศิลปะบริสุทธิ์” ในพจนานุกรมของดิฉัน…คือศิลปะเกิดจากอัจฉริยภาพล้วนๆโดยไม่เจือปนตัวตนหรือจิตวิญญาณของศิลปิน ออกมาด้วย  ประดุจว่างานศิลป์นั้น เป็นผลงานของพระเจ้าที่ถูกส่งผ่านมือของเราออกมา ไม่ได้แปดเปื้อนอันใดกับสิ่งสกปรกในความเป็นเรา เช่นเดียวกับงานเขียนเชิงสั่งสอนของผู้ชายโบราณมากชู้หลายเมีย ที่หาญกล้าลุกขึ้นมาเขียนสุภาษิตสอนหญิง นั่นแหละ …พฤติกรรมของเขาใช้ได้เสียที่ไหน

แต่ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจอย่างไร สิ่งน่านับถือในทุกตัวอักษรของนักเขียนหนุ่มตลอดกาลแห่งสำนักพิมพ์นาคร คือความสามารถในการบอกเล่าทุกอณูของเรื่องราวที่เขาอยากบอก ได้ถี่ยิบเหนือชั้นกว่าฟิล์มถ่ายหนังหรือกล้องวีดิโอหลายร้อยเท่า กนกพงศ์เป็นหนึ่งในสุดยอดนักถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุคสมัยที่เก็บรายละเอียดได้วิจิตรบรรจงอย่างหาตัวจับยาก เขาเป็นคนฉลาดมาก…มากจนดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ความตายในวัยหนุ่มของเขาอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่กนกพงศ์กำหนดไว้อย่างเหมาะเจาะ ทุกตัวอักษรของเขาจึงยังคงเปี่ยมด้วยพลังแห่งความเยาว์วัยอันจะดำรงอยู่ต่อไปเป็นอมตะ เพราะความที่เขาหลงรักจิตวิญญาณอันหนุ่มแน่นและลุ่มหลงในเสน่ห์ของตัวเองเสียเหลือเกิน จนไม่อาจยอมรับกับอนาคตที่จะต้องกลายเป็นผู้ชายแก่ๆ  ซึ่งยังไม่มีสิ่งใดการันตีว่าจะเขาได้รับบำนาญเป็นความสำเร็จในบั้นปลาย

เช่นเดียวกับเราทุกคน ที่ไม่เคยตอบได้ว่า จุดสูงสุดในชีวิตเรานั้นรออยู่ข้างหน้า หรือเราได้เดินผ่านมันไปนานแล้วและไม่มีวันที่จะหวนกลับไปหามันได้อีก
ไม่มีใครบอกได้ จนกว่าชีวิตจะจบลงแล้วเท่านั้น

และกนกพงศ์ ก็คงเลือกแล้ว…ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามว่า จุดสูงสุดในชีวิตของเขาจะต้องอยู่หลังความตาย … ด้วยมรดกที่เขาทิ้งไว้ให้ สำนักพิมพ์นาคร ผู้แสนขยันกับการผลิตหนังสือดีๆ ของเหล่านักเขียนที่ตายไปแล้ว ออกมารับใช้สังคมไทยต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

แม้ว่าเรากำลังเดินทางเข้าสู่ยุคสมัยที่คนไทยอ่านวรรณกรรมน้อยกว่าอ่านคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คก็ตาม!!

——————————————————————————–

ผู้เขียน : วีร์วิศ
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...