ผ่านไปอย่างงดงาม และสุดประทับใจกับการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย “ขาวดำ” (Black and White”) ของคณะพิเชษฐ กลั่นชื่น ดานซ์ คัมพะนี (Pichet Klunchun Dance Company) คณะนาฏศิลป์ร่วมสมัยของไทย ที่ได้รับเชิญให้ไปเปิดการแสดงที่ต่างประเทศมากครั้งที่สุด
ซึ่งได้จัดการแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล จุฬาฯ โดย ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการ World Performances @ Drama Chula
การแสดงชุด “ขาวดำ” ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพการต่อสู้ของตัวละครในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง โดยนำเสนอความพยายามอย่างยิ่งยวดของมนุษย์ที่จะรักษาสมดุลระหว่างความดีและความชั่ว เพื่อค้นพบความสุขสันติในใจ ประกอบการบรรเลงกู่ฉิน (guqin) สดโดยศิลปินชาวจีน หวู่ นา (Wu Na) ออกแบบแสดงโดยศิลปินญี่ปุ่น มิอุระ อะซาโกะ (Miura Asako) ลีลาการแสดงร่วมสมัยและการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ผสมผสานระหว่างความร่วมสมัยและความละเอียดอ่อนของนาฏยศิลป์ไทยชั้นสูง
การแสดงชุด “ขาวดำ” ได้รับทุนสนับสนุนจาก เอสพลานาด (Esplanade—Theatres on the Bay) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์ศิลปะการแสดงที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค และคณะพิเชษฐ กลั่นชื่น ดานซ์ คัมพะนี ได้มีโอกาสไปสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ที่สิงคโปร์อยู่เป็นระยะเวลา 1 เดือน และเปิดแสดงงานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกในเทศกาล da:ns festival 2011 ที่โรงละครเอสพลานาด และได้รับเชิญให้ไปแสดงที่ Noorderzon Performing Arts Festival เมืองโกรนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Zürcher Theater Spektakel เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้ว แต่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ประเทศไทยมาก่อน จนกระทั่งครั้งนี้
ส่วนในกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่านักเต้นนุ่งน้อยห่มน้อยเต้นท่าโขน ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายจากการแสดงอาจจะขัดกับพระราชบัญญัติวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังจะเสนอผ่านสภาฯนั้น อาจารย์พิเชษฐอธิบายว่า “จริง ๆ แล้วท่าเต้นมันถูกพัฒนามาจากภาพจับ ซึ่งเป็นภาพเขียนในจิตรกรรมฝาผนัง เพราะว่าเทคนิกที่ใช้ทั้งหมดในเรื่อง “ขาวดำ” พูดก็ถึงเรื่องความสมดุล ผมจึงนำการจับกันของลิงของพระของยักษ์ที่มันจะมีจับสองคน จับสามคน จับสี่คนที่ในรูปวาดพัฒนาต่อ ที่นี้เรื่องมันเกิดขึ้นแค่ประมาณหนึ่งนาทีในหัวสมองของคนสองคนเท่านั้น ไอ้ตัวที่ใส่กางเกงในตัวเดียวมันเป็นจินตนาการของความสมดุลที่เกิดขึ้นในหัวสมองของคน เพราะฉะนั้นนักเต้นจะต้องถูกทำให้เป็นศูนย์เหมือนอากาศธาตุ โดยหลักของศิลปะแล้วมันจะต้องทำให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คนที่วิพากษ์วิจารณ์เขาใช้กติกา ใช้หลักคิดแบบประเพณี แล้วก็ถืออำนาจว่าท่ารำทั้งหมดเป็นของเขา ใครจะเอามาทำอะไรไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหา แค่นั้นเอง แล้วก็ไม่ได้หมายความว่างานไทยไม่เคยเป็นแบบนี้นะ อย่างเช่น ถ้าเราไปดูในจิตรกรรมทางภาคเหนือก็จะเห็นว่าเขาใส่หยักรั้งขึ้นมาโป๊ ๆ เห็นก้น อีกอย่างงาน “ขาวดำ” นี้ก็อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและถูกวางไว้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการที่จะวิพากษ์วิจารณ์มัน ผมคิดว่าคงต้องใช้องค์ประกอบทางความรู้บ้างนะครับ”
อาจารย์พิเชษฐกล่าวว่าการที่งานชิ้นนี้จะมาจัดแสดงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก น่าจะมีการตีความที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่ต่างประเทศด้วย
“ผมทิ้ง “รามเกียรติ์” ซึ่งเป็นความคิดตั้งต้นเลยนะครับ หลังจากนั้นแล้ว “ขาวดำ” ที่เป็นความดีความชั่วผมก็ไม่ได้พูดถึงอีกต่อแล้ว จริง ๆ “ขาวดำ” ผมคิดว่าเป็นการนำเสนอทางออกอีกทางหนึ่งให้กับเหตุการณ์เก้าปีทางการเมือง สร้างสมดุลให้กับสังคม สองสิ่งนี้ต้องอยู่ด้วยกันแล้วหาความสมดุลให้ได้ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะพูดลงไปในงาน “ขาวดำ” ครับ”
พร้อมกันนี้เราได้บทสัมภาษณ์ อาจารย์พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร คนสำคัญของวงการนาฏศิลป์ร่วมสมัยไทย มาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแสดงชุดนี้
Q: งาน “ขาวดำ” ชิ้นนี้เป็นความคิดของอาจารย์ตั้งแต่แรกใช่มั้ยคะ แล้วก็นำความคิดไปเสนอที่โรงละครเอสพลานาด (Esplanade—Theatres on the Bay) ที่สิงคโปร์
A: ใช่ครับ จริง ๆ ความคิดที่จะทำงานชิ้นนี้มีมานานแล้ว นานกว่า “นิชินสกี้สยาม” (“Nijinsky Siam” ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกที่เทศกาล Singapore Arts Festival ประจำปี 2553) อีกครับ ประมาณปี 2552 แต่ที่เอสพละนาดไม่เห็นภาพว่าจะออกมาเป็นยังไง คือ ผมบอกว่าอยากทำงานประเพณีที่เป็นแบบใหม่ ทุกอย่างในเชิงเทคนิกมันจะเป็นสีขาวกับดำหมด แล้วมันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในเชิงเทคนิกการเต้นที่ถูกสร้างใหม่หมด
Q: เพราะเขานึกภาพนาฏศิลป์ไทยว่าจะต้องมีสีสันสวยงาม ค่อนข้างฉูดฉาดใช่มั้ยคะ
A: ใช่ครับ
Q: แล้วทำไมอาจารย์ถึงคิดว่าจะทำออกมาเป็นสีขาวกับสีดำเท่านั้นล่ะคะ
A: ผมมองไปในประเด็นของงานที่พูดถึงความดีกับความชั่ว ผมเลือกจับแค่ประเด็นหลัก ไม่ได้พูดหรือเล่าตัวเรื่อง “รามเกียรติ์” เพียงแต่ผมใช้รูปแบบของโขนมันมา ซึ่งตอนแรกที่เสนอไปก็ใช้นักแสดงมากอยู่
Q: แล้วทำไมไป ๆ มา ๆ ถึงได้ลดลงมาเหลือ 6 คนล่ะคะ
A: ผมรู้สึกว่าพอทำงานแล้ว มันเป็นเรื่องยากมากที่จะหาคน 20 คน มารองรับงานที่ผมสร้างได้ครับ
Q: อย่างเรื่อง “นิชินสกี้สยาม” ซึ่งเคยมาแสดงที่ศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล ผู้ชมก็ได้เห็นว่างานมีความเป็นคณะค่อนข้างชัดเจนกว่างานเก่า ๆ ของอาจารย์ที่มักเป็นงานเดี่ยว แล้วพอมาถึง “ตามไก่” ที่เพิ่งไปแสดงที่เนเธอร์แลนด์มา 8 เมือง กับ “ขาวดำ” นี่ก็มีความเป็นคณะสูงมาก อันนี้เป็นพัฒนาการที่อาจารย์วางแผนไว้รึเปล่าคะ หมายถึงว่า อาจารย์กำลังลดบทบาทของตัวเองในฐานะนักเต้น (dancer) ลง และเพิ่มความเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น (choreographer) ขึ้น
A: ผมจะบอกว่าสองปีหน้าจะเป็นปีที่คนอาจจะไม่เห็นผมบนเวทีแล้ว คือ ผมจะเป็นเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นจริง ๆ แล้วแสดงบนเวทีน้อยลง เหมือนกับที่มีอาจารย์คนหนึ่งเคยถามผมเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว ว่าผมมีความคิดที่พัฒนานักเต้นคนอื่นมั้ย เพราะเขาอยากเห็นนักเต้นคนอื่นในคณะขึ้นมาแสดงบทเด่นในงานบ้าง มันเหมือนก็เป็นการถ่ายโอนไปสู่อีกรุ่นหนึ่งน่ะครับ
Q: แล้วตอนช่วงที่คณะได้รับทุนจากโรงละครเอสพละนาดให้ไปพัฒนางาน “ขาวดำ” อยู่ที่สิงคโปร์เดือนหนึ่ง ได้ข่าวว่ามีคนมาช่วยดูช่วยให้ความเห็นอะไรหลายอย่าง แล้วอาจารย์ก็ได้ทำงานกับ ดรามาเทิร์ก (dramaturg) คือ คุณลิ้มเฮาเงียน (Lim How Ngean) เป็นครั้งแรกด้วย
A: อันนี้เอสพลานาดเป็นคนแนะนำครับ ผมว่าเอาจริง ๆ ดรามาเทิร์กก็เป็นเหมือนผู้ตรวจการ แล้วผมก็ชอบวิธีที่มีดรามาเทิร์กนะครับ อันดับแรก เรื่องข้อมูลที่คุณเฮาเงียนเขาจะสามารถค้นคว้าแล้วก็ส่งมาให้ผมได้เรื่อย ๆ เช่น แนะนำให้ผมไปดูงานของคนอื่น ๆ ที่มีแนวคิดหรือส่วนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน อันที่สอง คือ การตั้งคำถาม ทุกวันเขาจะถามผมในสิ่งที่ผมกำลังทำ ผมเชื่อว่าศิลปินส่วนใหญ่สร้างงานจากจินตนาการหรือสิ่งที่เขาเกิดความคุ้นเคยสูงมาก เขาเลยจะเป็นคนตั้งคำถามให้ผมอธิบายงานออกมาเป็นคำพูดให้ได้ ซึ่งตรงนี้ผมว่าช่วยสร้างความชัดเจนที่จับต้องได้ให้กับงานมากขึ้น แล้วผมชอบการที่มีดรามาเทิร์กมาก ถึงบางครั้งเราทะเลาะถกเถียงกัน แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็จะให้ผมเป็นคนตัดสินใจว่าตรงไหนเอาไม่เอา
Q: งานเปลี่ยนแปลงไปเยอะมั้ยคะ จากที่อาจารย์สร้างงานและฝึกซ้อมจนใกล้เสร็จตั้งแต่ที่เมืองไทยแล้ว
A: ถูกปรับไปเยอะครับ ปรับไปในเรื่องของการมองให้เป็นวัฒนธรรมก้อนกลม ๆ คือการใช้สัญญะต่าง ๆ ในเรื่องต้องถูกเปลี่ยนให้มีความเป็นสากลมากที่สุด เพื่อที่ว่าคนส่วนใหญ่จะได้ตีความได้ตรงกัน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่นักเต้นทุกคนในคณะได้อยู่อาศัยในที่เดียวกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน ทำให้เราได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากที่แสดงที่สิงคโปร์ ทุกคนก็เปลี่ยนจากลูกจ้างชั่วคราว (freelance) มาเป็นพนักงานประจำของคณะที่ได้รับเงินเดือนทุกเดือน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ได้เราได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่เช้ายันเย็นจริง ๆ หลังจากนั้น การที่ได้ไปแสดงต่างประเทศด้วยกันก็ทำให้นักแสดงทุกคนเห็นสิ่งเดียวกัน รับรู้เรื่องเดียวกัน ทำให้ทุกคนพูดเหมือนกันได้
Q: ในส่วนของเนื้อหาของงาน “ขาวดำ” มีโครงเรื่องให้ผู้ชมตามมั้ยคะ หรือว่าเป็นความคิดเรื่องความดี ความชั่วที่อาจารย์ได้จาก “รามเกียรติ์” เท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องชัดเจน
A: จริง ๆ ผมทิ้ง “รามเกียรติ์” ซึ่งเป็นความคิดตั้งต้นเลยนะครับ หลังจากนั้นแล้ว “ขาวดำ” ที่เป็นความดีความชั่วผมก็ไม่ได้พูดถึงอีกต่อแล้ว จริง ๆ “ขาวดำ” ผมคิดว่าเป็นการนำเสนอทางออกอีกทางหนึ่งให้กับเหตุการณ์เก้าปีทางการเมือง สร้างสมดุลให้กับสังคม สองสิ่งนี้ต้องอยู่ด้วยกันแล้วหาความสมดุลให้ได้ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะพูดลงไปในงาน “ขาวดำ” ครับ
Q: ท่าเต้นของ “ขาวดำ” นี่พัฒนามาจากไหน แล้วพัฒนามายังไงคะ เพราะบางคนให้ข้อสังเกตว่าบางช่วงมันเหมือนกับใส่กางเกงในเต้นโขน ตามรูปถ่ายที่เห็นนะคะ
A: จริง ๆ แล้วท่าเต้นมันถูกพัฒนามาจากภาพจับ ซึ่งเป็นภาพเขียนในจิตรกรรมฝาผนัง เพราะว่าเทคนิกที่ใช้ทั้งหมดในเรื่อง “ขาวดำ” พูดก็ถึงเรื่องความสมดุล ผมจึงนำการจับกันของลิงของพระของยักษ์ที่มันจะมีจับสองคน จับสามคน จับสี่คนที่ในรูปวาดพัฒนาต่อ ที่นี้เรื่องมันเกิดขึ้นแค่ประมาณหนึ่งนาทีในหัวสมองของคนสองคนเท่านั้น ไอ้ตัวที่ใส่กางเกงในตัวเดียวมันเป็นจินตนาการของความสมดุลที่เกิดขึ้นในหัวสมองของคน เพราะฉะนั้นนักเต้นจะต้องถูกทำให้เป็นศูนย์เหมือนอากาศธาตุ โดยหลักของศิลปะแล้วมันจะต้องทำให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่คนที่วิพากษ์วิจารณ์เขาใช้กติกา ใช้หลักคิดแบบประเพณี แล้วก็ถืออำนาจว่าท่ารำทั้งหมดเป็นของเขา ใครจะเอามาทำอะไรไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหา แค่นั้นเอง แล้วก็ไม่ได้หมายความว่างานไทยไม่เคยเป็นแบบนี้นะ อย่างเช่น ถ้าเราไปดูในจิตรกรรมทางภาคเหนือก็จะเห็นว่าเขาใส่หยักรั้งขึ้นมาโป๊ ๆ เห็นก้น อีกอย่างงาน “ขาวดำ” นี้ก็อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและถูกวางไว้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการที่จะวิพากษ์วิจารณ์มัน ผมคิดว่าคงต้องใช้องค์ประกอบทางความรู้บ้างนะครับ
Q: สำหรับคนที่ไม่เคยดูงานของอาจารย์พิเชษฐมาก่อน แล้วจะมาดู “ขาวดำ” ที่ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างมั้ยคะ
A: ผมว่างานชิ้นนี้ดูง่ายครับ ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร
Q: เพราะว่าอะไรคะ
A: เพราะมันเป็นท่าเต้นที่เราเห็นแล้วคุ้นตามากครับ แต่ว่าเราจะไม่คุ้นชิน เราเคยเห็นจีบ เราเคยเห็นวง เราเคยเห็นคนเต้นแบบนี้ แต่เราไม่ชินกับวิธีการแบบนี้ ที่เสื้อผ้ามันน้อยขนาดนี้ ที่เคลื่อนที่ช้าขนาดนี้ สาเหตุที่มันเคลื่อนที่ช้า อย่างที่ผมบอกไปว่าผมต้องการสร้างวิถีการเคลื่อนที่ของจินตนาการตามความคิดของตัวละครหลัก เพราะฉะนั้นดูง่าย รับประกันว่าดูง่ายครับ
Q: แล้วสำหรับคนที่เคยดูงานอาจารย์มาแล้ว “ขาวดำ” แตกต่างจากงานชิ้นอื่น ๆ มากมั้ยคะ
A: คืออย่างนี้ครับ ถ้าใครชอบ “ตามไก่” กับ “พระพิฆเนศ” อาจไม่ชอบ “ขาวดำ” เพราะว่ามันเป็นคนละวิธีโดยสิ้นเชิงเลย แต่ด้วยความเป็นคณะ เราก็ต้องมีงานหลายแนว แต่คนไทยก็มักจะกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับสิ่งที่เขาชอบว่าควรจะเป็นแบบไหน แต่ว่า ถ้าใครชอบงานแสดงเดี่ยว “ผมเป็นยักษ์” (“I Am a Demon”) จะชอบ “ขาวดำ” ครับ เพราะว่า “ขาวดำ” เหมือนเป็นการถอดแบบผู้ชายที่ชื่อพิเชษฐออกมาอีกหกตนครับ