วรรณกรรมไทยล้วนสื่อถึงนามธรรมและรูปธรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ประพัพธ์โคลงโลกนิติ ไว้ใช้เป็นแง่คิดได้อย่างเป็นอย่างดี โดยอาศัยบนพื้นฐานความเป็นจริงและธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น “โคควายวายชีพได้ เขาหนัง เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้”
สัตว์อย่างโค กระบือ เมื่อตายไปแล้วยังทิ้งเขา กระดูก หนังไว้ให้ทำประโยชน์และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ใหญ่ที่ผมรักและเคารพนับถือ ท่านได้ไปเที่ยวงาน OTOP ที่เมืองทองธานี มีกลุ่มชาวบ้านนำงาช้างและเขากระบือมาจำหน่าย สลักเสลาเป็นรูปต่างๆ อาทิ ดอกจำปี กุหลาบ คุกกี้ ท่านได้กรุณาเปิดกรุใหม่ให้ชม ผมสะดุดตรงนกฮูกที่ทำจากเขากระบือ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือคนไทย เพราะในอดีตการแกะสลักเขากระบือจะมีเฉพาะประเทศในตะวันตก โดยเฉพาะสเปนที่นำเขากระทิงมาแกะสลัก เป็นที่ระลึกในงานวิ่งวัวกระทิง ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
“คนไทยส่วนมากยังติดกับค่านิยมเดิมๆว่าเครื่องประดับต้องเป็นเพชรและทองเท่านั้น ในความจริงแล้ว ทุกอย่างสามารถนำมาขึ้นบนตัวเรือนทองได้ หากแต่องค์ประกอบต้องลงตัว”
ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่ออกแบบเพื่อเป็นตุ้มหู เพราะเมื่อใส่บนหูแล้วแลดูนกฮูกสามารถขยับได้ คอลเลคชั่นนี้จึงนำเสนอเป็นวัสดุจากธรรมชาติทั้งหมดคือ เขากระบือ งาช้าง ประดับบนตัวเรือนทองคำ ออกแบบโดยอาศัยความเชื่อของชาวไต้หวันและฮ่องกงที่ว่านกฮูกเป็นสัตว์ที่มีพลัง นำมาซึ่งความโชคดี และงาช้างสื่อถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ และความทรงอำนาจ เรียกได้ว่ารวมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่
ออกแบบและเรียบเรียง : Porsche Kittisak K นายกิตติศักดิ์ กันดิศาคุณานนท์